วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

เร่งกฎหมายล้างผิดแดง พท.จ่อคลอดมติหนุนสส.เมื่อ 17 เม.ย.56


เร่งกฎหมายล้างผิดแดง พท.จ่อคลอดมติหนุนสส.



เพื่อไทยจ่อออกมติให้ ส.ส.ใช้เอกสิทธิ์ขอเลื่อนร่าง พรบ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาเร่งด่วนในวันที่ 18 เมษานี้ ก่อนนำเข้าสภาฯ ถกวาระแรกเดือนสิงหาคม อ้างทำเพราะเห็นใจมวลชนทุกสีเสื้อ ขณะที่ประธานสภาฯ ปัดยังไม่ทราบรายละเอียด "ยิ่งลักษณ์” ตามคาดท่องคาถาฝ่ายนิติบัญญัติไม่เกี่ยวบริหาร ปชป.อัดนายกฯ ตีสองหน้า ลอยตัวเหนือปัญหา
    นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวเมื่อวันอังคาร ถึงการประชุมพรรคเพื่อไทยในวันที่ 17 เมษายน เพื่อพิจารณาถึงการเลื่อนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน ว่าเท่าที่ได้รับสัญญาณจากผู้ใหญ่ในพรรคถือว่ามีแนวโน้มที่ดี ทั้งนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็อยากให้ออกเป็นมติพรรค นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ก็บอกว่าจะช่วยเคลียร์กับผู้ใหญ่ในพรรคให้อีกทาง รวมถึงนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ก็บอกว่าไม่คัดค้านถ้าประชาชนได้ประโยชน์ เพียงแต่แสดงความเป็นห่วงว่า อย่าให้พรรคทะเลาะกันเท่านั้น 
    "ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่า การประชุมพรรคในวันที่ 17 เมษายน พรรคจะมีมติพรรคให้ ส.ส.สนับสนุนเลื่อนร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ต้องดูมติพรรคอย่างเป็นทางการในวันดังกล่าวจะออกมาอย่างไร พวกผมจะไม่คาดคั้นหรือกดดันที่ประชุมพรรค” นายสมคิดกล่าวและว่า หากที่ประชุมพรรคไม่เห็นด้วย ตนก็ยืนยันจะขอใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.ต่อที่ประชุมสภาฯ ให้เลื่อนกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนอยู่เหมือนเดิม 
    นายสมคิดกล่าวต่อว่า ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นห่วงว่าพรรคเพื่อไทยจะใช้เสียงข้างมากของดเว้นข้อบังคับการประชุม เพื่อให้มีการพิจารณารับหลักการ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวันที่ 18 เม.ย.นั้น แม้ข้อบังคับอนุญาตให้ทำได้ แต่พวกตนจะไม่หักดิบทำเช่นนั้น ไม่ขอใช้เสียงข้างมากลากไป พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็น ต้องเปิดช่องให้ฝ่ายคัดค้านได้หายใจบ้าง หากไปเร่งรีบรวบรัดแทนที่จะได้ก็จะเสีย
    เขากล่าวว่า ขณะนี้มีศัตรูแค่คนเดียวคือพรรคประชาธิปัตย์ หากไปรวบรัดหักดิบจะมีศัตรูเพิ่มอีกเป็นร้อย รับรองยุ่งแน่ๆ เรื่องนี้ต้องอดทนรอนิดนึง เท่าที่ประเมินคาดว่า ในวันที่ 18 เมษายน หลังจากที่ประชุมสภาฯ มีมติให้เลื่อนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นเรื่องเร่งด่วนแล้ว ก็คงสั่งปิดประชุมสภาฯ เพื่อจ่อไว้พิจารณารับหลักการในสมัยประชุมสามัญทั่วไปเดือนสิงหาคม คงไม่ทันนำเข้าพิจารณาวันที่ 19 เมษายน เพราะติดประชุมวุฒิสภา และไม่ควรนำเข้าพิจารณาในสมัยประชุมวิสามัญเดือนพฤษภาคม เพราะเร็วเกินไป ไม่ควรบุ่มบ่าม
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ออกหนังสือเรียกประชุมร่วมรัฐสภา ลงวันที่ 11 เมษายน 2556 เพื่อลงมติกำหนดเวลาวันแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ... โดยนัดหมายในวันที่ 18 เมษายน เวลา 09.30 น.
    นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า เชื่อว่าวันดังกล่าวจะไม่มีเหตุการณ์ที่เกิดการโต้แย้งจนกลายเป็นปัญหา เพราะกระบวนการของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ยังคงเหลือเพียงกระบวนการของการกำหนดวันแปรญัตติ ตามที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการเสนอญัตติให้ใช้เวลา 60 วันเพื่อแปรญัตติเท่านั้น ส่วนกระบวนการอื่นๆ เช่น การตั้งคณะกรรมาธิการฯ, การอภิปราย ถือว่าได้เสร็จสิ้นกระบวนการไปแล้ว
    นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายของพรรค ระบุว่ากระบวนการอภิปรายยังไม่แล้วเสร็จ เพราะยังไม่มีการลงมติให้ปิดการอภิปรายตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อที่ 47 (2) นั้น หากพิจารณาในวิธีปฏิบัติของการปิดอภิปราย เมื่อประธานในที่ประชุมถามว่า ใครจะเห็นเป็นอื่นตามที่มีผู้เสนอปิดการอภิปรายหรือไม่ หากไม่มีผู้เห็นเป็นอื่นก็ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบให้มีการปิดอภิปราย ดังนั้น ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ตนก็ได้ถามสมาชิกรัฐสภาในประเด็นการปิดอภิปรายแล้ว และไม่มีผู้อื่นเห็นขัดแย้ง จึงถือว่ากระบวนการการปิดอภิปรายนั้นถูกต้องแล้ว
    ประธานรัฐสภากล่าวอีกว่า สำหรับการกำหนดวันแปรญัตติที่จะพิจารณานั้น ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ก็จะไม่มีผลต่อการทำงานของกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราทั้ง 3 คณะ ที่ได้มีการเรียกประชุมไปแล้ว เพราะกระบวนการตั้งกรรมาธิการฯ ในที่ประชุมรัฐสภา ถือว่าเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์แล้วเช่นกัน ส่วนการกำหนดวันแปรญัติ เป็นเพียงขั้นตอนที่เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาที่ไม่ใช่กรรมาธิการฯ เสนอคำแปรญัตติให้กับกรรมาธิการฯ พิจารณา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ แต่อย่างใด
    เขายังได้กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เตรียมใช้เอกสิทธิ์เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนว่า ตนยังไม่ทราบข้อมูล เพราะอยู่ระหว่างการพักผ่อนที่ต่างจังหวัด ทั้งนี้ ในหลักการตนต้องรับฟังข้อมูลรวมถึงเหตุผลของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก่อนนำมาพิจารณาต่อไป      
    นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย จะใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.ขอเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนว่า ถือเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ที่สามารถทำได้ และเห็นใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองที่ยังรอการช่วยเหลืออยู่ ดังนั้น ในการประชุม ส.ส.พรรค วันที่ 17 เมษายน นี้ คงจะพูดคุยกัน และ 42 ส.ส.ที่ผลักดันเรื่องนี้คงจะมาชี้แจงในที่ประชุมเพื่อขอเสียงสนับสนุน แต่ต้องรอดูว่ามติพรรคจะออกมาอย่างไร และเมื่อมติพรรคออกมาอย่างไรทุกคนก็ต้องเคารพ
       ส่วนกรณีที่นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พรรคเพื่อไทยตีสองหน้าและมีคนชักใยอยู่เบื้องหลัง เพื่อต้องการเร่งกฎหมายดังกล่าวให้มาล้างผิดให้กับคนบางกลุ่มนั้น นายพร้อมพงศ์ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ไม่มีผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทย หรือคนในรัฐบาลอยู่เบื้องหลังอย่างแน่นอน  เพราะ 42 ส.ส.ที่ผลักดันเรื่องนี้ล้วนแต่รู้กฎหมายและมีวุฒิภาวะ ไม่มีใครสามารถชักใยได้ ทุกคนทำเพื่อประชาชน มองเห็นความทุกข์ของประชาชนทุกสีเสื้อที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น ไม่อยากให้พรรคประชาธิปัตย์ออกมาให้สัมภาษณ์ ในทางที่น่าจะดูถูกสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติด้วยกัน และการนำเรื่องนี้มากล่าวหาและทำให้เป็นเกมการเมืองนั้น เชื่อว่าประชาชนไม่อยากเห็นความขัดแย้งอีกแล้ว
    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเป็นแกนนำ นปช. กล่าวถึงการเสนอเลื่อน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่าในการประชุมพรรคเพื่อไทยวันที่ 17 เมษายนนี้ ตนจะชี้แจงเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระด่วนของสภาฯ เพราะเป็นความพยายามคลี่คลายความขัดแย้งได้ ด้วยการเยียวยาประชาชนที่เป็นผู้ถูกกระทำ โดยในที่ประชุมตนจะขอเป็นมติพรรคสนับสนุนเรื่องนี้ เพื่อให้เป็นเอกภาพ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เชื่อว่า ส.ส.ของพรรคเข้าใจและสนับสนุน
    ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์คัดค้าน ก็ไม่ต้องเอามาเป็นข้อกังวล ความหวังของประชาชนต้องการให้พรรคเพื่อไทยแก้ความขัดแย้ง แต่ประชาธิปัตย์กลับหวังให้เป็นช่องทางเข้าสู่อำนาจ ซึ่งจุดยืนต่างกันสิ้นเชิง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีวันเข้าใจความรู้สึกประชาชนที่ถูกคุมขังอย่างอยุติธรรม สิ่งที่นายอภิสิทธิ์ทำคือจับตนเข้าคุก แต่เราจะนำประชาชนออกมา
    ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายเป็นห่วงสถานการณ์การเมือง ว่าอาจร้อนแรงเพิ่มขึ้นจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่าในหลายหัวข้ออาจทำให้บรรยากาศเข้มข้นขึ้นมา แต่เชื่อว่าจะไม่นำไปสู่ความรุนแรง แต่เราต้องใช้เวทีอย่างถูกต้องในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งหมดนี้อยู่ที่สภาฯ จะได้ถกกันอย่างเต็มที่ในเรื่องดังกล่าว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมควรให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยชะลอไว้ก่อนหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ นั้นเป็นส่วนของสภาฯ ในส่วนของพรรคคงต้องหารือกับสมาชิกพรรคก่อน ส่วนตัวนั้นเราต้องให้ความเคารพในสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ในการแสดงออกหรือข้อเสนอต่างๆ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสภาฯ ว่าจะรับเรื่องและมีการหารือกันอย่างไร หรือมีความคิดเห็นเป็นอื่นหรือไม่ 
    "ส่วนรัฐบาลยังยืนยันว่า เราอยากเห็นประเทศเดินหน้าในกระบวนการปรองดอง รัฐบาลทำในเรื่องการเสวนา ถือว่าภารกิจของแต่ละคนมีหน้าที่ต่างคนต่างทำ แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ เห็นประเทศมีความปรองดอง ก้าวไปข้างหน้าและหาทางออกร่วมกัน”
    เมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะเร่งนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณา นายกฯ กล่าวว่า ตนมองว่าอะไรก็ได้ที่ทำให้บ้านเมืองมีทางออกและเกิดความยุติธรรม ความเสมอภาคต่างๆ จึงควรนำไปถกและหาทางออกร่วมกัน กระบวนการปรองดองต่างๆนั้น รัฐบาลก็อยากเห็นในการใช้ทุกเวที ไม่ว่าภาคประชาชนหรือสภาฯ ในการช่วยกันเสนอทางออก หวังว่าเราจะได้รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย
    ถามว่า ฝ่ายค้านพยายามโยงว่าหากเกิดปัญหาขึ้นหลังมีการนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่สภาฯ นายกฯ ต้องรับผิดชอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ตนพูดมาหลายครั้งแล้ว ขอบอกอีกครั้งว่า อำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ต่างคนต่างมีภารกิจ ตนในฐานะฝ่ายบริหารในตำแหน่งนายกฯ ก็มีหน้าที่ดูแลเรื่องการบริหาร แต่ในส่วนของนิติบัญญัติเป็นเรื่องของสภาฯ ตนเป็นเพียงสมาชิกสภาฯ คนหนึ่งเท่านั้น ก็มีสิทธิ์เพียง 1 เสียงในฐานะ ส.ส. ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสมาชิกและสภาฯ ที่จะนำร่างกฎหมายต่างๆ เพื่อหาทางออกและพิจารณาร่วมกัน
    ทางด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่แปลกใจ เพราะเป็นปกติที่ ส.ส.เพื่อไทยจะผลัดกันขึ้นมาเพื่อเสนอเรื่องการนิรโทษกรรมอยู่ตลอด แต่สิ่งที่แปลกไปในครั้งนี้คือ การที่นายวรชัยประกาศชัดว่าได้รับไฟเขียวจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าให้เดินหน้าได้
    นายชวนนท์กล่าวว่า จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ยังเหมือนเดิม คือจะไม่นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง จะนิรโทษกรรมแต่ผู้ที่มีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่านั้น ไม่รวมกับผู้ที่มีความผิดทางอาญา ความผิดเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะมองว่าการนิรโทษกรรมแบบเหมารวมจะนำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ ดังนั้นการที่นายวรชัยยืนยัน ตนก็คิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบ เลิกตีสองหน้า และจะมาลอยตัวอยู่เหนือปัญหาต่อไปไม่ได้ จะมาอ้างว่าเป็นหน้าที่ของสภาฯ เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ไม่ได้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น