วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

มาร์คงานเข้า มติ7-2 ปมถูกถอดยศ เมื่อ 17 พ.ค.56




มาร์คงานเข้า มติ7-2 ปมถูกถอดยศ


“มาร์ค” งานเข้า ศาล รธน. มติ 7 ต่อ 2 รับคำร้อง พิจารณาสถานภาพ ส.ส. ปมถูกถอดยศ เรียกแจงภายใน 15 วัน ขณะที่ เจ้าตัวพร้อมแจง มั่นใจข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย ด้านกลุ่มชาวไทยฯ แค้นแทน บุกสภา ยื่น 25,000 ถอดถอน “บิ๊กโอ๋” พ้นเก้าอี้ รมว.กลาโหม ชี้ถอดยศมาร์ค ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ส่วน “แก้วสรร-วสิษฐ” เดินหน้าชนรัฐบาล ชูปรากฏการณ์ “ไทยสปริง” หวังตามรอยอาหรับสปริง ล้มรัฐบาลปู ลั่นต้านการบริหารงานรัฐบาลหุ่นเชิดทักษิณ ซัดไร้ความชอบธรรม เชื่อมีแผนเปลี่ยนแปลงการปกครอง-ยึดประเทศไทย ขณะที่ “พท.” ป้องรัฐบาลปู ฉะพวกลูกกระจ๊อกเผด็จการตกยุค ลั่นชนะเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย มีสิทธิ์ทำงานครบวาระ เอาแน่ พ.ร.บ.ปรองดองฯ ฉบับเฉลิม ล้างผิดเหมาเข่ง ฟุ้ง 140 ส.ส.หนุน วอน ปชป.ร่วม ด้าน “ปชป.” ย้ำค้านหัวชนฝา กฎหมายล้างผิดคนโกง เชื่อเป้าช่วยทักษิณ ยัดไส้คืนเงิน 4.6 หมื่นล้าน ส่วน “อภิสิทธิ์” ควง “อลงกรณ์” สยบ ปชป.ร้าว ยันข้อเสนอปฏิรูปพรรคไร้ขัดแย้ง อ้างทุกฝ่ายเห็นพ้อง พร้อมตั้งคณะทำงานศึกษาโครงสร้างภายใน 30 วัน เชื่อ 3 เดือนเสร็จ คาดได้เลือกตั้งใหม่ปีนี้ ขณะที่ “เด็จพี่” เสี้ยมหนุน ปชป.ปฏิรูป เหน็บเปลี่ยนวิธีคิดแบบเก่าๆ-ก้าวข้ามทักษิณซะที
ศาล รธน. รับคำร้องถอด ส.ส. มาร์ค
วันที่ 16 พ.ค. เมื่อเวลา 09.00 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยมี นายวัสนต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการประชุม ภายหลังการประชุม นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า เรื่องการพิจารณาในประเด็นคำร้องของ ส.ส. 134 คน ที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ศาลวินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (6) หรือไม่ หลังจากกระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่งปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกจากนายทหารกองหนุน โดยที่ประชุมมีมติรับคำร้องด้วยคะแนน 7 ต่อ 2 โดย 2 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่รับคำร้องคือ นายนุรักษ์ มาประณีต และนายชัช ชลวร โดยให้เหตุผลว่า คดีดังกล่าวยังไม่เป็นข้อยุติ และหลังจากนี้จะให้ผู้ถูกร้องส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด หรือประมาณ 15 วัน
ยกคำร้องแก้ ม.190 ขัด ม.68
นายพิมล กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่นายบวร ยสินทร และคณะขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า ประธานรัฐสภาที่ 1 กับพวก 315 คน ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งมีหลักการที่จำกัดสิทธิ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ริดรอนพระราชอำนาจในการมีพระบรมราชวินิจฉัย และมีผลนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง หรือได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ศาลเห็นว่าการแก้ไขมาตรา 190 เป็นคนละกรณีกับการแก้มาตรา 68 จึงไม่มีมูลที่จะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติ 5 ต่อ 4 ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติ 5 ต่อ 4 รับคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่นายวรินทร์ เทียมจรัส ขอให้ศาลวินิจฉัยรับไว้พิจารณาด้วย แต่คำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งเป็นอีกคำร้องของนายวรินทร์ นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง
“มาร์ค” พร้อมแจงศาล รธน.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนจะไปชี้แจงตามกระบวนการของศาล แต่คดีนี้จะไปเกี่ยวพันกับหลายศาล เพราะหลังจากที่ รมว.กลาโหม มีคำสั่งออกมา ตนก็ได้ไปร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลก็รับเรื่อง แต่ รมว.กลาโหม ก็ไปโต้แย้งทำให้เรื่องต้องส่งไปที่ศาลแพ่ง เพื่อพิจารณาว่าศาลปกครองหรือไม่ นอกจากนั้นตนก็ได้ดำเนินการทางอาญาด้วยเรื่องก็ยังค้างอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญว่าจะมีแนววินิจฉัยว่าจะปฏิบัติอย่างไร แต่ในที่สุดข้อยุติก็ต้องเป็นไปในทางเดียวกันทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในเรื่องนี้
กลุ่มชาวไทยฯ ยื่นถอดถอน “สุกำพล”
ที่รัฐสภา กลุ่มชาวไทยหัวใจรักสงบ นำโดย นางกาญจนี วัลยะเสวี เข้ายื่นรายชื่อประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 25,000 ชื่อ ต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ผ่านเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ออกจากตำแหน่ง หลังจากเคยยื่นแสดงตนขอเป็นผู้รวบรวมรายชื่อ ประชุมไปเมื่อเดือน พ.ย.55 เป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 164 ประกอบมาตรา 270 เนื่องจากเห็นว่าพฤติกรรมของ พล.อ.อ.สุกำพล ต่อประเด็นการพิจารณาปลดยศ ร้อยตรี ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่อาจขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคล รวมถึงขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร จึงขอใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล ออกจากตำแหน่ง เพื่อธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ และเพื่อความถูกต้องชอบธรรมตามครรลองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เปิดตัว “ไทยสปริง” ต่อต้านรัฐบาลปู
ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นายแก้วสรร อติโพธิ นายขวัญสรวง อติโพธิ ร่วมกันแถลงข่าวปรากฏการณ์ไทยสปริง (Thaispring) หรือดอกบัวแห่งการตื่นรู้ เพื่อปฏิเสธการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ดำเนินการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องโดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก แต่แต่งตัวเป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้จะเห็นจากการปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้ปาฐกถาประชาธิปไตย ที่เมืองอูลานบาตอร์ ที่ได้เรียกร้องให้นานาชาติสนับสนุนการต่อสู้ของตนเองและครอบครัว
ชวนลงชื่อค้านปาฐกถามองโกเลีย
พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวว่า ตนผ่านเหตุการณ์บ้านเมืองมาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน และตนก็ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ผ่านมาพบว่ามีความพยายามจากคนบางกลุ่มที่จะทำลายระบอบ กระทำการจาบจ้วง ก้าวล่วงสถาบันอย่างต่อเนื่อง และได้ดำเนินการอย่างมีแผนการล้มล้าง เพื่อยึดประเทศไทย และเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งตนยอมไม่ได้ ที่ผ่านมาเรามีอาวุธมากมายที่จะต่อสู้ แต่วันนี้เรามีอาวุธอีกอย่าง คือการแสดงอารมณ์ผ่านสื่อสังคม (โซเซียลมีเดีย) อาทิ เว็บไซต์ http://www.change.org/users/thaispring ที่ร่วมลงชื่อปฏิเสธปาฐกถาอูลานบาตอร์ของนายกรัฐมนตรี โดยขณะนี้ประชาชนได้ร่วมลงชื่อสนับสนุน กว่า 10,000 รายชื่อ เป็นการแสดงจุดยืนที่เห็นว่ารัฐบาลดำเนินการไม่ถูกต้อง ซึ่งรวมพลังแบบนี้จะเกิดผลมากกว่าที่จะไปเรียกให้คนออกมาที่ท้องสนามหลวง ซึ่งมีความเป็นไปได้ยาก รัฐบาลควรทบทวนบทบาทของตัวเองที่คิดว่าไม่เข้าท่า ไม่ถูกต้อง แต่นายกฯ ไม่รู้จะคิดออกหรือไม่ แต่แน่ใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะคิดออก ถ้าเกิดยังดึงดันในท่าทีอย่างนี้ต่อไป เชื่อว่าปรากฏการณ์ไทยสปริงก็คงจะนำไปสู่เหตุการณ์อื่น เช่นเดียวกับเหตุการณ์อาหรับสปริง ที่มีคนออกมาชุมนุมเป็นจำนวนมาก จนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้
ฉะรัฐบาลหุ่นเชิดไร้ความชอบธรรม
ด้านนายแก้วสรร กล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมในการปกครองประเทศ เพราะว่ารัฐบาลนี้มีนายกฯ ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ และถวายสัตย์ฯ อย่างถูกต้อง แต่กลับมีนายกฯ อีกคนคอยเชิดอยู่เบื้องหลัง สั่งการตลอดเวลา การกระทำหลายอย่างเป็นไปเพื่อประโยชน์ครอบครัวชินวัตร รัฐบาลนี้เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก พยายามที่จะย่ำยีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถึงขั้นให้ลูกน้องไปขู่ฆ่าศาล เป็นการกระทำที่ใช้ไม่ได้ สถานการณ์ตอนนี้เป็นเหมือนการปิดประตูตีแมว รัฐบาลพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายต่างๆ เพื่อล้างผิดให้กับนักการเมืองและครอบครัวตนเอง นอกจากนี้การไปปาฐกถาที่เมืองอูลานบาตอร์ เป็นการโดดเดี่ยวคนไทยที่มีประชาธิปไตย การที่นายกฯ พยายามบอกว่ารักประชาธิปไตย แต่แท้จริงเป็นการพูดเพื่อทำลายระบอบการปกครอง ซึ่งทางกลุ่มจะได้รวบรวมรายชื่อดังกล่าว ส่งไปยังประเทศสมาชิกประชาคมประชาธิปไตย 106 ประเทศ ผ่านสำนักเลขาฯ ของประชาคมที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ รวมทั้งส่งให้คณะทูตประจำประเทศไทยด้วย
ที่มาอาหรับสปริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาหรับสปริง (Arab Spring‎) หรือการปฏิวัติอาหรับ เป็นคลื่นปฏิวัติการเดินขบวน การประท้วงและสงคราม ซึ่งเกิดขึ้นในโลกอาหรับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2553 ทำให้มีผู้ปกครองถูกโค่นจากอำนาจในตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย และเยเมน รวมทั้งการก่อการกำเริบพลเมืองอุบัติขึ้นในบาห์เรน และซีเรีย การประท้วงใหญ่เกิดขึ้นในแอลจีเรีย อิรัก จอร์แดน คูเวต โมร็อกโก และซูดาน และการประท้วงเล็กเกิดในเลบานอน มอริเตเนีย โอมาน ซาอุดีอาระเบีย จิบูตี และเวสเทิร์นสะฮารา โดยการประท้วงมีเทคนิคการดื้อแพ่งร่วมกันในการรณรงค์ต่อเนื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับการนัดหยุดงาน การเดินขบวน การเดินแถว และการชุมนม เช่นเดียวกับการใช้โซเชียลมีเดียในการจัดระเบียบสื่อสาร และสร้างความตระหนักเมื่อเผชิญกับความพยายามของรัฐในการปราบปรามและตรวจพิจารณาอินเตอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม การเดินขบวนอาหรับสปริงหลายประเทศเผชิญกับการตอบสนองรุนแรงจากทางการ เช่นเดียวกับทหารอาสาสมัครนิยมรัฐบาลและการเดินขบวนโต้ตอบ การโจมตีเหล่านี้ได้รับการสนองจากผู้ประท้วงด้วยความรุนแรงในบางกรณี
“พท.” ฉะลูกกระจ๊อกเผด็จการ
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนในฐานะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยคนหนึ่ง ที่ถูกกระทบโดยตรงจากประเด็นจดหมายเปิดผนึกของนายแก้วสรร และพวก ที่อ้างว่าขณะนี้เกิดปรากฏการณ์ไทยสปริง หรือดอกบัวแห่งการตื่นรู้ ผ่านโซเซียลมีเดีย โดยมีประชาชนจำนวนมากแสดงจุดยืนต่อต้านการบริหารของรัฐบาล ภายหลังการปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เมืองอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย โดยเรียกร้องให้นานาชาติสนับสนุนการต่อสู้ของตนเองและครอบครัวนั้น ตนขอชี้แจงแทนว่า การปาฐกถาของนายกฯ เป็นการพูดความจริงที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยในประเทศไทย และเป็นเรื่องผลพวงของการปฏิวัติรัฐประหารที่ทำให้ประเทศไทยถดถอย แต่การปาฐกถาครั้งนี้คงจะไปพูดแทงใจดำ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่รักประชาธิปไตยมากกว่า ตนยังยืนยันด้วยว่า พรรคเพื่อไทยก็ไม่ใช่คอกขัง ส.ส. และไม่ใช่วัว ควาย หรือสัตว์เลี้ยงที่จะถูกต้อนไปนอกคอกตามที่จดหมายเปิดผนึกอ้าง และส่งไปยังประเทศสมาชิกและเครือข่ายประชาคมประชาธิปไตย ซึ่งการที่นายแก้วสรร กับพวกไม่ให้เกียรติ ส.ส.ที่ประชาชนเลือกเข้ามาตามกฎหมายที่พวกท่านสร้างไว้ เห็นได้ชัดว่าเลือกเอาความเห็นคนเป็นใหญ่ ถือเป็นเผด็จการตกยุค และการดูถูกเสียงข้างมากนี้ ท่านจะตอบประชาคมอย่างไร ในเมื่อพรรคเพื่อไทยถูกกลั่นแกล้งยุบพรรคหลายครั้ง แต่ประชาชนก็ยังให้ความไว้วางใจเป็นเสียงส่วนใหญ่อีก นายแก้วสรร กับพวก นั่นแหละเป็นลูกกระจ๊อกเผด็จการ ที่ไม่ฟังเสียงประชาชน การชนะเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยได้จะต้องมาจากเสียงข้างมากอยู่แล้ว จึงเป็นสิทธิ์ของรัฐบาลที่จะบริหารจนครบวาระ หรือถ้าจะมีการยุบสภาก็ต้องเป็นไปตามระบบรัฐสภา โดยไม่ยึดโยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง แต่มิได้นำพระบรมราโชวาทที่ทรงให้คนไทยมีเมตตาและปรารถนาดีต่อกัน ขอให้ส่องกระจกว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้บ้านเมืองสงบ เพื่อเดินไปข้างหน้าได้ ทั้งการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว จึงอยากให้พอกันทีกับการสร้างความแตกแยกให้กับบ้านเมืองอย่างนี้
“มาร์ค-จ้อน” ร่วมสยบข่าว ปชป.แตก
ส่วนสถานการณ์ความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคฯ และนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคฯ ได้แถลงข่าวร่วมกัน โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การประชุมกรรมการบริหารพรรค เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการหารือกันถึงการปรับปรุงพรรค ซึ่งการทำงานของพรรคมีเป้าหมายในการพัฒนาพรรค ในฐานะที่เป็นสถาบันทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และตระหนักในภาระหน้าที่ปัจจุบัน ที่เป็นฝ่ายค้าน และเป็นทางเลือกในการเป็นรัฐบาลในอนาคต ซึ่งต้องรอรับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันและอนาคต ท่ามกลางความขัดแย้งในบ้านเมือง ทั้งนี้ ทางพรรคได้วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปอาจจะมีขึ้นในปีนี้ด้วยซ้ำ ดังนั้น ต้องเตรียมพร้อมเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง พรรคจึงพิจารณาว่าจะต้องมีการปฏิรูปการทำงานของพรรคอย่างเป็นระบบ และเป้าหมายที่นายอลงกรณ์เสนอมานั้น คณะกรรมการบริหารพรรคเห็นพ้องว่า จะต้องปรับปรุงในลักษณะที่เป็นองค์รวม ทั้งโครงสร้างพรรคให้เกิดประสิทธิภาพ ระบบการบริหารพรรค ที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของพรรค เปิดกว้างให้บุคคลหลากอาชีพเข้ามาทำงานได้
แจงปฏิรูปพรรค สรุปใน 30 วัน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การเสนอความเปลี่ยนแปลงย่อมมีความเห็นที่หลากหลาย โดยเฉพาะโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค โครงสร้างการทำงานในพื้นที่ ว่าควรจะมีสายงานอย่างไร แต่โดยสรุปแล้ว กรรมการบริหารพรรคเห็นตรงกันว่า ให้ยึดประสิทธิภาพเป็นหลัก จึงจะได้มอบหมายให้คณะบุคคลทำงานเพื่อนำเสนอโครงสร้างภายใน 30 วัน โดยคณะทำงานนี้จะไปรับฟังความเห็นจากบุคลากรในพรรค แล้วนำเสนอกรรมการบริหารพรรค ซึ่งอาจจะกระทบไปถึงการแก้ไขข้อบังคับพรรค ดังนั้น เมื่อผ่านกรรมการบริหาร ก็จะต้องนำเสนอที่ประชุม ส.ส. และนำสู่ที่ประชุมใหญ่ของพรรค จะให้ยุติภายใน 3 เดือน แม้จะมีความเห็นที่หลากหลาย แต่บรรยากาศความเห็นภายในพรรคตรงกันว่าจะต้องเดินหน้าต่อไป โดยตนได้ระดมคนที่จะมาช่วยทำข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมจากพรรค และขอร้องว่า ระหว่างการทำงานไม่อยากให้เกิดความสับสนไขว้เขว จึงขอให้รอข้อยุติใน 30 วันข้างหน้า ก่อนนำเสนอที่ประชุมใหญ่ แต่ให้ความมั่นใจว่าทุกข้อเสนอมีเป้าหมายเดียวกัน ที่จะผลักดันเป้าหมายของพรรคให้บรรลุเป้าหมาย และไม่มีการดำเนินการใดที่จะกระทบภารกิจในการตรวจสอบรัฐบาล และเสนอตัวเป็นทางเลือกในอนาคต ทั้งนี้ ขอให้เรื่องการปฏิรูปพรรคในช่วงนี้เป็นเรื่องภายใน เพื่อไม่อยากให้เกิดภาพความขัดแย้ง และขอให้รอข้อยุติที่เป็นคำตอบ เพราะครั้งนี้ ต้องการทำให้กลไกพรรคมั่นคง และบ้านเมืองเดินหน้าอย่างเข้มแข็งต่อไป ส่วนที่นายอลงกรณ์ทวิตเตอร์ตอบโต้ ส.ส.อาวุโสในพรรค ที่ให้ข่าวมานั้น ได้มีการสอบถามและได้รับคำชี้แจงว่า เป็นการชี้แจงเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด แต่หลังจากนี้ไป คิดว่าทุกคนจะต้องระมัดระวัง เพราะสิ่งสุดท้ายที่ประชาชนต้องการคือ ความสำเร็จจากการปฏิรูปพรรค ไม่ใช่มีปัญหาเพิ่มขึ้น ซึ่งมั่นใจว่า ทุกคนที่ต้องการจะเห็นพรรคเดินไปข้างหน้า ทราบดีว่างานใหญ่ของพรรคคืออะไร และต้องการจะเห็นการรวมพลังเพื่อให้สำเร็จ
“อลงกรณ์” ปัดขัดแย้งอ้างเห็นตรงกันปฏิรูป
นายอลงกรณ์ ยืนยันว่า ไม่มีความขัดแย้งภายในพรรค เพราะทุกคนเห็นตรงกัน ว่าพรรคต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ในรายละเอียดนั้น ต้องมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันบ้าง ซึ่งหลังจากที่ตนได้เสนอแนวทางปฏิรูปแล้ว จะเปิดโอกาส ให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการแปรญัตติ โดยจะใช้เวลา 15 วัน ก่อนนำร่างให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้การเดินหน้าปฏิรูปพรรคมีเอกภาพ ทั้งนี้ ส่วนตัวอยากให้ที่ประชุมใหญ่ของพรรค ที่มีตัวแทนสมาชิกทั่วประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปพรรคในครั้งนี้ แต่ยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องยึดร่างของตนเพียงร่างเดียว ส่วนกรณีที่มีสื่อรายงานว่า แหล่งข่าวอาวุโสในพรรคกล่าวหาว่าข้อเสนอการปฏิรูปพรรคของตนเน้นประชานิยมและขัดแย้งต่ออุดมการณ์ของพรรคนั้น ไม่เป็นความจริง และไม่อยากให้คนในพรรคออกมาบิดเบือน หรือทำลายความน่าเชื่อถือของแนวทางปฏิรูปที่ตนเองนำเสนอ เพราะแนวทางปฏิรูปนี้เป็นไปตามอุดมการณ์ของพรรคที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และไม่มีการเสนอโยบายประชานิยมใดๆ โดยในวันนี้ ตนจะเข้าพบนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงและมอบพิมพ์เขียวปฏิรูปพรรค นอกจากนี้ เชื่อว่าแหล่งข่าวในพรรคที่นำชื่อนายชวนมาอ้าง เพราะรู้ดีว่านายชวนเป็นที่เคารพของทุกคน แต่การกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของพรรค
พท.จุ้นหนุนปฏิรูป ปชป.
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แนวคิดการเสนอปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเรื่องดี และขอสนับสนุนให้ทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคใดก็ตาม ทำการปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ประชาชน พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองที่ไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง สิ่งที่นายอลงกรณ์เสนอเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ก้าวหน้ามากขึ้น เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ ไม่เคยถูกยุบ มีพื้นฐานมั่นคงกว่าพรรคอื่นๆ ถ้าปฏิรูปให้ดีจะครบเครื่องที่สุด เพียงแต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดแบบเก่าๆ เน้นทำนโยบายแก้ปัญหาให้ประชาชน กลับมายึดมั่นระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการเหมือนในอดีต และเน้นการทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านที่ตรวจสอบอย่างจริงจังบนความสร้างสรรค์ แนวทางการปฏิรูปพรรคที่นายอลงกรณ์เสนอนั้น ต้องต่อสู้ฝ่าฟันอย่างหนักกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ ที่ยังมีแนวคิดเชิงอนุรักษ์นิยม ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง คนพวกนี้ยังมองการเมืองในมิติเดียว ไม่ได้มองเลยว่าโลกก้าวไปถึงไหนต่อไหนแล้ว เชื่อว่ามีคนรุ่นใหม่ในพรรคประชาธิปัตย์จำนวนไม่น้อยที่คิดอย่าง นายอลงกรณ์ อึดอัดกับการบริหารสไตล์เดิมๆ ที่ผูกขาดอำนาจอยู่กับกลุ่มแกนนำไม่กี่ตระกูล โดยเฉพาะตระกูลจากภาคใต้ เขาอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบที่ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ก็ขอเอาใจช่วยให้ทำสำเร็จ ส่วนการแถลงข่าวของพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้นั้น คิดว่าเป็นเพียงความพยายามรักษาภาพ ปกปิดความขัดแย้งภายในเท่านั้น
เหน็บปฏิรูปก้าวข้าม “ทักษิณ”
นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย กล่าวว่า แนวคิดการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ของนายอลงกรณ์เป็นเรื่องที่ดี เห็นสัญญาณชัดเจนว่าท้ายที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องทำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ได้ทำการปฏิรูปพรรค ปฏิรูปการเมืองมาแล้ว ส่วนตัวคิดว่า ก่อนอื่นพรรคประชาธิปัตย์ควรปฏิรูปพฤติกรรมโห่ฮาป่าเถื่อนในสภา การเล่านิยายการเมือง รวมทั้งก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถ้าตราบใดสลัดหลุด พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ ก็อย่าไปปฏิรูปเลย มันก็ยังติดหล่มอยู่เหมือนเดิม วันนี้ไม่แปลกใจเลยที่ไม่ว่าเรื่องอะไรพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เอา ทั้งการปรองดอง นิรโทษกรรม เพราะขนาดในพรรคยังแทงหลังกันเอง
หนุน พ.ร.บ.ปรองดองฉบับเหลิม
นายประชา กล่าวถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีว่า เห็นด้วยกับทุกแนวทางที่ทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ ทั้งการออกเป็น พ.ร.บ.ปรองดอง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมไปถึงการปรุงแต่งกฎหมายที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย ไม่ได้มาจากอำนาจประชาชน บ้านเมืองเราวันนี้เกิดเป็นวิกฤติหมักหมม เต็มไปด้วยความไม่ชอบธรรมที่อยู่ในกระบวนการ การเมืองไทยสามารถแก้ไขได้หลายช่องทาง สำคัญเพียงเปิดใจยอมรับ และถอยไปยังจุดตั้งต้น ความอิจฉาริษยา อคติต้องวางไว้ก่อน จะสู้กันก็ไว้รอลงสนามเลือกตั้ง อย่าไปเล่นนอกเกม นอกกติกา ใครมีความคิดจะช่วงชิงอำนาจ ด้วยช่องทางพิเศษควรยุติ ล้มเลิกความคิด อยากวิงวอนให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ เลิกคิดเล็กคิดน้อย คนนี้ได้ คนนี้ไม่ได้ อย่าไปติดหล่มกับความอคติอยู่เลย มาช่วยกันแสวงหาหนทางที่นำไปสู่การเยียวยาดีกว่า
โว 140 ส.ส. เพื่อไทยหนุนปรองดองเฉลิม
น.พ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า ในการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ร.ต.อ.เฉลิม ขอให้ ส.ส.ลงนามสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ซึ่งเท่าที่ทราบขณะนี้ มีคนลงนามเห็นด้วย130-140 คนแล้ว เท่าที่คุยกับ ส.ส.ต่างบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายฉบับใด หากเป็นเรื่องปรองดองจะลงนามให้ทั้งนั้น แต่ยังมีขั้นตอนอีก เช่น ต้องยื่นให้ประธานสภาฯ บรรจุในวาระการประชุม ซึ่งตอนนี้แค่ลงนามแต่ยังไม่ได้ยื่นก็ไม่มีความหมายอะไร ส่วนตัวยังไม่ได้อ่านร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง 6 มาตราของ ร.ต.อ.เฉลิมอย่างละเอียด แต่เห็นว่าร่างนี้ยกให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง รวมถึงคนสั่งฆ่าประชาชนด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องยกให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วย ยกให้อย่างไม่มีเงื่อนไข เรียกได้ว่าได้กันหมดจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติ ส่วนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ก็ยังต้องใช้ต่อ เพราะขอมาบรรจุในวาระแรกแล้ว คงใช้ควบคู่กันไป ส่วนฉบับของ ร.ต.อ.เฉลิมยังไม่ได้บรรจุวาระ ซึ่งจะทันหรือไม่ทันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนจะยึดเนื้อหาฉบับใดเป็นหลักนั้น คิดว่าอาจยกมาพิจารณาร่วมกันในวาระ 2-3 ก็เป็นได้ ส่วนญาติคนที่เสียชีวิตจะยอมหรือไม่ คงต้องไปว่ากันในสภาฯ แต่คิดว่าทหารน่าจะพอใจ เท่าที่ฟังมา เพราะทุกวันนี้ทหารก็ไม่มั่นใจรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 โดยเฉพาะพวกนายพล ส่วนกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิมระบุว่า 1 ใน 6 มาตราเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การเงิน การเยียวยาผู้ชุมนุม ซึ่งต้องได้รับการลงนามจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีด้วยนั้น เรื่องนี้ไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่ ร.ต.อ.เฉลิมพูด แต่การปรองดองถ้าจะให้ก็ต้องให้หมด คืนสภาพเดิม คงพูดในทำนองเกี่ยวกับความเสียหาย ก็ต้องคืนให้หมด แต่เรื่องค่าเสียหาย การทดแทน ค่อยมาว่ากันต่อเนื่องกันไป
ปชป.ยันขวางปรองดองฉบับเหลิม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีเตรียมที่จะผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสภานั้น รัฐบาลต้องกำหนดให้ชัด เพราะรัฐบาลจะเปิดสภาเพื่อพิจารณา พ.ร.บ.งบปี 57 และปิดหลังพิจารณากฎหมายดังกล่าวจบ ก็อยากให้รัฐบาลแสดงจุดยืนให้ชัด เพราะตนไม่เข้าใจ ว่ามีเหตุผลใดที่ ร.ต.อ.เฉลิมต้องเร่งเสนอ พ.ร.บ.ปรองดองในช่วงก่อนเปิดสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งก็ทำให้เกิดความกังวล ว่าจะมีการสอดไส้หรือไม่ ทั้งนี่ตนอยากย้ำว่ารัฐบาลไม่ควรเอาเรื่องที่เป็นปัญหาเข้ามา เพราะไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย แต่การที่ ร.ต.อ.เฉลิมยืนยันว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายการเงินนั้น รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีจะปฏิเสธความรับผิดชอบเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะนายกฯ ต้องเป็นผู้รับรอง ทั้งนี้ ฝ่ายค้านยืนยันว่าไม่เห็นด้วย ส่วนกระบวนการในการคัดค้านนั้น ก็ต้องว่ากันไปอีกที แต่ยืนยันว่า รัฐบาลควรเอาเวลานี้ไปแก้ปัญหาของประเทศ ประชาชน เตรียมความพร้อมเข้าสู่อาเซียน ปรับปรุงเรื่องการศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสวัสดิการ ดีกว่ามาหมกมุ่นนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และบรรดาแกนนำการชุมนุม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น