วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไฟเขียวรุมยำศาล รัฐบาลเมินมาตรฐานทุบม็อบอ้าย/ปูสั่งฟันด่าเกินจริง! เมื่อ 8 พ.ค.56


ไฟเขียวรุมยำศาล รัฐบาลเมินมาตรฐานทุบม็อบอ้าย/ปูสั่งฟันด่าเกินจริง!




 “กวป.” ยังโวชุมนุม 8 พ.ค. ไล่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นแสนแน่ “เหลิม-ตร.” ประสานเสียงม็อบไม่แรงเหมือนยุค “เสธ.อ้าย” ปัดใช้กฎหมายมั่นคงคุม เชื่อเดี๋ยวก็กลับบ้านแล้ว “เพื่อแม้ว” หรี่ตากลัวเสียมิตร “ขวัญชัย” ลั่นไม่สังฆกรรม สำนักงานศาล รธน.ผวาเดือด ส่งข้อความให้ทำงานที่บ้าน “อนุดิษฐ์” พล่านแจงอำนาจปิดเว็บหมิ่นปูอยู่ที่ศาล มิวายขู่เมนต์ด่าอาจเข้าข่ายละเมิด โยนกรณีหมิ่นสถาบันมีคณะกรรมการดูแล “ยิ่งลักษณ์” อ้อนไม่ได้ถูกทะนุถนอมเป็นพิเศษ โอ๊คยกเคส ปรส.เทียบหญิงชั่ว
     การประกาศชุมนุมใหญ่ของกลุ่มวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ในวันที่ 8 พ.ค. ภายใต้สโลแกน 8 พฤษภา มาเป็นแสน ขับไล่ตุลาการ ยกเลิกมาตรา 309 นั้น  ล่าสุดเมื่อวันอังคาร นายชาญ ไชยะ หรือ หนุ่ม โคราช รองประธาน กวป. และนายศรรัก มาลัยทอง โฆษก กวป. ได้แถลงย้ำว่า จะปักหลักชุมนุมกดดันให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยุติการทำหน้าที่โดยเด็ดขาด โดยได้จัดเตรียมสถานรองรับพี่น้องประชาชนที่ตอบรับมาแล้วกว่า 50 จังหวัด ซึ่งในวันที่ 8 พ.ค. จะมีประชาชนมาร่วมชุมนุมเกิน 1 แสนคนแน่นอน ส่วนที่มีรายงานว่าจะมีมือที่ 3 เข้ามาสร้างสถานการณ์ โดยยิงกระจกศาล กลุ่ม กวป.ขอยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่เป็นขบวนการของกลุ่มที่ต้องการใส่ร้าย กวป.
“การชุมนุมครั้งนี้เป็นไปอย่างสงบปราศจากอาวุธ และอยู่ในกรอบกฎหมาย จึงไม่จำเป็นต้องใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงมาควบคุมดูแล โดยเวลา 08.00 น. จะกำหนดแนวทางชัดเจนในการเคลื่อนขบวน และเวลา 09.00 น. จะรวมพล 1 แสนคน เคลื่อนขบวนไปที่รัฐสภา โดยเริ่มตั้งขบวนที่หน้าศาล แล้วเดินตามเส้นทางวิภาวดีฯ   ส่วนจะเดินขบวนไปที่ไหนอีกนั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเกรงว่าจะสกัดกั้นระหว่างมีการเดินขบวน”
นายชาญกล่าวอีกว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่ม กวป.ในวันที่ 8 พ.ค. เป้าหมายคือการดำเนินการกับนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคนแรก โดยจะไปยื่นดำเนินคดีต่อกองปราบปราม และยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง และหลังจากดำเนินคดีกับนายจรัญแล้ว ก็จะดำเนินคดีกับตุลาการอีก 2 คนที่เป็นเสียงข้างมาในการรับวินิจฉัยคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ คือ นายจรูญ อินทจาร และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ซึ่งหลังยุติชุมนุมแล้ว จะกลับไปต่างจังหวัดเพื่อล่ารายชื่อประชาชนเพื่อถอดถอนตุลาการให้ครบ 1 ล้าน และหากองค์กรใดที่เรายื่นหนังสือขอให้ดำเนินการกับตุลาการแล้วยังเพิกเฉย ก็จะไปแจ้งความดำเนินคดีในมาตรา 157 ด้วย
    และในช่วงบ่าย นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา ประธานกลุ่ม กวป. พร้อมแกนนำ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกร้องให้นายจรัญ, นายจรูญ, นายสุพจน์ และตุลาการอีก 5 คนลาออก ยกเว้นนายชัช ชลวร โดยนายพงษ์พิสิษฐ์ระบุว่า เป็นการยื่นหนังสือครั้งสุดท้าย ก่อนชุมนุมใหญ่ในวันที่ 8 พ.ค.นี้
    ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในเรื่องนี้ว่า เป็นห่วงสถานการณ์การเมืองในประเทศ และคงต้องขอความร่วมมือชุมนุมอย่างสงบ เพราะเราเองก็ห่วงเรื่องความมั่นคง ซึ่งได้ฝากทางด้านฝ่ายความมั่นคงภายใต้การดูแลของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ไปดูแลหารือในส่วนการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลให้ความปลอดภัยกับพี่น้องประชาชน และขอความร่วมมืออย่าให้การจราจรต่างๆ ติดขัด ซึ่งการเรียกร้องต่างๆ ขอให้เป็นไปโดยสงบ
ในขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวถึงกรณีนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เรียกร้องให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงควบคุมการชุมนุมของ กวป.ว่า การดูแลด้านความมั่นคงต้องยึดหลักกฎหมาย อย่างกรณีม็อบองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) นั้น มาไล่รัฐบาล จะล้มรัฐบาลภายใน 24 ชั่วโมง ถึงแม้ม็อบ อพส.จะไม่รุนแรง แต่มีคนจะสร้างสถานการณ์ รัฐบาลตรวจสอบแล้วในทางการเมืองจึงต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ส่วนกลุ่ม กวป.ฟันธงมาแล้วว่าไม่มีเรื่องอะไรเลย เพียงเห็นไม่ตรงกันระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับฝ่ายการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย แต่เรื่องนี้จบโดยไม่มีอะไร ไม่ใช่ใครมานิดมาหน่อยก็ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และไม่ใช่เรื่องสองมาตรฐาน
ชี้ระดมแสนไม่ง่าย
“คน 1 แสนคนไม่ง่าย แต่จะถึงหรือไม่ ขอไม่บอก และได้ประเมินแล้วว่าอย่างมากวันที่  8 พ.ค.ก็กลับบ้านกันแล้ว ถ้าผมอยู่ตรงนี้ ความรุนแรงไม่มี เพราะรองนายกฯ ขี้กลัว คนเลยกลัวด้วย” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวเช่นกันว่า การชุมนุมยังไม่น่าเป็นห่วงมาก เพราะยังอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ มีการประสานอย่างใกล้ชิดกับแกนนำ ดังนั้นการชุมนุมใหญ่วันที่ 8 พ.ค. น่าจะเรียบร้อยดี แม้ยังกังวลเรื่องมือที่สาม แต่ทางด้านการข่าวไม่มีรายงาน และยังไม่ถึงขั้นใช้ พ.ร.บ.มั่นคง
เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. กล่าวว่า ยังไม่มีอะไรน่าห่วง ซึ่งการจะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยกรณีกลุ่ม อพส.นั้น ก่อนใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ก็ประเมินวิเคราะห์ว่าท่าทีม็อบมีความรุนแรง แต่ครั้งนี้จากการติดตามข่าวมาตลอด ยังไม่น่าเป็นห่วง การจะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงต้องรอบคอบ
พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก สตช. กล่าวว่า พล.ต.อ.อดุลย์ได้เรียกประชุมทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินการชุมนุมของกลุ่ม กวป.แล้ว ยังไม่เข้าเงื่อนไขที่ต้องประกาศ พ.ร.บ.รักษาความสงบฯ เนื่องจากวัตถุประสงค์การชุมนุมต้องการให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออกเท่านั้น ซึ่งเป็นการใช้สิทธิ์ตามขั้นตอนและกระบวนการของรัฐธรรมนูญ และกลุ่ม กวป.ยังเป็นกลุ่มใหม่ มวลชนไม่มาก โดยการชุมนุม 15 วันที่ผ่านมา มีผู้ชุมนุมเพียงกว่า 500 คนเท่านั้น และการข่าวของ บช.ส. ได้ประเมินแล้วจะมีผู้มาร่วมชุมนุมไม่ถึง 1 แสนคน จึงมั่นใจว่าแผนการดูแลรักษาความปลอดภัยตามปกติ หรือการใช้กฎหมายพิจารณาคดีความอาญาควบคู่กับแผนกรกฎ 52 สามารถดูแลสถานการณ์ได้
“การชุมนุมของ กวป. ยังไม่เข้าเงื่อนไขชุมนุมที่ยืดเยื้อ รุนแรง และกระทบความมั่นคงของประเทศ แตกต่างจากการชุมนุมของ อพส. ที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ และยังพบหลักฐานที่อาจก่อให้การเกิดการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มต่างๆ และขยายผลให้เกิดความรุนแรงขึ้น ซึ่งกฎหมายปกติไม่สามารถควบคุมได้”
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวว่า เมื่อเราเป็นข้าราชการ ก็เป็นห่วงประเทศชาติบ้านเมือง แต่เรามีคนรับผิดชอบโดยตรง และมีกฎหมายอยู่แล้ว ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันรักษาระเบียบ แก้ปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ไม่กระทำอะไรผิดกฎหมาย หรือมีผลกระทบต่อประเทศในวงกว้าง ส่วนทหารจะทำหน้าที่ของทหารให้ดีที่สุด เรื่องอะไรที่ยังไม่ใช่หน้าที่ ขออย่าเอาเราเข้าไปเกี่ยวข้องมากนัก ส่วนจะต้องใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
ประจินรับห่วงม็อบ
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ระบุว่า หน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงก็ต้องเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมือง และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ได้ติดตาม แต่เห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และมั่นใจว่าการชุมนุมจะไม่ซ้ำรอยเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2553
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า เท่าที่ติดตามการชุมนุมของ กวป. ไม่มีอะไรที่น่ากังวล แกนนำต่างประสานเสียงว่าชุมนุมสงบ และเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าแกนนำจะมีวิจารณญาณและมีวิธีควบคุมการชุมนุมได้ แต่ต้องระวังเพียงอย่างเดียวคือมือที่สามที่จะเข้าไปปั่นป่วน
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. มองว่า การระดมคน 1 แสนในวันที่ 8 พ.ค. ทำได้ยาก หาก ส.ส.หรือ นปช.ไม่ช่วย และการชุมนุมครั้งนี้ ไม่เหมือนกับที่ นปช.เคยชุมนุมไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ อันนั้นมีมิติการเมือง แต่การชุมนุมถ้าหอมปากหอมคอให้ศาลได้ละอาย ให้ประชาชนได้รู้ข้อมูลบ้างก็น่าจะพอแล้ว เพราะหากเกิดเรื่องมาเดี๋ยวมาโบ้ยรัฐบาล ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วตกลงมาเชียร์หรือทำลายรัฐบาลกันแน่
นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร กล่าวว่า จะไม่นำสมาชิกชมรมไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กวป.
มีรายงานว่า นอกจากกลุ่มของนายขวัญชัยที่จะไม่นำสมาชิกไปแล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงในอุดรธานีอีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยต้านภัยยาเสพติด และกลุ่มคนเสื้อแดงอุดรธานี แจ้งว่าไม่สามารถหารถบัสนำคนเสื้อแดงเข้าร่วมได้ แต่สมาชิกจะเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวเข้าร่วม โดยมีสมาชิกของแต่ละกลุ่มจะเดินทางไปกลุ่มละประมาณ 100 คน
รายงานข่าวจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเมืองพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า ในช่วงเช้าได้มีการหารือในเรื่องของการชุมนุมดังกล่าว ซึ่งมองว่าการแสดงออกบางเรื่องรุนแรงไป โดยเฉพาะขู่กระทำบางอย่างกับตุลาการ แต่เพื่อรักษาไมตรี กวป.ที่ถือเป็นแนวร่วมของพรรคที่แม้ไม่เห็นด้วยทุกเรื่อง แต่ก็ไม่ห้ามปราม
    ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หวังว่าบรรยากาศการเมืองจะไม่เป็นอย่างปี 2548-2549 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีคดีเข้าศาลรัฐธรรมนูญ และปลุกระดมคนมากดดันศาล จนนำมาสู่ปัญหาถึงวันนี้ และขอเตือนรัฐบาลว่า ถ้าพยายามเดินหน้ารวบอำนาจมากกว่าแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน บรรยากาศก็จะค่อยๆ กลับมา แล้วก็เกิดความขัดแย้งในสังคม
“อยากเรียกร้องตำรวจให้ความมั่นใจต่อตุลาการในการปฏิบัติหน้าที่ ประกาศให้ชัดเจนว่าจะดูแลบริหารจัดการกับมวลชนอย่างไร โดยเฉพาะถ้ามวลชนมีเป้าหมาย หรือกระทำผิดกฎหมาย เพราะตามบรรทัดฐานสังคมประชาธิปไตยทั่วโลกนั้น เป็นเรื่องที่ผิดปกติที่อยู่ดีๆ เราจะไปปล่อยให้ฝ่ายตุลาการถูกคุกคาม” นายอภิสิทธิ์ระบุ
ศาลสั่งให้ทำงานที่บ้าน
แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญเผยว่า ในกำหนดการวันที่ 8 พ.ค. ไม่มีวาระการประชุมตุลาการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงได้ส่งข้อความให้ข้าราชการสำนักงานศาลทุกคนว่า ในวันที่ 8 พ.ค. ใครที่ไม่มีงานติดต่อกับประชาชนโดยตรง ก็ให้เอางานไปทำที่บ้านได้โดยไม่ต้องมาทำงานที่สำนักงาน และคาดว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็คงไม่มาทำงานเช่นกัน
    สำหรับความคืบหน้าในกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ได้เดินทางมายื่นสำเนาคำร้อง 312 ชุดต่อศาลแล้ว ขณะเดียวกัน นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี พร้อมคณะที่ลงชื่อแก้ไข รัฐธรรมนูญ ได้แถลงข่าวตอบโต้กรณีกลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า ขอใช้ชื่อว่า ส.ว.กลุ่มรักชาติเช่นกัน และขอปฏิเสธเรื่องการล้มล้างการปกครอง ไม่เป็นความจริง และจะใช้ช่องทางตามกฎหมายเพื่อดำเนินการต่อไป เพราะข้อกล่าวหาแบบนี้เหมือนฆ่ากันตายทั้งเป็น แต่จะใช้ช่องทางดังกล่าวเป็นวิธีสุดท้าย
มีรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ได้เรียกประชุมทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย พร้อมนัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.บางส่วนที่ร่วมลงชื่อไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ หารือเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่วมรับประทานอาหารกลางวันที่พรรค ในวันที่ 8 พ.ค. เวลา 11.00 น.
    วันเดียวกัน นางสุดสงวน สุธีสร อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วย น.ส.สุดา รังกุพันธ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางมายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในนามกลุ่มนักวิชาการและประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อขอทราบผลความคืบหน้าในคดีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. ร้องทุกข์กล่าวโทษนายชัช เพราะเวลาผ่านมา  5 เดือน แต่ไม่มีความคืบหน้า ซึ่งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ยืนยันว่าไม่ได้ดองเรื่อง ทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เกี่ยวข้องกับองค์กรสำคัญ และเกี่ยวกับการโปรดเกล้าฯ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย
    ด้านความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่มองโกเลียนั้น ล่าสุด น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้แถลงชี้แจงกรณีเตรียมปิดเว็บไซต์ที่กล่าวให้ร้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า กระทรวงไม่มีอำนาจสั่งปิดเว็บไซต์ เพราะต้องอยู่ในดุลพินิจของศาลอาญา หลังจากศาลมีคำพิพากษาให้ปิดเว็บไซต์นั้นๆ กระทรวงจึงจะเป็นผู้แจ้งคำสั่งศาลกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายให้ปฏิบัติตาม ฉะนั้นการกล่าวหาว่าไอซีทีมีอำนาจสั่งปิดเว็บไซต์นั้น และเป็นการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงไม่จริง
น.อ.อนุดิษฐ์ยังกล่าวว่า การแสดงความเห็นทางช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กของประชาชนในทุกๆ เรื่อง เป็นสิทธิเสรีภาพที่กระทำได้ และไม่มีใครจะสามารถใช้อำนาจใดๆ ในการก้าวล่วง แต่การใช้ช่องทางดังกล่าว หากเป็นการคุกคาม กล่าวหาให้ร้าย ดูถูกดูแคลน และทำให้เกิดความเสียหาย อาจเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 และหากเกิดการกล่าวหาแจ้งความร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ก็มีหน้าที่ที่จะปฏิบัติบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป ซึ่งการแสดงออกของประชาชนที่ควรจะกระทำนั้นก็ควรนึกถึงสิทธิเสรีภาพของตนเองและครอบครัวว่า ท่านไม่ต้องการให้ใครละเมิดท่าน ท่านก็ไม่ควรล่วงละเมิดบุคคลอื่นเช่นเดียวกัน
อนุดิษฐ์ปัดเลือกปฏิบัติ
“ไอซีทีไม่มีสิทธิ์เลือกปฏิบัติหรือกระทำการใดๆ แบบสองมาตรฐาน การกล่าวหากระทรวงไอซีทีว่าละเลย และปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัตินอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ที่ได้รับ จึงไม่เป็นความจริง ส่วนการดำเนินการกับเว็บไซต์หมิ่นสถาบันนั้น ได้ชี้แจงหลายครั้งแล้วว่าเป็นการดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วน ไอซีทีก็เป็นองค์ประกอบในคณะดำเนินการ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงที่ทุกคนในคณะกรรมการนั้นให้ความรับผิดชอบ และให้ความสำคัญสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นกองทัพไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และข้าราชการทุกคน ซึ่งการดำเนินการกับเว็บไซต์ที่หมิ่นสถาบัน ไอซีทีดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ” นายอนุดิษฐ์กล่าว
    น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงกรณีไอซีทีจะมีการดำเนินคดีทางกฎหมายและปิดเว็บไซต์ที่มีข้อความหมิ่นนายกฯ ว่า เพิ่งทราบข่าว และขอเรียนว่าการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่ควรทำได้ แต่การกล่าวหาใครคนใดคนหนึ่งที่ค่อนข้างเกินเลยความเป็นจริงนั้น ก็เป็นหน้าที่ของไอซีทีที่จะดูแล แต่ต้องเรียนว่าไม่ใช่เพื่อตนคนเดียว อันนี้ต้องบอกว่าต้องทุกๆ คนตามสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ต้องยึดหลักตรงนี้ และขั้นตอนต่างๆ นั้นต้องมีเจ้าหน้าที่ ไม่สามารถที่อยู่ๆ จะมาดูแลเป็นพิเศษได้ ต้องขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกติกา
เมื่อถามว่า มีการประเมินหรือไม่หลังจากไปพูดในเวทีประชาธิปไตยที่ประเทศมองโกเลีย เป็นผลบวกหรือผลลบกับนายกฯ และประเทศ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า ต้องขอความกรุณา จริงๆ แล้วการไปชี้แจง พูดตามความจริง และเราอยากให้เป็นอุทาหรณ์ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ถ้าฟังดีๆ ไม่มีเจตนาใดๆ เจตนาจริงๆ อยากให้ทุกอย่างเป็นอุทาหรณ์ ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก เพราะจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาประเทศเราเสียหายไปเยอะ เราน่าจะมาร่วมในการช่วยกันแก้ไขปัญหาให้เดินหน้าต่อไป
“ดิฉันยืนยัน ทุกอย่างถ้าเป็นความจริง ทุกอย่างก็คือความจริง ก็เรียนว่าความจริงคือความจริง แต่ถ้าเราเอาความจริงนั้นมาเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก ดิฉันว่าน่าจะดีกว่าการที่เราหลีกเลี่ยงความเป็นจริง” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวตอบเรื่องรู้สึกเข็ดหรือไม่ในการพูดเรื่องดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ในช่วงเช้า กลุ่ม กวป. ประมาณ 30 คน นำโดย นางผุสดี แย้มสกุณา ได้เดินทางมามอบดอกกุหลาบสีแดงให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการปาฐกถาดังกล่าว โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯ เป็นตัวแทนมารับ ขณะเดียวกัน ร.ต.อ.เฉลิมซึ่งเดินทางมาถึงพอดี ได้เข้ามาทักทายพร้อมจับมือและรับดอกไม้ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม และสัญญาว่าจะนำดอกไม้ไปให้นายกฯ เอง
ส่วนนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ในโพสต์ที่แล้วได้เชิญชวนพี่น้องร่วมให้กำลังใจนายกฯ ปู เพียงแค่ 1 วันแฟนเพจกดไลค์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเจตนารมณ์ในการโพสต์ข้อความนั้น นอกจากต้องการกำลังใจจากแฟนเพจเพื่อมอบให้อาปูแล้ว ยังต้องการส่งข้อความถึง นสพ.ต้นสังกัดให้ช่วยกรุณาพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับลูกผู้หญิงซึ่งถูกก้าวร้าว ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย และอยากที่จะเตือนสติกันตรงๆ ถึงผู้ที่ใช้นามปากกาชัย ราชวัตร ด้วย
ยก ปรส.เทียบหญิงชั่ว
“เรื่องขายชาติที่จริงก็มี เร็วๆ นี้ เรื่อง ปรส. ซึ่งเป็นการขายชาติแบบเห็นกันจะจะ กำลังจะถูกปล่อยให้หมดอายุความ ซึ่งจะมีสลิ่มแมลงสาบที่รักชาติออกมาโวยว่าขายชาติไหม ชัย ราชวัตร จะออกมาโพสต์ด่าใครหรือเปล่า โพสต์ที่แล้วผมมีให้เลือกอยู่ 2 ทาง แต่ทางเลือกหนึ่ง เจ้าของกระโปรงเขาไม่อนุญาตแล้ว จึงเหลือทางเลือกเดียว ออกมาขอโทษต่อสังคม และแสดงความเห็นต่างด้วยเหตุด้วยผล แบบสุภาพชนดีกว่ามั้ยครับ ชัย ราชวัตร” นายพานทองโพสต์
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีขยายความขัดแย้งจากคำปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ต้องหยุดขยายความขัดแย้ง และไปดูว่าใครผิดหรือถูก ส่วนที่กองทัพบกถูกพูดถึงเกี่ยวการกระชับพื้นที่ เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ใครจะพูดอะไรก็พูดไป ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม และวันนี้ยังไม่มีใครผิดหรือใครถูก เป็นเรื่องของการไต่สวน ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเลย เราไม่ได้ทำอะไรผิด จึงไม่เดือดร้อนว่าใครจะว่าอะไร ส่วนที่นายกฯ พูดพาดพิงถึงกองทัพนั้น ก็เป็นเรื่องของท่าน เพราะท่านเป็นผู้นำประเทศ จะไปพูดอะไรที่ไหนก็พูดได้ เป็นเรื่องที่พวกเราก็แสดงความคิดเห็นกันไป
    เมื่อถามว่า นายกฯ ถูกโจมตีในช่วงนี้ ทางกองทัพจำเป็นต้องให้กำลังใจหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นายกฯ ต้องให้กำลังใจมากกว่า เพราะเป็นรัฐบาลอยู่เหนือทุกอย่าง ตนเองเป็นเพียงหน่วยหนึ่งที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา ทุกคนน่าจะต้องให้กำลังใจทหารมากกว่า ไม่บังอาจไปให้กำลังใจใครได้ และยืนยันไม่ได้เปลี่ยนไป ยังยืนหยัดในจุดที่ถูกต้อง
      ส่วนนายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการทำแถลงการณ์ชี้แจงประเด็นที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ปาฐกถาที่มองโกเลียว่า ได้ลำดับให้เห็นถึงที่มาที่ไปของข้อเท็จจริงที่บ่งบอกปัญหาของระบอบประชาธิปไตยในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นจากอะไร และพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่อ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตยนั้น เป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ไม่ใช่เรื่องการตอบโต้ทางการเมือง
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษก ปชป. กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีประชาธิปไตยแต่ปากเท่านั้น เพราะมีหลักฐานยืนยันว่าคนในรัฐบาลกดดันสื่อมวลชนต่างชาติเพื่อไม่ให้พบกับนายอภิสิทธิ์ โดยมีการข่มขู่ว่าจะไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลหากมาพบผู้นำฝ่ายค้าน
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ยังไม่เห็นเนื้อหาของคำแถลงการณ์ แต่ถ้ามีเนื้อหาเท็จที่พาดพิงและหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่คิดว่าเนื้อหาของแถลงการณ์คงเป็นเรื่องราว และวาทกรรมเดิมๆ ที่ ปชป.โจมตีใส่ร้าย พ.ต.ท.ทักษิณมาโดยตลอด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น