วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไล่ศาลผิดคิวการ์ดแดงรุมยำแดง เมื่อ 9 พ.ค.56



ไล่ศาลผิดคิวการ์ดแดงรุมยำแดง



ม็อบเด็กเส้น กวป.คุยโวมาเป็นแสนเห็นแค่พันคน บุกรัฐสภายื่นแสดงตนถอดถอน 5 ตุลาการฯ แต่มั่วนิ่มผิดขั้นตอน ประกาศชัยชนะยกแรกก่อนแจ้งความตุลาการฯ ข้อหากบฎ เดินสายปลุก ปชช.ทั่วประเทศ ผิดคิวการ์ดแดงรุมยำพวกกันเองเข้าใจผิดว่าเป็นพวกก่อกวน เพื่อแม้วให้ท้ายหนุนล่าชื่อ อ้างดีกว่าชุมนุมกดดัน ปชป.แฉแผนล้มศาลรวบอำนาจเหมือนยุคฮิตเลอร์มีกองกำลังของตัวเอง เตือน ปชช.ทนไม่ไหว
    เช้าวันพุธ กลุ่มคนเสื้อแเดงในนามกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ที่ปักหลักชุมนุมหน้าที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญ ได้เคลื่อนขบวนไปยังรัฐสภา เพื่อแสดงความตนยื่นถอดถอนตุลาการรัฐธรรมนูญ 5 คน ก่อนจะประกาศยุติการชุมนุมช่วงเที่ยงคืน
     โดยนายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา ประธานกลุ่ม กวป.แถลงก่อนเคลื่อนขบวน ว่า เจตนารมณ์ของผู้ชุมนุมยังคงเดิมคือไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และเห็นว่าการรับวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการดำเนินการที่ไม่มีอำนาจ เพราะการแก้ไขเป็นอำนาจของรัฐสภา จึงควรให้สภาเป็นที่แก้ไขปัญหา โดยการต่อสู้นับจากนี้จะเป็นการยกระดับการขับไล่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปทั่วประเทศ จะเริ่มจากนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นคนแรก เนื่องจากเป็นบุคคลที่ทำให้วงการตุลาการเกิดความเสียหายมากที่สุด
    พ.ต.อ.กฤตธาพล ยี่สาคร รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 เปิดเผยว่า จะใช้กำลังเจ้าหน้าที่จำนวน 3 กองร้อย ในการดูแลรักษาความปลอดภัยโดยรอบอาคารศาลรัฐธรรมนูญ และเตรียมกำลังไว้ในที่ตั้งอีก 15 กองร้อย หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะที่จะมีการจัดแบ่งกำลังทั้งในและนอกเครื่องแบบเคลื่อนไปตามเส้นทางร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย
    จากนั้นเวลา 09.30 น. กลุ่ม กวป.ประมาณ 1,000 คน ทยอยเดินทางมาที่จุดรวมพลบริเวณสะพานข้ามแยกหน้าศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ทั้งฝั่งขาเข้า-ขาออก โดยขบวนรถของผู้ชุมนุม ประกอบด้วย รถบัส รถกระบะ รถจักรยานยนต์ พร้อมกับเปิดไฟหน้าเพื่อแสดงสัญลักษณ์ของรถที่เข้าร่วมชุมนุม และใช้สโลแกน “ไม่รับอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 309 อารยะขัดขืนทั้งแผ่นดิน"
    ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมได้ใช้เส้นทาง ถ.แจ้งวัฒนะ เข้าสู่ ถ.วิภาวดีรังสิต มุ่งหน้าแยกลาดพร้าว เลี้ยวขวาเข้าสู่ ถ.พหลโยธิน มุ่งสู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เข้าเส้น ถ.สวรรคโลก , ถ.สุโขทัย จนถึงแยกพิชัย เข้าถนนอู่ทองในไปยังรัฐสภา ซึ่งตลอดเส้นทางทำให้การจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก และขณะที่เคลื่อนขบวนอยู่นั้น นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก แกนนำ นปช.ได้นั่งรถยนต์ส่วนตัวมาร่วมสังเกตการณ์ โดยได้โบกมือทักทายให้ผู้ชุมนุมด้วย
ยื่นถอดถอนผิดขั้นตอน  
 
    เมื่อมาถึงรัฐสภา มีนายวรชัย เหมะ ส.ส. สมุทรปราการ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้อำนวยความสะดวกในการพาแกนนำกวป. เข้ายื่นหนังสือเพื่อขอเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อ ยื่นถอดถอน 5 ตุลาการศาล รธน. ต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 แต่ไม่สามารถยื่นได้ เนื่องจากยังไม่ได้ดำเนินการขั้นตอนตามกฎหมาย
    ขณะที่ นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ได้ชี้แจงขั้นตอนการยื่นถอดถอนตุลาการฯ เจ้าหน้าที่กำกับและตรวจสอบของสำนักงานเลขาวุฒิสภา ได้นำแบบฟอร์มคำร้องยื่นถอดถอนให้แก่แกนนำได้กรอกรายละเอียด ให้ครบจำนวน 100 รายชื่อ แล้วนำกลับมายื่นเป็นผู้ริเริ่มขอถอดถอนใหม่ 
    ต่อมาเวลา 14.00 นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือ เล็ก บ้านดอน ประธาน กวป. นายชาญ ไชยะ รองประธานกวป. นายศรรัก มาลัยทอง โฆษก กวป. ได้ยื่นหนังสือจำนวน 2 ฉบับต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ในฐานะรักษาการประธานวุฒิสภา โดยฉบับแรก เป็นจดหมายเปิดผนึกสนับสนุนการกระทำของ ส.ส. และ ส.ว.จำนวน 312 คน ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ส่วนหนังสือฉบับที่ 2 เป็นหนังสือแสดงเจตจำนงเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ให้ได้ไม่น้อยกว่า 20,000 รายชื่อ เพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คน ได้แก่ นายจรัล ภักดีธนากุล, นายสุพจน์ ไข่มุกด์, นายจรูญ อินทจาร, นายนุรักษ์ มาประณีต และ นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 271 ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และการขาดจริยธรรม ซึ่งขณะนี้มีผู้ร่วมเข้าชื่อแล้วกว่า 50,000 คน  ซึ่งภาย 15 วัน จะคัดกรองและนำมายื่นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อเข้าขบวนการถอดถอนต่อไป
    จากนั้นแกนนำกลุ่ม กวป. เข้าพบนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ที่ห้องโถงอาคารรัฐสภา 1เพื่อยื่นหนังสือให้ดำเนินการถอดถอนตุลาการทั้ง 5  คนตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญต่อไป จากนั้นนายสมศักดิ์ ได้ประกาศว่า “จะยุติการชุมนุมในวันนี้ไม่เกินเที่ยงคืน ที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ” ขณะที่นายเจริญกล่าวว่า ขอตรวจสอบความถูกต้องถ้าเป็นการยื่นถอดถอนตามช่องทาง รธน.ก็จะส่งต่อให้วุฒิสภาต่อไป
    หลังจากนั้น นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา ประธานกลุ่ม กวป.กล่าวบนเวทีปราศรัย ว่า หลังจากนี้กระบวนการดังกล่าว ขอฝากความหวังให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะดำเนินการ ส่วนเราขอยืนยันว่าจะดำเนินการกดดันทางด้านมวลชนต่อไป โดยจะเดินสายจัดชุมนุมใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงให้ประชาชนทั่วประเทศเห็นถึงการทำหน้าที่ผิดจรรยาบรรณของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 ราย โดยเฉพาะนายจรัญ ภักดีธนากุล 
          “การต่อสู้ครั้งนี้ แม้ทางรัฐสภาจะไม่ดำเนินการอะไร แต่เราจะไม่ยอมให้พวกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอัปยศนี้อีกแล้ว หากไม่มีการดำเนินการ ฝ่ายมวลชนก็จะดำเนินการเอง โดยขอเริ่มต้นจากนายจรัญ ที่ต้องลาออกจากการทำหน้าที่ในเร็ววันนี้ เพราะเราจะสู้ถึงขั้นต้องแตกหัก เราก็ไม่กลัว” ประธาน กวป.ระบุ   
ขู่แจ้งความทั่วประเทศ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างชุมนุมหน้ารัฐสภา ได้เกิดเหตุชุลมุนขึ้นเล็กน้อย เมื่อสมาชิกกลุ่มผู้ชุมนุมรายหนึ่ง เป็นหญิง ร่างท้วม มายืนด่าทอผู้สื่อข่าว ก่อนจะถูกการ์ดกวป. และตำรวจควบคุมตัวออกไปจากพื้นที่ ซึ่งในระหว่างนั้น กลุ่มคนเสื้อแดงคนอื่นๆ ต่างเข้าใจว่าหญิงคนดังกล่าวเป็นผู้ก่อกวน ก่อนจะพากันทำร้ายร่างกายหญิงคนนั้น จนกระทั่งหญิงคนดังกล่าววิ่งออกไปทางแยกอู่ทอง และวิ่งเข้าข้ามรั้วเข้าไปในกองราชพาหนะ สวนจิตรลดา และต่อมาตำรวจได้ควบคุมตัวเพื่อไม่ให้ถูกทำร้ายร่างกายไว้ได้
    ต่อมาเวลา 15.30 น.กลุ่ม กวป.ได้เคลื่อนขบวนมายังด้านหน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือถึงต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิทักษ์ปกป้องรักษารัฐธรรมนูญ โดยมีนายสมภาชน์ นิลพันธ์ ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนในการรับหนังสือร้องเรียน
     จากนั้นได้เดินทางกลับที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ เวลา17.00 น นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา ประธาน กวป. และนายศรรัก มาลัยทอง โฆษก กวป. นายสมศักดิ์ ล้อเพรชรุ่งเรือง รองประธาน กวป.พร้อมแนวร่วมประมาณ 40 จังหวัด ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายสมศักดิ์ ว่า กวป.จะต่อสู้อีก 3 ยก คือ ยกแรก กวป. ได้มีการชุมนุม 16 วัน และมีการไปยื่นเจตจำนงในการถอดถอน 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าเราชนะคะแนนแล้ว ส่วนยกที่สอง กวป.และเครือข่าย 40 จังหวัด จะเดินสายทั่วประเทศจัดเวทีให้ความรู้ประชาชน เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงในความผิดด้านคุณธรรม จริยธรรม ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะดำเนินการไปพร้อมกับการแจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อศาลรัฐธรรมนูญทุกจังหวัด โดยกรุงเทพฯ จะเป็นจังหวัดแรกที่เริ่มต้น ซึ่งถ้ามีพี่น้องประชาชนเห็นชอบด้วยขอให้ดำเนินการแจ้งความได้ทุกจังหวัด พร้อมล่ารายชื่อให้ได้ 1 ล้านรายชื่อเพื่อยื่นความชอบธรรมของการดำเนินการของประชาชน
    นายชาญกล่าวว่า ในวันที่ 9 พ.ค. เวลา 10.00 น. แกนนำจะยื่นหนังสือให้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะแจ้งข้อหากบฏต่อ 3 ตุลาการ คือนายจรัญ ภักดีธนากุล, นายจรูญ อินทจาร, นายสุพจน์ ไข่มุกด์ จากนั้น จะเดินทางไปแจ้งความเอาผิดตุลาการทั้ง 3 ที่ ส.น.ทุ่งสองห้อง ส่วนในต่างจังหวัดหากเห็นด้วยก็ให้ไปดำเนินการแจ้งได้ทันที ส่วนยกที่สามคือ จะเป็นยกเผด็จศึกโดยเมื่อใดตุลาการฯ ลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญรังแก ส.ส. หรือรัฐบาลที่ประชาชนมอบสิทธิให้มาทำหน้าที่ เมื่อนั้นมวลชนเราจะเคลื่อนขบวนมาชุมนุมใหญ่กันที่ กทม. ขับไล่ให้ออกจากการทำหน้าที่อีกครั้ง
    นายศรรักกล่าวว่า วันนี้เราจะชุมนุมเป็นวันสุดท้ายเพื่อฉลองชัยชนะ และจะยุติการชุมนุมลงในเวลา 24.00 น.ซึ่งวันนี้ที่เราเดินทางไปยื่นหนังสือที่สภา แต่ยังไม่สามารถยื่นรายชื่อถอดถอนได้ เนื่องจากพบว่ารายชื่อที่เรารวบรวมได้นั้นเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้นจะใช้เวลาในช่วง 3 วันนี้ตรวจสอบความถูกต้อง
    ที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษก นปช. กล่าวว่า มีหลายฝ่ายแสดงความเห็นว่า การที่ กวป. ไปไล่ตุลาการ ทำไม นปช.ไม่ไปร่วมด้วย กวป. เป็นเพื่อนเป็นมิตรของพวกเรา ซึ่งเรื่องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนี้ นปช. ได้ดำเนินการยื่นถอดถอนไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่สิ่งที่ กวป. ทำก็ไม่ได้ขัดต่อประชาธิปไตยอะไร แต่เราห่วงใยมือที่สาม ที่จะมาสร้างสถานการณ์ให้บานปลายออกไป และรัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาในอนาคต ข่าวในทางลับมีการเตรียมสร้างสถานการณ์โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่แยกสาขาเป็นหลายสาย เพื่อคอยจังหวะสร้างสถานการณ์วุ่นวายให้บ้านเมือง"
    ด้านนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า วันนี้ตนได้ออกหนังสือเป็นการภายในแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่มีภารกิจสำคัญสามารถหยุดงานได้หนึ่งวันจริง เพื่อเป็นการปรับวิธีการทำงาน ส่วนผู้ที่มีงานค้างอยู่สำนักงานอนุญาตให้แต่งกายตามสบาย เนื่องจากเห็นว่าทางแกนนำ กวป.ได้ประกาศว่าจะชุมนุมใหญ่ขับไล่ตุลาการ และมีการแจ้งด้วยว่าจราจรอาจจะติดขัด ดังนั้นตน เกรงว่าอาจมีเหตุรุนแรงและการเดินทางมาทำงานไม่สะดวก ส่วนตุลาการส่วนใหญ่นั้นก็ไม่ได้เข้ามาที่สำนักงานเนื่องจากไม่มีการนัดประชุม เพราะคำร้องต่างๆ ยังอยู่ในกระบวนการรอการชี้แจงเอกสารจากฝ่ายต่างๆ แม้จะเครียด แต่ก็ต้องทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
เหลิมฟันธงทุกอย่างเรียบร้อย
    ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของเสื้อแดงกลุ่ม กวป.ที่มีความกังวลจะมีการปะทะกันกับกลุ่มเสื้อเหลือง ว่า ไม่มี ตนเตรียมการไว้เรียบร้อยทุกอย่าง สงบ ปลอดภัย ราบเรียบ ไม่มีวันให้คนมาตีกัน ส่วน กวป.จะยุติการชุมนุมเลยเมื่อใดนั้น ตนไม่แสดงความเห็น เพราะเป็นสิทธิการชุมนุม ตนมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย อยากจะบอก ส.ว.ที่แสดงความคิดเห็นที่จะให้ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ท่านอาจจะดูข่าวมุมเดียวแต่ตนสายข่าวทั้งหมดยังไม่นำไปสู่จุดนั้น
    ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้เขาคับข้องใจกับศาลรัฐธรรมนูญ และมองว่าศาลไม่น่าจะมีอำนาจรับโดยตรงกับประชาชนตามมาตรา 68 ตนเช็กข่าวตลอดกับทุกหน่วยที่ดูแล ฟันธงได้ว่าเรียบร้อย ไม่หนักใจ ส่วนการชุมนุมจะส่งผลลบต่อรัฐบาลหรือไม่ ตนแสดงความเห็นไม่ได้ เป็นมุมมองทางการเมือง ยืนยันรัฐบาลไม่ได้หนุนหลังการชุมนุมนี้ นายกฯ ได้สั่งตนให้ดูแลความสงบเรียบร้อย
    ที่พรรคเพื่อไทย มีการประชุมระหว่างคณะยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กับตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล และตัวแทน ส.ว. มีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธานการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมอาทิ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, นายโภคิน พลกุล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย, นายประเสริฐ บุญชัยสุข ตัวแทนจากพรรคชาติพัฒนา, นางสุกุมล คุณปลื้ม ตัวแทนพรรคพลังชล, นายนิกร จำนง ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา และ นายดิเรก ถึงฝั่ง ตัวแทน ส.ว.
    ภายหลังการประชุม นายสมชายเปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ เราก็เดินหน้าตามแนวทางแบ่งแยกอำนาจมาตลอด ซึ่งเมื่อตนดูตามหน้าสื่อต่างๆ ก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวทางของสภา วันนี้อำนาจของนิติบัญญัติและศาลรัฐธรรมนูญเหมือนปีนเกลียวกันอยู่ ต่างฝ่ายต่างรักษาสถานภาพของตัวเอง ต่างฝ่ายต่างคิดว่าล้ำเส้นกันและกัน ก็ยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร อยากให้ประชาชนติดตามข่าวสารให้มากที่สุดว่าอะไรเกิดขึ้นกับบ้านเราบ้าง จะได้ช่วยกันตัดสินว่าใครผิดใครถูก
    นายสมชาย กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่ม กวป. ว่า  การแสดงความเห็นคัดค้านเรื่องใดถือเป็นสิทธิ แต่ต้องอยู่ในกรอบและเคารพกฎหมาย ถ้าละเมิดก็ต้องรับผิดชอบ แกนนำพรรคก็ไม่ค่อยอยากให้ชุมนุม อยากให้ใช้วิถีทางกฎหมายมากกว่า เพราะสงบเรียบร้อยกว่า แต่อย่างไรก็ตามคงไปสั่งห้ามไม่ได้
    นายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การล่ารายชื่อของคนเสื้อแดงที่ต้องการจะขับไล่หรือถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการจะล่ารายชื่อให้ได้ 1 ล้านชื่อนั้น ส่วนตัวสนับสนุนอยู่แล้ว เพราะเป็นการดำเนินการตามกรอบกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ ดีกว่าการไปชุมนุมกดดัน หรือแสดงอาการก้าวร้าว
รวบอำนาจซ้ำรอยฮิตเลอร์
    ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประกาศชุมนุมของ กวป. ว่า การชุมนุมและการเคลื่อนไหวของ กวป.ครั้งนี้จะไม่สำเร็จ หากรัฐบาลไม่ให้การสนับสนุน แกล้งหลิ่วตาข้างหนึ่งเพื่อให้ กวป.ทำหน้าที่เป็นม็อบผิดกฎหมายของรัฐบาล เพื่อกดดันตุลาการ และหน่วยงานต่างๆ ที่มีความเห็นขัดแย้งกับรัฐบาล ทำให้ประเทศมีลักษณะที่แปลก และมีที่เดียวในโลกที่รัฐบาลมีม็อบของตัวเอง เพื่อกดดันการทำงานของหน่วยงานอื่น เพื่อให้เดินตามฝ่ายบริหาร โดยที่รัฐบาลให้ท้าย ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ เริ่มจะทนไม่ได้ที่รัฐบาลมีม็อบอันธพาลของตนเอง ไว้คอยข่มขู่ คุกคาม สิทธิของคนอื่น
    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเช่นกันว่า เป็นความพยายามที่จะยกระดับ และขยายผลที่จะทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันศาล เริ่มต้นจากศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งกรณีมติไฟเขียวของพรรคเพื่อไทยที่ไม่ให้ ส.ส.เข้าชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเขาคงจะคาดหรือเล็งเห็นผลตามแผนที่วางไว้แล้วว่า เมื่อผลวินิจฉัยของศาลออกมา เขาก็จะใช้จุดนี้ไปกดดัน ขยายผลเพื่อปลุกปั่นมวลชนเสื้อแดงของเขาต่อไปว่า ศาลมัดมือชก โดยบิดเบือนใส่ร้ายศาลว่ามีที่มาไม่ชอบต่างๆ นานา ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้มีที่มาถูกต้องผ่านการโปรดเกล้าฯ ตามกรอบกฎหมายทุกอย่าง คือทำทุกอย่างเพื่อลดความน่าเชื่อถือของระบบศาล
      "วันนี้เขาประกาศชนกับเสาหลักคือศาล เพราะบอกสังคมนี้ว่า ศาลที่มีอยู่ไม่ดีต้องสร้างระบบใหม่โดยการแต่งตั้งศาลเอง ผู้พิพากษาเอง ที่สุดมันก็รวบอำนาจเหมือนยุคฮิตเลอร์ครองเมือง เรืองอำนาจโดยมีกองกำลังของตัวเองปกครองด้วยความกลัว ข่มขู่ คุกคามต่างๆ ครั้งนี้มันรุนแรง ยิ่งใหญ่ในการรวบอำนาจศาลเพื่อก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบใหม่คือการปกครองเบ็ดเสร็จแบบประธานาธบดี” นายนิพิฏฐ์กล่าว
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากกลุ่มคนเสื้อแดงเห็นว่าตุลาการทำผิดเข้าเงื่อนไขที่จะยื่นถอดถอนก็สามารถทำได้ ดีกว่าใช้วิธีการข่มขู่ คุกคาม หรือใช้วิธีนอกกฎหมาย แต่ก็ต้องใช้สิทธิโดยสุจริต มีข้อเท็จจริงที่รองรับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น