วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ม็อบราษฎร์-หลวงบุกทำเนียบ จี้รัฐแก้ไขความทุกข์ยาก เมื่อ 15 พ.ค.56


ม็อบราษฎร์-หลวงบุกทำเนียบ จี้รัฐแก้ไขความทุกข์ยาก



วันนี้ต้องถือเป็นอีกวันหนึ่งที่บรรยากาศโดยรอบทำเนียบรัฐบาลเต็มไปด้วยม็อบกลุ่มต่าง ๆ ที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล  โดยนอกจากกลุ่มพีมูฟซึ่งปักหลักรอฟังคำตอบแนวทางการแก้ปัญหาผลกระทบด้านต่าง ๆ จากนโยบายของรัฐบาลมาหลายวันต่อเนื่องแล้ว   ก็ปรากฏว่าเป็นทางด้าน  3 สมาคมองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น     ที่เดินทางมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการจัดสรรงบประมาณปี 2557   ให้กับท้องถิ่นเป็นร้อยละ 30
ซึ่ง 3 สมาคมการปกครองส่วนท้องถิ่นนี้  ก็ประกอบด้วย  สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย,  สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย
ส่วนหลักการที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  แสดงความไม่เห็นด้วยและก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวครั้งนี้  ก็มาจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ที่เห็นชอบการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2557 เป็นจำนวน 27.28%   ซึ่งถือเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.01% จากงบประมาณปี 56   จึงต้องการให้รัฐบาลได้ทบทวนใน 4  ประเด็น  คือ
1.ขอให้ทบทวนร้อยละสัดส่วนที่จะจัดสรรให้กับท้องถิ่นในปี 57 ไม่น้อยกว่า 27.77% ตามมติคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.)
2.ทบทวนตัวเลขรายได้ที่รัฐบาลประเมินให้ท้องถิ่น  มีมูลค่าเงินจากจัดเก็บรายได้เองเพิ่มเกินจริง    หรือ จาก  46,000 ล้านบาท เป็น  56,000 ล้านบาท ในปี 2557   จนส่งผลกระทบต่อท้องถิ่นไม่มีจำนวนเงินจากรายได้จริง ๆ สำหรับการนำไปพัฒนาท้องถิ่น
3.ทบทวนมติครม. ในการจัดทำโครงการ ส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เชิงรุก   ซึ่งกำหนดให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณจัดหารายได้เพื่อสนับสนุนโครงการนี้     โดยไม่ให้มารวมอยู่ในสัดส่วนรายได้ของท้องถิ่น    แต่ปรากฎว่าตั้งแต่ปี  2555 เป็นต้นมา  กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณก็ยังนำเอาสัดส่วนนี้มารวมอยู่ด้วย  ทำให้ท้องถิ่นมีปัญหา จึงขอให้ถอดในเรื่องของ อสม.เชิงรุก ออกสัดส่วนของท้องถิ่น
และ  4. เรื่องของการชดเชยที่ปรับเพิ่มขึ้นค่าแรง 300 บาทและปริญญาตรี 15,000 ซึ่งเคยได้รับเงื่อนไขว่าจะชดเชยให้ในกรณีที่ท้องถิ่นได้รับผลกระทบ  โดยให้เอาเงินอุดหนุนทั่วไปมาชดเชยก่อน  แต่ในขณะนี้ยังไม่มีเงินมาชดเชยให้กับชาวท้องถิ่นซึ่งเดือดร้อนอยู่ประมาณ 6,200 ล้านบาท  ในปีงบประมาณ 2556
ก็ต้องตามดูว่าระยะต่อจากนี้รัฐบาลจะมีการดำเนินการอย่างไรกับข้อเรียกร้องของอปท. ในขณะที่นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยอมรับข้อเสนอการเพิ่มวงเงินจัดสรรเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ในระยะอันใกล้  
ทั้งนี้  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 283 วรรคสาม   กำหนดให้มีกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ เพื่อกำหนดการแบ่งอำนาจหน้าที่และการจัดสรรรายได้ระหว่างราชการส่วนกลางและ ราชการส่วนภูมิภาคกับ อปท. และระหว่าง อปท. ด้วยกันเอง
โดยคำนึงถึงการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นตามระดับความสามารถของ อปท. ในแต่ละรูปแบบ และตามนัยมาตรา 30 (4) ของ พรบ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้รัฐจัดสรรรายได้ให้แก่ อปท. คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ที่สุทธิของรัฐบาลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 25   ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป และการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าที่จัดสรรให้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ที่ได้จัดสรรไว้ จำนวน 126,013 ล้านบาท
ซึ่งในปีงบประมาณ  2556  ปรากฏว่า  รัฐบาลได้จัดสรรเงินให้แก่ อปท. ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลเป็นร้อยละ 27.27  หรือจำนวน 572,670 ล้านบาท     โดยเป็นรายได้ของ อปท.  ทั้งที่จัดเก็บเองและรัฐบาลจัดเก็บให้และแบ่งให้ จำนวน 336,170 ล้านบาท   และจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนให้แก่ อปท.  จำนวน 236,500 ล้านบาท   เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ที่ได้รับการจัดสรร 221,091.8 ล้านบาท   เป็นจำนวน 15,408.2 ล้านบาท
ก็เป็นอีกหนึ่งภาพการชุมนุมที่จะต้องติดตามกันต่อไป  สืบเนื่องจากแกนนำกลุ่มพีมูฟยังไม่เห็นความชัดเจนที่เป็นรูปธรรมของ  คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม   ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นประธาน  โดยเฉพาะการที่จนถึงวันนี้ยังไม่มีการนัดประชุมของคณะอนุกรรมการชุดใด ๆ เลย จาก  10  ชุดที่มีการข้อตกลงร่วมกันก่อนหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น