วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ถ่ายสดขยะน้ำ ดู‘พญาปลอด’ ละคร‘เอาอยู่’! จากไทยโฟสต์ เมื่อ 19 พ.ค.56


ถ่ายสดขยะน้ำ ดู‘พญาปลอด’ ละคร‘เอาอยู่’!



เปิดมหกรรมขยะต้นน้ำ “ปลอดฯ" เชิญชวนดูถ่ายทอดสด พญาเม็งราย ทางช่อง 11 จำอวดปลื้ม ผู้นำ 49 ชาติร่วมประชุม ส.ว.จี้รัฐบาลรับฟังข้อเสนอ ป.ป.ช.วางแนวทางปราบโกง ประชานิยมยังไม่หมดมาอีกก๊อก “ร้อยมือสร้างเมือง” แจกคนเมืองโดยเฉพาะ
    รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน เมื่อเช้าวันเสาร์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่จัดรายการด้วยตัวเองอีกครั้ง โดยมอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดรายการแทน โดยเป็นการถ่ายทอดสดจากศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ในระหว่างการประชุมผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2
    นายปลอดประสพ สุรัสวดี  ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวว่า ในวันที่ 19 พฤษภาคม จะประชุมและแสดงวิสัยทัศน์ด้านการบริหารจัดการน้ำของไทย รวมทั้ง 12 ทฤษฎีการบริหารจัดการน้ำ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและของต่างประเทศ ส่วนนายกฯ 2P2R คือ เน้นการป้องกัน เตรียมพร้อม รับมือ เยียวยา 
    ทั้งนี้จะมีการจัดทำคลังข้อมูลน้ำแบบรวมศูนย์ เพราะที่ผ่านมา ข้อมูลด้านน้ำไทยมี 40 กว่าแห่ง นายกฯ บอกว่าให้มีศูนย์เดียวและแลกร่วมงานในข้อมูลชุดเดียวกันในการทำงาน ความเสียหายเมื่อปี 2554 1.4 ล้านล้านบาท ต้องทำให้ดีในการบริหารจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้ง งบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องปรับเข้ามาให้สอดรับแบบระบบรางคู่กับงบ 3.5 แสนล้านบาท ส่วนการมีส่วนร่วมกับประชาชนนั้น ประชาชนนับแสนคนรวมทั้งรัฐธรรมนูญที่เข้ามามีส่วนร่วม
    เขาบอกว่า สำหรับสาเหตุของการจัดงานที่ จ.เชียงใหม่ เป็นเพราะ จ.เชียงใหม่ เป็นที่ตั้งของต้นน้ำ และดินที่สำคัญที่สุดของลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงเป็นเมืองเก่าแก่ เต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่ดี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสู่จังหวัดและภูมิภาคด้วย โดยการประชุมครั้งนี้ มีผู้นำจากทั่วโลกเข้าร่วมถึง 49 ชาติ และผู้เข้าร่วมประชุมอีกนับพันคน โดยหัวข้อการประชุมหลักจะเกี่ยวกับนโยบายด้านน้ำทั่วโลก และในภูมิภาค ทั้งน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเพื่อสิ่งแวดล้อม มีองค์กรของสหประชาชาติหลายองค์กรเข้าร่วม และจะมีปฏิญญาเชียงใหม่เกี่ยวกับความมั่นคงด้านน้ำด้วย
    "อีกทั้งในวันที่ 19 พ.ค.นี้ จะมีการจัดประชุม ครม.ร่วมไทย-ลาว เพื่อเชื่อมความสามัคคีและการค้าและการลงทุน แบบทวิภาคีถึง 5 ประเทศ โดยในช่วงค่ำของวัน จะมีการจัดแสดง เวียงกุมกาม เมืองเก่าของเชียงใหม่ ในสมัยพญาเม็งราย ที่ตนร่วมแสดง ซึ่งถ่ายทอดสดที่ช่อง 11 และในวันที่ 20 พ.ค.จะมีการหารือกับผู้นำ 11 ประเทศ โดยทำการถ่ายทอดสดที่ช่อง 9 ตั้งแต่เวลา 9.30 -12.30 น." นายปลอดประสพ กล่าว
ประชุมครม.ไทย-ลาว
    ด้าน นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการจัดประชุม ครม.ร่วมไทย-ลาว เพื่อเชื่อมความสามัคคีและการค้าและการลงทุน โดยนายกรัฐมนตรี จะได้หารือแบบทวิภาคีกับผู้นำถึง 5 ประเทศ 
    นอกจากนี้ การประชุมผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ครั้งนี้ใหญ่สุดในไทย เพราะมีผู้นำประเทศ รัฐมนตรี 49 ประเทศ ตัวแทนองค์กรต่างๆ และผู้ร่วมประชุม 7 พันคน การประชุมครั้งแรกจัดที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2550 ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งที่สอง น้ำสำคัญกับคนไทยที่สุด หากบริหารจัดการได้ดี และแสดงศักยภาพของหอประชุมนี้ที่จะจัดการประชุมระดับโลกและประชุมอาเซียนในช่วงปลายปีนี้ด้วย
    นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวต่อว่า หลังน้ำท่วมเสร็จ นายกฯ ก็ลงพื้นที่รวมทั้ง ครม.บางส่วน และมีการจัดนิทรรศการที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว มันเป็นเหมือนประชาพิจารณ์แบบหนึ่งส่วน EIA-EHIA นั้น จะทำหลังจากได้ผู้ประมูลงาน เพื่อให้เกิดความชัดเจน ชุดข้อมูลเหล่านี้มีระบบแบบ 1 เซ็นเตอร์ที่สั่งการในจุดเดียวแบบต่างประเทศ วันที่ 19 พ.ค. จะประชุมผู้นำประเทศ ประชุมเรื่องน้ำ วันที่ 20 พ.ค.จะประชุม ครม.ไทย-ลาว และจะมีการจัดระบบรักษาความปลอดภัย ฉะนั้นสองวันนี้ขอปิดไม่ให้ประชาชนเข้าชมงาน แต่หลังจากสองวันนี้จะเปิดให้ประชาชนเข้าชมงานนี้
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ นายปลอดประสพ และนายนิวัฒน์ธำรง ยังได้พาชมนิทรรศการการบริหารจัดการน้ำภายในศูนย์ประชุมฯ ที่จัดแสดงเพื่อให้ผู้นำที่เข้าร่วมประชุมได้ชม รวมทั้งประชาชนที่สนใจ เพื่อตอกย้ำการบริหารจัดงาน เพื่อป้องกันน้ำท่วม และน้ำแล้ง 
    โดยนายปลอดประสพ กล่าวว่า นิทรรศการที่นำมาจัดแสดง มีทั้ง ทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบริหารจัดการน้ำ 12 ทฤษฎี ที่รัฐบาลจะได้นำมาปฏิบัติตาม ประสบการณ์เกี่ยวกับมหาอุทกภัยเมื่อปี 54 ของประเทศไทย การบริหารจัดการน้ำตามหลัก 2P2R ความคืบหน้ารายงานการใช้เงิน 1.2 แสนล้าน เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูประเทศ เป็นต้น โดยเดิมจะปิดแสดงนิทรรศการทันทีหลังเสร็จสิ้นการประชุมผู้นำน้ำในวันที่ 20 พ.ค. แต่จะขออนุญาตนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดแสดงนิทรรศการต่อไป เพราะขณะนี้มีประชาชนสนใจจำนวนมาก
ร้อยมือสร้างเมือง
    ส่วนนายนิวัฒน์ธำรง ยังกล่าวถึงโครงการ “ร้อยมือสร้างเมือง” ว่า เป็นโครงการที่ช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในเขตเมือง ที่ผ่านมาในชนบท รัฐบาลมีหลายนโยบายที่ลงไปช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มแอล แต่ประชาชนในเขตเมืองเขาก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน อยากจะพัฒนาเรื่องต่างๆ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงได้มีดำริให้ตั้งกองทุนเมือง เพื่อพัฒนาชุมชนเมือง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่คนมักจะคิดว่าในเมืองเจริญแล้ว แต่ความจริงถ้าเราไปดู ในชุมชนเมืองบางหย่อมยังมีปัญหา และยังมีคนที่เดือดร้อนอยู่จำนวนมาก ที่อยากจะได้งบประมาณลงไปพัฒนาชุมชน ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อคนเมือง โดยให้ประชาชน จึงให้ประชาชนไปคิดโครงการ แล้วนำมาเสนอต่อรัฐบาล เราจะมีคณะกรรมการคอยตรวจสอบ หากโครงการใดเหมาะสมก็ให้งบประมาณไป แต่ถ้าไม่เหมาะสมก็ต้องขอไว้ เพราะงบประมาณมีจำกัด
    เขาบอกว่า โครงการ “ร้อยมือสร้างเมือง” โครงการจากรัฐบาล โดยคนเมือง เพื่อคนเมืองนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ หมู่บ้าน/ชุมชน ตั้งแต่ 100 หลังคาเรือนขึ้นไป หรือกลุ่มประชาชนในพื้นที่ชุมชนเมือง ตั้งแต่ 50 หลังคาเรือนขึ้นไป ในพื้นที่เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลเมืองพัทยา และ กทม. รวมตัวกันคิดและเสนอขอรับเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 500,000–2,000,000 บาท จากรัฐบาล เพื่อร่วมกันดำเนินโครงการที่จะแก้ปัญหาที่มีอยู่อย่างหลากหลายในพื้นที่เมือง หรือโครงการที่จะพัฒนาพื้นที่ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนชุมชนเมือง 
    นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า จะเริ่มเปิดรับข้อเสนอโครงการจากประชาชน ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.เป็นต้นไป จนถึง 31 ต.ค. ในเขตพื้นที่ กทม. เปิดรับโครงการที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติ ส่วนในภูมิภาคติดต่อที่สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดทุกจังหวัด ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.1111 และ www.ร้อยมือสร้างเมือง.com
    วันเดียวกันนี้ นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศและการโทรคมนาคม วุฒิสภา กล่าวว่า ได้มาร่วมติดตามการจัดประชุมผู้นำน้ำโลกที่ จ.เชียงใหม่ โดยยังไม่เห็นความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาล
    เขาเผยว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กับแนวทางป้องกันการทุจริต และสร้างความโปร่งใสที่จะดำเนินโครงการต่อไป เป็นข้อเสนอที่สร้างสรรค์เป็นประโยชน์ต่อสังคม รัฐบาลควรรับฟังและเก็บไปไตร่ตรอง เพราะทุกฝ่ายเป็นกังวลและจับตามองเรื่องความโปร่งใสอยู่
ปชป.ข้องใจจัดซื้อแบบแม้วๆ
    ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  แถลงถึงกรณีที่ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ส่งรายงานมาตรการป้องกันการทุจริต ในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท แก่น.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจาก ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการดังกล่าว มีการใช้งบประมาณจำนวนมาก และมีจุดเสี่ยงหลายจุด ขณะเดียวกันพรรคก็เห็นว่านายกรัฐมนตรีควรนำข้อเสนอแนะนี้ไปปฏิบัติ เพราะป.ป.ช.เป็นหน่วยงานอิสระ ในการทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในประเทศไทย เมื่อมีข้อเสนอแนะเช่นนี้รัฐบาลไม่ควรนิ่งเฉย  และควรเอาจริงเอาจังในเรื่องการปราบปรามคอรัปชั่น
    ส.ส.ผู้นี้กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์นั้น เห็นว่าจุดสำคัญที่จะเป็นจุดเสี่ยงในการจะคอรัปชั่นมีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.ในการดำเนินการโครงการนี้ไม่ใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ที่ว่าด้วยการดำเนินการของภาครัฐ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่มีระเบียบพัสดุนี้ จะต้องใช้ระเบียบนี้ในการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อประมูลและดำเนินการทุกอย่าง             
    นายองอาจกล่าวว่า แต่ในเรื่องของโครงการ 3.5 แสนล้าน รัฐบาลไม่ได้ใช้ระเบียบพัสดุนี้ กลับไปออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่ที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งระเบียบฉบับแรก คือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ และฉบับที่ 2 ออกเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2555 โดยอ้างว่าเพื่อให้การวางระบบในการบริหารจัดการน้ำและการแก้ปัญหาอุทกภัยของประเทศ สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งฉบับนี้อ้างความรวดเร็ว หลังจากนั้นก็มีประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี ในเรื่องของหลักเกณฑ์และวิธีการในวันที่ 19 พ.ย.2555 และวันที่ 29 ม.ค.2556 อย่างไรก็ตาม ความรวดเร็วที่รัฐบาลนำมาอ้างนั้น จะนำมาสู่ความเหลวแหลกได้หากยังไม่นำข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ไปแก้ไข
    นายองอาจ ยังบอกว่า จุดเสี่ยงที่ 2 คือ รัฐบาลหลอกและตบตาประชาชนเรื่องราคากลาง ซึ่งข้อเท็จจริงนั้น คือเป็นการนำตัวเลขวงเงินงบประมาณที่ได้กำหนด ในข้อกำหนดและขอบเขตของงานทีโออาร์ของโครงการอยู่แล้วมาประกาศ เช่น ในประกาศระบุว่า  MODO A 1 ใช้งบประมาณไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็เป็นตัวเลขเดียวที่อยู่ในทีโออาร์อยู่แล้ว ไม่ใช่ราคากลาง นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการลุกลี้ลุกลน สาเหตุคือได้มีการประกาศเรื่องการเปิดเผยราคากลางของทางราชการ โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้าง ระบบการบริการทรัพยากรน้ำอย่างยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ซึ่งคล้ายว่าเป็นการประกาศเปิดเผยราคากลาง ในวันที่ 2 พ.ค.56 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเปิดเผยก่อนหน้าวันที่รัฐบาลจะให้บริษัทต่างๆยื่นข้อกำหนดราคากลางเพียง 1 วัน เท่านั้น หรือวันที่ 3 พ.ค. ซึ่งตนคิดว่าไม่มีหน่วยงานไหนมาศึกษาเรื่องราคากลาง  
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่ามีคนใกล้ชิดรัฐบาลกว้านซื้อที่ดินที่จะมีการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำ ภายใต้งบประมาณบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อขายทำกำไรในอนาคตว่า เป็นข้อกล่าวหาเลื่อนลอย ปราศจากหลักฐาน เพราะการซื้อขายที่ดินจำนวนมหาศาล ต้องมีหลักฐานเอกสารการซื้อขาย ขอเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ดูแลและตักเตือนโฆษกพรรคอย่าได้ใช้จินตนาการมาแถลงใส่ร้ายผู้อื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น