วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เปิดใจ "เล็ก บ้านดอน" แกนนำ"กวป."ชนศาล รธน.วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เวลา 19:45 น. ข่าวสดออนไลน์



วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เวลา 19:45 น.  ข่าวสดออนไลน์ 


เปิดใจ "เล็ก บ้านดอน" แกนนำ"กวป."ชนศาล รธน.

มติชนออนไลน์ หมายเหตุ - นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือ เล็ก บ้านดอน ประธานกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) กล่าวถึงที่มากลุ่ม กวป.และก้าวต่อไปในการเคลื่อนไหวเรียกร้อง

- ที่มาที่ไปของกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.)?
ก่อนหน้านี้แต่ละกลุ่มต่างทำงานของตัวเอง แต่ละคนเป็นเจ้าของสถานีวิทยุชุมชนของตัวเองกันทั้งหมด ตอนที่แยกกันทำก็มีบางส่วนที่ถูกเอาเปรียบ นอกจากนี้ การทำงานของวิทยุชุมชนมักจะถูกกล่าวหาว่านำเสนอข้อมูลบิดเบือน หรือขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้น เลยคิดว่าควรมีการรวมตัวสื่อวิทยุในพื้นที่ใกล้เคียงกันตั้งแต่ในกรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, ปทุมธานี หรือนนทบุรี เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ทำให้กลุ่มของสถานีวิทยุชุมชนเป็นองค์กรใหญ่ที่เข้มแข็ง และยกฐานะให้ดูดีมีความน่าเชื่อถือ เพราะเราใช้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน 

สำหรับกิจกรรมของสถานีวิทยุชุมชนต่างๆ นั้น จริงๆ แล้วเป็นสื่อภาคประชาชนที่ใกล้ชิดประชาชนมาก ช่วยเหลือทุกเรื่อง ไม่จำกัดอยู่ที่เรื่องการเมืองเท่านั้น อย่างตอนน้ำท่วมใหญ่ก็ประสานงานช่วยเหลือกัน นอกจากนี้ในนโยบายต่างๆ ก็เดินร่วมกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

- ทำไมถึงตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออก?
จริงๆ เรื่องศาลรัฐธรรมนูญ ตอนแรกคิดว่าจะออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่ตอนที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ออกมาระบุว่ามีข้อบกพร่องในคำวินิจฉัยคดีของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ แต่ในขณะนั้นมีกลุ่มนักวิชาการเสื้อแดงมายื่นหนังสือและจัดกิจกรรมแล้ว กลุ่ม กวป.จึงไม่ได้เคลื่อนไหว แต่หลังจากนั้น เมื่อเกิดกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องกลุ่ม ส.ว.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายผิด ม.68 จึงได้มีการพูดคุยกัน ใช้เวลาเพียง 3 วัน ก็ตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องบริเวณหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 22 เมษายนเป็นต้นมา แต่ถูกหลายฝ่ายกล่าวหาว่ามีพรรคการเมืองหรือ นปช.อยู่เบื้องหลัง ตรงนี้ขอยืนยันว่าไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง ที่ออกมาเป็นภาคประชาชนจริงๆ 

- ความสัมพันธ์ระหว่าง กวป.กับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จ การแห่งชาติ (นปช.) และพรรคเพื่อไทย?
บอกตรงๆ ว่าไม่มีความสัมพันธ์อะไรกันเป็นพิเศษ แต่เป็นการขับเคลื่อนที่แต่ละฝ่ายมีความคิดคล้ายๆ กัน การที่ กวป.ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อเป็นทางเลือกของประชาชน ให้ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น ทุกอย่างเป็นไปโดยประชาชนอย่างแท้จริง แต่ฝ่ายใดที่มีทิศทางเดียวกับเราสามารถเดินร่วมกันได้

- ประเมินการชุมนุมที่มาปักหลักกว่าครึ่งเดือน?
สำหรับภาพรวมการชุมนุมทั้งหมดที่ผ่านมานั้น ต้องบอกว่า กวป.จับงานใหญ่มาก เป็นงานที่ยังไม่เคยมีภาคประชาชนที่ไหนเคยทำ คือการออกมาแสดงความเห็นต่างต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แต่เมื่อเราตัดสินใจทำแล้ว เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด ส่วนจะบอกว่าเราทำสำเร็จหรือไม่ ตอนนี้ตอบไม่ได้ว่าสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อย 50-60 เปอร์เซ็นต์ ที่เราทำสำเร็จ ในวันนี้เราถือว่าชนะใจประชาชน และสามารถสร้างแนวร่วมให้เกิดขึ้นในต่างจังหวัดได้ ต้องบอกว่าในยกแรกนี้ เราทำสำเร็จในแง่ที่ว่าทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ สามารถถูกประชาชนคนธรรมดาวิพากษ์วิจารณ์ได้ ในยกแรก ถือเป็นการจุดประกายให้ประชาชน แม้จะถูกสบประมาทว่าจำนวนผู้ชุมนุมไม่ถึงแสนคนตามสโลแกน "แสนไล่ศาล" แต่ไม่เคยกังวล ไม่เคยคาดหวัง ตรงนี้เป็นเทคนิคในการเคลื่อนไหว แต่ถ้าประเมินว่านี่เป็นการชุมนุมครั้งแรกของ กวป. แต่มีประชาชนมาเข้าร่วมขนาดนี้ ถือว่าน่าพอใจ

- กังวลหรือไม่ เมื่อออกมาเปิดหน้าชนศาลรัฐธรรมนูญ?
คิดอยู่ตลอดว่าแล้วแต่ชะตากรรม ปล่อยให้เป็นไป ถ้าเป็นประโยชน์ของสังคมก็ต้องยอมรับ แต่อยากฝากไปยังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าขอให้ทบทวนการทำงานของตนเอง รวมถึงพิจารณาว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นถูกต้องหรือไม่ ตรงนี้ผมคิดว่าสำคัญมากกว่า 

- หลังจากยุติการชุมนุมครั้งนี้แล้ว ต่อไปจะทำอะไรต่อ?
ที่จบไปนั้นถือเป็นยกแรก กวป.ได้กำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวไว้ทั้งหมด 3 ยก โดยยกที่สอง นอกจากจะรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ลงมติรับคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราแล้ว ได้ร่วมประชุมกับเครือข่าย กวป. 40 จังหวัด เดินสายเปิดเวทีให้ข้อเท็จจริงกับประชาชน และจะร่วมกันแจ้งความตุลาการ ในข้อหาต่างๆ อีกด้วย 

สำหรับยกสุดท้าย หรือยกที่ 3 นั้น จะติดตามเฝ้าดูการทำงานของคณะตุลาการ หากเห็นว่าอาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิประชาชนที่มอบให้กับรัฐบาลและสภา ประชาชนจะเคลื่อนมาจัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น