วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

“วีรชัย”วอนศาลอย่ารับตามคำขอของเขมร เมื่อ 21 เม.ย.56



“วีรชัย”วอนศาลอย่ารับตามคำขอของเขมร
 
“วีรชัย”วอนศาลอย่ารับตามคำขอของเขมร หวั่นบ่อนทำลายเสถียรภาพ สันติภาพระหว่างประเทศ

น.ส.อลินา มิรง ทนายความชาวโรมาเนีย กล่าวต่อศาลโลก กรณีข้อพิพาทเขาพระวิหารว่า แผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชายึดถือนั้น ในหอจดหมายเหตุของศาลโลกนก็มีอยู่หลายฉบับ แต่ทนายกัมพูชาระบุว่าฉบับที่กัมพูชานำมาเสนอนั้นถูกต้องและสำคัญ โดยฝ่ายไทยได้ไปดูเอกสารดังกล่าว และพบเอกสารที่กัมพูชากล่าวถึง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับฉบับที่ยื่นไป กลับพบว่ามีป้ายคำร้องปี 2505 ที่ระบุว่าศาลจะมีการตีพิมพ์เอกสาร"ผนวกคำฟ้อง" ซึ่งหมายความว่าแผนที่ที่กัมพูชากล่าวอ้างนั้นไม่มีอยู่

เพราะเป็นแผนที่ผนวกคำฟ้อง ไม่ใช่"ผนวกคำตัดสิน" นอกจากนี้ ในปี 2505 กัมพูชาไม่เคยให้ความสนใจกับพื้นที่ทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ คือ เขาพนมตรับ และภูมะเขือ แต่คราวนี้กัมพูชากลับออกมาพูดถึงพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร(ตร.กม.) ที่อยู่ทางตะวันตกของปราสาทฯ จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าการพิพาทครั้งนี้ ถือเป็นกรณีพิพาทเขตแดนใหม่ ที่ไม่เกี่ยวกับคดีเมื่อปี 2505 1-31 มี.ค.2505 ไม่มีหลักฐานว่ากัมพูชาพูดถึงพื้นที่นี้ และกัมพูชาระบุว่า

ศาลไม่ได้สนใจแผนที่ภาพใหญ่ แต่ไม่ได้อธิบายว่า ศาลได้สั่งให้มีการตัดแผนที่ขยายออกมาจาก"แผนที่ใหญ่" กลายเป็นแผนที่ 85ดี ออกมา แปลว่าศาลโลกในปี 2505 ไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาสันปันน้ำและความถูกต้องของเส้นตามสันปันน้ำ 
จึงสรุปไม่ได้ว่าศาลจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับพื้นที่อื่นนอกเหนือจากระวางดงรัก

น.ส.มิรง กล่าวอีกว่า การถ่ายทอดเส้นจากแผนที่ภาคผนวก 1 ลงมายังสภาพแวดล้อมจริงว่ามีปัญหา จากการที่นายอับดุลคาวิ อะห์เม็ด ยูซูฟ ผู้พิพากษา ตั้งคำถามซึ่งแสดงให้เห็นว่าถ้าถ่ายถอดเส้นจากแผนที่นี้ลงมาแล้ว จะอยู่ตรงจุดใด โดยทนายของกัมพูชาตีความว่า"บริเวณใกล้เคียงปราสาท"ให้เป็นไปตามเส้นบนแผนที่ 1:200,000 ซึ่งเป็นแผนที่ที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ามีความแม่นยำน้อยที่สุด กัมพูชาจึงต้องทำแผนที่ขึ้นมาใหม่อีก โดยละเลยเส้นสันปันน้ำ ซึ่งถือว่าละเมิดอนุสัญญา ปีค.ศ.1904

ด้านนายโดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ ทนายความชาวแคนาดา กล่าวว่า ศาลจะต้องมองในกรอบของคำพิพากษาเดิมเท่านั้น ซึ่งศาลโลกในปี 2505 ระบุถึงพื้นที่ในข้อบทปฏิบัติการว่าเป็นพื้นที่แคบๆ แต่กัมพูชากลับนำมาอ้างเรื่องบูรณภาพเหนือดินแดนส่วนอื่นๆ โดยโยงว่าเป็น "บริเวณใกล้เคียงปราสาท" ซึ่งความจริงไม่มีอยู่ในคดีเดิม จึงถือว่าไม่มีความเชื่อมโยงกันอย่างสิ้นเชิงระหว่าง "เขตแดน" กับ "พื้นที่ใกล้เคียงปราสาท"

แต่กัมพูชาอ้างว่าศาลโลกในปี 2505 ได้ตัดสินเป็นคุณกับกัมพูชา กัมพูชาจึงนำไปใช้คาดคะเนส่วนอื่น ซึ่งเรื่องนี้เป็นทฤษฎีแบบไสยศาสตร์ของกัมพูชาที่ควรจะอยู่แต่ในลูกแก้วเท่านั้น 
ทำให้เห็นว่าเมื่อใดที่ข้อเท็จจริงไม่เป็นคุณกับตัวเอง ก็จะไปอ้างกฎหมายทั้งที่กฎหมายนั้นๆไม่ได้เกี่ยวข้อง ส่วนการถอนทหารนั้นไทยก็ทำแล้ว และเป็นหน้าที่ที่กัมพูชาต้องพิสูจน์ตรวจสอบเอง แต่เขาก็ไม่เคยทำ 
ขณะที่นายเจมส์ ครอว์ฟอร์ด ทนายความชาวออสเตรเลีย ให้การว่า ศาลโลกเห็นชัดเจนในเรื่องสันปันน้ำ แต่ศาลไม่จำเป็นต้องใช้สันปันน้ำในการตัดสินว่าอธิปไตยเหนือปราสาทเป็นของประเทศใด เพราะกัมพูชาไม่ได้ถามนอกเหนือจากนี้ และผู้พิพากษาหลายคนยังเห็นด้วยว่าสันปันน้ำที่ฝ่ายไทยได้แสดงนั้นถูกต้อง ทั้งนี้จากเหตุผลข้างต้น ศาลจึงไม่สามารถตัดสินเรื่องเขตแดนได้ มิฉะนั้นศาลโลกก็ต้องกลายมาเป็นคณะกรรมการปักปันเขตแดนด้วยอีก และการตีความตามธรรมนูญข้อ 60 ทำให้ศาลไม่สามารถตีความในเรื่องที่ยังไม่ได้ถาม

ด้านนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวสรุปการให้การว่า ไทยมีความคงเส้นคงวามาตลอด และเรายืนยันมาตลอดเรื่องเส้นสันปันน้ำ ซึ่งกัมพูชาก็ไม่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่แรก และคำขอตีความไม่ใช่วิถีที่ดีที่สุด อีกทั้ง ศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดนในปี 2505 เพราะเป็นเรื่องที่คู่ความต้องตกลงกันเอง อีกทั้ง เรามีหลักฐานที่แสดงมาตลอดถึงเส้นตามมติครม.ของไทยว่าสอดคล้องกับสิ่งที่กัมพูชาอ้างในแผนที่ภาคผนวก 66ซี (แผนที่ของผู้เชี่ยวชาญกัมพูชา)

ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลและคู่ความมีความเข้าใจ นอกจากนี้ กัมพูชามีนิสัยที่ชอบแย่งหลักฐานของเราไปใช้ และยังไม่มีความคงเส้นคงวามาตลอด โดยในการพิจารณความครั้งแรกที่ขอให้ศาลพิจารณาเรื่องของบุรณภาพ แต่ในครั้งที่ 2 กลับขอให้พิจารณาของเรื่องสถานภาพแผนที่ แต่การร้องขอในระยะหลัง กัมพูชานำเสนอเส้นเทียม เปลี่ยนแปลงเส้นในแผนที่จนตัวเองจำไม่ได้ และปฏิเสธเส้นในแผนที่ภาคผนวก 66ซี ที่ตัวเองเคยนำเสนอในอดีต ดังนั้น หลักฐานแสดงให้เห็นแล้วว่าคู่ความไม่เข้าใจในเรื่องคำพิพากษา และยังขอในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล รวมถึงปลอมแปลงแผนที่ ดัดแปลงข้อเท็จจริง และยังบิดเบือนคำพูดเปิดของตน


นายวีรชัย กล่าวอีกว่า ภายใต้ธรรมนูญของศาลโลก ข้อ 60 ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด และศาลไม่มีอำนาจในการรับคดีหรือตีความ

รวมทั้งขอชี้ขาดว่าแผนที่ไม่มีข้อผูกพัน และไม่ใช่สิ่งที่แสดงถึงเขตแดนของไทยและกัมพูชา หรือกำหนดขอบเขตเรื่องของปราสาท นอกจากนี่ กัมพูชายังอ้างว่าไทยขอให้ศาลแก้คำผิดพลาดในอดีตนั้น แต่กัมพูชาคงลืมแล้วว่าเขาเป็นผู้นำเรื่องขึ้นสู่ศาลโลก และกัมพูชาเรียกร้องดินแดนเหนือปราสาทฯในครั้งแรก ก็พยายามใช้แผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งไม่มีอยู่ในการพิจารณาของศาลฯครั้งแรก แต่ก็ยังพยายามนำมาทำให้ศาลเชื่อในครั้งปัจจุบันนี้ และยังเป็นการอ้างอิงตามอำเภอใจ ซึ่งถ้ามีการถ่ายทอดเส้นในแผนที่นี้ลงไปในพื้นที่จริง กัมพูชาก็อาจกำหนดเองตามอำเภอใจซึ่งอาจสร้างความขัดแย้งขึ้นมา ดังนั้น ถ้าศาลให้ตามคำขอของกัมพูชา จะเป็นการบ่อนทำลายให้เสถียรภาพและสันติภาพ ทั้งที่ไทยและกัมพูชามีอดีตและอนาคตร่วมกัน สามารถเป็นพี่น้องร่วมกันได้ในอาเซียน
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น