วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2556

สรุปข่าวการเมืองจาก นสพ.บ้านเมือง เมื่อ 5 - 6 เม.ย.56

สรุปข่าวการเมืองจาก นสพ.บ้านเมือง เมื่อ 5 - 6 เม.ย.56


ให้เครดิตทั้งสองฝ่าย  เมื่อ 5 เม.ย.56
ดุเด็ดเผ็ดมัน เพราะขึ้นชื่อว่าฝีปาก ส.ส.แล้วย่อมไม่ธรรมดา โดยเฉพาะบรรดาดาวสภา ดาวรุ่งที่กำลังพุ่งแรง คงต้องแสดงบทบาทในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามหน้าที่ เพราะไม่ใช่เฉพาะแต่ ส.ส.ฝ่ายค้านเท่านั้น ส.ส.พรรครัฐบาลก็ไม่ใช่ย่อย ดังนั้นในการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จึงไม่ต่างจากการอรรถาธิบายลงลึกในรายละเอียดหลายๆ เรื่อง ให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบ เพราะแม้แต่แค่ผ่านหูก็ยังดี
ทั้งนี้เพื่อประชาชนจะได้รู้บ้างว่ารัฐบาลจะนำเงินก้อนโตดังกล่าวไปทำอะไร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโครงการใหญ่ ที่แน่นอนว่าต้องมีประโยชน์มากมายมหาศาลในอนาคต เพราะแม้เงินกู้ดังกล่าวจะเป็นเหตุให้ต้องชดใช้หนี้กันนานถึงครึ่งศตวรรษ 50 ปี แต่เมื่อปรากฏว่าในการพูดจากันในสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายรัฐบาลได้มีการชี้แจงโดยแสดงเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน เพื่อให้ประเทศชาติเติบโต เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว ประเทศไทยยังล้าหลังชาติในอาเซียนอีกหลายชาติ
เพราะไม่ว่าโครงการระบบรถไฟรางคู่ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเมือง รถไฟความเร็วสูงเชื่อมเมือง เชื่อมประเทศ ที่วิ่งจากคุนหมิงผ่านลาว ไทย มาเลเซีย ไปสิ้นสุดที่สิงคโปร์ ถนนมอเตอร์เวย์เชื่อมเมือง ท่าเรือใหม่ที่ช่วยขยายการขนส่งสินค้า และอีกหลายๆ โครงการล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก จึงต้องให้เครดิตรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่กล้าหาญตัดสินใจทำโครงการใหญ่ๆ เพื่อเป็นพื้นฐานประเทศ ด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลก้อนนี้
ในทางกลับกันก็คงต้องให้เครดิตพรรคฝ่ายค้าน ประชาธิปัตย์ ที่พยายามทำหน้าที่ในสภาอย่างสุดความสามารถ เพราะในการจะกู้เงินจำนวนมหาศาล มียอดสูงถึง 2 ล้านล้านบาท แน่นอนว่าหากไม่มีการพูดจาท้วงติง โดยเฉพาะการขุดคุ้ยหาข้อมูลเพื่อมาประกอบความคุ้มค่าของทุกๆ โครงการแล้ว คงถือเป็นเรื่องแปลก ดังนั้นการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ของฝ่ายค้านในการชำแหละร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท จึงถือเป็นภาระหน้าที่โดยตรงที่ฝ่ายค้านจะต้องเริ่มตรวจสอบตั้งแต่ต้น
โดยเฉพาะความโปร่งใสในทุกๆ โครงการ ทุกๆ ประเด็น เพราะแม้ทุกโครงการก่อนเริ่มต้นจะต้องผ่านระบบกลไกปกติ ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒน์ฯ กระทรวงการคลัง สนง.คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติ แต่คงเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านเช่นกัน ที่จะต้องควบคุมให้เกิดความรัดกุมยิ่งขึ้น เพราะเม็ดเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท มันเกิดขึ้นในยุคที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล และพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน หากเกิดเรื่องงามหน้าขึ้นมาจะได้รู้กันว่าใครผิดใครถูกกันแน่

สื่อชายแดนใต้วอนเลิกใช้คำ โจรใต้

เมื่อวันที่ 4 เม.ย.56 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (ตรงข้ามโรงพยาบาลวชิระ) มีการเปิดเวที ราชดำเนิน สนทนาครั้งที่ 1 หัวข้อ ดับเพลิงหรือโหมไฟ สื่อไทยกับรายงานข่าว 3 จังหวัดชายแดนใต้ : ความท้าทายของคนทำข่าวซึ่งจัดโดยกองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน โดยมีการเชิญผู้สื่อข่าวที่ทำข่าวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาลมาร่วมในวงสนทนา
นายมนตรี อุดมพงษ์ ผู้สื่อข่าวรายการข่าว 3 มิติ กล่าวเสนอแนะว่า เป็นสิ่งที่ดีที่จัดเวทีนี้ และคิดว่านักข่าวในพื้นที่ หรือสติงเกอร์ น่าจะมีโอกาสพูดคุยกับนักข่าวส่วนกลาง ทั้งนี้การนำเสนอข่าวของสื่อในมุมมองของตน การพาดหัวข่าวว่า โจรใต้มอบตัวยอมรับผิดตนไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการที่เขามาแสดงตัวว่าเขาไม่ได้เกี่ยวข้องเท่านั้น ดังนั้นเป็นการพาดหัวที่หมิ่นเหม่มาก และนอกจากนี้เราไม่เห็นข่าวสืบสวนสอบสวนในพื้นที่มากเท่าไร แต่ตนก็เข้าใจในเรื่องของข้อจำกัด แต่ถ้าเป็นไปได้เราควรทำข่าวเจาะแยกให้ได้ระหว่างคดีส่วนตัวกับคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นในพื้นที่
นายมนตรี กล่าวอีกว่า พื้นที่ 3 จังหวัดฯ เป็นพื้นที่ที่เราทำตามวิชาชีพได้ไม่ครบ ไม่เหมือนพื้นที่อื่นที่อยากหาคำตอบก็ยื่นไมโครโฟนไปถามเขา แต่ใน 3 จังหวัดเราจะไม่เห็นการยื่นไมค์ ไปถามผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา ก็จะมีการตั้งคำถามว่าเรากล้าหาญที่จะถามเขาไหม เราเปิดโอกาสให้เขาพูดได้ไหม เพราะในพื้นที่มักจะมีแต่ข่าวที่ทหารชี้แจง เราจึงถามว่าเราให้เวลากับเขาได้หรือไม่ หรือเราจะรายงานแค่ว่าเจ้าหน้าที่นำตัวเขามาสอบสวนแล้วเท่านั้น
ส่วนสิ่งที่คิดว่าไม่ควรมีในข่าว 3 จังหวัดฯ นายมนตรี กล่าวว่า คำว่า โจรใต้ไม่ควรใช้ เพราะในมุมของสื่อทีวี คำพวกนี้ไม่ควรใช้อยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะหน้าที่สื่อคือเราจะต้องไม่ทำให้เกิดความเกลียดชัง บานปลาย และคนในวงการสื่อต้องถามตัวเองว่าเราจะก้าวข้ามจุดๆ นี้ได้หรือไม่ คือวิธีการสัมภาษณ์คนในพื้นที่ต้องไทยพุทธ 1 คน ไทยอิสลาม 1 คน เพื่อความสมดุลของข่าว เราไม่ควรตั้งฟอร์แมตช์หรือรูปแบบแบบนั้นว่าต้องให้พื้นที่เท่ากันใช่หรือไม่ เพราะนั่นเท่ากับว่าเราก็ไปแบ่งแยกเอง ดังนั้นความเป็นสื่อต้องระวัง และสื่อต้องไม่โหมประโคมข่าวว่าเป็นชัยชนะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะสิ่งเหล่านั้นจะมีผลกระทบตามมา

 “มาร์คเผยปชป.จ่อยื่นตีความแก้รธน.

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ยืนยันว่าจะไม่นัดประชุมรัฐสภาใหม่ เพื่อลงมติในญัตติระยะเวลาการแปรญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับว่า เรื่องนี้ไม่ถูกต้อง ถ้าทำอะไรตามใจชอบโดยไม่คำนึงถึงกฎกติกาก็อันตราย ตนอยากให้ทำกระบวนการทุกอย่างให้ถูกต้อง สภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยมีกฎกติกาชัดเจน เมื่อองค์ประชุมไม่ครบสภาก็ไม่สามารถพิจารณาเรื่องอะไรได้ ซึ่งถือว่าญัตติยังค้างอยู่และชัดเจนปฏิบัติมานานแล้ว ขณะที่การเรียกประชุมใหม่ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรควรทำให้ถูกต้อง ทั้งนี้แม้สภาจะผ่านกฎหมายเรื่องใดไปแล้ว แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าองค์ประชุมไม่ครบยังถูกยกเลิกหมด ส่วนกรณีที่นายสมศักดิ์นำข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่96 มาคัดค้านความเห็นของวิปฝ่ายค้านและยืนยันทำถูกต้องแล้วนั้น ตนคิดว่าข้อบังคับการประชุมข้อที่96 ก็เหมือนข้อบังคับที่กำหนดทั่วไป แต่รัฐสภามีสิทธิในการที่จะกำหนดเป็นอย่างอื่น ซึ่งคือการเสนอญัตติของสมาชิกในที่ประชุม เมื่อมีญัตติก็ต้องมีการลงมติ ผลออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ครั้งนี้ยังไม่มีการลงมติเพราะองค์ประชุมไม่ครบ
เมื่อถามว่ากรณีที่รัฐบาลและส.ว.บางส่วนเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งที่กระบวนการไม่ถูกต้องจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จะเกิดปัญหากระบวนการพิจารณาชอบหรือไม่ ตนคิดว่าถ้ารัฐสภาและรัฐบาลอยากให้เรียบร้อยก็ควรทำกระบวนการให้ชอบ ซึ่งระหว่างนี้คณะกรรมาธิการฯ ก็ทำงานต่อไปได้อยู่แล้ว เรื่องนี้ทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์กำลังพิจารณาข้อกฎหมายอยู่ว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้างโดยเบื้องต้นจะมีแยกเป็นเรื่องของรายละเอียดการอภิปรายและเรื่องกระบวนการ ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าทำการพิจารณากฎหมายที่สำคัญของประเทศ ทำไมเราไม่พยายามยึดกฎกติกามารยาทสร้างบรรทัดฐานที่ดี
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เคยมีการปฏิบัติมาก่อน การกระทำของนายสมศักดิ์ถือว่าทุกอย่างเป็นการรวบรัดเร่งรัด ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญกลับไม่เอาใจใส่ ขณะนี้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้หากดูจากเนื้อหาจะบ่งบอกถึงความไม่ขอบมาพากลหลายเรื่อง ทั้งนี้กรณีที่มีกระบวนการกดดันศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ไว้พิจารณานั้น ตนคิดว่าองค์กรต่างๆ คงจะชินแล้ว เพราะฝ่ายรัฐบาลจะมีมวลชนไปคอยกดดันตลอดเวลา แต่ในที่สุดประวัติศาสตร์ก็ยืนยันว่าภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดสำหรับคนทำหน้าที่คือ ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา

ปชป. จ่อชง ทีมกม. ฟัน ขุนค้อนปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ที่มาของส.ว.) แถลงถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ยืนยันว่า ไม่ได้ทำผิดรัฐธรรมนูญ เป็นการทำตามข้อบังคับการประชุมในการกำหนดวันแปรญัตติว่า อยากให้นายสมศักดิ์กลับไปดูที่มาของข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 137 หรือไม่ ซึ่งการกระทำของนายสมศักดิ์ เข้าข่ายทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 126 เกี่ยวกับองค์ประชุม แต่นายสมศักดิ์ กลับตะแบง เป็นศรีธนญชัย ทั้งที่องค์ประชุมไม่ครบ ตนจะให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคตรวจสอบว่า นายสมศักดิ์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ หรือจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายก็จะมีการดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมาธิการฯครั้งต่อไป กรรมาธิการฯในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าประชุมด้วย แต่ไม่ต้องต้องการตำแหน่งอะไร จึงอยากให้มีการตั้งบุคคลรับตำแหน่งที่ว่างอยู่โดยไม่ต้องเผื่อเอาไว้ให้สัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์
สิ่งที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่า นายสมศักดิ์ รุกรี้รุกรนรวบรัด ตามความต้องการของพรรคเพื่อไทย และส.ว.เลือกตั้งบางกลุ่ม ที่ต้องการฮั้วให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสร็จในต้นเดือนมิ.ย. ตรงกับช่วงการเปิดสมัยประชุมสภาฯวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 จึงกำหนดให้แปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียง 15วัน ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ ควรให้เวลาสมาชิกได้ยื่นคำแปรญัตติ แต่การกระทำดังกล่าวเพื่อหวังให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว จะได้รองรับกับการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่า ด้วยการเลือกตั้งส.ว. ที่ต้องทำให้เสร็จก่อนเดือนก.ย. เพราะส.ว.เลือกตั้ง จะหมดวาระในวันที่ 2 มี.ค. 57 ทุกอย่างเป็นการสมรู้ร่วมคิด มีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างส.ว.เลือกตั้ง กลุ่มหนึ่งกับรัฐบาล ดังนั้นหากนายสมศักดิ์ อยากให้เรื่องเสร็จโดยเร็วก็ขอให้เดินหน้าต่อไป โดยไม่ต้องเรียกประชุมรัฐสภาใหม่ จะได้รู้ว่า การพิจาณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3ฉบับชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นายเทพไท กล่าว
เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะสั่งให้ส.ส.แปรญัตติทุกคนและทุกมาตราหรือไม่ นายเทพไท กล่าวว่า เป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. พรรคไม่ได้ส่งสัญญาณอะไร แต่ถ้าดูคำอภิปรายของส.ส.จะเห็นได้ว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ต้องการแปรญัตติทุกคน ทั้งนี้ยืนยันว่า เราไม่มีเจตนาเตะถ่วง หรือขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวหา และไม่ได้เคลื่อนไหวทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล เพราะเราสู้เสียงข้างมากไม่ได้อยู่แล้ว และเชื่อว่า ในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯ วิสามัญ จะมีการเปิดยาวเพื่อรองรับ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 ร่างพ.ร.บ.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2ล้านล้านบาท และจะปิดท้ายด้วยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐบาลพยายามเร่งรัดการพิจารณาเงินกู้ 2ล้านล้านบาท โดยนายกฯ ได้มอบให้นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.วิทยาศาสตร์ ตรวจสอบและจดชื่อคณะกรรมาธิการฯ เพื่อให้เข้าร่วมประชุมทุกคน และจัดอาหาร เลี้ยงดูปูเสื่อเป็นอย่างดี เพื่อเร่งให้พิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว

พท.เตรียมพร้อมข้อมูลสู้คดีศาล รธน.

นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเตรียมส่งคำร้องให้ส.ส.และส.ว.312 คน ชี้แจงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ตามที่กลุ่ม 40 ส.ว.ร้องเรียนว่า ขณะนี้สมาชิกทั้ง 312 คนยังไม่ได้รับคำร้องจากศาลรัฐธรรมนูญต้องรอดูคำร้องอย่างเป็นทางการก่อน แต่ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยได้เตรียมข้อมูลพร้อมชี้แจงไว้หมดแล้ว ประเด็นหลักๆที่ต้องชี้แจงคือ การแก้ไขมาตรา 68 โดยให้ประชาชนยื่นเรื่องร้องผ่านอัยการสูงสุดได้เพียงช่องทางเดียวนั้น ไม่ใช่การลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่เป็นการบัญญัติกฎหมายให้เกิดความชัดเจน ไม่ต้องตีความอีก ยืนยัน ไม่มีเจตนาซ่อนเร้น โดยจะยกตัวอย่างเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 เรื่องการยื่นร้องเรียนตามมาตรา 68 ที่ระบุชัดว่า ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด รวมถึงมีหลักฐานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มอบให้นักวิชาการไปวิจัยเรื่องการยื่นเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 68 ซึ่งผลวิจัยก็ระบุชัดว่า ควรยื่นร้องผ่านอัยการสูงสุด ประเด็นเหล่านี้จะเป็นข้อสนับสนุนในการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ
นายสามารถกล่าวว่า มั่นใจว่า สามารถชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะไม่มีเจตนาซ่อนเร้น จึงไม่ได้เป็นห่วงอะไร หากให้ใครก็ได้มายื่นร้องเรียนตามมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นศาลพระภูมิ ประชาชนก็จะไม่เชื่อถือ ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับ โดยอ้างว่า ยังไม่มีการลงมติเรื่องระยะเวลาแปรญัตติ 15 วันนั้น ยืนยันว่า คำวินิจฉัยของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ที่ให้แปรญัตติ 15 วัน ถูกต้องแล้ว หากฝ่ายค้านจะไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกก็ทำได้เลย แต่กรรมาธิการจะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไป จะหยุดก็ต่อเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้หยุดเท่านั้น

หมวดเจี๊ยบยันรัฐคุยบีอาร์เอ็น

มาถูกทาง เหน็บฝ่ายค้าน กลัวรัฐได้หน้า

ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลยุติกระบวนการพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น เนื่องจากขณะนี้ยังมีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ขอยืนยันว่ายุทธศาสตร์ในการพูดคุย เพื่อยุติความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องแล้ว
ทั้งนี้ หากย้อนไปดูปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานที่แห่งใดในโลก ทุกอย่างล้วนจบลงที่โต๊ะเจรจาทั้งนั้น จึงจะนำไปสู่สันติภาพได้ ในกรณีของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน การที่จะเอาเหตุการณ์รุนแรงที่ยังเกิดขึ้นอยู่มาล้มเลิกกระบวนการพูดคุยนั้น เรื่องนี้คงไม่ถูกต้อง โดยที่ผ่านมาการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้วิธีคิดแบบพรรคประชาธิปัตย์สมัยที่เป็นรัฐบาล ก็พิสูจน์ให้เห็นอยู่แล้วว่า แก้ปัญหาไม่ได้ ทำให้ปัญหาคาราคาซังเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งๆที่พรรคประชาธิปัตย์มีส.ส.ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ควรที่จะเปลี่ยนวิธีคิด แล้วหันมาลองและมาเชื่อใช้วิธีการใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาดูบ้าง
ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวต่อว่า ในส่วนของรัฐบาลมองว่า แม้ในระหว่างที่มีการพูดคุย จะยังมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่เราถือว่าอย่างน้อยกระบวนการพูดคุย ก็ถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งกระบวนการพูดคุย จะทำไปควบคู่กับการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ ที่จะสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมากระบวนการพูดคุย ก็ได้รับการอำนวยสะดวกอย่างดี จากรัฐบาลมาเลเซียด้วย จึงขอให้นายอภิสิทธิ์ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในการดำเนินการแก้ปัญหา
ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวอีกว่า โดยความคืบหน้าขณะนี้ทราบว่า ในส่วนของการตั้งทีมพูดคุยดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว มีตัวแทนพูดคุยฝ่ายละ 15 คน จากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ พลเรือน และภาคประชาสังคม ดังนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องใช้เวลา คงไม่สามารถที่จะยุติลงในช่วงข้ามคืนได้ จะต้องใช้อดทนของทุกฝ่าย และขอให้พรรคฝ่ายค้านอย่านำประเด็นเรื่องความมั่นคงมาเล่นการเมือง หากมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ก็ขอให้นำมามอบให้รัฐบาล เพื่อมาร่วมมือกันแก้ปัญหา อย่ากลัวเลยว่าหากรัฐบาลแก้ไขปัญหาได้ จะทำให้รัฐบาลได้เครดิต ในเรื่องนี้อยากให้มองข้าม แล้วเอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นตัวตั้ง

ทบ.แจงเหตุปะทะพม่าไม่เกี่ยวกับไทย 

เมื่อเวลา 15.30 น.ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวภายหลังการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงของกองทัพบก ประจำเดือนเม.ย.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานในการประชุมถึงเหตุการณ์ปะทะของกองกำลังไม่ทราบฝ่ายและกองกำลังทหารพม่าบริเวณจ.เกาะสอง ประเทศพม่า ตรงข้ามกับพื้นที่อ.กระบุรี จ.ระนองว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นในประเทศพม่า จากการประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพม่าได้รับแจ้งว่า มีการปะทะกันระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ซึ่งฝ่ายไทยได้มีการเตรียมการโดยใช้มาตรการเฝ้าตรวจบริเวณช่องทางเข้า ออกตามแนวชายแดน ซึ่งทาง หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 (ฉก.ร. 25) ได้ประสานงานกับฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความสงบในพื้นที่ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
พ.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 25 (ผบ.ฉก.ร.25) เปิดเผยว่า เหตุการณ์ปะทะที่เกิดขึ้นเป็นการปะทะระหว่างทหารพม่า กับกลุ่มติดอาวุธในประเทศพม่าจำนวน 40-50 คน บริเวณบ้านอินทนินขวาง อ.เกาะสอง จ.เกาะสอง ตรงข้ามกับพื้นที่ อ.กระบุรี จ.ระนอง โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นของพม่าพบว่า มีทหารพม่าเสียชีวิตจากการปะทะจำนวน 13 นาย และสูญหาย 2 นาย โดยขณะนี้ทางพม่ากำลังเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่เพิ่มเติมอยู่ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ปะทะขึ้นบริเวณชายแดนไทย-พม่า ทางพม่าจึงประสานมายังทางเรา ซึ่งเราเป็นเพียงผู้รับทราบ ตนจึงได้สั่งการให้มีการวางกำลัง เฝ้าตรวจให้เข้มงวดบริเวณตามแนวชายแดน เพื่อป้องกันสถานการณ์ต่างๆ ทั้งนี้ยืนยันว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับทางทหารไทยแต่อย่างใด และไม่มีผู้เสียชีวิตคนไทยตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามในรายละเอียดต้องรอผลการตรวจสอบอย่างแน่นอนจากทางการพม่าอีกครั้ง

ไม่อภัยนิรโทษกรรมก็จบ

ความพยายามทุกด้าน รวมไปถึงการโยนหินถามทางเพื่อกรุยทางไปสู่การเข็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อยกโทษให้กับบรรดาผู้ต้องหาและบุคคลผู้ได้รับโทษทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังคงมีการดำเนินการกันอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้บางฝ่ายจะมิได้ออกหน้าออกตา บางฝ่ายจะพยายามตั้งแง่หรือหนุนสุดตัว แต่ดูเหมือนว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ค้างคาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรหลายฉบับ จากผู้เสนอหลายกลุ่ม ยังไม่ขยับเขยื้อนไปถึงไหน เพราะเหตุความปรองดองยังไม่เกิดนั่นเอง
การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ตามประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย นับตั้งแต่ พ.ศ.2475 ปรากฏว่ามีมาแล้ว 22 ครั้ง โดยส่วนใหญ่มักเป็นการร่างเสนอของคณะปฏิวัติรัฐประหาร และผู้ที่ครองอำนาจทางการเมืองในแต่ละยุค จึงเท่ากับว่ากฎหมายนิรโทษกรรมที่ผ่านมาในอดีตทุกๆ ครั้งเป็นการเสนอของฝ่ายบริหารในขณะนั้น มิใช่ ส.ส.หรือประชาชนเป็นผู้เสนอ ซึ่งผิดกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งปัจจุบัน ทุกร่างมีทั้ง ส.ส.ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรและประชาชนหลายกลุ่มเป็นผู้เสนอ
จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะสามารถเดินหน้าก้าวต่อไปเช่นไร ด้วยเหตุที่ว่าในขณะนี้ถึงแม้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ แต่เพราะความเห็นต่างในระบอบประชาธิปไตย จึงทำให้ปรากฏความแตกแยกทางการเมืองเกิดขึ้น จนกลายเป็นสาเหตุรุนแรงต้องเสียเลือดเสียเนื้อ ประเทศชาติและประชาชนพลอยได้รับผลกระทบจากนักการเมืองและกลุ่มการเมือง ซึ่งต่างฝ่ายต่างพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมือง เพื่อประโยชน์ของฝ่ายตนสถานเดียว
ดังนั้นเมื่อความเห็นต่างกลายเป็นความแตกแยก แต่ทว่ายังดีที่ทุกฝ่ายต่างยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงทำให้วันนี้ปรากฏร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาอีกครั้ง แต่คงมีปัจจัยสำคัญที่ยังทำให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวไม่สัมฤทธิผล เพราะเหตุความขัดแย้งทางการเมืองของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งกลุ่มการเมืองนอกสภา ที่ยังคงพยายามแสดงบทบาทของตนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่หลายฝ่ายเสนอสะดุดหยุดอยู่กับที่
และยิ่งเมื่อต่างฝ่ายต่างแสดงความคิดเห็นด้วยท่าทีที่คัดค้านกันมาแต่แรก โดยไม่มีคำว่าอภัยเป็นตัวหลักแล้ว ทำให้เห็นว่า การเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยยังคงต้องเกิดความขัดแย้งทางการเมืองต่อไปอีกนาน ในเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ยินยอมอภัยให้กัน อันถือเป็นพื้นฐานของกฎหมายนิรโทษกรรม จึงเป็นเรื่องยากที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมปัจจุบันจะผ่านเป็นกฎหมายออกมาง่ายๆ เมื่อทั้งในสภาและนอกสภามีฝ่ายคัดค้านพร้อมจะกระตุ้นให้เกิดเหตุรุนแรงทุกเมื่อ

พท.ฉะปชป.ดีเลย์เเท็กติดเเก้รธน.เกมส์องค์ประชุมไม่ครบ

เทพไทจวกยับขุนค้อนเร่งรัดปิดจ็อบนายใหญ่

แก้ รธน. ยังวุ่นไม่รู้จบ ปชป.ยังตั้งป้อมขวางรื้อ 3 มาตรา อ้างกระบวนการมิชอบ-องค์ประชุมไม่ครบ จี้ขุนค้อนนัดประชุมร่วมฯ กำหนดวันแปรญัตติใหม่ ขู่ยื่นศาล รธน.ล้มกระดาน ขณะที่ เทพไทฉะขุนค้อนตะแบงแบบศรีธนญชัย รวบรัดเร่งปิดจ๊อบนายใหญ่ เตือนผิด รธน. ม.126 ทำงานเกินอำนาจหน้าที่ มอบทีม กม.หาช่องฟัน ด้าน พท.อัด ปชป.ใช้ดีเลย์แท็กติกขวางแก้ รธน. ท้ายื่นศาล รธน.ได้เลย เหน็บหวังตัวช่วยนอกสนาม พร้อมสั่งระดมเนติบริกรเดินหน้าลุยต่อ มั่นใจฉลุย 3 วาระรวดเชื่อแจงปมศาล รธน.ได้ ส่วน นิคมไม่เห็นด้วยนัดประชุมร่วมฯ กำหนดวันแปรญัตติใหม่ ป้องขุนค้อน ทำตามขั้นตอนสมบูรณ์-เป็นไปตามข้อบังคับ
มาร์คจี้ขุนค้อนนัดลงมติแปรญัตติใหม่
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ยืนยันว่าจะไม่มีการนัดประชุมรัฐสภาใหม่ เพื่อลงมติในญัตติระยะเวลาการแปรญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับนั้น เรื่องนี้ไม่ถูกต้องจึงอยากให้ทำกระบวนการทุกอย่างให้ถูกต้อง ซึ่งเราเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยมีกฎกติกาชัดเจน ถ้าคิดแต่ว่า อยากทำอะไรตามใจชอบโดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎกติกา หากเดินหน้าก็เป็นเรื่องอันตราย ทั้งนี้ตนมองไม่เห็นเหตุผลที่นายสมศักดิ์ตีความว่า กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว เพราะมีการเสนอญัตติแล้ว และญัตติก็กำลังจะลงมติแต่องค์ประชุมไม่ครบจะไปตีความว่า สภาจะไม่อนุญาตให้เสนอญัตติเป็นอย่างอื่นคงไม่ได้ และองค์ประชุมไม่ครบก็แสดงให้เห็นว่ามตินั้นใช้ไม่ได้ เพราะสภาไม่สามารถพิจารณาเรื่องอะไรได้โดยที่องค์ประชุมไม่ครบ ซึ่งถือว่าญัตติยังค้างอยู่และชัดเจนปฏิบัติมานานแล้ว สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือทำไมการพิจารณากฎหมายสำคัญจึงไม่พยายามที่จะยึดกฎ กติกา มารยาท เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดี เพราะมีปัญหาตั้งแต่ประธานในที่ประชุมกลายเป็นผู้เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง และยังมีปัญหาว่าผู้เสนอและลงมติจะได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน อีกทั้งยังมีความพยายามที่จะรวบรัดโดยไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับหรือรัฐธรรมนูญ ที่ระบุให้ต้องมีองค์ประชุมครบในเรื่องที่จะลงมติ ขณะที่การเรียกประชุมใหม่ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร ควรทำให้ถูกต้อง ทั้งนี้แม้สภาจะผ่านกฎหมายเรื่องใดไปแล้ว แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าองค์ประชุมไม่ครบ ยังถูกยกเลิกหมด
ขู่ยื่นศาลตีความกระบวนการมิชอบ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากรัฐบาลและ ส.ว.บางส่วนเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่กระบวนการไม่ถูกต้อง จะเกิดปัญหากระบวนการพิจารณาชอบหรือไม่ชอบ ตนคิดว่าถ้ารัฐสภาและรัฐบาลอยากให้เรียบร้อยก็ควรทำกระบวนการให้ชอบ ซึ่งระหว่างนี้คณะกรรมาธิการฯ ก็ทำงานต่อไปได้อยู่แล้ว เรื่องนี้ทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์กำลังพิจารณาข้อกฎหมายอยู่ว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง โดยเบื้องต้นจะมีแยกเป็นเรื่องของรายละเอียดการอภิปรายและเรื่องกระบวนการ ส่วนกรณีที่นายสมศักดิ์นำข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 96 มาคัดค้านความเห็นของวิปฝ่ายค้าน และยืนยันทำถูกต้องแล้วนั้น ข้อบังคับการประชุมข้อที่ 96 ก็เหมือนข้อบังคับที่กำหนดทั่วไป แต่รัฐสภามีสิทธิ์ในการที่จะกำหนดเป็นอย่างอื่น ซึ่งคือการเสนอญัตติของสมาชิกในที่ประชุม เมื่อมีญัตติก็ต้องมีการลงมติ ผลออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ครั้งนี้ยังไม่มีการลงมติเพราะองค์ประชุมไม่ครบ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เคยมีการปฏิบัติมาก่อน การกระทำของนายสมศักดิ์ถือว่าทุกอย่างเป็นการรวบรัดเร่งรัด ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญกลับไม่เอาใจใส่ ขณะที่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้หากจากเนื้อหาจะบ่งบอกถึงความไม่ชอบมาพากลหลายเรื่อง ทั้งนี้กรณีที่มีกระบวนการกดดันศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ไว้พิจารณานั้น ตนคิดว่าองค์กรต่างๆ คงจะชินแล้ว เพราะฝ่ายรัฐบาลจะมีมวลชนไปคอยกดดันตลอดเวลา แต่ในที่สุดประวัติศาสตร์ก็ยืนยันว่า ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดสำหรับคนทำหน้าที่คือ ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา
ซัด ค้อนปลอมผิด รธน. ม.126
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาวุฒิสภา กล่าวว่า การเรียกประชุมกรรมาธิการฯ ตามดำริของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา หลังจากเกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้กรรมาธิการของพรรคเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยต่อไปถ้ามีการเรียกประชุมจากประธานกรรมาธิการฯ กรรมาธิการฯ ในส่วนของพรรคจะเข้าไปทำหน้าที่พร้อมกันทุกคน แต่ไม่มีความประสงค์รับตำแหน่งใดๆ ในกรรมาธิการฯ เพราะเชื่อว่าเป็นกรรมาธิการธรรมดา ก็ทำงานเป็นปากเสียงแทนประชาชนได้ พฤติกรรมของนายสมศักดิ์ ทำผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 126 ในเรื่ององค์ประชุม แต่นายสมศักดิ์ ตะแบงแบบศรีธนญชัย ทั้งที่ไม่ครบองค์ประชุม รัฐสภาล่มแล้วทำได้แค่เพียงกดออดปิดประชุมเท่านั้น แต่นายสมศักดิ์ กลับสรุปว่า การแปรญัตติ 15 วันมีผลบังคับใช้ และนัดประชุมกรรมาธิการฯ จึงถือเป็นการทำงานเกินอำนาจหน้าที่ ถ้ายังดำเนินการเช่นนี้จะให้ฝ่ายกฎหมายไปพิจารณาว่านายสมศักดิ์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีเจตนาฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดทั้งสองอย่างนี้ จะดำเนินการกับนายสมศักดิ์ต่อไป ทางออกของเรื่องนี้หากนายสมศักดิ์ ไม่ลุกลี้ลุกลนรับคำสั่งนายใหญ่ ก็สามารถเรียกประชุมเพื่อลงมติในเรื่องการแปรญัตติ 60 วันตามที่สมาชิกเสนอเพื่อให้ได้ข้อยุติ แต่กลับเร่งรัดให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้กลายเป็นความล่าช้ามากกว่า
จับตาชำเรา รธน.เสร็จก่อน กย.
นายเทพไท กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยและ ส.ว.เลือกตั้งกลุ่มหนึ่ง ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับเสร็จสิ้นภายในต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งตรงกับการเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 โดยจะนำเอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาวาระสองในช่วงนี้ จึงเชื่อว่าในการเปิดสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 28 พ.ค.56 เพื่อรองรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 นั้น จะมีการนำ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสองด้วย เพราะ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มีสัญญาณว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องการให้เสร็จเร็ว โดยมอบหมายให้นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รมว.วิทยาศาสตร์ เช็ครายชื่อกรรมาธิการชุดนี้และดูแลอย่างเต็มที่เพื่อให้เสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ยังอยากให้จับตามอง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยว่า จะมีการลักไก่เลื่อนขึ้นมาในช่วงนี้ด้วยหรือไม่ และต้องจับตามองการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ว. ว่าจะมีการเร่งรัดเพื่อให้เสร็จสิ้นก่อนเดือนกันยายนหรือไม่ เพราะวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดวาระในวันที่ 2 มีนาคมปีหน้า
นิคมมั่นใจขั้นตอนสมบูรณ์
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านขอให้รัฐสภานัดประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งเพื่อกำหนดวันแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพราะการปิดประชุมไปในช่วงท้ายอาจทำให้การพิจารณาไม่สมบูรณ์ ว่า หากมีการประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้ง จะเป็นการเสียเวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เพราะได้มีการลงมติในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นไปแล้ว และการแปรญัตติก็เป็นไปตามข้อบังคับคือ 15 วัน ถือว่าชัดเจนและสมบูรณ์แล้ว หากใครเห็นเป็นอื่นก็เสนอมา แต่เมื่อมีเสียงไม่ครบก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับ ยืนยันว่าไม่ถือว่าสภาฯ ล่ม เพราะผ่านการลงมติไปแล้ว จึงไม่กังวลหากฝ่ายค้านจะไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่สามารถร้องได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของปัญหาข้อบังคับการประชุม ก็ต้องอาศัยที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา ยืนยันว่า สามารถทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะการร่วมลงชื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขอวงตนถือเป็นเอกสิทธิ์ ทั้งนี้ไม่กังวลกรณีที่ศาลรับคำร้องของกลุ่ม 40 ส.ว. ที่ส่งตีความการแก้ไขมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ อาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง แต่ไม่ได้คุ้มครองชั่วคราว ก็ถือว่ายังเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้
พท.อัด ปชป.ใช้ดีเลย์แท็กติก
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ความวุ่นวายระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ไม่ได้เหนือความคาดหมาย นายอภิสิทธิ์ใช้ดีเลย์แท็กติก ดิ้นเป็นไส้เดือนถูกขี้เถ้า ทั้งๆ ที่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 96 เขียนชัดเจนว่า ให้เวลาแปรญัตติภายใน 15 วัน ยังหวังตัวช่วยนอกสนาม ทั้งนี้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่คุ้มครองชั่วคราวหรือสั่งให้หยุดการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายอภิสิทธิ์ยังแปลความหมายไม่ออกอีกหรือว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ถึงจะรับคำร้องไว้แต่ก็ไม่ติดขัดที่จะให้แก้เป็นรายมาตราตามที่เคยให้คำแนะนำไว้ นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเคยแก้มาแล้ว แม้จะถูกมองว่าแก้เพื่อประโยชน์ของตนเองก็ตาม ดังนั้น ขอฝากประชาชนช่วยบันทึกไว้ด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ พยายามอย่างสุดกำลังเพื่อขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ทุกขั้นตอนและทุกช่องทาง
เตรียมพร้อมข้อมูลสู้คดีศาล รธน.
นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ สมาชิกทั้ง 312 คนยังไม่ได้รับคำร้องจากศาลรัฐธรรมนูญต้องรอดูคำร้องอย่างเป็นทางการก่อน แต่ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยได้เตรียมข้อมูลพร้อมชี้แจงไว้หมดแล้ว ประเด็นหลักๆ ที่ต้องชี้แจงคือ การแก้ไขมาตรา 68 โดยให้ประชาชนยื่นเรื่องร้องผ่านอัยการสูงสุดได้เพียงช่องทางเดียวนั้น ไม่ใช่การลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่เป็นการบัญญัติกฎหมายให้เกิดความชัดเจน ไม่ต้องตีความอีก ยืนยัน ไม่มีเจตนาซ่อนเร้น โดยจะยกตัวอย่างเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 เรื่องการยื่นร้องเรียนตามมาตรา 68 ที่ระบุชัดว่า ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด รวมถึงมีหลักฐานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มอบให้นักวิชาการไปวิจัยเรื่องการยื่นเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 68 ซึ่งผลวิจัยก็ระบุชัดว่า ควรยื่นร้องผ่านอัยการสูงสุด ประเด็นเหล่านี้จะเป็นข้อสนับสนุนในการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ มั่นใจว่าสามารถชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะไม่มีเจตนาซ่อนเร้น จึงไม่ได้เป็นห่วงอะไร หากให้ใครก็ได้มายื่นร้องเรียนตามมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นศาลพระภูมิ ประชาชนก็จะไม่เชื่อถือ ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับ โดยอ้างว่า ยังไม่มีการลงมติเรื่องระยะเวลาแปรญัตติ 15 วันนั้น ยืนยันว่า คำวินิจฉัยของ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ที่ให้แปรญัตติ 15 วัน นั้นถูกต้องแล้ว หากฝ่ายค้านจะไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกก็ทำได้เลย แต่กรรมาธิการจะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไป จะหยุดก็ต่อเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้หยุดเท่านั้น
ระดมเนติบริกรเดินหน้าลุย
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ยื่นให้พิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขัดต่อมาตรา 68 หรือไม่ ว่า ส.ส.และ ส.ว.ที่ร่วมกันลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมั่นใจว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไร ไม่มีการล้มล้างระบอบการปกครอง และไม่ได้เป็นการตัดสิทธิประชาชนแต่อย่างใด เพราะยังสามารถยื่นเรื่องได้เหมือนเดิม เพียงแต่เพิ่มในขั้นตอนของอัยการสูงสุดเข้ามา และเรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ดังนั้นหากจะต้องไปชี้แจงก็ยินดี การทำหน้าที่ของ ส.ส.และ ส.ว.ในกรณีดังกล่าว ถือเป็นบทบาทหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ การเสนอกฎหมายต่างๆ ย่อมได้รับความคุ้มครองในตัวของมันเอง ไม่มีความผิดใดๆ แน่นอน เพราะนอกจากจะทำตามหลักของการแบ่งแยกอำนาจแล้วยังทำตามคำแนะนำของศาลด้วย ศาลจะตัดสินอย่างไรก็ไม่มีความผิด ก็เหมือนกับการที่ศาลชั้นต้นตัดสินอย่างหนึ่ง ต่อมาศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสินเป็นอีกแบบหนึ่ง ก็เอาผิดศาลชั้นต้นไม่ได้ อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยได้ระดมอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาให้คำแนะนำปรึกษากับ ส.ส. เช่น นายโภคิน พลกุล, นายชูศักดิ์ ศิรินิล, นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ขอย้ำว่า ส.ส.ไม่ต้องหวั่นไหวใดๆ เพราะไม่มีความผิด ยืนยันว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเดินหน้าต่อไป การที่ฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือขู่นั่นขู่นี่ คงต้องบอกว่าไม่มีผล ถ้ากลัวคำขู่ก็ไม่ต้องมาเป็นนักการเมือง ความกลัวทำให้เสื่อม ส่วนตัวรู้สึกติดใจนิดหนึ่งว่า เหตุใดศาลรัฐธรรมนูญจึงรับคำร้องเรื่องนี้ไว้แทบจะทันที เรื่องสำคัญไม่ต้องเร่งรีบขนาดนี้ก็ได้ ตุลาการเดินทางไปต่างประเทศเกือบครึ่ง ก็ยังมีมติออกมา สุดท้ายเมื่อนับเสียงที่รับคำร้องไว้ก็คือ 3 คน จาก 9 คน หรือประมาณ 30% เท่านั้น ส่วนกรณีที่ ป.ป.ช.ยุติการสอบสวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปล่อยกู้เงิน 30 ล้านบาทนั้น ก็ทำให้เกิดความสบายใจมากขึ้น ท่านนายกฯ จะได้บริหารประเทศโดยไม่พะวักพะวง เสถียรภาพรัฐบาล หรืออะไรต่างๆ ก็จะมั่นคง ส่วนคดีอื่นๆ ที่เหลือค้างการพิจารณาอยู่นั้น ดูแล้วไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
จารุพงศ์โอ่แก้ รธน.ราบรื่น
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรานั้น ก็ราบรื่นดีแม้จะมีการค้านกันบ้าง แต่ก็ยังเดินหน้าได้ และเชื่อมั่นว่าจะผ่าน 3 วาระรวด เพราะทำตามกลไกของกฎหมาย ไม่ได้ทำผิดจากกลไกที่มีอยู่ ส่วนที่ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่จงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จนั้น ก็เบาใจขึ้น แต่เท่าที่ติดตามเรื่องนี้มา มีคนไปร้องซึ่งเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่ต้องมีการตรวจสอบ แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่า นายกฯ แจ้งแสดงบัญชีถูกต้อง ก็ถือยุติแค่นั้น ทั้งนี้กรณี ป.ป.ช.จะเก็บไว้เป็นข้อมูลภายหลังพ้นจากตำแหน่งนั้น ตนมองว่า คงจะติดตามทุกคน ไม่ใช่แค่เพียงนายกฯ ที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน
ปูโอ่เสถียรภาพรัฐแข็งปึ๊ก
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี ในส่วนของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากเพิ่งมีการปรับคณะรัฐมนตรีในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ในตำแหน่งที่ว่างไปแล้ว ส่วนกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีการพิจารณาการปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทของสามีนอกสมรส จำนวน 30 ล้านบาท ของนายกรัฐมนตรี จะทำให้กระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล และจะสามารถอยู่จนครบวาระ 4 ปี โดยไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง อีกหรือไม่นั้น เสถียรภาพการเมือง ส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ หากมีความมั่นคง ก็ไม่มีความกังวลด้านเศรษฐกิจ และเชื่อว่าจะพัฒนาต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ รัฐบาลมาจากเสียงของประชาชน จะอยู่ครบวาระหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับประชาชน รัฐบาลจึงจะต้องตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่
ทักษิณโพสต์รูปดอกไม้บานที่ดูไบ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์รูปและข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ค ThaksinShinawatra ว่า วันนี้ส่งรูปสวยๆ งามๆ ของดอกไม้ที่อยู่ข้างถนน Sheikh Zayed Road ที่เป็นถนนสายหลักของเมืองดูไบ ตรงบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านที่ผมอยู่มาให้ดูครับ เพียงจะบอกว่าเมืองที่อยู่บนทะเลทรายและไม่มีแม่น้ำสักสาย น้ำจืดต้องกลั่นมาจากน้ำทะเล เขายังทำเมืองเขาให้เขียว และมีสีสันของดอกไม้ น้ำที่ใช้รดต้นไม้ก็มาจากการนำน้ำที่ใช้ตามบ้านตามร้านค้าเอามาบำบัด แล้วก็ส่งไปรดน้ำต้นไม้ทั้งเมืองครับ ที่นี่ปีหนึ่งจะมีฝนอย่างมากก็ไม่เกิน 10 วันใน 1 ปี เมื่อก่อนนี้แทบจะไม่มีเลย แต่พอต้นไม้เริ่มโตก็มีฝนบ้างครับ ฝนตกทีน้ำก็จะขัง เพราะเขาไม่มีท่อระบายน้ำครับ
ขวัญชัยปลุกกระแสพาทักษิณกลับบ้าน
นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร กล่าวว่า ความคืบหน้าการจัดเวทีรวมพลคนรักทักษิณ ในวันที่ 24 พ.ค. และการผลักดันพา พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศนั้น รูปแบบของเวทีหรือกิจกรรมยังไม่ชัดเจน แต่จากที่ตนเคยระบุไว้ว่าจะเชิญ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี มาร่วมด้วยนั้น ล่าสุดได้ประสานไปยัง ร.ต.อ.เฉลิมแล้ว และท่านก็รับปากว่าจะมาร่วมงานด้วย ส่วนคนอื่นก็จะมีนายเวียง วรเชษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และนายอดิศร เพียงเกษ แกนนำคนเสื้อแดงอีสาน จัดขึ้นก็เพื่อที่จะจุดประกายให้กลุ่มคนเสื้อแดงในภาคอีสาน ตระหนักถึงภารกิจที่จะร่วมกันพา พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกฯ กลับบ้าน หากงานในวันนั้นมวลชนมากันมืดฟ้ามัวดินก็จะทำให้คนเสื้อแดงในภาคอื่นๆ ตื่นตัวและร่วมแนวทางที่ชัดเจนที่จะพา พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้านได้จริง
พธม.อ้างไม่เคยมีจุดยืนห้ามแม้วกลับบ้าน
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กล่าวว่า พธม.ไม่เคยมีจุดยืนที่ว่าไม่ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศ และคนไทยไม่เคยห้าม พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศด้วย เพียงแต่หากกลับมาก็ต้องมารับโทษตามที่ศาลได้เคยพิจารณาไปแล้ว ส่วนที่เหลือก็มาต้องมาสู้กันตามกระบวนการยุติธรรม ทุกคนมีสิทธิ์ถูกกล่าวหาได้ แม้คนหลายจะมองว่ากระบวนการยุติธรรมจะเป็นอย่างไร แต่ว่าปัญหาต่างๆ ของประเทศจะสามารถยุติลงได้ก็ด้วยกระบวนการยุติธรรม ยืนยันว่าหากกลับมาจริง พธม.จะไม่มีการออกไปรวมตัวเคลื่อนไหวต่อต้านแน่นอน และมีความยินดีหาก พ.ต.ท.ทักษิณ จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
วันที่ 6/04/2556 เวลา 4:31

ทบ.คาดบึ้มรถรองผู้ว่าฯยะลา โจรใต้แก้แค้น-เจรจาโจรไร้ผล 

เมื่อวันที่ 6 เม.ย.56 พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คนร้ายลอบวางระเบิดรถยนต์ของนายอิศรา ทองธวัช รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ระว่างเดินทางบนถนนสาย410 ยะลา-เบตงว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมายังไม่สามารถสรุปถึงสาเหตุได้ชัดเจน เพราะสามารถมองได้หลายประเด็นไม่ว่า จะเป็นการสร้างความรุนแรงให้สังคมเห็นว่า กลุ่มตนเองยังมีศักยภาพ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับแกนนำหลายคนถูกจับและเสียชีวิต อีกทั้งยังสูญเสียแนวร่วมไปจำนวนมาก เนื่องจากมาตรการการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ หรืออาจเป็นไปได้ว่า กลุ่มผู้แทนการพูดคุยในปัจจุบันอาจไม่มีเอกภาพในการควบคุมเหมือนเดิมแล้ว หรือกลุ่มตัวแทนการพูดคุยอาจยังไม่ใช่ตัวจริงเสียงจริง หรือเมื่อพูดคุยกันแล้วอาจต้องใช้เวลาสักระยะถึงจะแสดงผล จะเห็นว่าเป็นไปได้หลายแนวทางด้วยกัน ซึ่งข้อสังเกตทั้งหมดนี้ทางกองทัพบกได้นำเสนอไปยังรัฐบาลแล้ว จึงไม่อยากให้สังคมใจร้อนด่วนสรุปไปก่อน
เจ้าหน้าที่ ผู้บริหารระดับสูง ครู ตำรวจ ทหาร กลุ่มนี้ คือ กลุ่มเป้าหมายเดิมของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่เหตุที่เกิดกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนั้น ไม่เคยเกิดเหตุมานานเป็นปีแล้ว แต่ไม่ใช่ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเพิ่งตกเป็นเป้าหมายในช่วงนี้ เมื่อมีเป้าหมายเขาต้องกระทำอยู่แล้ว ซึ่งเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในช่วง2-3วันที่ผ่านมาไม่ได้เกิดในพื้นที่เขตเมืองที่มีการรักษาความปลอดภัยที่ค่อนข้างเข้มข้น คนร้ายจึงไปก่อเหตุตามถนน เส้นทางต่างๆซึ่งยากที่จะป้องกัน โดยเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้อปงพยายามหาทางปรับมาตรการกันต่อไปรองโฆษกทบ.กล่าว
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า สำหรับผลในเชิงบวกที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การที่ประเทศมาเลเซียซึ่งไม่เคยแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังได้เริ่มให้ความร่วมมือในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือการแสดงความปรารถนาดี ที่ยินดีเป็นตัวกลางสนับสนุนให้เกิดกระบวนการพูดคุย ซึ่งอาจยังไม่ส่งผลได้ชัดเจนทันทีทันใด เพราะเพิ่งเป็นการเริ่มเดินก้าวแรกๆ ตามแนวยุทธศาสตร์การแสวงหาทางออกท่ามกลางความขัดแย้งของสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ส่วนแนวทางของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า คือ การพูดคุยสร้างความเข้าใจกับประชาชนหลายกลุ่มในพื้นที่ เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันโดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐเข้ามามีส่วนร่วมกันแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีไม่ใช้ความรุนแรง เช่นโครงการพาคนกลับบ้าน นอกเหนือจากมาตรการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมา มีบางกลุ่ม เข้าใจและเห็นด้วยกับความปรารถนาดีในความจริงใจของภาครัฐ ในแนวทางสันติวิธีที่ทางรัฐได้หยิบยื่นให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น