วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เปิดปูม..3สุดยอด'Hacker'สู่งานราชการลับ เมื่อ 11 พ.ค.56




เปิดปูม..3สุดยอด'Hacker'สู่งานราชการลับ

เปิดปูม..3สุดยอด'Hacker' แฮ็กเกอร์ดำ..สู่งานราชการลับ : ทีมข่าวรายงานพิเศษ


           แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีการจัดอันดับสุดยอด "แฮ็กเกอร์" แต่ก็พอจะประมาณการขีดความสามารถของบรรดาแฮ็กเกอร์สัญชาติไทยได้ หลังจากที่พวกเขาถูกจับกุมแล้วเท่านั้น

           นักสืบคอมพิวเตอร์รายหนึ่ง ผู้ชำนาญการแกะรอยแฮ็กเกอร์ในเมืองไทย สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า "แฮ็กเกอร์" นั้น เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำให้บรรดาแฮ็กเกอร์ต่างๆ ต้องอำพรางตัว ปกปิดสถานะของตัวเอง จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าใครจะเก่งกาจกว่าใคร ยกเว้นแต่ในรายที่ถูกจับกุมดำเนินคดี พร้อมกับยกตัวอย่างคดี 3 แฮ็กเกอร์ ซึ่ง 1 ใน 3 แฮ็กเกอร์ฝีมือขั้นเทพก็ถูกดึงตัวไปร่วมงานการตรวจสอบข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ ในหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยแล้ว

           รายแรก นายทวีทรัพย์ หรือ ภูมิพัฒน์ หรือ โอ๋ อายุ 41 ปี เคยถูกตำรวจกองปราบปรามจับกุมเมื่อปี 2550 หลังจากเข้าไปเจาะข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส โดยเข้าไปแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลในบัตรเติมเงินไปขายให้บุคคลอื่นผ่านทางอินเทอร์เน็ต มูลค่าความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท ตำรวจจับแฮ็กเกอร์รายนี้ได้ที่ห้องพักเลขที่ 2918 ชั้น 9 อาคารวงศ์เจริญแมนชั่น หรือ แกรนด์แมนดาริน ซ.ลาดพร้าว 130 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม.

           นายทวีทรัพย์ จบปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มีความสนใจในเรื่องคอมพิวเตอร์ และศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองจนมีความรู้ความสามารถเข้าขั้นเทพสามารถเจาะระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทต่างๆ ได้ ปี 2548 เคยเจาะข้อมูลของบริษัททรูเข้าไปแก้ไขข้อมูลค่าบัตรเติมเงินยี่ห้อออเร้นจ์ สร้างความเสียหายกว่า 105 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเคยเจาะระบบธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง รวมทั้งเคยทดลองเจาะระบบองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (นาซา)  มาแล้ว แต่ไม่มีการยืนยันว่าทำสำเร็จหรือไม่

           รายที่สอง นายดุสิต อายุ 25 ปี เคยถูกตำรวจ บก.ปศท.จับกุมเมื่อปี 2551 ที่ห้องพักเลขที่ 1202 ชั้น 2 บ้านพักเจ้าท่าสมุทรปราการ ถ.ด่านเก่า ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ หลังเข้าไปเจาะข้อมูลคอมพิวเตอร์ธนาคารกรุงไทย แล้วแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลเพื่อขโมยเงินฝากจากบัญชีธนาคารของลูกค้าธนาคารแห่งนี้ นายดุสิตใช้นามแฝงว่า "DEKROCK777" เข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์แล้วติดตั้งโปรแกรมเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับผู้เสียหายที่เข้าไปทำธุรกรรมทางการเงิน หรือที่เรียกว่า ระบบ ID-PLUS คือระบบการสั่งฝากถอนเงินในบัญชีผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า ktb-online

           "แฮ็กเกอร์รายนี้ไม่ได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นนักเรียน กศน.ใน จ.สมุทรปราการ ไม่ได้เรียนด้านคอมพิวเตอร์ แต่มีความสนใจเรียนรู้คอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง และที่สำคัญเขาศึกษาโปรแกรมแฮ็กข้อมูลผ่านเว็บไซต์ จนกระทั่งมีความชำนาญ" นักสืบคอมพิวเตอร์ กล่าว

           ส่วนแฮ็กเกอร์อีกราย ถูกจับเมื่อปี 2554 นายเอกพันธ์ อดีตพนักงานเมสเซนเจอร์วัย 26 ปี เจาะข้อมูลคอมพิวเตอร์ระบบฝากถอนเงินออนไลน์ของธนาคารไทยพาณิชย์ 39 ครั้ง ได้เงิน 103,050 บาท เหตุเกิดที่แขวงและเขตจตุจักร และแขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กทม. โดยแฮ็กเกอร์รายนี้ชื่นชอบการเล่นเกมออนไลน์ และเลียนแบบการโจรกรรมข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของธนาคารจากเกมออนไลน์

           นักสืบคอมพิวเตอร์ยอมรับว่า ปัจจุบันแฮ็กเกอร์ในประเทศไทยมีอยู่จำนวนมาก ระยะหลังๆ มีการรวมกลุ่มกันหลวมๆ หลายกลุ่ม โดยจะแบ่งพฤติการณ์เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ แฮ็กเกอร์ขาว (ไวท์แฮ็กเกอร์) จะมีพฤติการณ์ด้านดี และ แฮ็กเกอร์ดำ (แบล็กแฮ็กเกอร์) กลุ่มนี้จะอันตรายมีพฤติการณ์นำความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ไปเจาะข้อมูลหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานรัฐเพื่อใช้ในทางที่ผิด

           "แฮ็กเกอร์ที่รวมกลุ่มกันในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ร่วมสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านคอมพิวเตอร์ของไทย และมักทำงานที่เกี่ยวกับการจัดวางระบบคอมพิวเตอร์ให้แก่องค์กรชั้นนำต่างๆ ที่ต้องจับตาคือกลุ่มบริษัทจัดวางระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ" นักสืบคอมพิวเตอร์รายเดิม ขยายความ

           ส่วนกลุ่มแฮ็กเกอร์ที่กำลังมีบทบาทอยู่ในโลกไซเบอร์ของประเทศไทย ขณะนี้มีอยู่ไม่ถึง 10 กลุ่ม ในจำนวนนั้นมี 2 กลุ่มที่มีบทบาทอยู่ในโลกออนไลน์ในชั่วโมงนี้คือ กลุ่ม Anonymous Hacker Thailand ซึ่งไม่แน่ชัดว่ามีสมาชิกจำนวนเท่าไหร่ แต่อ้างว่าเป็นการรวมตัวกันของอดีตนิสิตนักศึกษาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่งเมื่อปีที่ผ่านมา และเคยเปิดโปงข้อมูลข่าวสารหรือหน่วยงานทั้งรัฐ จนกลายเป็นข่าวโด่งดังอยู่ระยะเวลาหนึ่ง

           กลุ่มที่สองคือ Unlimited Hack Team กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นไม่นานเช่นกัน ข้อมูลด้านการข่าวมีความเป็นไปได้ว่า สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่จะทำงานเกี่ยวกับการจัดวางระบบด้านคอมพิวเตอร์ให้แก่หน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนเป็นหลัก มีการเปิดหน้าเพจเฟซบุ๊กไว้ติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกภายในกลุ่ม และเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น หลังจากตำรวจ บก.ปอท.เชื่อว่าหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม "แฮ็กเกอร์" กลุ่มนี้เป็นผู้ลงมือแฮ็กเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเขียนข้อความโจมตี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ด้วยถ้อยคำที่เสียหาย

           แต่ล่าสุด ทางกลุ่ม Unlimited Hack Team ได้ชี้แจง 5 ข้อผ่านเฟซบุ๊กว่า 1.บุคคลในข่าว ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม Unlimited Hack Team และไม่เคยเป็นสมาชิกทีมแต่อย่างใด 2.กลุ่ม Unlimited Hack Team ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำผิด และไม่เคยให้ข่าวว่าใครเป็นผู้กระทำผิด เพียงตั้งข้อสงสัยว่ามีบุคคลอื่นไปทำแล้วอ้างชื่อเท่านั้น 3.บุคคลคนนี้อ้างว่าถูกกลั่นแกล้งจากกลุ่ม Unlimited Hack Team ซึ่งไม่เป็นความจริง 4.ขอยืนยันว่า ไม่เคยแฮคเว็บไซต์ฯ นายก และไม่เคยให้ร้ายใคร ถ้าทำจะประกาศตัวชัดเจนเสมอ และ 5.คนบ้าเท่านั้น ที่จะกลั่นแกล้งผู้อื่น โดยใส่ชื่อของตัวเองลงไป

           อย่างไรก็ตาม นายณรงค์ฤทธิ์ สุขสาร ชาว จ.นครศรีธรรมราช หรือ ตาเล็ก วินโดว์ 98XE ผู้ต้องสงสัยหลังตกเป็นข่าวแฮ็กเกอร์รายนี้ เข้าแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อตำรวจ บก.ปอท. และปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำการดังกล่าว อ้างว่าน่าจะถูกสมาชิกกลุ่ม Unlimited Hack Team กลั่นแกล้ง เนื่องจากมีเรื่องไม่พอใจกัน?!!
.........................
(หมายเหตุ : เปิดปูม..3สุดยอด'Hacker' แฮ็กเกอร์ดำ..สู่งานราชการลับ : ทีมข่าวรายงานพิเศษ และขอบคุณภาพจากwww.ictc.doae.go.th)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น