วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

หมดยกศึกศักดิ์ศรี“ไทยVSกัมพูชา” 4 วัน ดวลเดือดกลางศาลโลก ลุ้นประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย เมื่อ 21 เม.ย.56


หมดยกศึกศักดิ์ศรี“ไทยVSกัมพูชา” 4 วัน ดวลเดือดกลางศาลโลก ลุ้นประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย




เสร็จสิ้นกันไปแล้วกับการให้การทางวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 ของฝ่ายไทยและกัมพูชาที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตลอดช่วง 15-19 เม.ย. 2556 ที่ผ่านมา
    โดยการปิดท้ายของฝ่ายไทยในช่วงค่ำวันที่ 19 เม.ย. นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ก็ได้ขึ้นแถลงต่อศาลเพื่อตอกย้ำประเด็นข้อกฎหมายว่า คำร้องของกัมพูชาไม่เข้าข่ายธรรมนูญศาลข้อ 60 ที่จะทำให้กัมพูชาอุทธรณ์คำร้องคดีเดิมซึ่งถือว่าสิ้นสุดไปแล้วได้
    “ประเทศไทยมีความคงเส้นคงวามาตลอด ในการยืนยันว่าปัญหาเขตแดนอยู่นอกเหนือการพิพากษา และศาลในปี 1962 ก็ไม่ได้ตัดสินในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่คู่ความต้องตกลงกันเอง และเรื่องเส้นเขตแดนไทยก็มีความคงเส้นคงวาว่าต้องตัดสินด้วยสันปันน้ำ ซึ่งเมื่อยึดเส้นสันปันน้ำตัวปราสาทพระวิหารก็อยู่ในฝั่งไทย แต่ไทยก็ยังยอมปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลมาจนทุกวันนี้
    หากศาลให้ตามคำขอของกัมพูชาในวันนี้ จะเป็นการทำลายเจตนาของศาลที่ต้องการยุติเรื่องนี้ในระยะยาว ขอยืนยันว่าศาลไม่มีอำนาจตีความคำพิพากษาตามคำร้องของกัมพูชา ขอให้ศาลตัดสินและพิพากษาว่า ในการตีความคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร 2505 นั้นไม่เป็นไปตามเกณฑ์ในข้อ 60 ของธรรมนูญศาล ทำให้ศาลไม่สามารถตีความตามคำขอได้ หรือคำขอไม่สามารถรับฟังได้”
    หลังจากนี้ก็ต้องรอให้ทุกอย่างดำเนินไปตามขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคดีของศาลโลกต่อไป คือทางองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 17 คนก็ต้องมาประชุมปรึกษาหารือกันว่า คำแถลงคดีของทั้งฝ่ายไทย-กัมพูชาเป็นอย่างไร-ข้อต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมาย-ข้อต่อสู้ในเชิงข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายยกมากล่าวอ้างต่อศาล ข้อต่อสู้ของฝ่ายไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน
    ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไทยที่ยกภาพถ่ายและคำพูดของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตประมุขกัมพูชาที่เดินทางไปปราสาทพระวิหารหลังศาลโลกคดีเขาพระวิหารไปแล้วสามเดือน โดยไม่ได้ติดใจเอาความที่ไทยได้มีการล้อมรั้วลวดหนามเพื่อกั้นเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา หลังมีคำตัดสินของศาลโลกในปี 2505 อันเทียบได้ว่า กัมพูชายอมรับการล้อมรั้วลวดหนามดังกล่าวแล้ว เข้าข่าย “กฎหมายปิดปาก” แบบเดียวกับที่ก่อนหน้านี้กัมพูชาเคยยกเรื่องภาพถ่ายสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนจากฝ่ายไทยไปที่ปราสาทพระวิหาร แล้วมีการจัดงานเลี้ยง-ชักธงชาติฝรั่งเศลขึ้นยอดเสา
    แต่ประเด็นนี้กัมพูชาก็แย้งกลับกลางศาลโลกว่าไม่เป็นความจริง สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ได้มีการทักท้วงแล้วอย่างน้อยสองครั้ง ก่อนและหลังไปปราสาทพระวิหาร
    หรือการที่ฝ่ายไทยพยายาม “ทำลายน้ำหนัก-ความน่าเชื่อถือ” ของแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนของฝ่ายกัมพูชา ที่ทีมสู้คดีของกัมพูชาพยายามร้องขอให้ศาลพิจารณาตีความเพื่อกำหนดพื้นที่ “บริเวณปราสาทพระวิหาร”
    ตามคำวินิจฉัยเดิมของศาลโลกปี 2505 ในบทปฏิบัติการ (คำวินิจฉัยที่มีผลผูกพันให้คู่กรณีต้องปฏิบัติตาม) ข้อที่ 2 ที่นอกจากศาลโลกจะตัดสินว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตอธิปไตยของกัมพูชา ดังนั้น
    “ไทยจึงต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ซึ่งไทยส่งไปประจำ ณ ตัวปราสาท (at the Temple) หรือในบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาท ซึ่งอยู่ในอาณาเขตของกัมพูชา (in its vicinity on Cambodianterritory)”
    ซึ่งพื้นที่ “บริเวณใกล้เคียง” ในใจของกัมพูชาที่กัมพูชาต้องการก็คือ “พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร” ที่ไทย-กัมพูชามีข้อพิพาทกันในช่วง 3-4 ปีมานี้นั่นเอง
    อันจะเห็นได้ว่า ในวันที่ 2 ของการแถลงคดีของฝ่ายกัมพูชาเมื่อ 18 เม.ย. แม้กัมพูชาจะพยายามแจงเรื่องที่ถูกไทยทำลายน้ำหนักความน่าเชื่อถือของแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน แต่การชี้แจงก็ทำแบบผิวเผิน ไม่ได้ลงลึกรายละเอียด เสมือนกับจะยอมรับกลายๆ ว่า “แจงไม่ขึ้น” เลยเลือกที่จะไม่ขยาย “จุดอ่อน” ฝั่งตัวเองให้ศาลเห็น
    ส่วนประเด็นการต่อสู้ในเรื่องข้อกฎหมายที่ไทยพยายามย้ำต่อศาลว่า คำร้องขอฝ่ายกัมพูชาไม่เข้าข่ายที่ศาลจะรับตีความได้ตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาลโลก หรือธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (Statute of the International Court of Justice) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดองค์ประกอบของศาลโลกและกำหนดหน้าที่การทำงานของศาลโลก
    เพราะหลังศาลโลกมีคำตัดสินเมื่อปี 2505 ไทยได้ปฏิบัติตามคำตัดสินครบถ้วนแล้ว คำฟ้องของกัมพูชาเปรียบเหมือนกับการอุทธรณ์ที่ซ่อนมาในรูปของคำขอให้ศาลตีความ เนื่องจากต้องการให้ศาลตัดสินว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน รวมทั้งให้ตัดสินว่าแผนที่ดังกล่าวมีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งเมื่อปี 2505 ศาลโลกไม่ได้รับพิจารณาและไม่ได้ตัดสินเรื่องนี้ตามที่กัมพูชาร้องขอไปเมื่อตอนสู้คดีช่วงปี 2503-2505 ไทยจึงบอกว่าคำร้องของกัมพูชาจึงเป็นการอุทธรณ์เรื่องเดิมซึ่งศาลไม่ได้ตัดสินเมื่อปี 2505 ทั้งที่ศาลไม่เปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์
    แต่ฝั่งกัมพูชาก็แย้งว่าไม่ใช่การยื่นอุทธรณ์ในคดีเก่า แต่เป็นการขอให้ศาลขยายความคำพิพากษาเดิมให้ชัดเจน เพื่อยุติปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนของไทย-กัมพูชา ไม่เช่นนั้นปัญหาก็ไม่จบ ก็จะเกิดความยืดเยื้อกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะสองประเทศจะถือแผนที่และเส้นเขตแดนกันคนละชุด ต่อให้ใช้กลไกการเจรจาอะไรต่างๆ ก็ไม่ได้ผล สุ่มเสี่ยงจะเกิดปัญหาการเผชิญหน้าสองประเทศ ที่จะส่งผลต่อการไร้สันติภาพในภูมิภาคอันย่อมไม่เป็นผลดีต่อส่วนรวม
    ข้อต่อสู้ของกัมพูชาในประเด็นเรื่องสันติภาพ ที่ออกมาจากหัวหน้าทีมสู้คดี คือ “ฮอร์ นัมฮง” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา น่าจะเป็นเพราะกัมพูชาต้องการเล่นบทแข็งกร้าวเพื่อกดดันศาลโลกกลายๆ
    เพื่อหวังให้ศาลโลกซึ่งก็คือหนึ่งองค์กรหลักขององค์การสหประชาชาติมีทั้งหมด 6 องค์กร คือ ศาลโลก-สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ-คณะมนตรีความมั่นคง-คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม-คณะมนตรีภาวะทรัสตีแห่งสหประชาชาติ-สำนักงานเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ
    บทบาทหลักของศาลโลกจึงเป็นเรื่องการใช้อำนาจศาลระงับหรือยุติข้อพิพาทระหว่างรัฐ ซึ่งก็คือประเทศต่อประเทศ ตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจศาลโลกไว้ว่า ให้มีเขตอำนาจเหนือคดีที่มีข้อพิพาท (Jurisdiction in Contentious Case)
    กัมพูชาจึงย้ำประเด็นเรื่องหากศาลไม่รับตีความเรื่องนี้ ไม่ทำให้เกิดความชัดเจนในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ปัญหาเรื่องเขตแดนนี้ก็จะคงอยู่ และอาจลุกลามกลายเป็นผลกระทบต่อสันติภาพในภูมิภาค อันย่อมขัดกับหลักการสำคัญของสหประชาชาติที่เน้นเรื่องภราดรภาพ-ความเป็นหนึ่งเดียวของสังคมโลก
    อีกทั้งกัมพูชาก็พยายามแย้งว่า จริงๆ แล้วเมื่อปี 2505 ศาลโลกไม่ใช่ไม่พิจารณาคำร้องขอของกัมพูชาที่ให้ศาลโลกตัดสินเรื่อง “เส้นเขตแดนและแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน” แต่เนื่องจากฝ่ายกัมพูชา “ยื่นประเด็นช้า” เพราะเป็นการยื่นเพิ่มไปภายหลัง หลังก่อนหน้านี้ยื่นไปสามประเด็น คือ ขอให้ศาลตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา-ขอให้ไทยถอนกำลังทหารและให้คืนวัตถุโบราณที่ได้ไปให้กับกัมพูชา ทำให้ศาลพิจารณาไม่ทัน
    ซึ่งก็เป็นแท็กติกของกัมพูชาที่ต้องใช้กลยุทธ์การต่อสู้คดีที่ต้องปิดจุดอ่อนต่างๆ ของฝั่งตัวเอง รวมถึงแย้งข้อต่อสู้ของไทยให้ตรงเป้ามากที่สุด โดยเฉพาะประเด็นข้อกฎหมายในเรื่องว่าศาลไม่สามารถรับตีความได้ ที่เห็นได้ชัดว่ากัมพูชาพยายามอย่างยิ่งยวดในการสู้คดีสองวันของฝั่งกัมพูชา ที่ต้องการโน้มน้าวให้ศาลรับตีความให้ได้ เพราะเชื่อว่าหากทำให้บันไดขั้นแรกคือศาลรับตีความได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วระดับหนึ่ง แล้วค่อยไปลุ้นต่อว่าศาลจะตัดสินว่าอย่างไร
    บทวิเคราะห์จากหลายฝ่ายต่อผลตัดสินที่จะออกมา ต่างมองว่าคดีนี้น่าจะมีผลออกมา 2-3 แนวทางคือ
    1.ศาลไม่รับตีความ
    2.ศาลรับตีความ
    แล้วอาจมีคำตัดสินในลักษณะขยายคำพิพากษาเดิมเพื่อให้ชัดเจนขึ้นว่า พื้นที่รอบปราสาทพระวิหารมี “พิกัดแผนที่” อยู่ตรงจุดใด มีอาณาเขตแค่ไหน เพื่อยุติข้อขัดแย้งไทยกับกัมพูชา
    หรือไม่ก็อาจเป็นว่าศาลรับตีความ แต่สุดท้ายบอกหลังรับเรื่องพิจารณาแล้วศาลไม่เห็นมีข้อโต้แย้ง เมื่อไม่มีข้อโต้แย้ง ก็ให้ไทยกับกัมพูชาไปใช้กลไกที่สองประเทศมีอยู่เช่น MOU 43 ที่ทำกันไปแล้ว หรือใช้การแก้ปัญหาผ่านกลไกการเจรจาในรูปคณะกรรมการทวิภาคี อย่างเช่น คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ซึ่งหากออกแบบนี้กัมพูชาก็เสียหน้าน้อยลง
    ส่วนความเป็นไปได้ที่ศาลอาจตัดสินตามที่กัมพูชาร้องขอ คือ ชี้เรื่องเส้นเขตแดนและรับรองแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนของกัมพูชาว่าถูกต้อง หลายคนก็ยังมองว่าก็มีโอกาสอยู่ แต่ความเป็นไปได้มีน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสองข้อแรก
    ผลการตัดสินของศาลโลกจะออกมาแบบไหน อีก 5-6 เดือนต่อจากนี้คงได้รู้กัน แต่เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์เมื่อปี 2505 ที่ไทยแพ้คดีต่อกัมพูชากลับมาหลอนอีกครั้งเป็นแน่.
                                                                                                                                           ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น