วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ทำน้ำด้วยใจ ทำลายด้วยปาก เมื่อ 20 พ.ค.56




ทำน้ำด้วยใจ ทำลายด้วยปาก

หากกล่าวถึงประเด็นร้อนๆ ที่รัฐบาลจะต้องตอบคำถามกับประชาชนอย่างเร่งด่วนในระดับต้นๆ หนีไม่พ้นเรื่องนโยบายการจัดการน้ำ ซึ่งมีงบประมาณดำเนินการมากถึง 3.5 แสนล้านบาท เป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดทั้งประเด็นเรื่องวิธีคิดในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเน้นแนวทางเชิงวิศวกรรมที่มองว่าน้ำเป็นสิ่งที่มนุษย์ควบคุมได้ ปัญหาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อให้มาตรการด้านน้ำที่จะลงมือทำสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนข้อสังเกตสำคัญเกี่ยวกับการจ้างเอกชนเข้ามารับดำเนินการ ซึ่งบางแผนงานขาดความชัดเจน จนมีเอกชนบางรายถอนตัวจากการประกวดราคาแข่งขัน
รัฐบาลยังคงยืนยันว่านโยบายทั้ง 9 แผนงานดำเนินการไปตามขั้นตอนแล้ว มีที่ปรึกษาและมีคณะกรรมการหลายฝ่ายช่วยกันพิจารณา แต่คำกล่าวของรัฐบาลก็ยังคงขาดความชัดเจนต่อข้อคำถามและข้อเรียกร้องของภาคประชาชนหลายกลุ่มถึงรายละเอียดและขั้นตอนของการดำเนินงานที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน จนกระทั่ง นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำทั้ง 3 ชุดประกอบด้วย กยน. กนอช. และ กบอ. ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และขอให้ทั้งหมดจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย
ตามด้วยการเคลื่อนไหวของ นายปเมศวร์ มินศิริ จาก Thai flood มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ก็เข้ายื่นหนังสือถึง ป.ป.ช. เพื่อให้ไต่สวนมูลความผิดกับนายกรัฐมนตรีและ กบอ. เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขัดรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ต่อการใช้งบประมาณ 3.5 แสนล้าน ถ้ามองกันในแง่รัฐบาลมีภาคประชาชนเข้ามาช่วยทำให้กระบวนการมีความชอบธรรมมากขึ้นเพราะหลายฝ่ายได้ร่วมกันตรวจสอบถ้าถูกต้องรัฐบาลก็ทำงานได้อย่างสง่างาม แต่หากมองในแง่ร้ายรัฐบาลกำลังประสบกับอุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเรียกว่างานเข้า เพราะต่อจากนี้สิ่งที่วางแผนไว้อาจต้องเลื่อนออกไปก่อน งานเข้าเพราะสิ่งที่ยืนยันมาตลอดว่าประชาชนได้มีส่วนร่วมดูเหมือนจะไม่เป็นอย่างที่กล่าว
แม้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยจะทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องงานและการประชาสัมพันธ์สร้างความมั่นใจ นักข่าวในทำเนียบคงทราบความเคลื่อนไหวได้ดี ล่าสุดประเทศไทยก็รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2556 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ มีตัวแทนและผู้ติดตามจากหลายประเทศ ประมาณการว่ามีผู้เข้าร่วมหลายพันคน วัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ของการบริหารจัดการน้ำของแต่และประเทศ ตลอดจนประเด็นสำคัญเกี่ยวกับปัญหา ความท้าทายในเรื่องน้ำต่อประชากรโลก
ในการประชุมครั้งนี้รัฐบาลจะนำเสนอแผนการบริหารจัดการน้ำของไทยภายใต้กรอบวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความมั่นใจ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยต่อประชาคมโลก แน่นอนว่าถ้าเป็นอย่างนั้นได้ก็เป็นเรื่องดี ความตั้งใจของผู้รับผิดชอบงาน คือ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี แสดงออกว่าต้องการให้งานนี้เป็นที่ประทับใจต่อผู้มาเยือน อยากให้เรียบร้อย ไม่อยากให้มีความวุ่นวาย ตั้งใจถึงกับรับบทเป็นพญาเม็งรายในการแสดงต้อนรับด้วยตนเอง
เมื่อมีข่าวว่าจะมีกลุ่มองค์กรชุมชนและเอ็นจีโอบางกลุ่มต้องการมาเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นคู่ขนานกับเวทีการประชุมน้ำ ประกอบด้วย ชุมชนลุ่มน้ำในน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน เครือข่ายภาคประชาสังคม และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ด้วยหัวข้อ “การจัดการน้ำ ผู้นำต้องฟังเสียงรากหญ้า” โดยต้องการแสดงให้เห็นความสำคัญของสิทธิชุมชนที่ต้องได้รับการรับรอง และความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ครอบคลุมประเด็นหลากหลายเกี่ยวกับการจัดการน้ำ เช่น การจัดการน้ำด้วยงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท กรณีผลกระทบของการสร้างเขื่อนของจีนและเขื่อนไซยะบุรีของลาวต่อวิถีชีวิตของผู้คน ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลต้องกังวล เพราะเป็นเวทีการให้ข้อมูล ซึ่งการจัดประชุมระดับโลกในประเทศอื่นๆ ก็เปิดโอกาสให้กลุ่มองค์กรต่างๆ ได้จัดเวทีคู่ขนานเป็นสิ่งปกติ ในสังคมประชาธิปไตยที่มีความคิดเห็นและข้อมูลที่หลากหลาย
แม้ทุกฝ่ายรวมถึงตัวผู้รับผิดชอบจะทำด้วยใจ แต่การส่งสัญญาณของนายปลอดประสพ ด้วยวาจาไปถึงกลุ่มที่จะมาชุมนุมนั้นรุนแรง และสะท้อนทัศนคติที่ไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม โดยกล่าวว่า ถ้านำม็อบมาป่วนการประชุมน้ำโลก จะจับขังคุกให้หมด ตามด้วยข้อความที่เปรียบผู้มาชุมนุมเหมือนขยะ ต้องกวาดออกไป งานที่น่าจะจัดได้อย่างเรียบร้อยเพราะคนไทยทุกคนเป็นเจ้าภาพ ก็ดูเหมือนงานอาจจะไม่เรียบร้อยอย่างที่คาด เพราะพูดแบบนี้เป็นการเรียกแขก เชื้อเชิญให้กลุ่มที่ไม่ชอบรัฐบาล กลุ่มที่รักประชาธิปไตยออกมาต่อต้าน เมื่อผนวกกับความเคลื่อนไหวของแกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 และแนวร่วม ร่วมกันแถลงข่าวจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครพิทักษ์เมืองเชียงใหม่ มีนโยบายตาต่อตา ฟันต่อฟัน ต่อต้านม็อบเอ็นจีโอ ที่จะเคลื่อนไหวทำให้งานเสียภาพลักษณ์ จะไม่ให้มีการตั้งเวทีปราศรัยหรือรถขยายเสียงในรัศมี 20 กิโลเมตรจากศูนย์ประชุม ก็ยิ่งเป็นการสุมไฟให้สถานการณ์ร้อนขึ้น แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงบางคนถึงกับต้องออกมาส่งสัญญาณว่าไม่ได้เห็นด้วยกับกิจกรรมนี้
การจัดการน้ำเป็นนโยบายที่กระทบกับคนจำนวนมาก การแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิ ผู้รับผิดชอบย่อมรู้ดี แม้ทำด้วยใจมุ่งมั่น แต่เมื่อบุคลิกไม่เชื้อเชิญคนเข้ามาร่วมทำงานร่วมคิดพูดดังเช่นนี้ แล้วจะมีใครกลุ่มไหนที่พร้อมจะมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการน้ำกับรัฐบาลอย่างสร้างสรรค์ ถ้าเห็นว่าผิดพลั้งก็ควรหาทางแก้ แต่ถ้าไม่คิดว่าผิดก็ทำไป แบบทำด้วยใจ ทำลายด้วยปากก็แล้วกัน
ดร.สืบวงศ์ กาฬวงศ์

วันที่ 20/05/2556 เวลา 0:42 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น