วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จากวาทะ "กะหรี่" ของ "ชัย ราชวัตร" ถึง กาแฟราดหัว-กระโปรงคลุมหน้า เวอร์ชั่น "โอ๊ค-อดีตแอร์คาเธ่ย์" วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เวลา 16:03:01 น.


จากวาทะ "กะหรี่" ของ "ชัย ราชวัตร" ถึง กาแฟราดหัว-กระโปรงคลุมหน้า เวอร์ชั่น "โอ๊ค-อดีตแอร์คาเธ่ย์"

วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เวลา 16:03:01 น.



(ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 10-16 พ.ค.2556)



ทันทีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในการประชุมประชาคมประชาธิปไตย ณ ประเทศมองโกเลีย เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาหลากหลายมุมมอง ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

โดยฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่า ปาฐกถาดังกล่าว เป็นการแสดงความกล้าหาญและมีเนื้อหาตรงตามความเป็นจริง

ขณะที่ฝ่ายซึ่งไม่เห็นด้วย มองว่าเนื้อหาปาฐกถา ทำให้เกิดผลลบต่อภาพลักษณ์ประเทศเสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ในเวลาเพียงชั่วข้ามคืนก็มีอีก 1 เสียง ของ นายสมชัย กตัญญุตานันท์ หรือ "ชัย ราชวัตร" เจ้าของคอลัมน์การ์ตูนล้อการเมือง "ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน" นักเขียนการ์ตูนการเมืองอาวุโส แสดงความไม่เห็นด้วยต่อนางสาวยิ่งลักษณ์

โดยการโพสต์ภาพนายกรัฐมนตรีและข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "โปรดเข้าใจ กะหรี่ไม่ใช่หญิงคนชั่ว กะหรี่แค่เร่ขายตัว แต่หญิงคนชั่วเที่ยวเร่ขายชาติ"

ทำให้เกิดเสียงสะท้อนกลับทั้งในแรงหนุนและแรงต้าน ผ่านโลกออนไลน์

รวมถึงการนัดหมายรวมพลคนเสื้อแดง ไปวางพวงหรีดและยื่นหนังสือประท้วง "ชัย ราชวัตร" หน้าสำนักพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในอาการที่คนเสื้อแดงไม่สามารถระงับอารมณ์โกรธได้และใช้คำหยาบคายด่าทอ

กระทั่ง นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องออกมาปรามผ่านเฟซบุ๊กเรียกสติเตือนว่า หากคนเสื้อแดงยังใช้คำหยาบ ก็จะไม่แตกต่างจากกรณี "ชัย ราชวัตร" โจมตี "ยิ่งลักษณ์"



ด้าน "ชัย ราชวัตร" โพสต์เฟซบุ๊ก ในเช้ามืดวันรุ่งขึ้นยืนยันต่อผู้สนับสนุนของเขาว่า จะไม่ทำให้ผิดหวังในจุดยืน และขอบคุณทุกกำลังใจที่หลั่งไหลมาทั้งทางโทรศัพท์และเฟซบุ๊ก

เหตุการณ์ตึงเครียดเริ่มกลับมาอีกครั้ง เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่งทนายไปแจ้งความดำเนินคดีกับ "ชัย ราชวัตร" ที่ สน.ดุสิต ในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

การที่ "ยิ่งลักษณ์" ตัดสินใจดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่ได้ทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยต่อต้านการรัฐประหาร แสดงความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกัน

กลับมีเสียงที่คัดค้านการดำเนินคดีดังกล่าว เนื่องจากการใช้ข้อหาหมิ่นประมาท อาจเป็นวิธีที่ไม่แตกต่างจากการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 มาทำลายผู้ที่คิดเห็นแตกต่างทางการเมือง ซึ่งเป็นวิธีที่ "คนเสื้อแดง" จำนวนมากต้องการให้ปฏิรูป

ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่สนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีแจ้งความ ให้เหตุผลว่า เสรีภาพควรมีขอบเขตและไม่ควรแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำหยาบคายคุกคาม

นอกจากนี้ ยังมีผู้อ่านเกมว่า การดำเนินคดี เป็นสัญญาณว่านายกรัฐมนตรี "พร้อมชน"

อาทิ ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล หรือ "หม่อมเต่านา" เห็นด้วยที่นายกรัฐมนตรีแจ้งความ โดยมองว่า เป็นการกระชับกระบองพร้อมชนและดูแลตัวเอง รวมถึงเป็นการทดสอบฐานกำลังของฝ่ายตรงข้ามว่าจะสร้างแรงต้านได้แค่ไหน

ขณะที่อดีตนักศึกษาทำกิจกรรมอย่าง "ปราบ เลาหะโรจนพันธ์" บัณฑิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย เขียนบทความตอนหนึ่งว่า ทางออกของเรื่องนี้ดีที่สุด คือให้ประชาชนหรือคนในสังคมเป็นผู้ตัดสินเอง แม้ส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยที่นายกรัฐมนตรีแจ้งความดำเนินคดี แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่าสังคมควรมีขอบเขตในการวิจารณ์บุคคลสาธารณะหรือไม่

"การเสียดสีแบบ ชัย ราชวัตร ทุกวันนี้เป็นการตอกย้ำที่ส่งผลเสียในระยะยาวว่า ฝ่ายตรงข้ามยิ่งลักษณ์-เพื่อไทย มีแต่จะใช้อารมณ์ด่าไปวันๆ เพราะฉะนั้น ทางออกของเรื่องนี้ดีที่สุด คือให้ประชาชนหรือคนในสังคมเป็นคนตัดสินเอง สร้างมาตรฐานด้วยกันเอง...ให้ประชาชนจัดการเองดีกว่าครับ"



สําหรับปฏิกิริยาของนักวิชาการต่อวาทะของ "ชัย ราชวัตร" ที่น่าสนใจ อาทิ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะแจ้งความเอาผิด "ชัย ราชวัตร" ว่า การโพสต์เนื้อหาดังกล่าวไม่มีความหมายอะไร เป็นเพียงการระบายอารมณ์ ซึ่งวิธีการเช่นนี้มีอยู่ในทุกฝ่ายรวมถึงคนเสื้อแดงด้วยที่มักเปรียบเทียบกรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เกี่ยวกับเรื่องเพศหรือการสังวาส ซึ่งส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้มองว่ามีความสำคัญแต่อย่างใด

ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ ไม่เห็นด้วยกับการฟ้องร้องเรื่องหมิ่นประมาท โดยเฉพาะถ้าคนถูกด่าเป็นคนในวงการอำนาจรัฐ และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษมาคุ้มครอง

ขณะที่ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ปรากฏการณ์การโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับการเมืองและเรื่องเพศ ของ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และ "ชัย ราชวัตร" เป็นสัญญาณและลางแพ้ของฝ่ายอำนาจเดิม บารมีเดิม รวมถึงปัญหาการก้าวไม่พ้น "ยิ่งลักษณ์" หลังจากก่อนหน้านี้ มีปัญหาก้าวไม่พ้น "ทักษิณ"

ด้าน นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การด่าทอ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในระยะหลัง สะท้อนภูมิปัญญาของฝ่ายอนุรักษนิยมไทยที่หมดท่า

"...เสียงระดมโหมด่าทอดูหมิ่นนายกฯ ยิ่งลักษณ์และพวก ในระยะหลังนี้ ก็สะท้อนวิกฤตภูมิปัญญาของอนุรักษนิยมไทยชนิดสิ้นท่าหมดปัญญาจะทำอะไรอย่างอื่นได้แล้ว ไม่ต้องพูดถึงเอาชนะใจและชี้นำสังคมไทย"

ส่วน น.ส.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า การจัดประเภทให้ผู้หญิงเป็นกะหรี่ สะท้อนความกลัวต่อการที่ผู้หญิงไม่สยบยอม ขณะเดียวกัน เป็นการยกย่องในทางอ้อม เนื่องจาก หากไม่มีความกล้าและไม่เข้มแข็ง ก็เป็นกะหรี่ไม่ได้

"...สำหรับข้าพเจ้า การถูกตีตรากะหรี่คือการยกย่องทางอ้อมในความไม่สยบยอมและขัดขืนกรอบความเป็นหญิงดีที่กำกับชีวิต ไม่กล้าและเข้มแข็งมากๆ เป็นกะหรี่ไม่ได้ค่ะ"



ส่วนความเห็นจากตระกูลชินวัตร ที่เด่นชัดคือ นายพานทองแท้ ชินวัตร หลานชาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะ "องครักษ์พิทักษ์อาปู" ได้โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนแฟนเพจมาคลิกไลก์เพื่อให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี

นอกจากนั้น ได้นำ "ร้อยกรอง" ของกลุ่มผู้ใช้ Internet ไปยื่นต่อผู้บริหารของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และเสนอว่า "ชัย ราชวัตร" ควรออกมาขอโทษและพูดจากันดีๆ

อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำที่ทำให้เกิดประเด็นต่อเนื่องคือการที่ นายพานทองแท้ ตั้งคำถามถึงวิธีการแสดงความรับผิดชอบของ "ชัย ราชวัตร" กับการแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกของอดีตพนักงานต้อนรับของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ที่เคยโพสต์เฟซบุ๊กเปิดเผยชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะผู้โดยสารและเขียนความในใจว่าอยากนำอะไรไปราดหัวบุตรสาวอดีตนายกรัฐมนตรี

โดยนายพานทองแท้ ระบุว่า "ชัย ราชวัตร" มีทางเลือก 2 ทาง และโพสต์ข้อความตอนหนึ่งว่า "ยืดอกแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือไปขอกระโปรงแอร์คาเธ่ย์มาคลุมหัว..."

ต่อมาสถานการณ์ในโลกออนไลน์เข้มข้นขึ้นอีก เมื่อสเตตัสดังกล่าวของนายพานทองแท้ กลายเป็นชนวนให้อดีตแอร์โฮสเตสคนดังกล่าว แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอีกครั้ง

โดยโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Honey Lochanachai หัวข้อ "อย่ามาแตะกระโปรงของฉัน"

พร้อมกับชี้แจงสาเหตุของการลาออกจากองค์กรที่ทำงานมา 24 ปี เพื่อลดแรงกดดันจากอำนาจการเมืองที่คุกคามการทำธุรกิจสายการบิน

นอกจากนั้น ได้แสดงความไม่พอใจ ที่นายพานทองแท้ นำการลาออกจากสายการบินของตนเองไปเปรียบเทียบและตั้งคำถามต่อการแสดงความรับผิดชอบของการ์ตูนนิสต์อาวุโส โดยได้โพสต์ข้อความตอนหนึ่งว่า

"...อย่าเอากระโปรงแอร์คาเธ่ย์ฯ ไปแอบอ้างด้วยความเคยชินเลย กระโปรงของฉันไม่ได้มีไว้คลุมหัวใครทั้งนั้น แม้แต่ทรราชขายชาติเลวทรามก็ไม่มีสิทธิ์มาแตะต้องกระโปรงอันมีเกียรติของพวกเรา..."

ทั้งนี้ ยังได้ยกย่องและให้กำลังใจต่อการแสดงจุดยืนของ "ชัย ราชวัตร" โดยระบุว่า เป็นการแสดงจุดยืนต่อชาติบ้านเมืองอย่างกล้าหาญ ซึ่งมักจะเป็นที่หวาดกลัวของคนที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ

ด้านนายพานทองแท้ ได้โพสต์ข้อความชี้แจงอีกรอบว่า สาเหตุที่ยกกรณีอดีตแอร์โฮสเตสขึ้นมา เนื่องจากต้องการยกย่องสปิริตของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ต้องออกจากงานซึ่งทำมาหลายปีและทิ้งเงินเดือนนับแสน แต่ตนเองกลับถูกโจมตีกลับมาเป็นชุด

ฉะนั้น จากข้อเสนอให้เลือก 2 ทาง จึงเหลือทางเดียว เพราะเจ้าของกระโปรงเขาไม่อนุญาตแล้ว โดยนายพานทองแท้ เรียกร้องให้ "ชัย ราชวัตร" ออกมาขอโทษต่อสังคม

และแสดงความเห็นต่างด้วยเหตุด้วยผล แบบสุภาพชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น