วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประเมินกวป. ขนคนไล่ศาล แค่หลักหมื่น เมื่อ 6 พ.ค.56


ประเมินกวป. ขนคนไล่ศาล แค่หลักหมื่น



สมช.ประเมินม็อบแดงหน้าศาล รธน. 8 พ.ค.เต็มที่ได้แค่หมื่น หลังแกนนำคุยโม้มาเป็นแสน "เสธ.แมว" ย้ำต้องอยู่ในความสงบ กวป.มุ่งเป้าจัดหนัก "จรัญ" พุธนี้เอา 1 แสนรายชื่อถอดถอนยื่นขุนค้อน   เปรี้ยวหนักแล่นรถแจ้งความตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกสถานีตำรวจที่ขับผ่าน 
    ผู้สื่อข่าวรายงานจากหน้าอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์  ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ ถึงการชุมนุมของคนเสื้อแดงกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ว่ายังคงปักหลักชุมนุมกดดันเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ยุติการทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นวันที่ 14 
    โดยในช่วงสายของวันที่ 5 พ.ค. นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือ เล็ก บ้านดอน ประธาน กวป. พร้อมด้วยนายชาญ ไชยะ หรือ หนุ่ม โคราช รองประธาน กวป. แถลงประกาศยกระดับการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออกทั้งคณะ 
    โดยกลุ่ม กวป.แถลงว่า จะเริ่มจากนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคนแรก เพราะเห็นว่านายจรัญเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีที่มาไม่ชอบ  เป็นบุคคลที่ร่วมกับคณะปฏิวัติเขียนรัฐธรรมนูญมาตรา 309 เพื่อเอื้อประโยชน์ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และพวกพ้อง และที่สำคัญ เป็นผู้หนึ่งที่วินิจฉัยคดีชิมไปบ่นไปผิดพลาด จนเป็นเหตุให้นายสมัคร สุนทรเวช ตรอมใจ เป็นการสร้างความเสื่อมเสียให้กับศาลรัฐธรรมนูญและสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างร้ายแรง ดังนั้นในอีก 3 วันนี้ก่อนจะถึงวันที่ 8 พ.ค. ซึ่ง กวป.จะยกระดับการชุมนุมภายใต้สโลแกน “8 พฤษภา มาเป็นแสน ขับไล่ตุลาการ ยกเลิกมาตรา 309” ขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 8 คนร่วมกันบอยคอตไม่ให้นายจรัญร่วมอยู่ในองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้รายชื่อที่จะถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะได้ครบ 1 แสนรายชื่อแล้ว
         นายพงษ์พิสิษฐ์กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของ กวป.หลังจากนี้ จะมีการรณรงค์เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศร่วมกันใส่เสื้อขาวพิมพ์ข้อความ “ยกเลิกมาตรา 309” ซึ่งทาง กวป.จะมีการเดินสายรณรงค์ในต่างจังหวัดอีก 20 จุด เพื่อระดมรายชื่อประชาชนทั่วประเทศที่เห็นด้วยกับการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ทั้งคณะ และยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 309 ให้ครบ 1 ล้านรายชื่อ พร้อมจะมีการไปแจ้งความดำเนินคดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในความผิดอาญา มาตรา 157 ในจังหวัดต่างๆ อีกด้วย
    นายพงษ์พิสิษฐ์กล่าวอีกว่า ในวันที่ 8 พ.ค. ช่วงเช้าจะมีการขับเคลื่อนขบวนไปยังถนนวิภาวดีฯ เพื่อมุ่งหน้าไปยังรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือล่ารายชื่อที่รวบรวมได้กว่า 1 แสนรายชื่อ ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา โดยจะเข้าแจ้งความต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ทุกสถานีตำรวจที่เคลื่อนผ่าน ส่วนวันที่ 6-7 พ.ค. ที่จะมีการพักการชุมนุมนั้น ไม่ได้หมายถึงพับเต็นท์เก็บของกลับบ้าน แต่เป็นการพักเพื่อวางแผนต่างๆ เท่านั้น เพื่อขับไล่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะนายจรัญ ภักดีธนากุล 
    "ในวันที่ 8 พ.ค. เราจะยกระดับการชุมนุมภายใต้สโลแกน 8 พฤษภา มาเป็นแสน ขับไล่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกเลิก ม.309 นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวจะมีการรณรงค์เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศร่วมกันใส่เสื้อขาวพิมพ์ข้อความ ยกเลิก ม.309 ซึ่งทาง กวป.จะมีการเดินสายรณรงค์ในต่างจังหวัดอีก 20 จุด เพื่อระดมรายชื่อประชาชนทั่วประเทศที่เห็นด้วยกับการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ทั้งคณะ" ประธาน กวป.กล่าว
    ด้านนายชาญกล่าวเสริมว่า ในวันที่ 8 พ.ค. ทาง กวป.จะไปยื่นหนังสือที่รวบรวมล่าชื่อกับประธานรัฐสภา โดยเรากำหนดเวลาให้ 3-10 วัน เพื่อให้มีการปลด 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกไป ประกอบด้วย นายจรูญ อินทจาร, นายจรัญ ภักดีธนากุล และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ที่เป็นเสียงข้างมากรับวินิจฉัยปมแก้มาตรา 68 และจะให้เวลาอีก 15 วัน เพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออีก 6 คนออกทั้งคณะ หากไม่ดำเนินตาม เราจะต้องกลับไปทวงถามอีกครั้ง ขอยืนยันว่าเราจะไม่ยอมอย่างแน่นอน 
    นายศรรัก มาลัยทอง โฆษก กวป. กล่าวว่า ขอยืนยันว่าวันที่ 8 พ.ค.นี้ ทางด้าน กวป.มีทีเด็ด และมีหมัดน็อกอย่างแน่นอน แม้จะถูกสื่อมวลชนวิจารณ์ว่า กวป.ไม่มีราคา ยืนยันว่าเราจะไม่กลับบ้านมือเปล่า แต่จะเอาชัยชนะกลับไปด้วย และขอเตือนว่าคราวนี้หากพวกตุลาการพ่ายแพ้ คงจะไม่ได้กลับมามีอำนาจแบบเดิมอย่างแน่นอน
"มาร์ค"หวั่นการเมืองถึงจุดแตกหัก 
    พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการชุมนุมของ กวป. ที่จะให้เกณฑ์คนมาชุมนุมให้ได้ 1 แสนคนในวันที่ 8 พ.ค.ว่า ทางกลุ่มดังกล่าวเองสื่อสารออกมาว่าจะมีคนมาชุมนุมเยอะ แต่ที่หมายไม่น่าจะเป็นหน้าศาลรัฐธรรมนูญ เพราะได้ข่าวมาว่าน่าจะเป็นหน้ารัฐสภา ส่วนจำนวนคนมาชุมนุมนั้น เท่าที่ได้รับรายงานเบื้องต้นน่าจะอยู่ในหลักหมื่น ไม่น่าจะถึง 1 แสนคน แต่ทั้งนี้ยังมีห้วงเวลาอยู่ จึงต้องดูเป็นระยะๆ ยังประมาณการที่ชัดเจนไม่ได้ ต้องค่อยๆ ประเมินไปแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องกลุ่มที่จะก่อเหตุวุ่นวาย เพราะมีการสื่อสารซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา เราเองก็ต้องจัดระเบียบเขา มาชุมนุมตามสิทธิ์ได้ แต่ต้องอยู่ในความสงบเรียบร้อย ซึ่งก็มีการพูดคุยและประสานกันอยู่แล้ว
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า หน้าที่ของรัฐบาลคือทำอย่างไรให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ประเทศชาติสงบ และแก้ปัญหาให้กับประชาชน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลกลับมาให้ความสนใจกับปัญหาของประชาชน ทั้งเรื่องค่าครองชีพ ราคาก๊าซที่จะมีการปรับขึ้น พืชผลการเกษตรที่ตกต่ำทั้งยางพาราและปาล์ม อยากให้รัฐบาลใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ มากกว่าที่จะเดินหน้าสร้างบรรยากาศการเผชิญหน้า เพราะหากลุกลามบานปลายออกไป ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาอื่นๆ ไม่ได้รับการแก้ไข 
    ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ยังกล่าวอีกว่า เชื่อว่าเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลนำสังคมไปสู่การเผชิญหน้า เป็นเพราะได้รับสัญญาณจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ทุกอย่างถูกเร่งเร้าในขณะนี้ จนบรรยากาศการเผชิญหน้าเกิดขึ้นไปทั่ว ทั้งกับศาล ธนาคารแห่งประเทศไทย และกลุ่มมวลชนด้วยกันเอง ซึ่งกลายเป็นสัญญาณแตกหักที่ไม่เป็นผลดีกับใครเลย เพราะฉะนั้นอยากให้รัฐบาลทบทวนท่าทีนี้ เพราะหากไม่ทบทวน ก็น่าเป็นห่วงว่าจะนำสังคมไปสู่ความแตกหักในที่สุด เนื่องจากหลายฝ่ายก็ต้องการแสดงออกถึงจุดยืนของตัวเอง
    ส่วนกรณีที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว., นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ไปยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สไกป์สั่งการรัฐบาลว่าเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายเคารพการใช้สิทธิ์ของคนอื่น เพราะศาลก็จะพิจารณาตามตัวบทกฎหมาย ถ้าศาลปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ก็มีสิทธิ์ถอดถอน แต่ไม่มีเหตุผลที่จะใช้วิธีข่มขู่ คุกคาม กดดันจนทำให้เสียบรรยากาศของบ้านเมือง 
    ส่วนการประกาศยกระดับการชุมนุมของคนเสื้อแดงในวันที่ 8 พ.ค.นี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากเรียกร้องว่าอย่าทำเลย เพราะมีแต่จะสร้างความกังวล ความไม่มั่นใจและความเครียดให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
    ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเกิดสภาพที่ควบคุมไม่ได้เหมือนปี 53 จะเกิดอะไรกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ห่วงรัฐบาล แต่ห่วงว่าในสายตาของประชาคมโลกจะมองว่าบ้านเมืองของเรากลายเป็นประเทศที่มีแต่ความวุ่นวายไม่จบไม่สิ้น ทั้งที่รัฐบาลได้อำนาจมาจากการเลือกตั้ง มีโอกาสเดินหน้าแก้ปัญหาเพื่อประชาชน ควรใช้โอกาสทำเพื่อประชาชน อย่านำบ้านเมืองกลับไปสู่จุดเดิมที่เคยมีความขัดแย้งอีก 
เพื่อไทยเชื่อ 8 พ.ค.ไม่น่าห่วง 
     นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีทางเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญระบุว่ายังไม่มีสมาชิกรัฐสภา 312 คนยื่นคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะครบกำหนดในวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 ว่า เชื่อว่า ส.ส. และ ส.ว. คงจะไม่ส่งคำชี้แจงไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะว่าในขณะนี้การแสดงออกของสมาชิกรัฐสภา 312 คน แสดงออกแบบอหิงสา เพื่อไม่ให้ใครมาช่วงชิงอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย เพราะบทบัญญัติรัฐธรรมนูญถือว่าสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ถือว่ามีอำนาจในการตรากฎหมายหรือแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจของประชาชนในลักษณะที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนโดยประชาชนใช้อำนาจเสนอกฎหมายผ่านสมาชิกรัฐสภา 312 คน จะทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนชาวไทยรักษาไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย เราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดขอให้ประชาชนผู้รักในประชาธิปไตยได้ให้กำลังใจ เรื่องการไม่ส่งคำชี้แจงโดยทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้กดดันศาลรัฐธรรมนูญ หรือต้องการเอาชนะหรือจะไปขัดแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่เป็นความเห็นต่างในทางกฎหมายของสมาชิกรัฐสภา 312 คนกับการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่อยากให้ฝ่ายค้านหรือฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมาเสี้ยมว่าเป็นการทำร้ายซึ่งกันและกัน เรื่องดังกล่าวควรให้ทุกฝ่ายมาตรวจสอบอำนาจหน้าที่ของตนเอง การที่จะมากล่าวหาว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำร้ายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่อยากให้ฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์นำเรื่องดังกล่าวมาเป็นเกมการเมือง และทำร้ายสมาชิกรัฐสภาด้วยกัน เพราะฉะนั้นการไม่ส่งคำชี้แจงโดยทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 15 พฤษภาคม ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นความขัดแย้ง แต่เป็นการเห็นต่างทางข้อกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่าคงมีข้อยุติในที่สุด ส่วนการชุมนุมในวันที่ 8 พฤษภาคมของ กวป.  ไม่น่ามีความรุนแรงใดๆ เพราะผู้ชุมนุมก็ได้รับบทเรียนที่ผ่านมา ถ้าการชุมนุมไม่อยู่ในเสรีภาพก็ขาดการสนับสนุน 
    นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีถูกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญร้องกล่าวโทษต่อกองปราบปราม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 และมาตรา 198 หลังจากที่ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการคัดเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญ ว่าได้ยกร่างคำร้องถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษขอให้ตรวจสอบเพิ่มเติมว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญกระทำการแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 หรือไม่ โดยจะนำไปยื่นในวันที่ 7 พ.ค.นี้ เพื่อยืนยันว่าเป็นการใช้สิทธิร้องโดยสุจริตตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ตามรัฐธรรมนูญไม่มีอะไรที่ซับซ้อน หากนายชัช ชลวร ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจริง เพียงนำพระบรมราชโองการมาแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เรื่องก็จะได้ข้อยุติโดยสมบูรณ์ และพร้อมจะต่อสู้คดีต่อไป ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าการกล่าวหาถึง 2 มาตรานั้น น่าจะซ้ำซ้อนกัน โดยเทียบเคียงได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 1650/2514.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น