วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไม่ใช่แค่ผบ.ทบ. แต่ผบ.สส. ก็อยู่ในข่ายถูกย้าย เมื่อ 13 พ.ค.56


ไม่ใช่แค่ผบ.ทบ. แต่ผบ.สส. ก็อยู่ในข่ายถูกย้าย

คอลัมน์ : เจาะข่าวร้อนล้วงข่าวลึก

เป็นอีกสถานการณ์ที่ร้อนแรงและต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด กับกระแสข่าวการโยกย้ายหรืออาจถึงขั้นปลดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวก็ได้ถามคำถามนี้กับผู้บัญชาการทหารบกว่าอาจจะถูกเสนอให้ไปทำหน้าที่ผบ.สส.แทนที่พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาปกรณ์ 
หากพิจารณาน้ำเสียงอันแข็งกร้าวของพล.อ.ประยุทธ์ ว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดไม่ดีตรงไหนอย่างไร แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจอย่างชัดเจนว่าการที่จะให้พล.อ.ประยุทธ์ไปเป็นผบ.สส.ก็เท่ากับว่าจะต้องมีการโยกย้ายพล.อ.ธนะศักดิ์ออกไปก่อนใช่หรือไม่
แสดงให้เห็นว่า ณ ขณะนี้ ตำแหน่งระดับสูงของกองทัพที่อาจจะถูกปรับเปลี่ยนจากรัฐบาล ถูกเล็งเอาไว้ 2 ตำแหน่งก็คือ ผบ.สส.และผบ.ทบ.ใช่หรือไม่
โดยเฉพาะตำแหน่งของผบ.สส.ที่ปรากฏความขัดแย้งในระดับนโยบายกับรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด และอาจถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างของการปรับโยกย้ายก็เป็นไปได้
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 หลังจากที่รัฐบาลต้องยกเลิกให้ NASA เข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภา เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากเอกสารท้วงติงจาก พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่แสดงความเป็นห่วงเรื่องความมั่นคง และมิตรประเทศ รวมถึงความโปร่งใสของโครงการ
      
โดย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ถึงขั้นได้ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ กห ๐๓๐๐/๑๓๙๖ ลงวันที่ 25 มิ.ย.55 เรื่อง การขออนุญาตให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกา (NASA) เข้ามาดำเนินโครงการ SEAC4RS ในประเทศไทย เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี อ้างถึง หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๕๐๖/ว(ล) ๑๖๔๔๖ ลงวันที่ ๒๒ มิ.ย. ๒๕๕๕
      
ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือขอให้ กองบัญชาการกองทัพไทย พิจารณาเสนอควาเห็นการขออนุญาตใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานการวิจัยขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกา (NASA) ในการดำเนินโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ในประเทศไทย รายละเอียดตามอ้างถึง
      
"กองบัญชาการกองทัพไทย พิจารณาแล้วเห็นว่า ในหลักการเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่การดำเนินการควรศึกษารายละเอียดของโครงการ SEAC4RS และกฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดขอบเขตและมาตรการควบคุมที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านเทคโนโลยี สังคมจิตวิทยา ความมั่นคง และมิตรประเทศ รวมทั้งกำกับดูแล การปฏิบัติให้เกิดความโปร่งใส สามารถชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชนและนานาประเทศได้"
ถ้าหากว่าสิ่งที่กล่าวมามีความเป็นไปได้ก็ต้องมาพิจารณากันต่อว่าช่องทางการโยกย้ายสามารถเกิดขึ้นด้วยวิธีการอะไรบ้าง ทั้งนี้จากประโยคคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์สามารถทำความเข้าใจการโยกย้ายตำแหน่งผบ.ทบ.ว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการสภากลาโหมและอำนาจตรงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
เพราะฉะนั้นก็ต้องไปตรวจสอบทั้ง 2 ช่องทางว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ เริ่มจากอำนาจที่อยู่ในมือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะปลด ผู้บัญชาการทหารบก ว่าเรื่องนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด เพราะยังไม่มีสาเหตุอะไร ที่จะต้องย้าย พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งข่าวที่มีอยู่ในขณะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรก็ไม่ทราบ และก็ลือกันจนเละเทะ เพราะไม่มีสาเหตุอะไร เมืองไทยก็เป็นแบบนี้มีแต่ข่าวลือจนน่ารำคาญ        
 
ระดับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล กับ กองทัพนั้น ยังมีความสัมพันธ์ระดับ ที่ดี ตลอดเวลาที่ผ่านมาการทำงานของรัฐบาล และกองทัพ สังคมก็ดูกันเองว่า เป็นไปด้วยดี แต่ก็มีการสร้างข่าวลือจนไร้เหตุผล ไร้สามัญสำนึก สร้างข่าวจนเลอะเทอะ ตนอยากถามว่า เหตุผลในการย้าย ผบ.ทบ.นั้น มีอะไร ส่วนกรณีที่ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่จะย้าย ผบ.ทบ.นั้น ถ้านาย สุริยะใส เป็น ผบ.ทบ. คงถูกย้ายภายใน 24 ชม.
แม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมบอกว่า สถานการณ์ ณ ขณะนี้ยังไม่มีสาเหตุในการโยกย้ายตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ก็สามารถตีความหมายได้อีกนัยยะหนึ่งว่า ถ้าหากมีสาเหตุก็สามารถกระทำได้ใช่หรือไม่
พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551หมวด 3
การจัดระเบียบราชการทั่วไป
                      
 

มาตรา 24 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกระทรวงกลาโหม และจะให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้
มาตรา 24 วรรค 5อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือการปฏิบัติหน้าที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งใด ๆ หรือมติของสภากลาโหม หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม สมุหราชองครักษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้บัญชาการทหารอากาศ ทำการแทนในนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้ และผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวอาจมอบ
มาตรา 24 วรรค 6 อำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงกลาโหมกำหนดอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ หรือการปฏิบัติราชการประจำที่ผู้บังคับบัญชาทหารไม่ว่าจะเป็นชั้นใดซึ่งรองลงมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใด ๆ หรือมติของสภากลาโหม หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ผู้บังคับบัญชาทหารผู้นั้นจะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้ผู้บังคับบัญชาทหารตำแหน่งอื่นทำการแทนในนามของผู้บังคับบัญชาทหารผู้มอบอำนาจก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
มาตรา 24 วรรค 7 ให้ผู้รักษาราชการ ผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ทำการแทน มีอำนาจและหน้าที่ตามตำแหน่งที่รักษาราชการ รักษาราชการแทน หรือทำการแทนนั้นพิจารณาจากเนื้อหาของมาตราที่ 24 ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าหนึ่งในอำนาจในการโยกย้าย ในลักษณะให้ไปปฎิบัติราชการ หรือหน้าที่อื่นนั้น อยู่ที่การตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ขณะที่อีกหนึ่งช่องทางตามคำอธิบายความของพล.อ.ประยุทธ์ ก็อยู่ที่มติของสภากลาโหมดังนี้
พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกลาโหมพ.ศ.2251 ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญของกองทัพและถูกร่างขึ้นมาเพื่อไม่ให้มีการแทรกแซงการบริหารจัดการภายในของกองทัพจากฝ่ายการเมือง มาตรา 25 ระบุว่าการบริหารจัดการกำลังพลของกระทรวงกลาโหมให้เป็นไปตามกฎหมายและตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด การพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวงและส่วนราชการในกองทัพไทย ให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการที่ส่วนราชการนั้นแต่งตั้งขึ้นแล้วเสนอคณะกรรมการตามวรรคสามพิจารณา
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบกผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เจ้ากรมเสมียนตราเป็นผู้ช่วยเลขานุการมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของส่วนราชการตามวรรคสองและระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวง และส่วนราชการในกองทัพไทย โดยระเบียบการประชุมของคณะกรรมการตามวรรคสองและวรรคสาม ให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
ขณะที่ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล  พ.ศ.2551 ข้อ  9  ได้ระบุถึงการวินิจฉัยชี้ขาดมติที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งทหารชั้นนายพลว่าให้ถือเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการที่มาประชุมและถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
กฎระเบียบดังกล่าวจึงไม่ต่างไปจากการปกป้องกองทัพจากฝ่ายการเมือง จึงทำให้ที่ผ่านมาคนเสื้อแดงและแกนนำพรรคเพื่อไทยต่างออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกองทัพ เนื่องจากหากนับคะแนนเสียงในสภากลาโหมแล้ว ฝ่ายการเมืองดูจะเสียเปรียบกองทัพ
ปัจจุบันสภากลาโหม มีอยู่ด้วยกัน 6 คน จาก 7 ตำแหน่งเนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีการตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
         1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคือ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต
              
         2.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร
               
         3.ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
               
         4.ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์
               
         5.ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง
               
         6.ปลัดกลาโหม พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน
อย่างไรก็ตามหาก ฝ่ายรัฐบาลหรือการเมือง ต้องการที่จะแก้ไขกฎระเบียบนี้ ก็ยังคงต้องใช้เสียงในสภากลาโหม ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 43 ที่ระบุว่าในการดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเรื่องดังต่อไปนี้ต้องเป็นไปตามมติของสภากลาโหม
               
         (๑) นโยบายการทหาร
               
         (๒) นโยบายการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหาร
              
         (๓) นโยบายการปกครองและการบังคับบัญชาภายในกระทรวงกลาโหม
              
         (๔) การพิจารณางบประมาณการทหาร และการแบ่งสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม
              
         (๕) การพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการทหาร
              
         (๖) เรื่องที่กฎหมายหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำหนดให้เสนอสภากลาโหม     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น