วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2556

เขมรปลอมเอกสาร ทนายฝ่ายไทยลากไส้หวังฮุบ4.6ตร.กม.เมื่อ 18 เม.ย.56


เขมรปลอมเอกสาร ทนายฝ่ายไทยลากไส้หวังฮุบ4.6ตร.กม.




ทีมไทยลากไส้เขมรกลางศาลโลก "วีรชัย" แจงข้อพิพาทเกิดจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว จวกคำฟ้องท้าทายศาลเพราะคำพิพากษาปี 05 ชัดเจนแล้ว แต่คล้อยหลัง 50 ปีมาขอในสิ่งที่ศาลปฏิเสธแฝงในรูปตีความ ขัดเอ็มโอยู 43 ยันพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ไม่ใช่ "พื้นที่ใกล้เคียง" แฉปลอมแปลงเอกสารจดหมายเหตุยื่นแผนที่คนละฉบับของภาคผนวก 1 หวังตบตาศาล "ทีมทนาย" อัดเสแสร้งชำแหละแผนที่แนบท้าย "maps” เป็นพหูพจน์ 1:2 แสน ศาลโลกไม่ได้รับรอง ผิดพลาดทางภูมิศาสตร์ลากเส้นมั่ว ย้อนเกล็ด "สมเด็จสีหนุ" มาร่วมเฉลิมฉลองการมอบปราสาทโดยไม่ขัดข้องเรื่องรั้วลวดหนามที่ไทยจัดทำขึ้น
    เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 17 เมษายน ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก เปิดให้ตัวแทนประเทศไทยแถลงด้วยวาจากรณีประเทศกัมพูชายื่นคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 หลังจากกัมพูชาแถลงด้วยวาจาไปแล้วเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา     
     ตัวแทนของไทยนำโดย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ พร้อมด้วย ศ.โดนัลด์ เอ็ม แมคเรย์ ชาวแคนาดา, น.ส.อลินา มิรอง ชาวโรมาเนีย, ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด และ ศ.อแลง แปลเลต์  ชาวฝรั่งเศส ทีมทนายฝ่ายไทย เป็นผู้ชี้แจง โดยมีนายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) เป็นประธาน ในการเปิดรับฟังการชี้แจงด้วยวาจาครั้งสุดท้าย (Oral Hearing)
    โดยนายวีรชัยแถลงว่า ประเทศไทยตกลงในกระบวนการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนร่วมภายใต้บันทึกความเข้าใจเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 (เอ็มโอยู 43) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเส้นเขตแดน มิใช่เป็นกระบวนการทางยุติธรรมครอบคลุมถึงพื้นที่ซึ่งกัมพูชาอ้างในปัจจุบันด้วย รัฐบาลไทยมีความเคารพต่อศาลเสมอ และก็ปฏิบัติตามคำพิพากษา ซึ่งได้รับการยอมรับแล้วโดยพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ประมุขของกัมพูชาในสมัยนั้น ซึ่งเสด็จฯ ไปยังปราสาทไม่นานหลังจากนั้น แต่คล้อยหลัง 50 ปี กัมพูชากลับมาขอในสิ่งที่ศาลปฏิเสธไว้อย่างชัดเจนโดยแฝงในรูปขอตีความ
    "คำฟ้องของกัมพูชาเป็นการใช้กระบวนการคดีในทางที่ผิด และไม่เคารพศาล เพราะคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ชัดเจน และตั้งแต่เดือน ก.ค.2505 ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว และกัมพูชาก็ยอมรับ กัมพูชาท้าทายความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ยืนยันว่าคำขอกัมพูชาไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ภายใต้ข้อ 60 แห่งธรรมนูญศาลว่าด้วยกระบวนการตีความ เพราะองค์ประกอบของอำนาจศาลภายใต้ข้อนี้ไม่ครบ"
    นายวีรชัยระบุว่า ข้อพิพาทปัจจุบันเกิดจากการเรียกร้องดินแดนใหม่ของกัมพูชา โดยการยื่นขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวกับคดีเดิมที่เกี่ยวกับอธิปไตยเหนือปราสาท ซึ่งไทยก็ได้ทำตามแล้วภายหลังจากการมีคำพิพากษา โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กำหนดขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาท โดยสร้างรั้วและป้าย และเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2505 ไทยก็ได้คืนปราสาทให้กัมพูชาพร้อมถอนกำลังทหารออกจากบริเวณนั้น ซึ่งถือว่ากัมพูชาได้ในสิ่งที่ตนขอในคำขอเมื่อปี 2502 กัมพูชาก็แสดงความพึงพอใจโดยหัวหน้าทางการทูตของกัมพูชาต่อหน้าที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ และประมุขของรัฐกัมพูชาที่เดินทางไปทำพิธีครอบครองปราสาทอย่างเป็นทางการ
    จนกระทั่งถึงปี 2543 กัมพูชาไม่เคยคัดค้านการควบคุมพื้นที่และความชอบธรรมของเส้นมติคณะรัฐมนตรี อีกทั้งยอมรับเองด้วยว่ากิจกรรมของตนในพื้นที่ที่เรียกร้องในวันนี้เพิ่งเริ่มในช่วงปลายปี 2541 และนับจากปี 2543 การรุกล้ำเส้นมติ ครม.เข้ามาในดินแดนไทยก็ชัดแจ้งมากยิ่งขึ้น และขัดต่อข้อ 5 ของเอ็มโอยู 43 ซึ่งกิจกรรมที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ได้กระทบต่อกระบวนการเจรจาตามบันทึกความเข้าใจ และทำให้เกิดการประท้วงอย่างหนักจากไทย ในประเด็นเรื่องเขตแดนนี้เกินขอบเขตของคดีเดิม ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขในกรอบของบันทึกความเข้าใจปี 2543 ซึ่งกัมพูชาปฏิเสธ และยืนยันในคำพิพากษาปี 2505 เท่านั้น เพื่อยัดเยียดเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 ตามที่ตนถ่ายทอดอย่างอำเภอใจในวันนี้ต่อไทย
แฉเขมรปลอมเอกสาร
    ตัวแทนฝ่ายไทยยืนยันว่า พื้นที่พิพาทประมาณ 4 ตารางกิโลเมตรครึ่ง ไม่ใช่ “บริเวณใกล้เคียง” ปราสาท ตามวรรคปฏิบัติการที่ 2 ของคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ขณะเดียวกันสิ่งที่กัมพูชาอ้างตั้งแต่ปี 2550 ไม่อาจจะเป็นบริเวณใกล้เคียงปราสาทตามนัยของคำพิพากษาเมื่อปี 2505 เพราะในคำร้องคดีเดิมกัมพูชาก็ไม่ได้เรียกร้องพื้นที่ขนาดนี้ ดังนั้นศาลไม่สามารถตัดสินเกินคำร้อง และให้ในสิ่งที่กัมพูชาไม่ได้ขอ
    "แม้ในคำขอเพิ่มเติมของกัมพูชาในขณะนั้นเกี่ยวกับเส้นเขตแดนและสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1  ซึ่งศาลไม่รับไว้พิจารณา ก็ไม่มีการระบุถึงพื้นที่ 4 ตารางกิโลเมตรครึ่งดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่กัมพูชาอธิบายความลำบากและไม่สามารถพิสูจน์ความมีอยู่ของพื้นที่พิพาทดั้งเดิม โดยทำได้อย่างมากก็ปลอมแปลงเอกสารจดหมายเหตุและโต้แย้งด้วยเส้นจากภาคผนวก 49 ของคำให้การแก้ฟ้องของไทยเมื่อปี 2504 ที่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด" นายวีรชัยกล่าว
     เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก กล่าวด้วยว่า การเรียกร้องในปัจจุบันของกัมพูชาจึงเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิงจากในอดีต การจัดทำเขตแดน แผนที่ภาคผนวก 1 กัมพูชาดำเนินการต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้ศาลเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งคดีนี้มีข้อเท็จจริงมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นพื้นที่พิพาทเดิม หรือบริเวณใกล้เคียงปราสาท หรือข้อเท็จจริงภายหลังคำพิพากษา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการไม่มีอยู่ซึ่งข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ซึ่งเอกสารหลักฐานต่างๆ เหล่านี้กัมพูชาไม่ได้โต้แย้งใดๆ ซึ่งแสดงถึงการยอมจำนน โดยการนิ่งเฉย
    "กัมพูชาได้ดำเนินการที่ไม่เหมาะสมทางคดีเพื่อที่จะทำให้ศาลเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ อาทิ การเสนอหลักฐานเดียวที่พิสูจน์พื้นที่ที่อ้างว่าเป็นพื้นที่พิพาทเดิมประมาณ 4 ตารางกิโลเมตรครึ่ง และได้แถลงอย่างผิดๆ เกี่ยวกับหลักฐานอื่นๆ รวมทั้งแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นแผนที่ที่แนบคำขอแรกเริ่มของกัมพูชา แต่กลับถูกนำไปอ้างในเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา ณ กรุงปารีส ว่าเป็นแผนที่ที่ได้รับการรับรองจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าเป็นภาคผนวก 1 ของคำพิพากษา นอกจากนี้ยังเสนอแผนที่ภาคผนวก 1 ต่อศาลคนละฉบับกับที่ได้เสนอในคำขอแรกเริ่ม และดำเนินการแปลอย่างไม่ถูกต้อง และเลือกที่จะอ้างถึงวรรคที่ไม่ปะติดปะต่อกัน ซึ่งไทยได้เสนอคำแปลที่ถูกต้อง และแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาได้ดำเนินการที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจทำให้ศาลเข้าใจผิดได้อย่างไร"
    นายวีรชัยกล่าวด้วยว่า ในส่วนคำสั่งเรื่องมาตรการชั่วคราวเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ศาลออกมาตรการคือมิให้เกิดการสูญเสียชีวิตขึ้น ตั้งแต่ศาลออกมาตรการการหยุดยิงในพื้นที่ต่างก็ได้รับการเคารพโดยกัมพูชา ไม่มีการปะทะกัน การสูญเสียชีวิตหรือเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินอีกต่อไป สถานการณ์ในพื้นที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคำสั่งศาลทุกประการ
    จากนั้น เวลา 15.50 น. นายโดนัล เอ็ม แมคเรย์ ทนายความฝ่ายไทย กล่าวว่า ข้อพิพาทปัจจุบันที่กัมพูชาได้ยื่นให้ศาลตีความคำพิพากษานั้น ไม่มีความแน่นอนและข้อต่อสู้กัมพูชาก็ขัดกันเอง การเปลี่ยนท่าทีไปมาในเอกสารคำให้การทางข้อเขียน โดยกัมพูชาพยายามขอให้ศาลตัดสินในสิ่งที่ศาลเคยปฏิเสธ เป็นการขอให้ศาลยืนยันสมมติฐานที่ว่าเขตแดนเป็นไปตามเส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 มาตราส่วน 1:200,000 และหากกัมพูชาตั้งคำถามตรงๆ ก็จะได้คำตอบว่า ศาลในปี 2505 ปฏิเสธคำขอกัมพูชา
คำขอขัดธรรมนูญศาล
    นายโดนัล เอ็ม แมคเรย์ กล่าวต่อว่า การที่คำขอกัมพูชาไม่ปรากฏคำถามชัดเจนขอให้ศาลตีความนั้น ทำให้คำขอกัมพูชาไม่เข้าเงื่อนไขข้อ 60 ของธรรมนูญศาล และข้อ 98 วรรคสอง ของข้อบังคับศาล ที่กำหนดให้คำขอตีความต้องระบุประเด็นชัดเจน สำหรับการที่กัมพูชาขอให้ศาลตัดสินว่าไทยต้องถอนทหารออกจากปราสาทและบริเวณใกล้เคียงปราสาท ก็เพื่อให้ศาลเข้าใจว่าพื้นที่พิพาทเดิมคือพื้นที่ 4.6 ตร.กม. และเสแสร้งว่าพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นเป็นสิ่งที่ได้รับการตัดสินเมื่อปี 2505 อีกทั้งกัมพูชาเปลี่ยนคำขอตีความให้กว้างขึ้น ทำให้พบว่ามีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา” ในวรรคปฏิบัติการที่ 1 จึงขอเพิ่มเติมให้ศาลตีความวรรคปฏิบัติการที่ 1 และความเชื่อมโยงระหว่างวรรคที่ 1 และ 2 ด้วย
    "ซึ่งผิดเงื่อนไขข้อ 60 ของธรรมนูญศาล เพราะคู่กรณีต้องมีข้อพิพาทเรื่องการตีความก่อนฟ้องศาล อย่างไรก็ตาม ข้อปฏิบัติการทั้งสองวรรคไม่สามารถให้กัมพูชาขอตีความสิ่งที่ศาลปฏิเสธตัดสินไปแล้ว และศาลในวันนี้ควรจะปฏิเสธที่จะตัดสินเช่นกัน" นายโดนัลด์กล่าว
    หลังจากนั้น น.ส.อลินา มิรอง กล่าวถึงความผิดปกติของแผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน หรือแผนที่แนบท้ายภาคผนวกที่ 1 ที่ฝ่ายกัมพูชาได้นำเสนอต่อคณะผู้พิพากษา โดยระบุว่า ในคำร้องฝ่ายกัมพูชาได้ใช้แผนที่มาอ้างอิงหลายฉบับ สังเกตได้จากคำว่า “maps” ที่เป็นพหูพจน์ ดังนั้นขอให้คณะผู้พิพากษาได้พิจารณาให้รอบคอบ ทั้งนี้ แผนที่ที่กัมพูชาได้นำมาแสดงนั้น เป็นการเลือกใช้แผนที่ที่เป็นประโยชน์กับตนเอง โดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ได้ให้ความเห็นไว้ว่า แผนที่ที่กัมพูชานำมาอ้างอิงนั้น ในทางสากลไม่สามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้จริง เพราะมีความผิดพลาดทางภูมิประเทศ แม้ว่าฝ่ายกัมพูชาจะระบุหลายครั้งว่า ศาลโลกได้รับรองแผนที่ตามภาคผนวกที่ 1 ตามคำพิพากษาปี 2505 เมื่อทีมต่อสู้คดีนี้ของไทยไปค้นดูคำพิพากษาที่มีความยาวกว่า 1,500 หน้า ไม่ปรากฏการบันทึกใดที่เป็นการรับรองแผนที่ฉบับดังกล่าว อีกทั้งไม่ปรากฏว่าในการพิพากษาในปี 2505 ศาลโลกได้ใช้แผนที่ฉบับใดมาเป็นหลักในการพิจารณา
    “ถ้านำแผนที่เก่าของกัมพูชามาวางไว้แผนที่ปัจจุบัน จะพบว่าไม่มีความแม่นยำ แต่ไม่ทราบว่ามีการนำแผนที่มาสับเปลี่ยนกันหรือไม่ ทั้งนี้ ต้องขอชื่มชมกัมพูชา หากเราจะตัดสินจากความละอายของกัมพูชาที่ไม่มีการโต้แย้งในเรื่องนี้ สิ่งที่ทนายฝ่ายกัมพูชาให้ถ้อยแถลงต่อคณะผู้พิพากษาเมื่อวันที่ 15 เม.ย. ระบุว่า แผนที่ที่ได้นำเสนอนั้นเป็นการขีดเส้นตัดกันระหว่างแผนที่ในภาคผนวก 1 และแนวเส้นสันปันน้ำ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากการถ่ายทอดแผนที่ในอดีตมายังแผนที่ปัจจุบันมีความยาก เพราะต้องใช้วิธีทางคณิตศาสตร์ และหากนำแผนที่ตามถ้อยแถลงของทนายฝ่ายกัมพูชามาอ้างอิง จะพบว่าส่วนที่ตัดกันนั้นอยู่ห่างจากตัวปราสาทมากถึง 6.8 กม. และที่สำคัญ ผู้เชี่ยวชาญหน่วยวิจัยเขตแดนระหว่างประเทศ ระบุว่า วิธีการของกัมพูชาจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของแผนที่มากถึง 500 เมตร ในทางตอนเหนือของปราสาทพระวิหาร ดังนั้น เห็นชัดว่ากัมพูชาไม่สนใจในความถูกต้องของภูมิประเทศรอบปราสาท รวมถึงภูมะเขือ และเทือกเขาพนมดงรัก ทั้งที่เป็นพื้นที่ที่สำคัญ และไม่สามารถพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ภายในเวลา 50 ปี” น.ส.อลินากล่าว
ชำแหละแผนที่ 1:2 แสนมั่ว
    น.ส.อลินากล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ทางกัมพูชาไม่มีแผนที่ที่สามารถพิสูจน์พื้นที่ได้แน่นอน แม้จะอ้างว่าปราสาทพระวิหารนั้นจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรกดกโลกแล้ว เพราะตามแผนที่ที่ศาลโลกใช้ประกอบการตัดสินคดีเมื่อปี 2505 แต่ข้อเท็จจริงยูเนสโก ได้ใช้แผนที่ของปี 2011 ส่วนหลักฐานเกี่ยวกับพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เป็นสิ่งที่น่าประหลาดว่ากัมพูชาได้ยื่นเพิ่มเติมหลังจากจบการนำเสนอ
    ทนายฝ่ายไทยกล่าวอีกว่า กัมพูชาได้อ้างอิงในสนธิสัญญาปี 1904 ว่าได้ให้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่สนธิสัญญาดังกล่าวไม่ได้พูดถึงตัวปราสาทพระวิหาร ระบุเพียงแค่เขตแดนในแผนที่ฉบับอื่นๆ เช่น แผนที่ในปี 1937 ที่แสดงให้เห็นว่าตัวปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตของกัมพูชา แต่ไม่สามารถใช้กำหนดเขตแดนได้ เพราะไม่ชัดเจนในแง่ภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ, แผนที่ปี 1947 ที่ประเทศไทยได้เสนอต่อคณะกรรมการประนอมระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส มีลักษณะคล้ายกับแผนที่ภาคผนวก 1 คือแสดงให้เห็นว่าปราสาทพระวิหารอยู่ทางตอนใต้ของเส้นเขตแดน แต่ส่วนอื่นๆ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ดังนั้น ทำให้คณะพิพากษาปี 1962 ไม่ได้ให้คุณค่าที่จะใช้พิสูจน์เขตอธิปไตย
    “ประเด็นที่กัมพูชาขอให้ศาลวินิจฉัยว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเส้นเขตแดนหรือไม่ ทั้งที่ไม่มีความชัดเจน แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายกัมพูชาต้องการให้ศาลเห็นชอบให้ใช้เส้นตามแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเส้นเขตแดน และหากพิจารณาตามแผนที่ 85D เท่ากับกัมพูชามีความต้องการขยายอาณาเขตเดิม มาในพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ด้วย” ทนายความฝ่ายไทย กล่าวสรุป
    ด้าน ศ.อแลง แปลเลต์ ทนายความชาวฝรั่งเศสของไทย ระบุว่า กัมพูชาไม่มีข้อมูลใหม่ๆ และกัมพูชายังคงพยายามดำเนินการให้ศาลโลกตีความเรื่องอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร เป็นการตีความไปมากกว่าคำตัดสินศาลโลกปี 2505 โดยขอเน้นย้ำว่า ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกแล้ว ดูจากพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เสด็จฯ มาร่วมงานเฉลิมฉลอง ในพิธีการที่ทางการไทยมอบปราสาทพระวิหารและวัตถุโบราณคืนให้กับทางการกัมพูชา และมีรับสั่งชื่นชมการดำเนินการไทยโดยปราศจากข้อขัดข้อง
    "จากเหตุการณ์ดังกล่าว แสดงถึงนัยสำคัญอย่างใหญ่หลวงที่กษัตริย์กัมพูชาไม่มีความขัดข้องในเรื่องรั้วลวดหนามกับป้ายที่ทางการไทยจัดทำขึ้น สิ่งนี้น่าจะมีน้ำหนักและความสำคัญเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ไปปรากฏพระองค์ที่ปราสาทพระวิหาร ที่กัมพูชานำมาใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาคำตัดสินศาลโลกปี 2505 และมีน้ำหนัก ทำให้กัมพูชาชนะคดีในครั้งนั้น"
    ศ.แปลเลต์กล่าวอีกว่า ไทยไม่เคยไม่ยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร แต่คำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 เห็นได้ชัดว่า ศาลจงใจไม่พูดถึงเรื่องเส้นเขตแดน โดยต่อมาในปี 2543 ไทยและกัมพูชาได้ลงนามในเอ็มโอยูเพื่อเป็นกรอบการจัดทำหลักเขตแดน ไม่มีส่วนใดที่ระบุถึงคำพิพากษาปี 2505 ตามที่กัมพูชาอ้าง การนิ่งเฉยของทั้งสองฝ่าย คือ ไทยและกัมพูชา สะท้อนให้เห็นว่ามาจากการเห็นตรงกันแล้วถึงคำพิพากษาปี 2505 ตลอดจนการดำเนินการใดๆ ของไทย อาทิ การติดตั้งประตูทางเข้า-ออกสู่ปราสาท ห่างไปจากตอนเหนือของปราสาทราว 100 เมตร กัมพูชาก็ไม่เคยทักท้วงหรือต่อต้าน ดังนั้นถือว่ากัมพูชายอมรับแล้ว
ยันไทยประท้วงเขมรไม่สน
    "ต่อมาปี 2544 กัมพูชากลับเปลี่ยนจุดยืน และการที่กัมพูชาอ้างว่า ไทยไม่เคยประท้วงใดๆ ต่อการเข้ามาอยู่อาศัยของชาวกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่จริง ไทยได้เคยประท้วงไปหลายครั้งแล้ว แต่กัมพูชาไม่เคยสนใจ" ศ.อแลงกล่าว
    จากนั้นเวลา 17.30 น. ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด ยกตัวอย่างคดีความในอดีตที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นว่า การตีความหากสามารถทำได้จะมีขอบเขตอยู่เพียง "ข้อบทปฏิบัติการ" ซึ่งเป็นส่วนที่มีข้อผูกมัดต่อคู่ความ ยืนยันว่า แผนที่ของกัมพูชาไม่สามารถกำหนดเขตแดนได้ แต่ทำได้เพียงกำหนดว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตามสันปันน้ำหรือไม่ เพราะในปี 2505 ศาลโลกเพียงใช้แผนที่นี้เพื่อพิจารณาอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเท่านั้น ตลอดจน "เหตุและผล" ไม่มีผลผูกพันคู่ความเหมือนกับข้อบทปฏิบัติการ
    ศ.ครอว์ฟอร์ดระบุถึงหัวใจสำคัญของการพิพากษาเมื่อปี 2505 ว่า คือการที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปยังปราสาทพระวิหาร ไม่ได้มีการเสด็จไปอย่างลับๆ แต่มีการรินแชมเปญ และมีข้าหลวงฝรั่งเศสแต่งตัวเต็มยศ แสดงให้เห็นถึงอำนาจเหนือดินแดนดังกล่าว แต่กรมพระยาดำรงฯ กลับตรัสว่า เป็นการต้อนรับอย่างอบอุ่น การเงียบเฉยของไทยตลอดเวลาที่ผ่านมาในคำพิพากษา 2505 ย่อมหมายถึง สิทธิที่ไทยจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทเท่านั้น ไม่ใช่เขตแดน
    ภายหลังการแถลงดังกล่าว นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ ได้โฟนอินมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทย สรุปคำชี้แจงของทีมไทย  และระบุว่า การชี้แจงต่อศาลโลกของฝ่ายไทยในวันนี้กระทรวงการต่างประเทศจะทำเป็นลายลักษณ์อักษรและเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจต่อไป
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมทีมงานศูนย์ปฏิบัติการติดตามแถลงคดีด้วยวาจาคดีปราสาทพระวิหาร ที่มีนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าทีม พร้อมด้วย พล.ท.ภราดร พัฒนธาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ในการเตรียมความพร้อมและติดตามการให้ถ้อยแถลงด้วยวาจาของฝ่ายไทยต่อศาลโลก ทั้งนี้ เลขาฯ สมช.เปิดเผยว่า ในที่ประชุมนายกฯ ได้เน้นย้ำให้กระทรวงการต่างประเทศทำการแปลและสรุปประเด็นเป็นระยะๆ นำเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนและประชาชน
    ด้านนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กตอบโต้ทีมทนายกัมพูชาที่ยกแถลงการณ์ร่วมสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ขณะนายนพดลเป็น รมว.การต่างประเทศ ไปลงนามเท่ากับเป็นการยอมรับแผนที่ให้ประเทศกัมพูชา ว่า เช้านี้ตื่นมาเห็นมีคนเข้ามาด่าอย่างหยาบคายโดยอ้างว่าทนายกัมพูชาพูดถึงคำแถลงการณ์ร่วมของตน คนด่าคงไม่ได้ฟังที่เขาบอกว่ารัฐบาลเก่าไปรุกรานเขา เขาจึงต้องกลับไปศาลโลก ซึ่งทีมทนายไทยต้องต่อสู้เคลียร์ประเด็นให้ได้ ที่กัมพูชาพูดถึงคำแถลงการณ์ร่วมนั้น เขาพูดสั้นๆ นิดเดียว เพียงครั้งเดียว เพียงเพื่อลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดเท่านั้นเอง เขาไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆ ดังนั้นจึงไม่มีการเสียประโยชน์ใดๆ ของฝ่ายประเทศไทย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น