วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

คนจนอด!นั่งรถไฟเร็วสูงจ่าย2พัน จาก ไทยโฟสต์ เมื่อ 4 เม.ย.56


คนจนอด!นั่งรถไฟเร็วสูงจ่าย2พัน



“สนข.” แพลมค่าโดยสารไฮสปีดเทรน  “กรุงเทพฯ-เชียงใหม่” มีให้เลือก 3 ระดับ อยู่ที่ 1,700-2,100 บาท โอ่ต่ำกว่าเครื่องบินต้นทุนต่ำ แต่แท้จริงบางสายการบินถูกกว่าด้วยซ้ำ “ยิ่งลักษณ์” สั่งด่วนให้พีอาร์กล่อมชาวบ้านเห็นดีเห็นงาม “ส.ส.ร.50” สุดทน ยื่นเรื่อง ป.ป.ช.ฟันแล้ว ซัดเป็นผู้มีจิตคิดชั่วหมายฉ้อฉลปล้นเงินแผ่นดิน
เมื่อวันพุธ นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ วิศวกรชำนาญ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้สัมภาษณ์ถึงขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นรถไฟความเร็วสูงว่า สนข.อยู่ระหว่างขั้นตอนศึกษาความเหมาะสมและการออกแบบเบื้องต้นระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก งบก่อสร้าง 204,000 ล้านบาท และเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ งบก่อสร้าง 387,000 ล้านบาท โดยพร้อมเปิดให้บริการปี 2561 ส่วนอัตราค่าโดยสารเบื้องต้นเฉลี่ย 2.50-3.00 บ./กม. กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ค่าเดินทางจะอยู่ที่ 1,700-2,100 บ./เที่ยว ซึ่งสูงกว่ารถโดยสารประจำทาง แต่มีราคาต่ำกว่าเครื่องบินต้นทุนต่ำ
         “ค่าโดยสารเบื้องต้นที่ศึกษาแบ่งเป็น 3 ราคาให้ผู้ใช้บริการเลือกใช้ โดยราคาที่แท้จริงต้องรอให้ได้ตัวรถก่อนเพื่อนำมาคำนวณอีกครั้ง ซึ่งราคาตั๋วแต่ละเส้นทางจะไม่เท่ากัน ส่วนรายละเอียดของรถไฟความเร็วสูง มีความเร็วสูงสุดประมาณ 300 กม./ชม. โดยรถด่วนพิเศษให้บริการจอดตามสถานีใหญ่ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2.50 ชั่วโมง ในส่วนรถด่วนจอดทุกสถานี ใช้เวลาประมาณ 3.20 ชั่วโมง” นายพิเชฐกล่าว
    ทั้งนี้ ผลการศึกษาเบื้องต้นของ สนข.และผลศึกษาของญี่ปุ่นและจีนพบว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเฉลี่ยประมาณ 15-17%  ส่วนค่าก่อสร้างนั้นเดิม สนข.กำหนดไว้ที่ 300 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ซึ่งต่ำมาก เพราะเป็นการก่อสร้างระดับดิน ส่วนกระทรวงคมนาคมคำนวณค่าก่อสร้างเฉลี่ยที่กิโลเมตรละ 516 ล้านบาท โดยเป็นทางยกระดับและอุโมงค์ ส่วนทั่วโลกมีค่าก่อสร้างตั้งแต่กิโลเมตรละ 360-2,000 ล้านบาท
    สำหรับการเดินทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่นั้น ปัจจุบันมีสายการบินกว่า 10 เที่ยวต่อวัน โดยสายการบินไทยนั้นราคาอยู่ราว 2,675 บาท, บางกอกแอร์เวย์ส ค่าโดยสารต่อเที่ยว 2,625-2,725 บาท (ช่วงไม่มีโปรโมชั่น)  , วันทูโก ค่าโดยสาร 1,600 บาท และ 2,000 บาทในช่วงเทศกาล, ไทยแอร์เอเชีย ราคาส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่ 1,015.43-2,200 บาท แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในราคา 1551.43 บาท และนกแอร์อยู่ที่ 1,450-2,350 บาท หากเป็นนกพลัสเพิ่มอีก 535 บาท 
         รายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงว่าประชาชนจะไม่เข้าใจเจตนารมณ์รัฐบาลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ..... วงเงิน 2 ล้านล้าน ซึ่งนายกฯ เห็นว่ารัฐบาลควรมีช่องและวิธีการชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ โดยเฉพาะประเด็นที่ฝ่ายค้านโจมตีเรื่องหนี้สาธารณะ และประชาชนจะเป็นหนี้ไปถึง 50 ปี พร้อมกันนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า การกู้เงินไม่ได้นำมาสร้างเฉพาะรถไฟความเร็วสูง แต่เป็นการสร้างและซ่อมแซมระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางบก อากาศ และน้ำ 
“นายกฯ ได้สั่งให้นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จัดทำข้อมูลเผยแพร่ประชาชนผ่านรูปแบบแผ่นพับ โดยให้ ส.ส. หน่วยงานในกระทรวงมหาดไทย ทั้งในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วประเทศ” รายงานระบุ
    วันเดียวกัน นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 50 (ส.ส.ร.50) พร้อมคณะ ประกอบด้วย นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์, รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, นายกฤษฎา ให้วัฒนานุกูล, นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร, นายคมสัน โพธิ์คง, ศ.ดร.เจริญศักดิ์ โรจน์ฤทธิ์พิเชษฐ์, นพ.ชูชัย ศุภวงศ์, นางพรรณราย แสงวิเชียร, นายสมเกียรติ รอดเจริญ, นายสมยศ สมวิวัฒน์ชัย และนายสุนทร จันทร์รังสี ได้ไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในกรณี ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท รวมทั้งมีการเผยแพร่เนื้อหาจดหมายเปิดผนึกต่อสื่อมวลชนด้วย
นายมานิจกล่าวถึงสาเหตุที่ไปยื่นเรื่องว่า เป็นการกระทำการอันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ด้วยเหตุที่กระทำการที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ
ในขณะที่นายคมสันกล่าวว่า การออก พ.รบ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นความผิดร้ายแรง หากปล่อยไปในอนาคตจะมีการออกกฎหมายลักษณะนี้อีก ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่มีกระบวนการสภาคอยตรวจสอบ ต่างจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเรื่องดังกล่าวถือว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนเหมือนกับการออก พ.ร.ก.ต่างๆ อีกด้วย จึงต้องยื่นให้ ป.ป.ช.พิจารณาเพื่อป้องกันความเสียหาย
“การกระทำของคณะรัฐมนตรีที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 ที่เป็นบทบัญญัติคุ้มครองป้องกันเงินแผ่นดินมิให้ถูกฉ้อฉลฉ้อโกงโดยผู้มีอำนาจต่างๆ จึงเป็นความผิดร้ายแรง และเป็นเรื่องร้ายแรงของประเทศชาติและประชาชน และต้องถือว่าผู้ใดก็ตามที่จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าว เป็นผู้มีจิตคิดชั่วหมายฉ้อฉลปล้นเงินแผ่นดินโดยผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง” ส่วนหนึ่งของจดหมายเปิดผนึกที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.ระบุ (รายละเอียดหน้า 4).

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น