วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2556

ไทยจัดหนักเขมรฟ้องศาลแฉปลอมเอกสาร เมื่อ 18 เม.ย.56




ไทยจัดหนักเขมรฟ้องศาลแฉปลอมเอกสาร


“ทีม กม.ไทย” จัดหนักปมเขาพระวิหารแจงศาลโลก ยันชัดเขมรรุกล้ำอธิปไตยไทย ฉะปลอมเอกสาร-ดัดแปลงแผนที่หวังฮุบพื้นที่ทับซ้อน อัดเล่นเล่ห์หวังศาลโลกพิจารณาตีความคำพิพากษาปี 2505 ใหม่ ขณะที่การเมืองร้อนก่อนปิดสภาฯ “พท.” ตี 2 หน้า ออกมติ หนุนลัดคิว กม.นิรโทษฉบับ 42 ส.ส.พท. ขึ้นถกวาระแรก 18 เม.ย.นี้ ขณะที่ “ปธ.วิปรัฐ” อ้างต้องรอสภาถกสมัยหน้าเดือน ส.ค. ยันไม่พ่วง พ.ร.บ.ปรองดอง 4 ฉบับแน่ ส่วน “เฉลิม” เอาแน่ดัน พ.ร.บ.ปรองดอง 6 มาตรา เข้าสภาสมัยหน้า ล้างผิด แดง-เหลือง-จนท. เหมาเข่ง ตั้งแต่ปฏิวัติ 19 ก.ย. 49 ขณะที่ “ปชป.” ยันค้านหัวชนฝาลัดคิว กม.นิรโทษฉบับ 42 ส.ส.พท. ฉะเผยธาตุแท้หวังปล่อยผีพวกพ้อง แขวะปูเลิกเหนียม-ตี 2 หน้า เตือนบ้านเมืองลุกเป็นไฟ ด้าน “สุริยะใส” ขู่ฟ้องศาล รธน.-ป.ป.ช. ฟันยกเข่ง ส.ส.โหวตหนุนลัดคิว กม.นิรโทษ ชี้เข้าข่ายขัด รธน. ม. 122 ถึงขั้นยุบพรรค ส่วนสภาฯ ผวาม็อบต้านกม.นิรโทษ สั่งระดม ตร. 9 กองร้อยตรึงเข้มรับมือ
ม็อบพระวิหารบุกปักธงชาติไทย
วันที่ 17 เม.ย. บรรยากาศในพื้นที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ก่อนตัวแทนฝ่ายไทย ขึ้นให้การทางจาวาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก กรณีที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 นั้น เมื่อเวลา 10.00 น. ได้มีกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ และกลุ่มคนไทยพิทักษ์แผ่นดินอีสานตอนใต้ ได้ขึ้นรถขยายเสียงออกจากบริเวณศาลหลักเมืองกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อมุ่งหน้าไปยังพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เพื่อแสดงเจตนารมณ์จะนำธงชาติไปปักในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร โดยมีการนำเสาธงชาติยาว 21 เมตร พร้อมธงชาติขนาดใหญ่ บรรทุกไปบนรถขยายเสียง ออกเดินทางจากศาลหลักเมืองกันทรลักษ์ มุ่งหน้าไปยังพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร โดยมีฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ อส. ดูแลความสงบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกแก่มวลชนจำนวน 20 นาย ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้มีการตั้งจุดตรวจเป็นระยะในระหว่างทาง โดยบริเวณหน้าโรงเรียนภูมิซรอลวิทยา ก่อนจะถึงด่านสะพานห้วยดานประมาณ 100 เมตร ได้มีชุด ชรบ.ของ ต.เสาธงชัย ต.รุง และ ต.ภูผาหมอก กว่า 100 นาย ร่วมกับชุดควบคุมฝูงชนของตำรวจภูธรศรีสะเกษ จำนวน 3 กองร้อย และเจ้าหน้าที่ทหารจากกองกำลังสุรนารี ร่วมกันตั้งด่านสกัดไม่ให้กลุ่มมวลชนขึ้นไปบนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร
ทหารขอนำธงชาติไปปักแทน
ด้าน พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ แกนนำกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ ได้เจรจากับตัวแทนฝ่ายเจ้าหน้าที่ และได้ข้อสรุปว่าขอมอบธงชาติให้ฝ่ายทหารขึ้นไปปักธงแทน โดยมี พ.อ.ธัญญา เกียรติสาร รองผู้บังคับการกองกำลังสุรนารี (ผบ.กกล.) กองทัพภาคที่ 2 เป็นตัวแทนมารับมอบธง พร้อมรับปากว่าจะนำขึ้นไปปักบริเวณที่กลุ่มพลังมวลชนเรียกร้อง ต่อหน้าสื่อมวลชนที่ตามขึ้นไปทำข่าวเพื่อเป็นสักขีพยาน จากนั้น พล.อ.ปรีชาขึ้นบนรถติดเครื่องขยายเสียง พร้อมประกาศว่า วันนี้ภารกิจได้เสร็จสิ้นแล้ว โดยฝ่ายทหารได้รับมอบธงชาติจากกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ โดยจะนำขึ้นไปปักบริเวณที่ตัวแทนร้องขอ จากนั้นได้อวยพรให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ และนำร้องเพลงชาติไทยก่อนที่จะแยกย้ายสลายการชุมนุม โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น
“นายกฯ ปู” เกาะติดคดีพระวิหาร
ส่วนความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยในช่วงเช้านายกรัฐมนตรีเข้าปฏิบัติภารกิจที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ตามปกติ ขณะที่ช่วงบ่าย ได้ติดตามการถ่ายทอดสด การให้ถ้อยแถลงด้วยวาจาของทีมกฎหมายไทยต่อองค์คณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ภายหลังจากที่ทำเนียบรัฐบาล ได้ตั้งศูนย์ประสานงานติดตามการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร เพื่อประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ และทีมกฎหมายที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ บนชั้น 2 ของตึกไทยคู่ฟ้า โดยมี นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พล.ต.ท.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมประสานงานและติดตามการถ่ายทอดสดจากกรุงเฮก
ไทยเริ่มให้การคดีพระวิหาร
ต่อมาเมื่อเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือประมาณ 15.00 น.ตามเวลาประเทศไทย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะตัวแทนฝ่ายไทยสู้คดีปราสาทพระวิหาร เป็นคนแรกของฝ่ายไทย ที่ขึ้นให้การทางจาวาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก กรณีที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 โดยระบุว่า ไทยให้ความเคารพต่อคำสั่งศาล 2 ฝ่ายเข้าใจตรงกัน 50 ปีผ่านไปกัมพูชายื่นให้มีการอุทธรณ์ และหลังจากมีคำพิพากษาออกมาในปี 1962 ไทยก็ได้ถอนกำลังออกมา เห็นได้ชัดจากรั้วและป้ายที่เป็นไปตามมติ ครม.ก่อนหน้านั้น และในต้นปี 2000 มีการรุกล้ำเข้าสู่แผ่นดินไทยเป็นการละเมิดซึ่งหน้าตามเอ็มโอยู ซึ่งไม่เกิดการเสถียรสองฝ่ายทำให้เกิดการประท้วงตามมา การที่จะเป็นพี่น้องกันในอาเซียน ประเทศไทยพยายามยับยั้งและใช้กลไกเจรจาในคณะกรรมการเจบีซี ซึ่งกัมพูชารุกล้ำเข้ามา 4,000 ตร.กม. พยายามหยิบฉวยดินแดนของไทยที่จะขึ้นทะเบียน และไทยก็ประท้วงมากยิ่งขึ้นในการรุกล้ำอธิปไตยเหนือดินแดน และทั้งหมดยั่วยุโดยกัมพูชา ไทยพยายามใช้สิทธิ์ป้องกันตนเองตามกฎหมายประเทศ ส่วนข้ออ้างปัจจุบันไม่มีข้อเท็จจริงทางกฎหมายที่จะดำเนินการเจรจาต่อรองอย่างถูกต้องตามเอ็มโอยู ไม่เหมือนอย่างที่กัมพูชากล่าวอ้าง เพราะคำร้องของกัมพูชาไม่ได้อ้างดินแดนขนาดนี้ หรือขอบเขต ศาลจึงไม่สามารถตัดสินในสิ่งที่กัมพูชาร้องขอ แม้คำขอครั้งแรกของกัมพูชาจะขอให้ศาลตัดสินเรื่องขอบเขต เขตแดน และแผนที่ภาคผนวกมีความถูกต้อง ซึ่งไม่เกี่ยวกับแผนที่ 4.1 ตร.กม.
“วีรชัย” ยันเขมรรุกล้ำอธิปไตย
นายวีรชัย กล่าวต่อว่า ประเทศไทยไม่เคยโต้แย้งแผนที่ภาคผนวกหนึ่ง มีหลักฐานมากมายว่ากัมพูชากล่าวอ้างเฉพาะปลายปี 2000 ซึ่งประเทศไทยค้นพบปัญหานี้เมื่อปี 2007 เมื่อกัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียน แต่ปี 1962 กัมพูชาไม่เคยมีหลักฐานอันน่าเชื่อได้เลย ส่วนที่ว่าปัญหามาจากการเมืองภายในประเทศไทย แต่แท้จริงเป็นปัญหาก้าวร้าวของกัมพูชาและขยายไปยังปัญหาด้านกฎหมาย เขตแดน แสดงให้เห็นชัดเจนในเรื่องบริเวณพื้นที่ข้อพิพาท แผนที่ภาคผนวกหนึ่งจึงกลายเป็นตัวปักปันเขตแดน และมีการจัดทำเขตแดน โดยไม่สนใจลักษณะภูมิภาคเลย ในแง่แผนแม่บท หรือทีโออาร์ เป็นไปตามปี 2000 ไม่ตรงกับปี 1962 ตามที่กัมพูชากล่าวอ้าง ซึ่งเอ็มโอยู 43 ไม่พูดถึงสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม หมายความว่ายังตกลงกันไม่ได้ และเป็นเพียงขั้นตอนจำเป็นในการสำรวจร่วมแนวสันปันน้ำ ที่ไม่รวมอยู่ในคำพิพากษา สิ่งที่ตามมาหลังคำพิพากษาคือ การไม่มีข้อพิพาทใดเกี่ยวกับขอบเขตคำพิพากษาเลย ซึ่งกัมพูชาให้เอกสารกว่า 10 รายการที่ไม่ถูกต้อง ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน และมีการปลอมแปลงให้ข้อมูลไม่ถูกต้องเกี่ยวกับแผนที่ภาคผนวก หลอกให้คนดูเว็บไซต์สถานทูตกัมพูชาในปารีส แต่ก็ไม่สามารถให้คำอธิบายได้ชัดเจน ซึ่งประเทศไทยมีหลักฐานพิสูจน์พื้นที่ 4.5 ตร.กม. เป็นพื้นที่โต้แย้งใหม่ไม่เกี่ยวกับคำพิพาท และไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ ครม.ไทยตัดสินเลือกใช้วิธีที่ 2 ในการกำหนดว่าขอบเขตปราสาทพระวิหารอยู่ที่ใด สิ่งที่กัมพูชาทำเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือ
ชี้เขมรมีวาระซ่อนเร้น
ด้าน ศ.โดนัลด์ แมคเรย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเขตแดน และทนายฝ่ายไทย กล่าวชี้แจงว่า คำขอของกัมพูชาให้ตีความเมื่อปี 1962 แท้จริงแล้วไม่ใช่ขอให้ตีความ แต่พยายามเปลี่ยนแปลงการตีความ ปี 2005 ที่ศาลเคยปฏิเสธไปแล้ว เป็นคำขอที่มีวาระซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง และในคำขอของกัมพูชาก็ไม่ชัดเจน เป็นการพูดหลีกเลี่ยงเพื่อให้ตีความคำพิพากษาใหม่ และคำว่าบริเวณใกล้เคียง กัมพูชาก็พยายามนำมาอ้างว่าเป็นพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ถือว่าเป็นโอกาสที่มีข้อพิพาทได้ จากพันธะกรณีที่ต้องถอนทหารออกไปทันทีหลังจากมีคำพิพากษาปี 1962 และประเทศไทยก็รับทราบและประท้วงไป จึงไม่ใช่ข้อพิพาทเรื่องการตีความในวรรค 2 ของปี 1962 ข้อเรียกร้องของกัมพูชาดูเหมือนมีคำพิพาทใหม่ ทำให้กัมพูชาสามารถขยายความและเปลี่ยนข้อพิพาทมาใช้ในการปฏิบัติการ และยืนยันว่า กัมพูชาและประเทศไทยมีข้อพิพาทเรื่องความหมายและขอบเขตดินแดนภายในกัมพูชา หากเป็นความจริงว่ามีข้อพิพาทเรื่องคำว่าดินแดน ก็ไม่น่าจะนำมาใช้ในการตีความ ทำให้การขอใหม่ไม่สามารถยอมรับได้ ขณะเดียวกันก็มาพูดว่าเป็นคำขอสุดท้ายของการตีความ และอธิปไตยเหนือดินแดนก็ไม่ใช่ข้อพิพาท และในระหว่างดำเนินคดี ปี 1962 ศาลก็ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของกัมพูชา
ตร. 9 กองร้อยตรึงเข้มสภา
ส่วนความเคลื่อนไหวทางด้านการเมือง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 18 เม.ย. โดยมีวาระสำคัญคือการลงมติกำหนดวันแปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ญัตติยังค้างอยู่ รวมทั้งกระแสข่าวที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะเสนอเลื่อนวาระร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาเร่งด่วน ซึ่งมีรายงานข่าวว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านเตรียมมาปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้ารัฐสภาในเช้ามืดโดยไม่ทราบจำนวน ทำให้ตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (อคฝ.) จำนวน 9 กองร้อย ทยอยเดินทางเตรียมดูแลความสงบเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังอยู่ภายในรัฐสภาจำนวน 3 กองร้อย และที่เหลืออีก 6 กองร้อยประจำการอยู่ในบริเวณลานจอดรถสวนสัตว์ดุสิต ทั้งนี้เมื่อสอบถามไปยังนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องดังกล่าว ก็ระบุว่ายังไม่ได้รับการรายงาน คงเป็นประสานภายในเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง
รับมือม็อบต้านนิรโทษกรรม
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ในฐานะผู้ที่ดูแลการรักษาความปลอดภัยในสภา กล่าวว่า หลังจากมีกระแสข่าวว่าจะมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทางสภาได้ประสานไปทางตำรวจนครบาลเพื่อเข้ามาดูแลรักษา ความสงบเรียบร้อย ส่วนจำนวนเท่าใดนั้นตนไม่ทราบ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นฝ่ายจัดมาเอง ส่วนจะเพิ่มจำนวนหรือไม่ก็ต้องรอดูสถานการณ์ถ้าถามว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนฯ จะมาปักหลักชุมนุมด้วยหรือไม่ หากมาก็คงต้องเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะพูดไปก็ถูกด่า อีกทั้งพรรคก็ยังไม่มีข้อสรุป แต่ถ้าพรรคมีมติอย่างไรก็พร้อมปฏิบัติตาม
“ขุนค้อน” รอมติ พท.ลัดคิว กม.นิรโทษ
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า การที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าดูแลความสงบเรียบร้อยจำนวน 9 กองร้อยนั้น ตนเพิ่งทราบเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในสภา แต่ไม่ได้รับการประสานมา คงเป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงซึ่งประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยกัน และได้ประเมินสถานการณ์และเตรียมเจ้าหน้าที่เข้าดูแลความปลอดภัย ส่วนเรื่องที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเลื่อนระเบียบวาระร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานมา แต่ทราบว่าพรรคเพื่อไทยจะประชุมเพื่อมีมติดังกล่าวในวันนี้ จากนั้นคงจะแจ้งเรื่องมาที่ตน ซึ่งก็เป็นอำนาจของ ส.ส.ที่มีสิทธิ์จะเสนอเลื่อนได้ ก็ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุม อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากแสดงความคิดเห็น แต่เชื่อว่าทุกคนก็ต้องพิจารณาเรื่องนี้ ทั้งนี้หากเป็นการช่วยเหลือประชาชนจริงๆ โดยไม่มีวาระแอบแฝง และไม่เกี่ยวกับบรรดาแกนนำตามที่เขาอ้างก็ไม่น่ามีปัญหา
พท.หนุนเลื่อนถกนิรโทษ
ที่พรรคเพื่อไทย ได้มีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และคณะกรรมการประสานภารกิจ เพื่อหารือถึงการพิจารณาเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยมีนาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรคเพื่อไทยเป็นประธานการประชุม ภายหลังการประชุม นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และคณะกรรมการประสานภารกิจพรรคเพื่อไทยได้มีการหารือกันแล้ว มีมติชัดเจนให้มีการเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยให้มีการสนับสนุนในนามพรรค ซึ่งเรื่องกระบวนการช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ทุกฝ่ายพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ อะไรที่ช่วยปลดปล่อยประชาชนที่ถูกขังอยู่ก็ต้องทำ
ปธ.วิปรัฐอ้างจะพิจารณาสมัยหน้า
นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า หลังจากมีการเสนอเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนต่อที่ประชุมสภาฯในวันที่ 18 เม.ย.แล้ว ก็จะรอนำเข้าพิจารณารับหลักการในการประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป ในเดือน ส.ค. โดยให้อยู่ในลำดับต้นๆ จะไม่มีการนำเข้ารับหลักการในวันที่ 19 เม.ย. หรือในช่วงประชุมวิสามัญเดือน ส.ค. แน่นอน และยืนยันว่าจะไม่มีการนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง 4 ฉบับที่ค้างอยู่ในสภา หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับอื่นๆ พ่วงท้ายมาพิจารณาด้วย
โต้ตีสองหน้า
นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าการเสนอเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ใช่การตีสองหน้า ไม่มีเบื้อหน้า เบื้องหลัง และไม่มีการนำ พ.ร.บ.ปรองดอง 4 ฉบับ หรือกฎหมายฉบับอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เป็นการทำเพื่อช่วยประชาชนที่ถูกรัฐบาลที่แล้วขังคุกฟรีๆ มา 3 ปีแล้ว ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ขัดข้อง บอกให้เดินหน้าช่วยเหลือประชาชน ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็บอกชัดเจนว่าให้เป็นเรื่องของสภาฯ
ใจถึงจะขอเปิดวิสามัญ
น.พ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ก่อนการประชุมสภาฯ ในวันที่ 18 เม.ย. ตนพร้อมส.ส.เสื้อแดงจะเข้าพบนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหารือว่าจะมีช่องทางขอเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญ เพื่อขอหารือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นวาระพิเศษได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นอะไร ขอให้อยู่ในวาระลำดับแรกในสมัยประชุมหน้า ซึ่งการตัดสินใจจะขยายเวลาหรือไม่อยู่ที่ประธานสภาฯ อย่างไรก็ดีในการประชุม ส.ส.เพื่อไทยวันนี้ จะขอร้องเพื่อนส.ส.สนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษ หากใครไม่โหวตให้ คงต้องมีการนำรายชื่อออกมาประจานกัน อยากให้ช่วยกัน ไม่ใช่ปากก็บอกเห็นกับประชาชน แต่ไม่ทำอะไร อยากเห็นเรื่องนี้เป็นการดำเนินการโดย ส.ส.ไม่ใช่ให้ใครมาสั่ง
“เฉลิม” จ่อชง พ.ร.บ.ปรองดองฯ 6 มาตรา
ผู้สื่อข่าวรายงานในการประชุมพรรคเพื่อไทยว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งต่อที่ประชุมพรรคว่า ทันทีที่เปิดสมัยประชุมหน้าตนจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ 1 ฉบับ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา โดยร่างดังกล่าวจะประกอบด้วย 6 มาตรา มีเนื้อหาสำคัญคือ ในมาตรา 3 ระบุว่าการกระทำใดๆ ที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวตั้งแต่ปี 2549 จนถึงวันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ถือว่าไม่เป็นความผิด กรณีที่ผู้กระทำผิดอยู่ระหว่างสอบสวนให้ระงับการสอบสวนนั้น ถ้าอยู่ระหว่างฟ้องร้องให้พนักงานอัยการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้อง ถ้าอยู่ระหว่างพิจารณาคดีให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง ทั้งนี้ให้นำมาใช้บังคับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลใดๆ อันเกี่ยวเนื่องจากการป้องกัน ระงับ หรือปราบปราม ในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง การแสดงความเห็นทางการเมือง นอกจากนี้ในมาตรา 4 ระบุว่าบรรดาการกล่าวหาการกระทำผิดบุคคลใดๆ ที่เกิดจากคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองฯ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 หรือจากบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคำสั่งคณะปฏิรูปฯ ไม่ว่าเป็นการกล่าวหาในข้อหาใด ให้ถือว่าเป็นการกล่าวหาในความผิดทางการเมือง ให้การกล่าวหานั้นระงับไป ให้ถือว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด และในมาตรา 5 ระบุว่าสำหรับผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง การแสดงความเห็นทางการเมือง หรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องในมาตรา 3 ให้ ครม.พิจารณาช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายตามความเหมาะสม ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะส่งผลประโยชน์ต่อคนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดง ทหาร และประชาชนทั่วไป ซึ่งในช่วงระหว่างปิดสมัยประชุมจะใช้เวลาทำความเข้าใจกับประชาชนโดยเปิดเวทีชี้แจงร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวนี้ให้ประชาชนได้รับฟังทั่วประเทศ เริ่มต้นที่ จ.ขอนแก่น ในวันที่ 27 เม.ย.นี้ จากนั้นจะทยอยเปิดเวทีทั่วทุกภาคของประเทศ และจะมีเวทีใหญ่ในวันที่ 24 พ.ค.ที่ จ.อุดรธานี
“ชทพ.” ยัน หนุน พท.โหวตแปรญัตติ
นายตุ่น จินตะเวช ส.ส.อุบลราชธานี พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การประชุม ส.ส.พรรค ที่ประชุมได้มีการนัดหมายให้เดินทางไปร่วมประชุมรัฐสภา ในวันที่ 18 เม.ย. นี้ ส่วนการลงมติในการกำหนดวันแปรญัตติ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายมาตรานั้น ให้ยืนตามมติของพรรคเพื่อไทย และร่วมลงคะแนนเสียงสนับสนุนด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมไม่ได้มีการหารือถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเตรียมใช้เอกสิทธิ์ ส.ส. ขอเลื่อนร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ ให้มาพิจารณามาเป็นวาระเร่งด่วน เบื้องต้นคาดว่าจะรอฟังมติจากที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ในวันที่ 18 เม.ย. ก่อน
ปชป.ซัดหวังล้างผิดเผาเมือง
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เร่งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น นี่คงเป็นจุดประสงค์ที่แท้จริง ที่พรรคเพื่อไทยต้องการเป็นรัฐบาล เพื่อต้องการออกกฎหมายล้างผิดให้กับเหล่าบุคคลสำคัญของพรรค แม้ว่าจะอิดออดมาตลอด 2 ปี หากพรรคเพื่อไทยเปิดหน้าออกมาชัดเจนอย่างนี้ ก็ขอให้ออกมาเป็นมติของพรรคเลย ว่าจะล้างผิดให้คนเผาบ้านเผาเมือง และก็ขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลิกเหนียมอายได้แล้ว อย่ามาตี 2 หน้า อ้างว่าเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งที่ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ก็ออกมาระบุ ว่านายกฯ ให้ไฟเขียวแล้ว ทั้งนี้ ประชาธิปัตย์ก็จะยืนยัดขัดขวางกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ เพราะขัดต่อหลักนิติรัฐนิติธรรม แล้วเชื่อว่า จะเป็นกฎหมายที่นำความขัดแย้งรอบใหม่มาสู่สังคมไทย
ขู่ยื่นถอดถอนขุนค้อน
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะวิปฝ่ายค้าน กล่าวภายหลังการประชุมวิปฝ่ายค้านว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่า การที่นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ ส.ว.ปทุมธานี เสนอปิดการอภิปรายของสมาชิกทั้งที่เหลือผู้อภิปรายจำนวนมาก ทำให้เรื่องนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 47 ที่ระบุว่า การอภิปรายเป็นอันยุติเมื่อไม่มีผู้ใดอภิปรายหรือที่ประชุมรัฐสภามีมติให้ปิดอภิปราย แต่เหตุการณ์ในวันนั้นที่ประชุมไม่ได้ดำเนินการทั้ง 2 กรณี ขณะเดียวกัน การดำเนินการของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานการประชุม ก็ทำให้ขัดรัฐธรรมนูญกรณีการเสนอวันแปรญัตติ เนื่องจากว่า องค์ประชุมไม่ครบก็ต้องปิดประชุม แต่ประธานกลับให้ดำเนินการต่อไป นอกจากนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ต้องทำ 3 วาระ และเมื่อวาระ 1 ยังไม่แล้วเสร็จ ก็ไม่สามารถประชุมคณะกรรมาธิการได้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านจะรอดูการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 18 เม.ย.ว่าจะดำเนินการให้ถูกต้องหรือไม่ แต่หากยังไม่ดำเนินการนั้น ฝ่ายค้านก็สามารถยื่นถอดถอนได้
“สุริยะใส” เชื่อ พท.ไม่กล้าลัดคิวนิรโทษ
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่า หากการประชุมสภานัดสุดท้ายมีการลัดคิว ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ของ 42 ส.ส.เพื่อไทย เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่กำหนดให้ ส.ส. ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่ร่าง พรบ.ฉบับนี้เสนอโดย ส.ส.หลายคนที่เป็นแกนนำและแนวร่วมในการเคลื่อนไหวกับ นปช. จึงชัดเจนว่า การเสนอ ร่าง พรบ.นี้ เป็นการกระทำที่จงใจขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเหตุนี้เองที่พรรคเพื่อไทยจึงไม่กล้ามีมติในนามพรรคสนับสนุนการลัดคิวหรือเลื่อนวาระครั้งนี้ เพราะเกรงว่าจะถูกยุบพรรค จึงให้สนับสนุนเป็นรายบุคคล ถ้ามีความผิดก็จะเป็นความผิดรายบุคคล พรรคจะไม่ต้องถูกยุบ หากมีการลงมติและผ่านวาระ 1 กลุ่มกรีนจะยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ และจะร้องกล่าวโทษต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. เพื่อเอาผิด ส.ส.ที่เข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ ส.ส.ที่ลงมติรับร่าง พ.ร.บ.นี้ ว่าจงใจทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่


วันที่ 18/04/2556 เวลา 8:33 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น