วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

นับถอยหลัง “พลังพลเมือง” ปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทย เมื่อ 17 พ.ค.56




นับถอยหลัง “พลังพลเมือง”

ปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทย


ขับเคลื่อนเต็มสูบปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทย สร้างพลังการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนด้วย “พลังพลเมือง”มุ่งแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมยุทธการ “ส่งไม้ต่อ” ปฏิรูปประเทศระยะยาวหวังผลการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในอนาคต
นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูป (สปร.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดแผนกิจกรรม “39 วันปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อสร้างพลังการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปสู่เวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2556 ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.ว่ามีความคืบหน้าในการดำเนินงานไปมาก โดยการประสานความร่วมมือกับสื่อมวลชนทุกแขนงเพื่อสื่อสารเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง
“มีการจัดวางระบบและแผนกิจกรรมแสดงพลังร่วมของภาคีเครือข่าย 4 ภาค ทั้งในช่วงก่อนงาน ระหว่างงาน และหลังงาน โดยแนวคิดการขับเคลื่อนคือ สร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยได้เชิญชวนเครือข่ายต่างๆ ทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ ร่วมกันสร้างพลังโดยให้เขียนข้อความแสดงพลังร่วมในการปฏิรูปประเทศไทย บนผืนผ้า “พลังพลเมือง” ซึ่งจะวัดจากปริมาณข้อความพร้อมลายเซ็นและความยาวรวมของผืนผ้าและจะมีพิธีการการส่งมอบผ้าพลังพลเมืองทั้งหมด ในงานสมัชชาปฏิรูปครั้งที่ 3”
ขณะเดียวกัน มีการออกแบบสัญลักษณ์ร่วมของงาน เป็นรูป ดอกไม้หลากสี ลักษณะคล้ายรูปกังหัน มีกลีบจำนวน 7 แฉก ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนระเบียบวาระ ทั้ง 7 เมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วสามารถเป่าให้หมุนได้อย่างสวยงาม ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการส่งต่อ การสานพลัง และพลวัตรของพลังพลเมือง ในการมีส่วนร่วมและพร้อมเบ่งบานในพื้นที่แต่ละภาคส่วนของประเทศไทย ตามประเด็นหลักของงานสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2556 คือ “พลังพลเมือง ปฏิรูปประเทศไทย”
นอกจากนี้ในส่วนของ Theme การจัดงานสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งนี้ ยังมีรูปแบบที่เรียบง่าย มีพลัง มีความน่าสนใจ มีชีวิตชีวา ให้ทุกคน ทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วม โดยต้องการให้เน้นที่ พลังพลเมือง และสามารถสร้างความเชื่อมโยงได้ต่อไปหลังจากนี้ มีการเคลื่อนไหว สานต่อได้ เชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน มีการสร้างความสัมพันธ์และความผูกพัน เป็นการสานต่อพลังจาก 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สร้างพลังพลเมือง ให้คงอยู่ต่อไปในสังคมไทย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยต่อไปในระยะยาว
สำหรับแนวทางการดำเนินงาน ในการจัดกิจกรรมประกอบด้วย ปฏิบัติการก่อนการจัดสมัชชา มีการดำเนินงาน กิจกรรม “39 วัน ปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทย” พร้อมกันทุกเครือข่ายทั้งในระดับส่วนกลาง และในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อร่วมนับถอยหลังเข้าสู่งานสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 มีการนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการจัดประชุมสมัชชาและกิจกรรมของภาคี เครือข่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
มีการรณรงค์ด้วยบทเพลง “เพิ่มพลังพลเมือง” ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ในการแต่งเนื้อร้องโดย อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ และกวีซีไรท์ โดยมี แอ๊ด คาราบาว เป็นผู้เรียบเรียง แต่งทำนองเพลง และขับร้อง ซึ่งนำไปทำมิวสิควีดีโอเผยแพร่ต่อสาธารณะเรียบร้อยแล้วส่วนการรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ด้วยขบวน “ผ้าพลังพลเมือง” ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในสังคมได้ร่วมแสดงพลัง และความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยโดยจารึกข้อความลงบน ผ้าพลังพลเมืองนี้ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำสารคดีต่างๆ ออกเผยแพร่ทางทีวี การทำ application บนมือถือ และใช้ช่องทาง social media ต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงไปยังบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม เพื่อประชาสัมพันธ์งานสมัชชาปฏิรูป การถ่ายทอดผ่านทางวิทยุ จส.100 และเครือข่ายวิทยุชุมชน รวมทั้งการนำเสนอข่าวสารเผยแพร่บนสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ อีกด้วย
ส่วนปฏิบัติการระหว่างการจัดสมัชชาปฏิรูประดับชาติจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยจะเน้นการเชื่อมโยงกับกิจกรรมของภาคีเครือข่ายทั้ง 4 ภาคในช่วงก่อนงาน กิจกรรมในพิธีเปิด ขบวนผ้าพลเมืองจะต้องเชื่อมโยงกันโดยไร้รอยต่อ มีการบริหารจัดการที่ดี กระบวนการพิจารณาร่างระเบียบวาระ การรับรองมติ พิธีการ พิธีกรรมต่างๆ การประชุมวิชาการ เวทีเสวนาย่อย พื้นที่นิทรรศการรูปธรรมความสำเร็จ ตลาดนัดปฏิรูป ที่จะแสดงให้เห็นถึงพลังร่วมของพลเมืองในการขับเคลื่อนการปฏิรูปและขับเคลื่อนมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติในปีที่ผ่านมา และกิจกรรมเวทีกลางต่างๆ การจัดเวทีคู่ขนาน ชุมชน 10 เวที รวมถึงการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง พร้อมกันทั่วประเทศ
ขณะที่ ดร.สุรศักดิ์ บุญเทียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานปฏิรูป กล่าวว่า ได้สรุปภาพรวมของการแสดงพลังร่วมของภาคีเครือข่าย ทั้ง 4 ภาค ที่ผ่านมา สร้างความสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในอนาคต คือในส่วนของภาคเหนือ ภาพรวมของงานปฏิรูปที่ผ่านมาคือจะเน้นที่การจัดการตนเองเป็นทิศทางใหญ่ แม้จะมีความแตกต่างอยู่บ้างตามพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่แล้วแนวทางจะเป็นไปทิศทางเดียวกัน มีการเชื่อมโยงกันได้ดี ภาคกลาง ก็มีภาพรวมเน้นที่จังหวัดจัดการตนเองเป็นหลัก สร้างพลังการมีส่วนร่วมมุ่งสู่การปฏิรูปประเทศไทยในระยะยาว ส่วนภาคใต้ มีการรวมพลังกันเคลื่อนไหวทางสังคม มีการตื่นตัวและมีส่วนร่วมในพื้นที่ เรื่องแผนพัฒนาภาคใต้ เรื่องการทวงคืนพลังงานเพื่อคนไทย เรื่องถ่านหิน มีการรณรงค์สร้างการรับรู้ต่อสังคม สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการรวมกลุ่มที่เหนียวแน่น สืบสานวัฒนธรรมที่เก่าแก่ สร้างพลังคนอีสานแสดงปฏิญญาร่วมกัน จังหวัดจัดการตนเอง และในวันเปิดงานสมัชชาปฏิรูป จะมีการร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ แสดงพลัง ทางด้านหน้า โดยจะมีการเชื่อมโยงกับกิจกรรมของภาคีเครือข่ายทั้ง 4 ภาค ในช่วงก่อนงาน ทั้ง ขบวนผ้าพลเมือง ขบวนแห่แสดงพลังอย่างยิ่งใหญ่ด้วยวัฒนธรรมของแต่ละภาค เพื่อเป็นการสร้างพลัง สร้างความคึกคัก เป็นการเริ่มต้นของการเปิดงานสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 ที่ยิ่งใหญ่และน่าสนใจ
ด้าน น.พ.วิชัย โชควิวัฒน คณะกรรมการดำเนินการจัดสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่าการปฏิรูปประเทศไทยนั้น เราจะต้องใช้พลังทั้ง 3 ส่วน มาร่วมช่วยกันผลักดันคือพลังพลเมือง ซึ่งในขณะนี้ยังมีความอ่อนแออยู่ ต้องค่อยๆ สร้างพลังกันไป พลังนโยบาย ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และพลังความรู้ ซึ่งประเทศไทยของเรายังมีการพัฒนาในหลายๆ ด้านที่ช้ามาก เทียบกับประเทศอื่นๆแล้ว เรามีปัญหาภายในมากมาย และยังไม่สามารถแก้ไขได้ เราต้องสร้างพลังพลเมือง ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อน โดยยุทธการส่งไม้ต่อ ให้ทุกคน ทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วม สร้างความเชื่อมโยงได้ต่อไปหลังจากนี้
“ประเทศไทยมีปัญหามากโดยเฉพาะปัญหาความไม่เป็นธรรม และปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยทั่วโลกมีหนทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่ 3 รูปแบบ คือ 1.ปล่อยให้เป็นไปแบบนี้ไม่ต้องทำอะไร 2.ต้องปฏิวัติ คือ การใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา และ 3. การปฏิรูปที่เป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและเชิงระบบ ซึ่งวิธีที่ทั่วโลกใช้ได้ผลดีที่สุด คือ การปฏิรูปเชิงโครงสร้างเชิงระบบ มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี แต่แนวทางของเราเลือกใช้การปฏิรูปผ่านการจัดสมัชชา (Assembly) นั่นคือ การให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งด้วยการขับเคลื่อนสังคมผ่านความรู้ อันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเชิงระบบ”
สำนักงานปฏิรูป (สปร.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น