วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วิเคราะห์การเมือง 5 May 2556“ยิ่งลักษณ์”เปิดหน้าพร้อมแตกหัก เดิมพันสูงก่อน “พี่” ปอดบวมตาย


“ยิ่งลักษณ์”เปิดหน้าพร้อมแตกหัก เดิมพันสูงก่อน “พี่” ปอดบวมตาย




 การแสดงปาฐกถาที่ประเทศมองโกเลีย ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในท่วงทำนองที่ไม่เหมาะสม เพราะพูดความจริงไม่หมด เอาดีเข้าตัวเอง และเอาความชั่วไปเร่ขายต่างชาติ
     นั้นเพราะตัวนายกฯ เอง ไม่ยอมสะท้อนความจริง ที่ พี่ชายของตัวเอง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นผู้ก่อและได้ปู้ยี่ปู้ยำประเทศมาแล้วอย่างไรบ้าง ทั้งการใช้อำนาจโดยมิชอบ มีผลประโยชน์ทับซ้อนการละเมิดจริยธรรม คุณธรรม ของผู้นำประเทศ แทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2540 จนก่อให้เกิดการต่อต้านของประชาชนอย่างกว้างขวาง
    แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นจากปรากฏการณ์ครั้งนี้  คือ นายกฯ ปู ได้เลิกประคับประคองกับผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญและไม่ตีกรรเชียงหนีปัญหาอีกต่อไป
    พร้อมกับมาเปิดหน้าท้ารบทุกองค์กร และอำมาตย์ใหญ่ ที่เป็นปรปักษ์กับคนในตระกูลชินวัตร และ พรรคเพื่อไทย เพื่อช่วยเหลือ “พี่ชาย” ซึ่งขณะนี้ อ้างว่า “กำลังจะปอดบวมตาย เพราะลอยคออยู่ในทะเลมานานแล้ว”   
    การเปิดหัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในเวทีโลกครั้งนี้ เพื่อเปิดทางให้กระบวนการภายในประเทศทำงานได้ง่ายขึ้น  โดยใช้ความเป็นสากล หรือลัทธิประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบบังหน้า ให้สมุนและไพร่ถ่อยของตัวเองทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ที่อ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ  
    รวมทั้ง ยังใช้โอกาสนี้ ช่วยเหลือ “พี่ชาย” ที่อ้างว่าถูกอำนาจรัฐประหารกลั่นแกล้ง ด้วยการออกกฎหมายล้างผิด เพื่อให้ไม่ต้องตายอยู่เมืองนอก และกลับบ้านอย่างเท่ๆ โดยไม่ต้องติดคุก
    ขณะที่เกมในประเทศ แม้จะมีกระบวนการเป็นขั้นตอนและทำมาแล้วหลายครั้งแต่ยังไม่บรรลุผล อาจเป็นเพราะในช่วงแรกนั้นต้องการรักษาฐานอำนาจของตัวเองที่พึ่งเข้ามารับตำแหน่งไม่ถึง 2 ปี รวมทั้งยังต้องการใช้วิธีต่อรองกลับผู้มีอำนาจอยู่
    แต่เมื่อสถานการณ์ผ่านไปการต่อรองไม่สำเร็จ ขณะที่ลูกพรรคของตัวเองก็เริ่มเสพติดกับอำนาจโดยไม่มีความจริงใจจะช่วยพ.ต.ท.ทักษิณ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ “นายใหญ่” จะต้องออกโรงบัญชาเกมเอง โดยผลักดันอำนาจที่ตัวเองมีอยู่ไปพร้อมกัน
    ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ  และ มวลชนของคนเสื้อแดง โดยมีเป้าหมายหลักในขณะนี้ คือศาลรัฐธรรมนูญ  เพราะเป็นด่านสำคัญที่สกัดไม่ให้เป้าหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ประสบความสำเร็จ
    ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดจุดแตกหัก ก็คือกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 68 ที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ส.ว. จำนวน 312 คน เป็นผู้ผลักดัน  
     โดยพวกเขามองว่าไม่มีอำนาจกระทำได้เพราะเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทั้งยังทำตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญมาก่อนหน้านี้ที่อนุญาตให้แก้ไขแบบรายมาตรา รวมทั้ง ตุลาการบางคน ยังทำผิดจริยธรรม ไม่ยอมสละสิทธิ์ในการวินิจฉัยคดีที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสียในการแก้ไขมาตรา 68
    แม้ฝ่ายเพื่อแม้ว จะอ้างเหตุผลที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเองเพราะต้องการทำให้เกิดชัดเจน แต่ขณะที่ความเป็นจริง หากศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายของฝ่ายอำนาจเก่า ยอมให้ฝ่ายเสียงข้างมากลากไปตามความต้องการ ก็ทราบดีว่าจุดท้ายสถานการณ์ของบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร 
    รัฐธรรมนูญมาตรา 309 ที่เป็นกฎหมายที่ตราตรึง บาปเคราะห์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็อาจจะถูกแก้ไขในเวลาต่อมา หรือ การโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ค้างอยู่ในระเบียบของการประชุมรัฐสภาในวาระ 3 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็จะทำได้ทันทีเช่นกัน 
    เมื่อระบบปกติคือศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีช่องทางหยุดยั้งอำนาจของทักษิณได้แล้ว เหตุการณ์เดิมๆ เช่น 19 ก.ย. 2549 อาจกลับมาอีกครั้งก็เป็นได้
    ขณะที่ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ก็คงไม่คิดเช่นนั้น เพราะไม่ยอมเสียสละเพื่อประเทศชาติอยู่แล้ว อะไรที่ทำให้ตัวเองหลุดบาปเคราะห์ ก็สามารถทำได้ทั้งนั้น และหากยังยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ ตัวเองก็ไม่มีทางได้กลับประเทศ
    จึงเป็นเหตุให้ “นายใหญ่” ประกาศท้าชน ซึ่งหน้ากับศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง และไม่ให้สมาชิกรัฐสภาจำนวน 312 คน ยื่นคำชี้แจงและปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
    พร้อมทั้งทำจดหมายเปิดผนึก คัดค้านอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไปที่ทุกองค์กร สถาบันการศึกษา และผู้พิพากษา ให้ช่วยกดดันการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไปด้วย และไฟเขียวให้มวลชนเสื้อแดงไปชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อกดดันการทำหน้าที่ให้วินิจฉัยที่กำลังพิจารณาคำร้องเรื่องการแก้ไขมาตรา 68 ไม่ให้เป็นโทษของตัวเองอีกด้วย
     แม้สถานการณ์จะบีบ ศาลรัฐธรรมนูญ อย่างถึงที่สุด แต่สุดท้ายก็เชื่อว่าในฐานะที่พึ่งสุดท้ายของฝ่ายอำนาจเก่าที่อยู่ในระบบ ก็จะกล้าหาญทำหน้าที่ต่อไปโดยไม่สนใจต่อแรงกดดัน และการวินิจฉัยที่ออกมาก็น่าจะเป็นโทษกับฝ่ายทักษิณอีกตามเคย
    มีหรือ นายใหญ่ และ  สมุนจะไม่ทราบ แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และแผนต่อไป ก็คงเดินหน้าถอดถอนตุลาการทั้ง 9 คน หรืออาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งแต่เป็นเรื่องที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ไม่ก็ยุบทิ้งไปเลย เพื่อดูสิว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ช่องทางไหนปกป้องตัวเองอีก 
    ขณะที่ใน รัฐสภา ก็มีการส่งสัญญาณให้ผลักดันกฎหมายปรองดองควบคู่กันไป โดยเฉพาะ ฉบับของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ คาดการณ์ว่าจะบรรจุเมื่อเปิดประชุมสภาทั่วไปสมัยสามัญในวันที่ 1 ส.ค.นี้ และอาจปิดเกมเร็วโดยพิจารณา 3 วาระรวด
    ไม่เพียงแต่คดีที่ดินรัชดาฯ ที่ นายใหญ่ ถูกตัดสินให้จำคุก 2 ปี จะพ้นโทษ ยังมีคดีอื่นๆ ที่ได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย อาทิ คดีหวยบนดิน คดีเอ็กซิมแบงก์ คดีแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต คดีปลุกระดมมวลชนจนเกิดเหตุจลาจลในกรุงเทพมหานคร และ คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานคร รวมทั้ง ทรัพย์สินของตัวเองจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท จะได้กลับคืนมา   
    อาจมีคำถามอยู่บ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะกล้าเปิดเกมหนักถึงเพียงนั้นหรือไม่ เพราะเสี่ยงต่อสถานการณ์ของรัฐบาลที่กุมบังเหียนอยู่ แต่เมื่อได้ยินการสไกป์มาล่าสุดต่อที่ประชุมพรรคเพื่อไทย และสั่งการให้สมาชิกเตรียมพร้อมทุกสถานการณ์หากมีการยุบสภา จึงเป็นสัญญาณว่านายใหญ่ได้เอาจริงแล้ว
    แต่การไปถึงจุดนั้นได้ จะต้องผ่านเงื่อนไข คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 และร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท รวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทั้งทหาร ตำรวจ และในกระทรวงมหาดไทย ให้ผ่านเป็นที่เรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้  
    เมื่อเงินและกลไกของข้าราชการพร้อมแล้ว การกลับเข้ามาสู่อำนาจก็ไม่ใช่เรื่องยาก และการจะไปสู่ภารกิจข้างต้นที่กล่าวมา ก็ไม่มีอะไรที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และ เครือข่าย จะต้องกังวล 
    ทั้งการรบกับศาลรัฐธรรมนูญอย่างถึงที่สุด การผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา หรือแม้กระทั่งลักไก่โหวตรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ที่ค้างอยู่ระเบียบวาระของรัฐสภา การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งสามารถกดรีโมตได้ทันที
    จึงเป็นที่คาดหมายได้ ประมาณเดือน ต.ค.นี้ บ้านเมืองอาจกลับมาลุกเป็นไฟอีกครั้ง. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น