วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 12-19 พ.ค.2556 โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 พฤษภาคม 2556 06:08 น.

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 12-19 พ.ค.2556
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์20 พฤษภาคม 2556 06:08 น.


1. พท. มีมติส่ง “ยุรนันท์” ลงเลือกซ่อม ส.ส.ดอนเมือง หลัง “สุดารัตน์” ปฏิเสธ ด้าน ปชป. ส่ง “แทนคุณ” อีกครั้ง! 
นายยุรนันท์ ภมรมนตรี(ซ้าย) นายแทนคุณ จิตต์อิสระ (ขวา)
       หลังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ได้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.เขต 12 (ดอนเมือง) พรรคเพื่อไทย(พท.) เป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งใส่ร้ายนายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 12 พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 และให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขต 12 ใหม่แทนนายการุณ
      
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้มีมติส่งนายแทนคุณลงสมัครเลือกตั้งซ่อมในเขตดอนเมืองอีกครั้งทั้งนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภาค กทม. แถลงว่า นายแทนคุณมีความเหมาะสม เพราะเป็นอดีตผู้สมัครและได้ทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมเชื่อว่า ผู้สมัครของพรรคมีโอกาสชนะได้ เพราะการเลือกตั้ง ส.ก.ที่ผ่านมา พรรคก็ได้รับเลือก หลังจากเว้นมา 10 กว่าปี
      
       ทางด้านพรรคเพื่อไทยนั้น ตอนแรกมีข่าวว่า แคนดิเดตที่พรรคจะส่งลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตดอนเมือง มี 3 คน คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ,น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และนางพิมพ์ชนา โหสกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) เขตดอนเมือง ภรรยานายการุณ แต่คุณหญิงสุดารัตน์ได้ออกมาปฏิเสธ โดยขอเวลาทำงานให้กับศาสนาอีกระยะหนึ่ง 
      
       จากนั้นเริ่มมีชื่อนายยุรนันท์ ภมรมนตรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขึ้นมามาเป็นแคนดิเดตด้วย ซึ่งนายการุณ ก็หนุนว่านายยุรนันท์เหมาะสมที่จะลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ดอนเมือง ซึ่งในที่สุด ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ส่งนายยุรนันท์ ลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตดอนเมือง โดยให้เหตุผลว่า นายยุรนันท์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับของประชาชน ขณะที่เจ้าตัว เผยว่า ยังไม่ได้ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องรอให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคดูรายละเอียดในข้อกฎหมายก่อน พร้อมยืนยันว่า ส่วนตัวมีความศรัทธาต่อนายการุณ และไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวกับนายแทนคุณ แต่คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหากัน เพราะตนจะหาเสียงด้วยการคิดดีทำดีไม่มีเรื่องกับใคร
      
       ด้านนายแทนคุณ พูดถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยมีมติส่งนายยุรนันท์ลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตดอนเมืองว่า เป็นเรื่องดี และน่าจะทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งครั้งนี้ดีขึ้น แต่ยอมรับว่ายังประมาทไม่ได้ เพราะนายการุณยังอยู่เบื้องหลัง จึงขอให้นายการุณเคารพกฎหมายและคำสั่งศาล และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เข้ามาดูแลด้วย
      
       สำหรับวันเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 12 ดอนเมืองนั้น เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 16 มิ.ย.
      
       ส่วนความคืบหน้าการเลือกตั้ง ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้งนั้น ล่าสุด 
คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งดังกล่าวแล้ว โดยเป็นการรับรองไปก่อน เนื่องจาก กกต.ไม่สามารถพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งได้ ด้านนางเยาวภา เผยว่า วันที่ 15 พ.ค.เป็นวันคล้ายวันเกิด ดีใจที่ กกต.รับรองให้เป็น ส.ส. เหมือนเป็นของขวัญวันเกิด
       

       2. “เฉลิม” ดัน กม.ปรองดองเข้าสภา 23 พ.ค.นี้ พร้อมให้ ตร. 1,800 สถานี ช่วยพา “ทักษิณ” กลับบ้าน แลก 4 พันล้านปรับปรุง สตช. ! 

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ กล่าวในงานสัมมนาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตำรวจ 1,800 สถานีช่วยพา พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้าน (15 พ.ค.)
       ความคืบหน้ากรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เข้าสภา เพื่อพา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน พร้อมอ้างว่า ทุกฝ่ายไม่ว่าสีใดกลุ่มใดก็ได้ประโยชน์จากร่างกฎหมายฉบับนี้นั้น เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ร.ต.อ.เฉลิม ออกมาเผยว่า มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยลงชื่อในญัตติเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ 149 คนแล้ว โดยจะยื่นร่างดังกล่าวต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 พ.ค.นี้ 
      
       ทั้งนี้ วันเดียวกัน(15 พ.ค.) ร.ต.อ.เฉลิม ได้กล่าวในงานสัมมนาการปฏิบัติราชการด้านความมั่นคงของประเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีตำรวจระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) และผู้กำกับการสถานีตำรวจ 1,800 สถานีเข้าร่วม ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิมบอกเหตุผลที่ต้องมาพูดคุยกับตำรวจในครั้งนี้ว่า ที่นัดหมายมาเพื่อหาแนวทางนำพาตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้าน และว่า การนัดหมายวันนี้กำหนดหัวข้อแบบเลี่ยงๆ เพื่อไม่ให้นักข่าวมาด่า โดยเป็นหัวข้อเกี่ยวกับความมั่นคง ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และการปราบปรามแก๊งทวงหนี้ พร้อมอ้างว่า ที่ต้องมาพูดกับตำรวจ เพราะตำรวจมีหน้าที่สร้างความสุขให้ประชาชน
      
       ร.ต.อ.เฉลิม ยังพูดถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของตนมีวาระซ่อนเร้นเพื่อเอื้อต่อ พ.ต.ท.ทักษิณว่า พวกนี้อ่านกฎหมายไม่เป็น พร้อมยืนยัน ในร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่มีการพูดถึงเรื่องคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านให้ พ.ต.ท.ทักษิณแต่อย่างใด ร.ต.อ.เฉลิม ยังส่งสัญญาณเหมือนเอาเงิน 4 พันล้านบาทมาล่อให้หัวหน้าตำรวจทั้ง 1,800 สถานีไปช่วยพูดกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ให้เข้าใจร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ด้วย “อยากให้น้องๆ ไปพูดกับประชาชนในพื้นที่ ไปเผยแพร่กฎหมาย ส่วนใครไม่สนใจก็ไม่เป็นไร วันนี้อยากให้ตำรวจมาทำความดี โดยพรรคเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาลอีก 2 ปี และจะเป็นต่ออีก 4 ปี เพื่อสร้างองค์กรตำรวจให้อย่างดี ต่อไปจะทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรูหราเหมือนเซ็นทาราแกรนด์ ตอนนี้ก็มีงบประมาณอยู่ 4 พันล้านบาท จะเอามาสร้างที่พักอาศัยให้ตำรวจ สร้างศูนย์ฝึก สร้างสถานีโทรทัศน์ของตำรวจ...” 
      
       ด้านอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) พูดถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม จะให้ ส.ส.ยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เข้าสภาว่า เป็นการยื่นญัตติเพื่อให้ประธานสภาฯ บรรจุเป็นระเบียบวาระพิจารณาของสภา พร้อมยืนยันว่า การประชุมสภาสมัยวิสามัญระหว่างวันที่ 29-31 พ.ค.นี้ จะไม่มีการพิจารณาร่างกฎหมายปรองดองฯ กฎหมายนิรโทษกรรม หรือกฎหมายอื่นใด โดยจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 เท่านั้น นายอำนวย ยังพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญด้วยว่า สภาจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญต่อไป โดยไม่รอคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยคาดว่าเมื่อเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปในเดือน ส.ค. จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในวาระ 2 ได้
      
       ส่วนท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ต่อกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิมจะยื่นร่างกฎหมายปรองดองฯ เข้าสภานั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ชี้ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายปรองดอง แต่เป็นกฎหมายที่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิดทุกอย่าง “ผมเชื่อว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้ผ่าน พ.ต.ท.ทักษิณก็จะอ้างว่า คดีความที่เกี่ยวข้องกับการยึดทรัพย์ เป็นผลพวงมาจากการทำงานของ คตส.(คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ) เพราะฉะนั้นคงจะมีการยื่นขอคืนเงิน มันก็จะเป็นปัญหาต่อไป” นายอภิสิทธิ์ ยังย้ำด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์จะคัดค้านทั้งร่างกฎหมายปรองดองฯ ของ ร.ต.อ.เฉลิม ,ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และกฎหมายปรองดองที่ค้างอยู่ในวาระการประชุมของสภาอีก 4 ฉบับ เพราะเป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และคงต้องมีช่องทางยับยั้งไม่ให้กฎหมายที่สร้างความเสียหายอย่างนี้ออกมา
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า คนเสื้อแดงบางส่วนไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของ ร.ต.อ.เฉลิม เช่น กลุ่ม 29 มกราฯ ที่มีนางสุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแกนนำ ชี้ว่า เนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าวที่นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งให้ทุกฝ่าย จะทำให้เกิดแรงต้านในสังคมทั้งฝ่ายเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้าม จนกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ที่เตรียมเข้าสู่การพิจารณาเป็นวาระแรกหลังเปิดสมัยประชุมสภา และว่า หาก ร.ต.อ.เฉลิม ยังคงหนุนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ดังกล่าว จะเท่ากับลืมความสูญเสียของพี่น้องประชาชน เพราะผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ทำให้ประชาชนเสื้อแดงบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งทางกลุ่มอาจมีการแสดงจุดยืนต่อต้านและประณามเพื่อให้ยุติการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสภา
      
       ขณะที่ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ก็ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของ ร.ต.อ.เฉลิมเช่นกัน เพราะเห็นว่าคนที่สั่งฆ่าประชาชนต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย และว่า ความปรองดองจะเกิดก็ต่อเมื่อความยุติธรรมเกิดขึ้น ดังนั้นการเกี้ยเซี้ยะกวาดขยะเข้าใต้พรม ไม่ทำให้เกิดความปรองดอง แต่จะยิ่งทำให้ประชาชนคาใจว่า ฆาตกรยังไม่ถูกลงโทษ
      
       ทั้งนี้ เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของ ร.ต.อ.เฉลิม มีทั้งหมด 6 มาตรา มาตรา 1 เป็นชื่อ พ.ร.บ. เรียกว่า “พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ...” มาตรา 2 ให้ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา 3 ให้การกระทำทั้งหลายของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวระหว่าง พ.ศ.2549 จนถึงวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ หากมีการกระทำใดที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะกระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้กระทำหรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป และให้ผู้ที่กระทำพ้นจากความรับผิดโดยสิ้นเชิง หากการกระทำนั้นอยู่ระหว่างสอบสวน ให้ระงับการสอบสวน หากอยู่ระหว่างฟ้องร้อง ให้ระงับการฟ้อง ถ้าอยู่ระหว่างพิจารณาคดี ให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี ถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษสิ้นสุดลง โดยการไม่ต้องรับผิดดังกล่าว ให้รวมถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการป้องกันและปราบปรามในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วย
      
       มาตรา 4 ให้บรรดาการกล่าวหาว่าบุคคลใดกระทำผิดที่มาจากคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ที่ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 หรือคณะบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งของ คปค.หรือการกล่าวหาจากหน่วยงานอื่นใด ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินการของ คปค.ไม่ว่าเป็นการกล่าวหาข้อหาใด ให้การกล่าวหานั้นระงับไป และให้ถือว่าผู้นั้นไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด หากการกระทำนั้นอยู่ระหว่างสอบสวน ให้ระงับการสอบสวน หากอยู่ระหว่างฟ้องร้อง ให้ระงับการฟ้อง ถ้าอยู่ระหว่างพิจารณาคดี ให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี ถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษสิ้นสุดลง
      
       มาตรา 5 กรณีที่มีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง และการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายตามความเหมาะสม ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ครม.กำหนด ส่วนมาตรา 6 ให้นายกฯ รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

       
       3. ศาล รธน. มีมติ 7 ต่อ 2 รับวินิจฉัย “อภิสิทธิ์” พ้น ส.ส.หรือไม่ กรณีถูกถอดยศ ขณะที่เจ้าตัว พร้อมแจง ยัน คดีพัวพันหลายศาล และยังไม่ได้ข้อยุติ! 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
       เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติ 7 ต่อ 2 รับคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของ ส.ส.ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106(5) ประกอบมาตรา 102(6) หรือไม่ เนื่องจากกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกจากราชการเป็นนายทหารกองหนุน เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2555 พร้อมให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือให้ชี้แจงข้อกล่าวหา
      
       สำหรับตุลาการเสียงข้างน้อยที่เห็นว่าไม่ควรรับวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว คือ นายนุรักษ์ มาประณีต และนายชัช ชลวร เนื่องจากเห็นว่าการพิจารณาเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติ
      
       ส่วนกรณีที่นายบวร ยสินทร และคณะ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า ประธานรัฐสภากับพวกรวม 315 คน กระทำการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 เป็นการจำกัดสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชน และนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เป็นคนละกรณีกับการแก้ไขมาตรา 68 ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ จึงไม่มีมูลที่จะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องดังกล่าว
      
       สำหรับคำร้องที่นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา จงใจใช้สิทธิเสรีภาพ และอำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีมติ 5 ต่อ 4 รับคำร้องกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นคำร้องที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเคยรับไว้พิจารณาก่อนหน้านี้ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องเช่นเดียวกับคำร้องของนายบวร ยสินทร
      
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า พร้อมชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่ถูก พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีคำสั่งปลดออกจากราชการทหาร อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ เผยว่า คดีนี้เกี่ยวพันกับหลายศาล เพราะหลังจาก พล.อ.อ.สุกำพล มีคำสั่งออกมา ตนได้ไปร้องศาลปกครอง ซึ่งศาลก็รับเรื่อง แต่ พล.อ.อ.สุกำพลไปโต้แย้ง ทำให้เรื่องต้องส่งไปที่ศาลแพ่ง นอกจากนั้นตนยังได้ดำเนินการทางอาญาด้วย ซึ่งเรื่องยังค้างอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายอภิสิทธิ์ ยังแสดงความมั่นใจทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จะต่อสู้กรณีถูกถอดยศและปลดออกจากราชการทหาร
       

       4. “วสิษฐ” เปิดตัวเว็บไซต์ “ไทยสปริง” ปฏิเสธปาฐกถาและการบริหารงานรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” เหตุเป็นหุ่นเชิด “ทักษิณ”-มีแผนยึดประเทศ! 
พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ และอดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ กับสัญลักษณ์ของเว็บไซต์ Thai spring
       เมื่อวันที่ 16 พ.ค. พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ และอดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ พร้อมด้วยนายแก้วสรร อติโพธิ อดีต ส.ว.กทม. และอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.) และนายขวัญสรวง อติโพธิ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับปรากฏการณ์ไทยสปริง(Thai spring) หรือ ดอกบัวแห่งการตื่นรู้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปฏิเสธการบริหารงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ดำเนินการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก แต่แต่งตัวเป็นประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากการปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ประเทศมองโกเลีย ที่เรียกร้องให้นานาชาติสนับสนุนการต่อสู้ของตนและครอบครัว
      
       ทั้งนี้ พล.ต.อ.วสิษฐ บอกว่า ตนผ่านเหตุการณ์บ้านเมืองมาตั้งแต่เล็กจนถึงปัจจุบัน และยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีคนบางกลุ่มพยายามจะทำลายระบอบ และกระทำการจาบจ้วงสถาบันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ดำเนินการอย่างมีแผนการที่จะล้มล้างเพื่อยึดประเทศไทย และเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งตนยอมไม่ได้ และว่า ที่ผ่านมา เรามีอาวุธมากมายที่จะต่อสู้ แต่วันนี้เรามีอาวุธอีกอย่าง คือ การแสดงความรู้สึกและอารมณ์ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ เว็บไซต์ www.change.org/users/thaispring ที่ร่วมลงชื่อปฏิเสธปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนว่า รัฐบาลดำเนินการไม่ถูกต้อง และว่า การรวมพลังแบบนี้ จะเกิดผลมากกว่าที่จะไปเรียกให้คนออกมาที่ท้องสนามหลวง ซึ่งมีความเป็นไปได้ยาก “รัฐบาลควรทบทวนบทบาทของตัวเองที่คิดว่าไม่เข้าท่า ไม่ถูกต้อง แต่นายกฯ ไม่รู้จะคิดออกหรือไม่ แต่แน่ใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะคิดออก ถ้าเกิดยังดึงดันในท่าทีอย่างนี้ต่อไป เชื่อว่าปรากฏการณ์ไทยสปริงก็คงจะนำไปสู่เหตุการณ์อื่น เช่นเดียวกับเหตุการณ์อาหรับสปริงที่มีคนออกมาชุมนุมเป็นจำนวนมาก จนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้” 
      
       ล่าสุด(19 พ.ค.) มีประชาชนเข้าไปร่วมลงชื่อสนับสนุนเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อปฏิเสธปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้วเกือบ 2 หมื่นรายชื่อ
      
       ด้านนายแก้วสรร บอกว่า ทางกลุ่มฯ จะรวบรวมรายชื่อดังกล่าวส่งไปยังประเทศสมาชิกประชาคมประชาธิปไตย 106 ประเทศ โดยผ่านสำนักเลขานุการของประชาคมที่กรุงวอร์ซอร์ ประเทศโปแลนด์ รวมทั้งส่งให้คณะทูตประจำประเทศไทยด้วย นายแก้วสรร ยังชี้ด้วยว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมในการปกครองประเทศ เพราะรัฐบาลนี้มีนายกฯ ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ และถวายสัตย์อย่างถูกต้อง แต่กลับมีนายกฯ อีกคนคอยเชิดอยู่เบื้องหลัง และสั่งการตลอดเวลา ขณะที่การกระทำหลายอย่างเป็นไปเพื่อประโยชน์ของครอบครัวชินวัตร รัฐบาลนี้เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก พยายามที่จะย่ำยีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถึงขั้นให้ลูกน้องไปขู่ฆ่าศาล เป็นการกระทำที่ใช้ไม่ได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า สถานการณ์ตอนนี้เหมือนการปิดประตูตีแมว โดยรัฐบาลพยายามแก้รัฐธรรมนูญและออกกฎหมายต่างๆ เพื่อล้างผิดให้นักการเมืองและครอบครัวตนเอง
       

       5. พระราชพิธีพืชมงคลฯ ปีนี้ พระโคกินข้าวโพด-หญ้า ธัญญาหารจะดี ขณะที่พระยาแรกนา ได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมาก! 
พระโคกินข้าวโพดและหญ้า(13 พ.ค.)
       เมื่อวันที่ 13 พ.ค. เวลา 08.40น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โอกาสนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา โดยเสด็จด้วย
      
        สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่พระยาแรกนาคือ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ น.ส.สุมาลี จำเริญ นิติกรชำนาญการ กรมปศุสัตว์ และ น.ส.สุวิสาข์ เกตุอินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ กรมส่งเสริมการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ น.ส.พชร ลาภผล นักวิชาการประมงปฏิบัติการ กรมประมง และ น.ส.กาญจนา มาลัยกฤษณะชาลี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ส่วนพระโคแรกนา ได้แก่ ฟ้า และ ใส พระโคสำรอง ได้แก่ มั่น และ คง
      
        ทั้งนี้ เมื่อพราหมณ์ทำพิธีเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค ประกอบด้วย ข้าวเปลือก ,ข้าวโพด ,ถั่ว ,งา ,เหล้า ,น้ำ และหญ้า ปรากฏว่า พระโคกินข้าวโพดพยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี นอกจากนี้ พระโคยังกินหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์เพียงพอ ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร อุดมสมบูรณ์ดี ส่วนผลการเสี่ยงทายผ้านุ่งของพระยาแรกนา ปรากฏว่า ได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า ปีนี้น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น