วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

21 เม.ย.56'อลินา'ทนายพระวิหารถึงไทย เมื่อ 19 เม.ย.56



21เม.ย.'อลินา'ทนายพระวิหารถึงไทย

กต.ชวนร่วมเชียร์คณะต่อสู้คดีพระวิหาร เผย'วีรชัย-ทนายความ'รวมถึง 'อลินา มิรอง' กลับถึงไทยเช้า 21 เม.ย. ตชด.พร้อมรับมือหลังศาลโลกชี้มูลเขาพระวิหาร


          19เม.ย.2556 นายมนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ประเด็นหลักที่กัมพูชาขึ้นให้การทางวาจารอบสุดท้ายในวันที่ 18เม.ย. เป็นข้อมูลที่กัมพูชาหยิบยกมาหักล้างข้อโต้แย้งข้อชี้แจงทางวาจาของไทยในวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีด้วยกันหลักๆ 3ประเด็น คือ1.การย้ำว่าศาลโลกมีอำนาจในการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี2505 2.การที่กัมพูชาไม่เคยยอมรับการล้อมลวดหนามเมื่อปี2505 3.การที่กัมพูชาพยายามยืนยันสถานะและความสำคัญของแผนที่ภาคผนวก1(1:200,000)  อย่างไรก็ตาม หลังจากฝ่ายกัมพูชาให้การเสร็จสิ้นแล้ว ทีมทนายความของไทยังมีความมั่นใจว่าไทยพร้อมด้านข้อมูลและหลักฐานที่จะถูกนำเสนอต่อศาลในวัน 19 เม.ย. ที่เป็นวันสุดท้ายของการที่ไทยจะชี้แจงต่อศาล และเป็นวันสุดท้ายที่ศาลจะรับฟังการชี้แจงของคู่ความเช่นเดียวกัน
          ขณะที่นายไกรรวี ศิริกุล รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลและทีมต่อสู้คดีของไทยได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว ส่วนในการชี้แจงต่อศาลในวันที่ 19 เม.ย.นี้ ขอให้ทุกคนตั้งใจฟังและรับชม  นอกจากนี้ขอฝากว่าอย่าตื่นตระหนกต่อการขึ้นศาลโลกเพราะเป็นกระบวนการปกติ ไม่ใช่เรื่องของศัตรูคู่อริ ถ้าเรามีปัญหาหรือข้อขัดแย้งก็ต้องมีอนุญาโตตุลาการที่เป็นคนกลาง ซึ่งศาลโลกถือเป็นอนุญาโตตุลาการที่จะทำให้เพื่อนบ้านอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ดังนั้นไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ไทยและกัมพูชาที่มีเขตแดนติดกัน 800 กิโลเมตร ก็ต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แยกจากกันไม่ได้ ซึ่งเราต้องปรับทัศนคติของเราในการอยู่ร่วมกันเพื่อพัฒนาไปสู่ประชาคมอาเซียน  จึงขอให้ประชาชนใช้สติและวิจารณญาณในการรับฟังการพิจารณาคดี และเป็นให้กำลังใจต่อคณะฝ่ายไทยที่ทำดีที่สุดแล้ว และนำเสนอครบถ้วนทุกประเด็นตามที่ทุ่มเทกันมานาน 3 ปี ตนจึงมั่นใจว่าทีมไทยมีการเตรียมเอกสารหลักฐานเป็นอย่างดีเพื่อตอบโต้ฝ่ายกัมพูชา โดยเฉพาะเรื่องของแผนที่
          เมื่อถามว่ากรณีที่ผู้พิพากษาชาวโซมาเลีย ขอให้ทั้ง 2 ประเทศส่งเอกสารชี้แจงเรื่องพิกัดในแผนที่ ในวันที่ 26 เม.ย.นี้ จะมีผลทำให้ต้องเลื่อนช่วงเวลาของคำพิพากษาจครั้งนี้ ออกไปหรือไม่ นายไกรรวี กล่าวว่า การขอเอกสารเพิ่มเติมเป็นสิทธิ์ของผู้พิพากษาแต่ละราย  ส่วนจะใช้เวลาพิจารณาอย่างไรนั้น ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน แต่โดยปกติแล้ว ศาลจะใช้เวลาพิจารณา เฉลี่ย 5-6 เดือนก่อนที่จะมีคำพิพากษาในแต่ละคดี
          ต่อข้อถามถึงการที่ทนายความของกัมพูชา ระบุว่าไทยไม่เคยให้ความกระจ่างในเรื่องการถอนทหาร เพราะเป็นการถอนทหารจากตัวปราสาทพระวิหาร ไปยังอีกจุดที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา  นายไกรรวี กล่าวว่า ต้องรอฟังการชี้แจงของนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในคืนวันนี้ เวลา 20.00 น. ซึ่งจะมีข้อมูลเด็ดที่สามารถสร้างความกระจ่างให้กับฝ่ายกัมพูชาได้ ประกอบกับเอกสารที่เราค้นคว้ามานาน 3 ปี มั่นใจว่าศาลจะรับฟังฝ่ายไทยอย่างแน่นอน

"วีรชัย-ทนายความ"กลับถึงไทยเช้า21เม.ย.
          นายไกรรวี  กล่าวด้วยว่า คณะทนายความของไทยทั้งหมด ซึ่งรวมถึงน.ส.อลินา มิรอง ทนายความชาวโรมาเนีย พร้อมกับคณะของรัฐมนตรีของไทย จะเดินทางจากรุงเฮกมาถึงอาคารรับรองพิเศษ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ เวลาประมาณ 06.00 น. เพื่อสรุปภาพรวมการต่อสู้คดีดังกล่าวให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 เม.ย.เวลา 23.00 น. นายกรัฐมนตรีจะโทรศัพท์ทางไกลไปยังคณะทนายความดังกล่าวที่กรุงเฮก เพื่อกล่าวขอบคุณและให้กำลังใจกับคณะทำงานทั้งหมด
          แหล่งข่าวกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่านายวีรชัยจะนำทีมทนายต่างชาติของไทย เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 22 เม.ย.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล
ตชด.ชายแดนเขมรพร้อมรับมือหลังศาลโลกชี้มูลเขาพระวิหาร
          เมื่อเวลา 13.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พล.ต.ท.สุรพงษ์ เขมะสิงคิ ผบช.ตชด. เปิดเผยถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาว่า สถานการณ์ขณะนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะปกติดี แต่จะมีพื้นที่เพ่งเล็งอยู่คือ บริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งตนได้จัดกำลัง ตชด.เข้าไปดูแลบริเวณพื้นที่เขตปลอดทหาร พร้อมทั้งประสานกับทางกองทัพภาคที่ 2 โดยหน่วย ตชด.มีการเตรียมพร้อมทั้งบุคคลและที่ตั้ง แต่ตนได้เน้นย้ำว่า ให้เจ้าหน้าที่มีท่าทีที่เป็นมิตรต่อกัน และจะไม่แสดงท่าทีที่คุกคามต่อกัน โดยเฉพาะชาวกัมพูชาที่อยู่ในเขตปลอดทหาร ซึ่งมีความใกล้ชิดกันและมีความเข้าใจกันเป็นอย่างดี โดยทั้งสองฝ่ายก็ปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน ถือว่าเหตุการณ์ตอนนี้ยังอยู่ในภาวะปกติ โดยทั้งสองฝ่ายกำลังอยู่ระหว่างเฝ้าฟังคำตัดสินของศาลโลก

          พล.ต.ท.สุรพงษ์ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มพี่น้องประชาชนที่ต้องการจะบุกเข้าไปในพื้นที่ทับซ้อนนั้น เราพยายามทำความเข้าในว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีในศาล เราต้องต่อสู้ตามกระบวนการบุติธรรม หากทำอะไรที่รุนแรงไปอาจจะเป็นการแสดงท่าทีที่คุกคามต่ออำนาจศาล และประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งกลุ่มประชาชนก็เข้าใจ และยืนยันว่าจะไม่เข้าไปปักธงในพื้นที่ทับซ้อนแล้ว และไม่แสดงท่าทีคุกคาม โดยเหตุการณ์ตอนนี้กลับสู่ภาวะปกติดี ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

          พล.ต.ท.สุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนด้านการข่าวทางเราได้ตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ซึ่งยังคงอยู่ในภาวะปกติ ส่วนชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงอาจจะมีความหวาดระแวงอยู่บ้าง แต่เราก็พยามทำความเข้าใจ ซึ่งจากการพูดคุยกับชาวบ้านต่างเกรงว่า หลังศาลมีคำตัดสินไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง อาจจะกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้ แต่ทาง ตชด.ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้ เพื่อดูแลให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อมั่น พร้อมทั้งจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุ ซึ่งกลุ่มชาวบ้านก็เข้าใจและเกิดความอบอุ่น พร้อมทั้งขอฝากบอกชาวบ้านว่าไม่ต้องเป็นห่วงอะไรในช่วงนี้

          เมื่อถามว่าหากเกิดเหตุปะทะกันอย่างกรณีปี 2554 พล.ต.ท.สุรพงษ์ กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะเตรียมความพร้อมและประสานกับทหารเป็นอย่างดี ซึ่งทาง ตชด.จะเฝ้าระวังขั้นต้น แต่หากมีสถานการณ์ที่เกินขีดความสามารถ เราจะประสานทหารให้เข้ามาดูแลพื้นที่ ซึ่ง ผบ.ตร.ได้กำชับให้รักษาความสงบ โดยเฉพาะเรื่องพี่น้องประชาชนที่มาชุมนุมกัน หรือเดินทางไปกดดันคำพิพากษาของศาล เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการเฝ้าระวังตามแนวชายแดน โดยท่านก็กำชับให้เจ้าหน้าที่คอยเตรียมพร้อมตลอดเวลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น