วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เมื่อ 4 พ.ค.56

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์


ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 (วัฒนธรรม)


Copy//เมษายนที่ผ่านมาถือเป็นเดือนแห่งการสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ครบรอบ 231 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่แผ่นดินธรรม แผ่นดินทองอันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนไทยผืนนี้ ผ่านกาลเวลา และดำรงความเป็นเอกราชยืนยาวมาจนถึง 231 ปี
แต่ถ้าจะให้จินตนาการกลับไปถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หรือกว่าสองร้อยปีก่อนว่าราชธานีแห่งนี้มีบรรยากาศหรือรูปแบบเมืองเป็นเช่นไร ก็คงยากเกินไปที่จะจินตนาการ ยิ่งเมื่อพูดถึงครั้งการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ใหม่ๆ นับจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาและสร้างกรุงเทพเป็นราชธานี ในปี พ.ศ. 2325 ก็ยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะชี้ชัดว่ารูปแบบเมืองในครั้งนั้นจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร คงเป็นเพียงการคาดคะเนและทึกทักกันเอาเอง ส่วนเรื่องภาพถ่าย ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะเทคโนโลยี่การถ่ายภาพ เข้ามายังกรุงสยามก็ล่วงเลยจนกระทั่งขึ้นรัชกาลที่ 3 แล้ว โดยมีบาทหลวงชาวฝรั่งเศสชื่อ ยัง บัปติส ฟังซัว หลุยส์ ลาร์โนดี (Larnaudie) นำกล้องถ่ายรูปพกติดตัวขึ้นเรือมาบางกอกตามคำขอของสังฆราชปาเลอกัว ที่ประจำในสยามก่อนหน้านั้นแล้ว
แต่ความโชคร้ายของสยาม ที่แม้ว่าเทคโนโลยี่การถ่ายภาพจะเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แต่ก็ยังไม่มีการถ่ายภาพบรรยากาศคนและทิวทัศน์เมืองบางกอกเลย เนื่องจากในยุคสมัยนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีราคาค่างวดสูงมากกับการถ่ายภาพ คงเน้นไปที่การถ่ายภาพตัวบุคคลเสียมากกว่าเพราะสามารถเก็บเงินเก็บทอง ทำกำไรได้ ครั้นจะเอากล้องไปถ่ายรูปวิวรูปเมือง ก็ไม่รู้จะไปเก็บเงินกับใคร สิ้นเปลืองเปล่าๆ
ในเมื่อไม่มีการถ่ายภาพเมืองบางกอกแล้ว และหลักฐานที่กล่าวถึงการสร้างกรุงในยุคแรกๆ เล่า จะพอมีให้อ้างอิงบ้างไหม เท่าที่สืบค้นหลักฐาน ก็ค้นพบว่า มีเพียงรายละเอียดที่ปรากฏในพรราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ซึ่งถือว่าเป็นบรรยากาศการสมโภชพระนครได้ชัดเจนที่สุดดังนี้
“ครั้นการฐาปนาพระนครใหม่สำเร็จบริบูรณ์แล้ว จึงทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีงานฉลองสมโภชพระนคร ให้นิมนต์พระสงฆ์ทุกอารามทั้งในกรุงนอกนอกกรุง ขึ้นสวดพระพุทธมนต์บนเชิงเทินทุกใบเสมาๆละองค์ๆ รอบพระนคร พระราชทานเงิน เกณฑ์ให้ข้าราชการทำกับข้าวกระทงมาเลี้ยงพระสงฆ์ทั่วทั้งสิ้น แล้วให้ตั้งโรงทานรายรอบพระนคร พระราชทานเลี้ยงยาจกวรรณิพกทั้งปวง แล้วให้ตั้งต้นกัลปพฤกษ์รายรอบกำแพงเมือง ทิ้งทายต้นละชั่งทั้งสามวัน สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก ให้มีการมหรสพต่างๆ กับทั้งละครผู้หยิงโรงใหญ่ เงินโรงวันละสิบชั่ง สมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับทั้งพระนครด้วยครบสามวันเป็นกำหนด ”
และบันทึกของกรมหลวงนรินทรเทวี พระเจ้าน้องนางเธอในรัชกาลที่ 1 ได้ทรงจดหมายเหตุไว้ว่า “ณ เดือน 8 ปีมะเสง พระโองการรับสั่งให้มีงานละครผู้หญิงโรงใหญ่สมโภชพระแก้ว ประทานเงินโรงวันละ 10 สามวัน สำหรับพระสงฆ์ ทรงประเคน แล้วทรงถวายน้ำผึ้งไม้ท้าว ศาลาฉ้อทาน ตั้งรายรอบพระนคร ทิ้งต้นกัลปพฤกษ์สามวันต้น มีการมหรศพสมโภชพร้อมเถลิงพระนครด้วย”

ภาพวาดลายเส้น ลงสีด้วยมือ ของ Bertuch ส่วนหนึ่งของสารานุกรม ชุด Biderbuch for Kinder พิมพ์ระหว่างปี พ.ศ. 2333-2363 ซึ่งถือเป็นภาพรายละเอียดบรรยากาศกรุงรัตนโกสินทร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการค้นพบ

นอกเหนือจากหลักฐานที่เป็นบันทึกดังกล่าว ก็ยากที่จะจินตนาการว่ารูปแบบเมืองบางกอกเมืองครั้งสร้างกรุงใหม่ๆ เป็นเช่นไร เพราะชาวสยาม ไม่นิยมบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นประจำวันไว้เป็นจดหมายเหตุให้คนรุ่นหลังได้สืบค้น ดังนั้นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระนครจึงพยายามสืบเสาะค้นหาว่าในโลกนี้มีใครหรือผู้ใดเคยวาดภาพกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อครั้งสร้างบ้านแปงเมืองไว้บ้าง
ความพยายามค้นคว้าดังกล่าวใช้เวลานานกว่าทศวรรษ กระทั่งได้ค้นพบภาพวาดสำคัญภาพหนึ่ง ซึ่งเป็นการวาดและลงสีด้วยมือ เป็นผลงานการพิมพ์ของ Bertuch ในชุดสารานุกรมชื่อ Biderbuch for Kinder ของเยอรมัน ซึ่งตำราดังกล่าวถูกพิมพ์ขึ้นในระหว่าง ปี พ.ศ. 2333-2363 โดยภาพลายเส้นกรุงรัตนโกสินทร์หรือเมืองบางกอกชิ้นนี้อยู่ในกลุ่มงานสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ซึ่งเป็น 1 ใน 14 กลุ่มที่ Bertuch พิมพ์ขึ้น
และที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งสำหรับคนไทยก็คือ ภาพวาดลงสีด้วยมือใช้แม่พิมพ์ทองแดงที่เห็นนี้ ปัจจุบันมีการค้นพบในสภาพสมบูรณ์แบบ เพียงหนึ่งเดียวในโลก ทำให้เรามองเห็นบรรยากาศเกาะรัตนโกสินทร์ที่ย้อนกลับไปเกือบ 200 ปี ได้เป็นครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นภาพร่างง่ายๆ ของพระบรมมหาราชวัง หรือบ้านเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมไปถึงกำปั่นจากยุโรป ที่เข้ามาค้าขายยังกรุงสยาม แต่สิ่งที่สะดุดตา เมื่อได้เห็นภาพชิ้นนี้ก็คือ อาคารก่อปูนขนาดย่อมแลดูคล้ายคูหาห้องแถวเล็กๆ เรียงรายริมตลิ่งฝั่งเกาะรัตนโกสินทร์ ที่คาดว่าน่าจะเป็นจุดแวะพักรับส่งสินค้าของกำปั่นต่างเมืองที่เริ่มเข้ามาค้าขายในกรุงสยามเวลานั้น


ส่วนอีกภาพหนึ่งที่มีความคล้ายคลึงกันในรายละเอียด แต่สังเกตเห็นภาพวาดพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น นั่นคือภาพวาดจากงานพิมพ์ชื่อ Temple Siamois a Banckok (and) Vue de Banckok พิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2373 โดย Tenre for Dumont D’Urville “Voyage Pittoresque Autour” ถ้าสังเกตให้ดีๆ จะพบว่าสิ่งที่คล้ายคลึงกัน และไม่ปลี่ยนแปลงก็คือคูหาที่เรียงรายริมแม่น้ำเจ้าพระยา ยังคงมีลักษณะ หนาแน่นเช่นเดียวกับภาพของ Bertuch และคาดว่าน่าเป็นจุดรับส่งสินค้าของเรือกำปั่นต่างๆ ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี และทำการค้ากับกรุงรัตนโกสินทร์สืบเนื่องกันมา
ดังนั้นจากอดีตถึงปัจจุบัน ภาพเมืองบางกอก หรือในอดีต ถูกเรียกขานในนามว่า Banckok ราชธานีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา คูหาขนาดย่อมที่เห็นในภาพวาด หรือแม้แต่บ้านเรือนที่สร้างอย่างง่ายๆ ด้วยไม้ไผ่ริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ได้ถูกกลืนหายไป แปรเปลี่ยนเป็นภาพตลิ่งปูนซีเมนต์ ที่ป้องกันน้ำเซาะกร่อนพัง และถ้าเราจ้องมองภาพวาดของ Bertuch ก็จะได้ยินเสียงกุลีชาวจีนส่งเสียงกันโหวกเหวกแบกกระสอบข้าว ยางพารา ตับผ้าไหม เกลือ พริกไทย ไม้ฟืน บ้างก็แบกดีบุก ตะกั่ว งาช้าง ไม้ฝาง ขนนก และไม้กฤษณา ลงเรือเล็ก เพื่อส่งไปขึ้นกำปั่นใหญ่ ที่จอดรอกลางแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ที่หนักหนา และคงต้องร้องกันอึกทึก ก็คงเป็นกุลีผู้โชคร้ายที่ต้องทนแบกตุ๊กตาจีน หรือเครื่องอับเฉาที่หนักเกินกว่าหนึ่งคนจะทานทนได้
สุดท้ายเมื่อกาลเวลาผ่านไป 231 ปี ณ จุดเดิม เราก็ยังคงได้ยินเสียงเซ็งแซ่ แต่เป็นเสียงผู้คนที่โหวกเหวกขายของมือสอง และโต๊ะพระ ที่วางเรียงราย รวมไปถึงเสียงรถตุ๊กตุ๊ก ที่วิ่งกันขวักไขว่ ส่วนฝรั่งจากที่เคยคอยกำปั่นใหญ่ ก็กลายเป็นฝรั่งนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวัง ซึ่งกลาลครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประทับของ ธ ผู้ทรงสร้างเมือง และแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง   
ชมภาพอื่นๆ 

ภาพวาดลายเส้น พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ในสายตาฝรั่งเมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ภาพวาดลายเส้นบ้านเรือนแพ ริมแม่น้ำของประชาชนชาวสยาม ในสายตาฝรั่ง พิมพ์ในหนังสือThe Illustrated London ฉบับวันที่ 11 สิงหาคม 2398

ภาพวาดลายเส้นขาวดำ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จากหนังสือ Viaggio pittoresco intorno al mondo มีคำอธิบายภาพว่า Palazzo a Banchock พิมพ์ในปี พ.ศ. 2384 โดย Antonelli

ภาพวาดลายเส้น พระบรมมหาราชวัง และบ้านเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมองจากฝั่งธนบุรี เป็นภาพวาดกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในสายตาฝรั่ง จากหนังสือ The Illustrated London News ฉบับวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2410

(ภาพสี-ภาพล่าง)ภาพวาดลายเส้น พระบรมมหาราชวัง และบ้านเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมองจากฝั่งธนบุรี เป็นภาพวาดกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในสายตาฝรั่ง จากหนังสือ The Illustrated London News ฉบับวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2410 (ต้นฉบับเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้เผยแพร่โดยตรง เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน วันที่ออกจำหน่ายก็วันเดียวกันคือวันที่ 25 พฤษภาคม 2410 )-ชมวิวทิวทัศน์ (รัตนโกสินทร์)
(ภาพสี-ภาพบน) ภาพพิมพ์สีเรือพระที่นั่ง อนันตนาคราช

ชมวีดีโอครับ 
 

ท่านที่สนใจข้อมูล บทความดีๆ มีสาระ สามารถเข้าไปกด like บน Facebook ตามลิ้งก์ด้านล่างนี้ เพื่ออ่านข้อมูลปัจจุบัน และย้อนหลัง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่าน ไม่มากก็น้อยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น