วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ผู้ปกครองเซ็ง! เด็กป.2 มีแท็บเล็ตแต่ไร้เนื้อหา เมื่อ 20 พ.ค.56



ผู้ปกครองเซ็ง! เด็กป.2 มีแท็บเล็ตแต่ไร้เนื้อหา
 
ผู้ปกครองบ่นเซ็ง! แท็บเล็ตไม่มีเนื้อหาสำหรับเด็กป.2 ส่วนการประมูลล็อตใหม่ยังมีข้อกังขาถึงความโปร่งใส
เปิดเทอมได้สัปดาห์เดียว ผู้ปกครองบ่นเซ็ง เหตุปีที่แล้วลูกหลานได้รับแท็บเล็ต ป.1 ตามโครงการคอมพิวเตอร์มือถือสำหรับนักเรียนทุกคน (One Tablet PC Per Child) ของรัฐบาล ทว่าเปิดเทอมนี้ ลูกหลานขึ้นป.2 แล้ว และหิ้วแท็บเล็ตติดตัวตามมาเรียนในชั้น ป.2 แต่พบว่าเนื้อหาที่บรรจุอยู่ในเครื่องแท็บเล็ตยังเป็นข้อมูลสำหรับการเรียนในชั้นป.1!!!
จากการสอบถามข้อมูล พบว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาเนื้อหาเพื่อบรรจุลงเครื่องแท็บเล็ตสำหรับเด็กป.2 คือ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งวงในแจ้งว่าขณะนี้ยังไม่มีการทำเนื้อหาสำหรับเด็กป.2 เพื่อบรรจุลงแท็บเล็ตแต่อย่างใด

ขณะที่การจัดหาแท็บเล็ตในปี 2556 จำนวน 1.75 ล้านเครื่อง ภายใต้งบประมาณราว 5,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพฐ.) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจัดการประมูลก็ถูกตั้งข้อสงสัยจากผู้ประกอบการและประชาชนใน 2 ประเด็น คือ

1. การเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเงื่อนไขการประมูลแท็บเล็ตสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รวมทั้งแท็บเล็ตของครูประจำชั้นทั้งหมด1.75 ล้านเครื่องในเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางซึ่งครั้งแรกมีการกำหนดศูนย์บริการที่ต้องมีมาตรฐาน ISO 9001 แต่การทำประชาพิจารณ์หรือรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ครั้งที่สอง กลับพบว่าคณะกรรมการได้ตัดเรื่องนี้ทิ้งไป

2. การเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเงื่อนไขการประมูลแท็บเล็ตสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1รวมทั้งแท็บเล็ตของครูประจำชั้นทั้งหมด1.75 ล้านเครื่องในเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางซึ่งครั้งแรกระบุว่าเครื่องแท็บเล็ตที่จะเอาเข้าประมูลต้องมี License Google เพื่อสามารถติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่การทำประชาพิจารณ์หรือรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ในครั้งที่สอง กลับพบว่าคณะกรรมการได้ตัดเรื่องนี้ทิ้งไป

ต่อข้อสงสัยดังกล่าว เดลินิวส์ออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง “น.อ.สุรพล นะวะมวัฒน์” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแท็บเล็ตเพื่อการศึกษา ได้คำตอบ ดังนี้

ต่อข้อสงสัยเรื่อง License Google “น.อ.สุรพล” กล่าวว่า การเดินหน้าโครงการแท็บเล็ตครั้งนี้เป็นการ “จัดหา” ไม่ใช่ “จัดซื้อ” 
ซึ่งแตกต่างกันโดยการจัดหาครั้งนี้ได้ให้ผู้ผลิตที่มีแท็บเล็ตอยู่แล้วนำเครื่องมาเสนอเพื่อเข้าร่วมการประมูล ดังนั้นการจะมี License Googleหรือไม่...ไม่ใช่สาระสำคัญ! เพราะแท็บเล็ตที่จัดซื้อใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และทางคณะทำงานได้พัฒนาเนื้อหาและแอพพลิเคชั่นเพื่อบรรจุลงแท็บเล็ตเองจึงไม่จำเป็นที่จะต้องให้นักเรียนดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่อยู่ในกูเกิลเพลย์

ต่อข้อสงสัยที่สอง เรื่องการยกเลิกเงื่อนไขที่ว่าศูนย์บริการต้องมีมาตรฐาน ISO 9001 “น.อ.สุรพล” กล่าวว่า 
เหตุผลที่ยกเลิกเรื่องเงื่อนไขศูนย์บริการต้องมีมาตรฐาน ISO 9001 เพราะการที่ศูนย์บริการจะยื่นขอมาตรฐาน ISO 9001 ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี แต่เงื่อนไขในการประมูลผู้ชนะจะต้องตั้งศูนย์บริการภายใน 90 วัน

“ขณะนี้มีไม่กี่บริษัทที่มีศูนย์บริการที่ได้มาตรฐาน ISO 9001 ในขณะที่ผู้ผลิตที่จะเข้าร่วมการประมูลส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ และถ้ามาระบุว่าต้องใช้ศูนย์บริการที่มีมาตรฐาน ISO 9001 จะทำให้เกิดการกีดกัน ซึ่งโครงการนี้ต้องการเปิดกว้างให้ผู้ผลิตได้แข่งขัน เพื่อให้ได้แท็บเล็ตที่มีราคาถูกแต่คุณภาพดี ซึ่งคณะกรรมการที่ดำเนินงานเรื่องแท็บเล็ตก็มีมาตรฐานในการตรวจสอบศูนย์บริการอยู่แล้ว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดซื้อแท็บเล็ตป.1 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2555) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กระทรวงไอซีทีเป็นผู้ดำเนินงาน
แต่โครงการจัดหาแท็บเล็ตปีนี้ (พ.ศ.2556) สพฐ.จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนในการจัดหาและจัดการประมูลแท็บเล็ตสำหรับเด็กป.1 และม.1 
ทั้งนี้ ตามกำหนดการเมื่อคณะกรรมการจัดหาแท็บเล็ตปิดรับฟังการประชาพิจารณ์แล้ว จะนำความเห็นที่ได้ไปพิจารณา และคาดว่าจะเปิดประมูลปลายเดือน มิ.ย.นี้

เอาเป็นว่า...แท็บเล็ตลอตใหม่ก็อยากให้มีมาตรฐานและการดำเนินงานที่โปร่งใส ขณะที่แท็บเล็ตลอตเก่าก็อยากให้จัดทำเนื้อหาสำหรับเด็กป.2 ด้วย
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น