วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2556

"เสี่ยปึ้ง"ปลื้มทีมทนายโต้เขมรแน่นปึ้ก - ไทยเผยหลักฐานมัดแน่นเขมรยอมรับรั้วลวดหนามพระวิหาร เมื่อ 18 เม.ย.56



"เสี่ยปึ้ง"ปลื้มทีมทนายโต้เขมรแน่นปึ้ก - ไทยเผยหลักฐานมัดแน่นเขมรยอมรับรั้วลวดหนามพระวิหาร
 
"เสี่ยปึ้ง"ปลื้มทีมทนายโต้เขมรแน่นปึ้ก - ไทยเผยหลักฐานมัดแน่นเขมรยอมรับรั้วลวดหนามพระวิหาร
 เวลา 15.00 น. วันที่ 17 เม.ย. ที่ศูนย์ข่าวกระทรวงการต่างประเทศ ผู้สื่อข่าว ′ข่าวสด′ รายงานว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก (ไอซีเจ) เริ่มเปิดศาลรับฟัง "การให้การด้วยวาจาเพิ่มเติม" (Oral Hearing) รอบที่ 1 จากทั้งหมด 2 รอบ ประจำวันที่ 17 เม.ย. กรณีกัมพูชาร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 โดยได้ยิงสัญญาณถ่ายทอดสดมายังศูนย์ข่าวกระทรวงการต่างประเทศ 

 ซึ่งในวันนี้ นี้จะเป็นฝ่ายไทยขึ้นให้การตอบโต้กัมพูชา ต่อองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกทั้ง 15 คน โดยมีนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะตัวแทนไทยสู้คดี ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงเป็นลำดับแรก ตามด้วย ศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ ทนายชาวแคนาดา น.ส.อลินา มิรอง ผู้เชี่ยวชาญศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศจากมหาวิทายาลัยปารีส ศาสตราจารย์ อแลน แปลเล่ต์ ทนายความชาวฝรั่งเศส และสุดท้ายคือ ศาสตราจารย์ เจมส์​ ครอว์ฟอร์ด ทนายความชาวออสเตรเลีย 

 รวมทั้งมีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสีหศักดิ์ พวกเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายวรเดช วีระเวคิน อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งอยู่ในโถงพิจารณาคดีด้วย

 นายวีรชัย ขึ้นกล่าวว่า เข้าใจในความปรารถนาของกัมพูชา และไทยเชื่ออย่างแรงกล้าในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและรุ่งเรือง แต่ศาลโลกกำลังได้รับการร้องขอให้ตีความที่มีความไม่ชอบมาพากลแฝงมา เนื่องจากคำพิพากษาในปี 2505 เห็นชัดเจน ว่าคู่ความมีความเห็นเดียวกัน ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้วและกัมพูชายอมรับแล้ว แต่ต่อมากัมพูชาอ้างโดยไม่ดูบริบท ถือเป็นการปรักปรำไทย เพราะศาลเคยตัดสินแล้วว่าไม่ตัดสินเรื่องแผนที่ภาคผนวก 1 แต่กัมพูชาพยายามอุทธรณ์เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

 นายวีรชัย กล่าวว่า ไทยแน่ใจว่า ศาลจะพยายามรักษาไว้ซึ่งดุลยภาพในการพิพากษา กัมพูชาพยายามขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ไทยพยายามให้มีการขึ้นทะเบียนร่วม โดยหลังการตัดสินในปี 2505 ไทยได้ถอนกำลังทหารออกแล้ว เห็นได้ชัดจากรั้วลวดหนามตามมติครม. 2505 ของไทย กัมพูชาแสดงออกอย่างพึงพอใจ ทั้งโดยตัวแทนกัมพูชาและประมุขของประเทศในวาระต่างๆ และก่อนหน้าปี 2543 ไม่เคยประท้วงเรื่องการใช้เส้นตามมติครม.ของไทยเลย แต่วันนี้กลับไม่ยอมรับ ตลอดจนไม่เคยโต้แย้งเรื่องการถอนกำลังของไทยด้วย

 "กัมพูชาละเมิดเอ็มโอยู 2543 โดยการรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย ทำให้เกิดการประท้วงของไทยตามมา ไทยพยายามยับยั้งและใช้กลไกคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา ในการพูดคุยเจรจา รวมทั้งนำเสนอแผนผังบริหารจัดการปราสาทพระวิหารในปี 2550 ที่รุกล้ำเข้ามาในไทย 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ต่อมาไทยมีการประท้วงมากขึ้น ตรงข้ามกับที่กัมพูชากล่าว เพราะการประท้วงไม่ได้หมายถึงไทยเปลี่ยนท่าทีใดๆ เป็นที่เข้าใจชัดเจนตั้งแต่ปี 2550 ยืนยันว่าไทยถูกยั่วยุทั้งหมดโดยกัมพูชา โดยไทยใช้สิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อป้องกันตัวเอง เรื่องนี้ไม่ใช่ข้อพิพาทเรื่องการความหมายในคำพิพากษา แต่เป็นเรื่องของเขตแดนที่ศาลในปี 2505 ไม่ได้ตัดสิน ข้ออ้างในปัจจุบันของกัมพูชาไม่มีข้อเท็จจริง แม้ว่าในปี 2505 กัมพูชาเคยขอให้ศาลตัดสินเรื่องสถานะแผนที่ภาคผนวก 1 แต่ศาลโลกได้ปฏิเสธไปแล้ว แสดงให้เห็นถึงความน่าอึดอัด รวมทั้งกัมพูชาไม่มีหลักฐานใหม่เลย มีเพียงการปลอมแปลงจดหมายและบันทึกถาวรต่างๆ ที่ปรับเปลี่ยนเองตามอำเภอใจ เป็นการปรักปรำอย่างชัดแจ้งที่สุด" นายวีรชัย ระบุ

 ทูตวีรชัย กล่าวต่อว่า คำอ้างของปัจจุบันของกัมพูชาแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับในอดีต เพราะถ่ายทอดเส้นเขตแดนตามอำเภอใจ กลายเป็นพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนขนาด 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งไม่เกี่ยวกับคดีในตอนต้น เป็นความพยายามของกัมพูชาที่จะอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนนี้ ไม่มีทฤษฎีอะไรรองรับ ไม่มีมูลฐานทั้งสิ้น และไม่สนใจในคำพิพากษาในปี 2505 ไม่ฟังคำชี้แจงของไทย ทำเหมือนให้ตัวเองอยู่ในโลกคู่ขนาน โดยกัมพูชายังคงโต้แย้งอย่างต่อเนื่องในกรณีพิพาท และโยนให้ปัญหาการเมืองไทย แต่ความจริงมาจากนโยบายการต่างประเทศที่ก้าวร้าวของกัมพูชา 
 นอกจากนี้ เอ็มโอยู 43 นั้นมีเรื่องของพื้นที่ปราสาทพระวิหารด้วย ก็ต้องหาข้อยุติ และไม่เกี่ยวข้องกับคำพิพากษาในปี 2505 ตรงข้ามกับที่กัมพูชากล่าวอ้างว่า เอ็มโอยู 43 ต้องใช้คำพิพากษาดังกล่าวโดยปริยาย น่าประหลาดใจที่กัมพูชากล่าวหาไทยว่า พยายามยืดยาว แต่เป็นกัมพูชาเองที่เสนอหลักฐานน้อย โดยกัมพูชาดูเหมือนจะมีแนวคิดเรื่องความเคารพต่อศาลที่ต่างจากไทย โดยกัมพูชาพยายามเน้นเรื่องกระบวนวิธีนำเสนอต่อศาล ซึ่งกัมพูชามีหลักฐานเดียว คือ แผนผังบริหารปราสาทพระวิหาร ที่ถือเป็นการปลอมแปลงหลักฐาน ถือว่ามิชอบและไม่ถูกต้อง กัมพูชายื่นเอกสารไม่ถูกต้อง และกัมพูชาให้คำอธิบายได้ไม่ชัดเจน

 โดยเดือนธ.ค. 2554 ไทยก็มีหลักฐานพิสูจน์อธิปไตยของไทยเหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคำพิพากษาปี 2505 เลย มิหนำซ้ำยังแปลมติครม.ไทยในปี 2505 ของไทยผิดพลาด โดยไม่นำวรรคอื่นมาประกอบแต่คัดลอกมาเพียงวรรคสุดท้าย จึงทำให้เหมือนว่าไทยทำไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับคำพิพากษาปี 2505 สิ่งที่กัมพูชาทำ ถือเป็นการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถืออย่างสิ้นเชิง

 ส่วนในแง่ของมาตรการชั่วคราว ที่ศาลสั่งเพื่อมีเจตนาไม่ให้มีการสูญเสียชีวิต ซึ่งไทยและกัมพูชายอมรับปฏิบัติตามแล้ว ตอนนี้ไม่เหตุปะทะกันแล้ว สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของศาลโลกแล้ว

 ศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ ทนายความคนแรกของไทย ระบุถึงความไม่ชัดเจนของคำร้องฝ่ายกัมพูชาและเป้าประสงค์อำพรางของกัมพูชาจากการขอตีความ ว่า ทางกัมพูชาได้ขอตีความคำพิพากษาปี 2505 แต่สิ่งสำคัญคือ กัมพูชาต้องการให้ตีความอะไรกันแน่ คำขอที่แท้จริงของกัมพูชาเป็นความพยายามเพื่อเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา ผลที่ตามมากัมพูชาจึงต้องสร้างเรื่องขึ้นมา หากพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่าไม่เหตุอะไรต้องตีความเลย โดยกัมพูชาได้ขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดพันธกรณีของไทยการถอนทหารออกจากตัวปราสาทและพื้นที่โดยรอบของปราสาทพระวิหาร และกัมพูชาพยายามให้ประกาศพันธกรณีนี้สอดคล้องกับพื้นที่ที่ระบุไว้ในแผนที่ ภาคผนวก 1 คือ เป็นการขอให้พูดซ้ำ ไม่ใช่ขอตีความ ถือว่าเสียเวลา ไม่มีประโยชน์

 ศ.แม็คเรย์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าประหลาด คือ ที่ต้องการให้ถอนทหารออกไปตามแผนที่ภาคผนวก 1 ทำไมกัมพูชาไม่ถามคำถามนี้โดยตรง ว่า แผนที่ภาคผนวก 1 เป็นสิ่งชี้ขาดเส้นเขตแดนหรือไม่ ซึ่งศาลได้ปฏิเสธไปแล้วในปี 2505 ที่จะตัดสินสถานะของแผนที่ดังกล่าว จึงถือว่ากัมพูชาอำพรางเจตนา แต่ข้อที่ 58 ของศาล ระบุไว้ว่า จะต้องเจาะจงในการขอตีความ แต่คำขอของกัมพูชาไม่มีความชัดเจน เพียงระบุว่า เป็นเรื่อง "ขอบเขตและความหมาย" ของคำตัดสินปี 2505 ที่อ้างว่าเป็นข้อพิพาท เพราะคำขอที่ชัดเจนจริงๆของกัมพูชา คือ ศาลได้ปฏิเสธที่จะตัดสินไปแล้วในปี 2505
 "คำขอของกัมพูชาในวรรค 2 ของข้อบทปฏิบัติการ ที่กัมพูชาร้องขอ ถือเป็นการขอให้พูดซ้ำคำตัดสินในปี 2505 ไม่ใช่การตีความ ถือว่าไม่มีความหมาย และเสียเวลาที่สุด รวมทั้งอธิปไตยเหนือปราสาทก็ไม่ได้พิพาทกัน ดังนั้นถือว่ากัมพูชาไม่มีความชัดเจน ไทยต้องขอถามว่า สิ่งที่กัมพูชาต้องการให้ศาลชี้ขาดคืออะไรกันแน่ เพราะถ้าเป็นเรื่องของสถานะแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาพยายามอำพรางไว้ ศาลโลกได้เคยปฏิเสธไปแล้วตั้งแต่ปี 2505"ศ.แม็คเรย์กล่าวย้ำ

 น.ส.อลินา มิรอง ผู้เชี่ยวชาญศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ หนึ่งในคณะที่ปรึกษากฎหมายของไทย กล่าวคัดค้านเส้นในแผนที่ภาคผนวก 1 ของกัมพูชา ว่า พื้นที่ใดกันแน่ที่คิดว่ามีข้อพิพาท กัมพูชาอ้างว่าถึงพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร แต่ไม่มีแผนที่อะไรมาพิสูจน์ แม้ว่าศาลมีอำนาจในการรับรองแผนที่ แต่ศาลไม่เคยกล่าวถึง และไม่มีบันทึกไว้เลย กัมพูชาจะพูดได้อย่างไรว่า ศาลยอมรับเส้นในแผนที่ภาคผนวก 1 กัมพูชานั้นไม่มีความแม่นยำในแผนที่ แต่ไม่นึกว่า จะถึงขั้นนำแผนที่มาเปลี่ยน ต้องขอชื่นชมว่ามีความกล้ามาก โดยในคำพิพากษาปี 2505 ไม่มีการกล่าวถึงพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร

 น.ส.มิรอง ระบุว่า กัมพูชายังไม่ได้แสดงหลักฐานอะไรเลยว่ามีพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ปี 2505 มีเพียงเอกสารที่นายร็อดแมน บุนดี ทนายของกัมพูชา นำมาแสดงเป็นครั้งแรกเมื่อ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยแผนที่ดังกล่าวก็ไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะจะต้องวาดเส้นจากแผนที่ภาคผนวกที่ 1 และต้องมีวิธีการถ่ายทอดที่เหมาะสมลงมา ซึ่งกัมพูชาก็ไม่ได้มีข้อเสนอใดๆ เพียงแต่บอกว่า เส้นสันปันน้ำแบ่งเขตเหนือและใต้ แต่ทางตะวันออกและตะวันตก ถามว่ากัมพูชาจะแบ่งเขตอย่างไร ส่วนที่กัมพูชาอ้างว่าตัดกันจนเกิดเป็นพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้น เส้นดังกล่าวที่ตัดกันจุดแรกห่างจากตัวปราสาทถึง 60 กิโลเมตร กัมพูชาจะมากล่าวอ้างว่า ส่วนที่ตัดกันนั้นกำหนดขอบเขต 4.6 ตารางกิโลเมตรได้อย่างไร เพราะกัมพูชาไม่ได้มีความสนใจต่อความถูกต้องต่อภูมิประเทศและเขาพนมตรับเลย ถือว่ากล่าวอ้างโดยไม่มีหลักฐาน ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร กับพื้นที่ปราสาท หากชั่งน้ำหนักเหตุผลในแผนที่ภาคผนวก 1 พูดถึงอธิปไตยเหนือปราสาท ขณะที่ความเห็นของศาลต่อเรื่องเขตแดน เป็นแผนที่ภาคผนวก 85ดี ซึ่งเป็นคนละแผนที่ แต่กัมพูชากลับให้น้ำหนักกับแผนที่ภาคผนวก 1 มากเหลือเกิน ทั้งๆที่มีแผนที่มากมายที่ได้นำเสนอต่อศาลในปี 2505 รวมทั้งแผนที่ภาคผนวก 1 ก็มีหลายแผ่น ไม่ใช่แผนที่แผ่นเดียว

 น.ส.มิรอง ระบุอีกว่า แม้จะมีความชัดเจนเรื่องอธิปไตยเหนือปราสาท แต่แผนที่ภาคผนวก 1 ไม่สามารถพิสูจน์การมีสิทธิเหนือพื้นที่อื่นๆอีก จึงสรุปได้ว่า แผนที่ภาคผนวก 1 ใช้เป็นเพียงตราสารที่แสดงให้เห็นถึงตำแหน่งของปราสาท แต่ไม่มีความชัดเจนในการกำหนดเขตแดน และอยู่คนละส่วนกับสนธิสัญญาในปี 1904 ซึ่งทางคณะของฝ่ายไทยสามารถหาแผนที่ภาคผนวก 1 มาได้ ถึง 6 ฉบับ แม้นายบุนดี จะบอกว่าไม่สำคัญ แต่ตนขอบอกว่า ด่วนสรุปเกินไป เพราะทุกแผนที่ที่ตนนำเสนอศาลโลกตีพิมพ์เผยแพร่ ถามว่าจะมีความสำคัญน้อยกว่าได้อย่างไร แต่ที่ต้องถามกลับ คือ เวอร์ชั่นที่กัมพูชาชอบมากที่สุด ทำไมไทยไม่เคยได้รับ และศาลโลกก็ไม่มี นอกจากนี้ ยังถ่ายทอดเส้นเหล่านี้ลงมาได้ยังพื้นที่จริงได้ยากมาก ซึ่งทางหน่วยวิจัยเขตแดนระหว่างประเทศ (ไอบีอาร์ยู) เห็นว่า ต้องดูเจตนาของผู้วาดแผนที่ คือ เส้นสันปันน้ำ แต่ในคำพิพากษา ระบุว่า เส้นสันปันน้ำต้องเห็นได้ชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถเห็นได้ จึงต้องใช้การคำนวณทางคณิตศาสตร์ และกัมพูชามีความพยายามเพียงครั้งเดียวในการถ่ายทอดเส้นจากแผนที่ภาคผนวก 1 ในปี 1961 ซึ่งน่าประหลาดใจที่ไม่เหมือนกับแผนที่ในปัจจุบันของกัมพูชา แต่กลับขอให้ศาลโลกตีความทั้งๆที่ยังไม่แน่ชัดว่าเส้นอะไรอยู่ตรงไหนกันแน่

 ศาสตราจารย์ อแลน แปลเล่ต์ ทนายความของไทย กล่าวว่า ในแง่ของการตีความนั้นศาลไม่สามารถตีความไปมากกว่าคำพิพากษา (non ultra petita) แต่การจะตีความต้องพิจารณาก่อนว่ามีข้อพิพาทในคำพิพากษาดังกล่าวจริงหรือไม่ ซึ่งตนไม่เห็นว่ามีวรรคใดในคำพิพากษาที่มีข้อพิพาท แม้ไทยจะยอมรับคำพิพากษาปี 2505 อย่างชอกช้ำ แต่ก็ปฏิบัติตามแล้ว และมติครม.ของไทย เมื่อปี 2505 ก็เพื่อถอนทหารและมอบพื้นที่รอบพร้อมปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา โดยรัฐบาลไทยก็มีความกังวลถึงความไม่ชัดเจนจึงได้ทำป้ายและรั้วลวดหนาม ไม่เกี่ยวกับเรื่องเขตแดน เป็นเพียงการกำหนด "พื้นที่รอบๆ" ปราสาทพระวิหาร แต่กัมพูชาตอนนี้กลับอ้างว่า ไทยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ทั้งๆที่ผ่านมากัมพูชาไม่เคยทักท้วงใดๆเลย รวมทั้งกัมพูชายังเคยประกาศในเวทีสหประชาชาติว่าไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว ตลอดจนพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ประมุขของกัมพูชาก็ทรงยินดีเกี่ยวกับสิ่งที่ไทยดำเนินการ 

 "เมื่อครั้งเสด็จขึ้นไปยังบนปราสาทพระวิหาร และไม่ทรงติดใจที่ไทยได้ขึงลวดหนามล้ำเข้าไป 2-3 เมตร โดยทรงเห็นว่า "ไม่มีความสำคัญ" เช่นเดียวกับการเสด็จเยี่ยมของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ของไทยในอดีต ที่ศาลโลก เคยใช้เป็นหลักฐานผูกมัดการยอมรับของไทย เมื่อครั้งพิพากษาปี 2505 ศาลโลกจะมาทำสองมาตรฐานไม่ได้ มันเห็นชัดจนแทบไม่ต้องพูดอะไรอีกแล้ว ดังนั้นผมถามว่าเป็นพื้นที่ตรงไหนแน่ที่กัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความ ถ้าเป็น 2-3 ตารางเมตรตรงนี้ ที่กัมพูชาร้องขอให้ตีความ ก็ถือเป็นการดูหมิ่นเกียรติของศาลโลกเกินไปหรือไม่" ศ.แปลเล่ต์ กล่าว

 ศ.แปลเล่ต์ กล่าวว่า ไทยไม่เคยไม่ยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร แต่คำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 เห็นได้ชัดว่า ศาลจงใจไม่พูดถึงเรื่องเส้นเขตแดน โดยต่อมาในปี 2543 ไทยและกัมพูชาได้ลงนามในเอ็มโอยูเพื่อเป็นกรอบการจัดทำหลักเขตแดน ไม่มีส่วนใดที่ระบุถึงคำพิพากษาปี 2505 ตามที่กัมพูชาอ้าง การนิ่งเฉยของทั้งสองฝ่าย คือ ไทยและกัมพูชา สะท้อนให้เห็นว่ามาจากการเห็นตรงกันแล้วถึงคำพิพากษาปี 2505 ตลอดจนการดำเนินการใดๆ ของไทย อาทิ การติดตั้งประตูทางเข้าออกสู่ปราสาท ห่างไปจากตอนเหนือของปราสาทราว 100 เมตร กัมพูชาก็ไม่เคยทักท้วงหรือต่อต้าน ดังนั้นถือว่ากัมพูชายอมรับแล้ว

 แต่ตั้งแต่ปี 2544 กัมพูชากลับเปลี่ยนจุดยืน และการที่กัมพูชาอ้างว่า ไทยไม่เคยประท้วงใดๆต่อการเข้ามาอยู่อาศัยของชาวกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่จริง ไทยได้เคยประท้วงไปหลายครั้งแล้ว แต่กัมพูชาไม่เคยสนใจ มิหนำซ้ำยังกล่าวหาว่า ไทยยังไม่ได้ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ในแผนที่ภาคผนวก 1 ของกัมพูชา แล้วสรุปเอาว่า ไทยไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก ถือว่าขัดแย้งกันกับการยอมรับที่ประมุขของประเทศเคยยอมรับในอดีต

 ศาสตราจารย์ เจมส์​ ครอว์ฟอร์ด ทนายความของไทย กล่าวยกตัวอย่างคดีความในอดีตที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นว่า การตีความหากสามารถทำได้จะมีขอบเขตอยู่เพียง "ข้อบทปฏิบัติการ" ซึ่งเป็นส่วนที่มีข้อผูกมัดต่อคู่ความ แต่ทนายของกัมพูชาอธิบายว่า ศาลโลกพิจารณาตัดสินได้อย่างไรเมื่อปี 2505 กัมพูชากำลังขอให้เส้นในแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นส่วนหนึ่งของข้อบทปฏิบัติการ แต่ในอดีตศาลโลกได้แยกแผนที่นี้ออกไป และการกระทำของกัมพูชากำลังต้องการจะนำแผนที่ภาคผนวก 1 ของกัมพูชา มาแทนที่สนธิสัญญาในปี 1904 มิหนำซ้ำทนายของฝ่ายกัมพูชา ยังพยายามตีความพื้นที่จำกัดให้รวมพื้นที่อื่นมากขึ้น ตนยืนยันว่า แผนที่ของกัมพูชาไม่สามารถกำหนดเขตแดนได้ แต่ทำได้เพียงกำหนดว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตามสันปันน้ำหรือไม่ เพราะในปี 2505 ศาลโลกเพียงใช้แผนที่นี้เพื่อพิจารณาอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเท่านั้น ตลอดจน "เหตุและผล" ไม่มีผลผูกพันคู่ความเหมือนกับข้อบทปฏิบัติการ 

 "ความล้มเหลวของกัมพูชาที่จะเข้าใจคำตัดสิน คือ ไม่ได้สนใจวิธีการได้คำตัดสินดังกล่าวมาในปี 2505 เพราะศาลพิจารณาเอกสารหลายชิ้นในการตัดสินอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาท ไม่ใช่แผนที่เพียงฉบับเดียว" ศ.ครอว์ฟอร์ด กล่าว

 ศ.ครอว์ฟอร์ด ระบุถึงหัวใจสำคัญของการพิพากษาเมื่อปี 2505 ว่าคือ การที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปยังปราสาทพระวิหาร ไม่ได้มีการเสด็จไปอย่างลับ แต่มีการรินแชมเปญ แต่มีข้าหลวงฝรั่งเศส ที่แต่งตัวเต็มยศ แสดงให้เห็นถึงอำนาจเหนือดินแดนดังกล่าว แต่กรมพระยาดำรงฯ กลับตรัสว่า เป็นการต้อนรับอย่างอบอุ่น แม้จะระบุให้ฝรั่งเศสถอดเครื่องแบบออก แต่ศาลโลกไม่ได้มองว่าเป็นการประท้วง และถือเป็นการยอมรับโดยปริยายว่า สยามยอมรับอธิปไตยเหนือดินแดนของกัมพูชาซึ่งอยู่ในความคุ้มครองของฝรั่งเศสในขณะนั้น และแผนที่ภาคผนวก 1 ในการตัดสินครั้งนั้นก็มีการถกเถียงมากมาย

เนื่องจากมีส่วนได้เสียมาก และไม่ว่าใช้แผนที่นี้เวอร์ชั่นใด ก็จะพบว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนของกัมพูชา แต่ไทยไม่เคยระบุว่า ยอมรับเรื่องเส้นเขตแดนใดๆ นอกจากอธิปไตยเหนือปราสาทของกัมพูชา โดยกัมพูชาพยายามหักเหออกจากสนธิสัญญาปี 1904 และให้ใช้แผนที่ภาคผนวก 1 เป็นหลักอย่างเดียว ตลอดจนการเงียบเฉยของไทยตลอดเวลาที่ผ่านมาในคำพิพากษา 2505 ย่อมหมายถึง สิทธิที่ไทยจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทเท่านั้น ไม่ใช่เขตแดน

นอกจากนี้ นายบันดี ยังพยายามหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดเส้นในแผนที่ออกมาอย่างถูกต้อง เพราะหากถ่ายทอดออกมาอย่างถูกต้องแล้ว อาจส่งผลให้ไทยมีอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่บางส่วนของกัมพูชาในปัจจุบันด้วย รวมทั้งเส้นจากแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่ใช่เส้นที่จะนำมาปฏิบัติได้จริง

 ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ภายหลังเสร็จสิ้นการให้การด้วยวาจารอบแรก ว่า ฝ่ายไทยให้ข้อเท็จจริงหักล้างคำโต้แย้งของกัมพูชาเมื่อ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งได้เตรียมแนวทางการต่อสู้ 2 แนวทาง คือ ขอให้ศาลไม่รับคดีไว้พิจารณา แต่หากศาลรับคดีไว้พิจารณาจะขอให้ศาลตัดสินว่าไม่มีเหตุผลที่ศาลต้องตีความใดๆ เพราะคำพิพากษาในอดีตมีความชัดเจน

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ประเด็นที่ทีมทนายไทยหยิบยกชี้แจงต่อสู้ สรุปได้ 5 ประเด็นหลัก คือ กัมพูชาการขอตีความครั้งนี้ เป็นการซ่อนการอุทธรณ์คดีเดิม เพื่อหวังเปลี่ยนคำพิพากษาที่จบไปแล้วเมื่อปี 2505 ซึ่งกัมพูชาขอตัดสินเรื่องเขตแดน กัมพูชาพยายามยืนยันต่อศาลว่าเขตแดนต้องเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1 ทั้งที่ศาลปฏิเสธการตัดสินไปแล้วเมื่อปี 2505 และการตัดสินคดีในครั้งนั้นศาลใช้แผนที่ภาคผนวก 1 ตัดสินว่าปราสาทเป็นของใคร ไม่ใช่ตัดสินเรื่องเขตแดน พร้อมแสดงให้เห็นว่าพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลกเมตร ที่กัมพูชาเรียกร้องให้ตีความครั้งนี้ เป็นเรื่องใหม่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น หลังจากที่กัมพูชาต้องการนำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2554 และชี้ให้ศาลเห็นว่าไทยและกัมพูชาสามารถเจรจาเรื่องเขตแดนได้ตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก(เอ็มโอยู) ปี 2543 พร้อมชี้ให้ศาลเห็นว่าพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 กับ พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ไม่ใช่พื้นที่เดียวกัน
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ฝ่ายไทยชี้ให้ศาลเห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีขณะนั้นขึงรั้วลวดหนาม กัมพูชาไม่เคยทักท้วง และไทยได้ถอนทหารจากบริเวณปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว แสดงว่าทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันมาโดยตลอด ทั้งนี้ฝ่ายไทยชี้ว่าถึงความไม่ชอบมาพากลของเอกสารพยานหลักฐานที่กัมพูชาใช้ในการต่อสู้คดีครั้งนี้ โดยแผนที่ที่กัมพูชาอ้างมีหลายชุด ซึ่งชุดปี 2505 กับครั้งนี้แตกต่างกัน แผนที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งกัมพูชาใช้แผนที่ปี 2505 มาดัดแปลง ใช้ในครั้งนี้
 ส่วนกรณีทนายกัมพูชาอ้างเมื่อ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า ไทยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวศาล นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เราชี้แจงว่าปฏิบัติแล้ว และไทย-กัมพูชาหารือกันตลอดตามคำสั่งชั่วคราวศาล ทีมทนายได้ชี้ให้ศาลเห็นว่าไทยและกัมพูชาดำเนินไปด้วยดี มีกลไก และช่องทางแก้ไขปัญหาระหว่างกันได้ โดยเฉพาะเรื่องเขตแดนภายใต้ เอ็มโอยู 43

 "วันนี้เราทำได้ดีมาก สิ่งที่กัมพูชาเสนอมาเมื่อ 15 เม.ย. ไม่แน่นเหมือนฝ่ายไทยวันนี้ เรามั่นใจในฝ่ายเรา แต่ต้องดูคำตัดสินของศาลว่าเป็นอย่างไร" นายสุรพงษ์ กล่าว
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น