วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

แก้ ม.68 เครื่องบ่งชี้ ทำลายระบบตรวจสอบ จาก ไทยโฟสต์ เมื่อ 4 เม.ย.56


แก้ ม.68 เครื่องบ่งชี้ ทำลายระบบตรวจสอบ



ภายหลังนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการสรรหา และเป็นหนึ่งในกลุ่ม 40 ส.ว. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 68 หรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยขอให้ศาลพิจารณายับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ที่รัฐสภามีการพิจารณาผ่านพ้นในวาระที่ 1 และ 2 และจะลงมติวาระ 3 ที่อาจจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 291
     โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1. ให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 2. ให้ยุบพรรคการเมืองที่ผู้ถูกร้องสังกัดอยู่ อันได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน และพรรคประชาธิปไตยใหม่ และ 3. ขอให้ศาลมีคำสั่งชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยมีคำสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะพิจารณาคดีเสร็จ 
    ล่าสุด ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งโดยมีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 ดังนี้ คือ (1) คำร้องนี้เป็นกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ถึง 312 ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช ...  ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 โดยยกเลิกความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
    แล้วเสนอเนื้อความใหม่ที่เป็นการยกเลิกสิทธิของชนชาวไทยในการที่จะใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในกรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยเท่านั้น ไม่อาจใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้พ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในลักษณะอื่นที่นอกเหนือจากการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันเป็นการลิดรอนสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของชนชาวไทย มีมูลกรณีที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบมาตรา 68 วรรคสอง และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 17 (2) ศาลรัฐธรรมนูญจึงให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย  
     (2) ส่วนคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินนั้น ยังไม่ปรากฏมูลกรณีอันเป็นเหตุฉุกเฉินหรือเหตุผลอันสมควรเพียงพอที่จะต้องใช้วิธีการชั่วคราวดังกล่าว จึงให้ยกคำขอ (3) ให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องต่อศาล จำนวน 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้องและให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับหนังสือแจ้ง หากไม่ยื่นภายในกำหนด ถือว่าไม่ติดใจ  
    ข้างต้นถือเป็นคำวินิจฉัยในเบื้องต้น โดยต่อจากนี้ จะเข้าสู่กระบวนการชั้นศาลของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ในขณะเดียวกัน การทำหน้าที่ของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ขึ้นทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ไปร่วมลงชื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีความล่อแหลม ในการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 122 แห่งการขัดกันแห่งผลประโยชน์  
    เนื่องจากพฤติกรรมของ นายนิคม และบรรดานักการเมืองลิ่วล้อทักษิณ มีพฤติกรรมสมคบคิด สลับกันยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว โดยส่อพฤติกรรมอย่างชัดเจน จากการอภิปรายในช่วงที่ผ่านมานั้น และนับว่ามาตรา 122 จึงเป็นจุดอันตรายสำคัญในการเป็นฐานชี้เรื่องการล้มล้างมาตรา 68 
     กล่าวคือ มีเหตุจูงใจในการกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการละเมิดสิทธิประชาชน ล้มล้างสิทธิ กีดกันไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกป้องรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่ประชาชนเป็นฐานของสิทธิ ซึ่งนำมาสู่อำนาจอธิปไตยของรัฐธรรมนูญ 
    แต่พฤติกรรมของบรรดานักการเมืองในสภาขณะนี้ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ นำเอาสิทธิของประชาชนมาเป็นอำนาจ และใช้อำนาจนั้นมาออกกฎเกณฑ์ละเมิดลิดรอนสิทธิของประชาชน ขาดซึ่งความชอบธรรม ที่ต้องอยู่บนหลักการเหตุผล ในการแก้รัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิป
ไตยทั่วโลก  
    ที่มุ่งปรับปรุงมิใช่ทำให้ย่ำแย่ลง มุ่งตระหนักสู่การกระจายอำนาจให้กับประชาชน มิใช่สู่การรวบการใช้อำนาจ ทำลายระบบที่จะให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของแนวทางระบอบประชาธิปไตย   
    เจตนาการแก้มาตรา 68 กำลังก้าวสู่เส้นทางวิบากทางการเมืองอีกระลอก ภายหลังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต และเรื่องนี้เป็นเจตนาที่เป็นเครื่องบ่งชี้การกระทำที่รู้อยู่แก่ใจของ ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำเผด็จการเสียงข้างมากรัฐบาลยิ่งลักษณ์.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น