วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

ปกป้องดินแดนไทย ลุ้นระทึกทีมทนายแถลงโต้‘ปู’ห่วงความสัมพันธ์เขมร เมื่อ 17 เม.ย.56


ปกป้องดินแดนไทย ลุ้นระทึกทีมทนายแถลงโต้‘ปู’ห่วงความสัมพันธ์เขมร



"ปึ้งศักดิ์" เผย "ปู" โทร.หาแสดงความชื่นชมที่ "ซูฮก" ฮอร์ นัมฮง ถ่ายทอดสดทีวีไปทั่วประเทศ ขณะที่ "ยิ่งลักษณ์" ให้ประชาชนพับเพียบชมอย่างสงบ เพราะต้องเอาใจเขมรด้วย รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ แจง 17 เม.ย.ทนายฝ่ายไทยต้องสู้ตาม 4 ยุทธศาสตร์ ศาลไม่มีอำนาจพิจารณา-กัมพูชาไม่มีสิทธิ์ฟ้องในคดีเดิม-ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว และศาลได้พูดถึงอำนาจอธิปไตยเหนือตัวปราสาท โดยไม่ได้พูดถึงเขตแดนและรับรองแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน "มาร์ค" แนะต้องแก้ประเด็นไทยไม่ได้รุกราน ถามกัมพูชาถ้าเข้าใจไม่ตรงกันมาเซ็น MOU ทำไม
    ภายหลังร่วมฟังการแถลงต่อศาลโลกด้วยวาจาของฝ่ายกัมพูชา ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า นายฮอร์ นัมฮง นายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา ได้อธิบายเหตุผลว่า ทำไมกัมพูชาจึงขอให้ศาลโลกพิจารณาตีความอีกครั้ง หลังจากที่คดีดังกล่าวผ่านมาแล้ว 50 ปี ทั้งยังได้ระบุถึงการใช้กำลังกระทบกระทั่งในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ช่วงที่ฝ่ายกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งถือว่าเป็นผลมาจากความไม่ชัดเจนของคำพิพากษาศาล จึงเป็นเหตุให้ยื่นตีความในครั้งนี้ 
    เขาบอกว่า ในภาพรวมแล้วทีมทนายของไทยไม่รู้สึกหนักใจ เพราะประเด็นต่างๆ ที่กัมพูชาได้นำเสนอเป็นไปตามที่ทีมได้คาดหมาย และฝ่ายไทยพร้อมเสนอเหตุผลหักล้างเช่นกัน ซึ่งชัดเจนและมีน้ำหนัก โดยประชาชนสามารถรอรับฟังได้ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ โดยมีนายนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะตัวแทนไทยต่อสู้คดี ลุกขึ้นชี้แจงเป็นท่านแรก จากนั้นจึงเป็นที่ปรึกษากฎหมายของไทยกล่าวตาม
    นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า กัมพูชาให้เหตุผลว่าไทยและกัมพูชายังคงมีการตีความหมาย และขอบเขตในคำตัดสินแตกต่างกัน จึงขอให้ศาลชี้ให้เป็นไปตามความเห็นของกัมพูชา ซึ่งไทยต้องต่อสู้ว่าไทยเข้าใจถูกต้องแล้ว ทั้งนี้ กัมพูชายังอ้างถึงเหตุการณ์การล้อมรั้วลวดหนามว่า ไทยคิดไปเองฝ่ายเดียว โดยกัมพูชาไม่ได้รับรู้ด้วย ทั้งที่ไทยได้ชี้แจงแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุได้เห็นและรับทราบแล้ว แต่กัมพูชากลับชี้แจงว่าไม่จริง ซึ่งไทยต้องต่อสู้ต่อไป นอกจากนี้ ทีมงานกระทรวงการต่างประเทศจะได้แปลสรุปให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง และหากประชาชนมีคำถามใดให้ติดต่อกระทรวงการต่างประเทศได้ เพราะมีหน่วยงานที่ให้การชี้แจงอยู่
    เขากล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์หาช่วงพักกลางวันช่วงแรก หลังจากที่ได้ติดตามการถ่ายทอดการชี้แจงทางวาจา โดยได้ชื่นชมที่ตนได้ทักทายกับนายฮอร์ นัมฮง ในห้องพิจารณาคดีช่วงเช้า พร้อมยังได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลความปลอดภัยในพื้นที่แล้ว โดยขอให้คณะผู้แทนไทยได้ทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งนายกฯ เห็นว่ายังมีบางเรื่องที่คนไทยอาจจะไม่เข้าใจ เพราะไม่ทราบรายละเอียดตั้งแต่แรก จึงได้มอบหมายให้ทีมงานกระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่สรุปคำแปลและชี้แจง
ใช้ 4 ยุทธศาสตร์สู้
    ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กัมพูชาพยายามชี้ให้เห็นว่า ภายหลังจากที่ศาลโลกมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ไทยถอนกำลังทหารออกนั้น ไทยต้องถอนทหารออกไป ไม่ใช่เฉพาะเขตแดนที่ทาง ครม.ของไทยตีความไว้ แต่ต้องยึดตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน 
    ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายไกรรวี ศิริกุล รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ แถลงสรุปว่า ฝ่ายกัมพูชาพยายามโน้มน้าวให้ศาลยุติระหว่างประเทศเห็นว่า ศาลมีอำนาจที่จะตีความคดีดังกล่าวได้ เนื่องจากเข้าเงื่อนไขต่างๆ ที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนด ทางไทยและกัมพูชามีความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นที่ต่างกันเกี่ยวกับเขตแดนและการรับรองแผนที่ภาคผนวก 1 (แผนที่ 1 ต่อ 2 แสน) กัมพูชาได้พยายามยกเอกสารหลักฐานหลายชิ้นที่เกิดขึ้นหลังคำพิพากษา อีกทั้งได้คัดค้านรั้วลวดหนามที่ทางการไทยจัดทำขึ้นตามมติ ครม. เพื่อหักล้างข้อต่อสู้ของไทยที่ระบุว่า ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแล้ว และกัมพูชาได้ยอมรับแล้ว รวมทั้งชี้ว่ามติ ครม.ในปี 2505 และแนวรั้วลวดหนามเป็นการตีความฝ่ายเดียวของไทย ซึ่งไม่สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาล
    นายไกรรวีกล่าวว่า ทีมต่อสู้ปราสาทพระวิหารของไทยยังมียุทธศาสตร์เดิมในการต่อสู้ คือ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ศาลไม่มีอำนาจพิจารณา 2.กัมพูชาไม่มีสิทธิ์ฟ้องในคดีเดิมที่ศาลได้ตัดสินไปแล้ว 3.ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว และ 4.ศาลได้พูดถึงอำนาจอธิปไตยเหนือตัวปราสาท โดยไม่ได้พูดถึงเขตแดนและรับรองแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน
    สำหรับข้อโต้แย้งในวันที่ 17 เม.ย.ที่ไทยจะได้ขึ้นเบิกความ ก็คงต้องชี้ให้ศาลเห็นว่า ข้อต่อสู้ของกัมพูชาได้หยิบยกขึ้นมาหลายครั้งแล้ว แม้ในฝ่ายไทยจะยืนยันตลอดมาว่า ไม่มีข้อขัดแย้งที่ศาลจะต้องตีความ แต่วันนี้กัมพูชาได้โต้ว่ามีข้อขัดแย้งในการตีความคำพิพากษาและปฏิบัติตามคำพิพากษา เราจึงจำเป็นต้องให้ศาลตีความ และไทยยืนยันว่าเป็นกระทำถูกต้องและครบถ้วนแล้ว โดยได้ถอนกำลังทหารออกจากปราสาทพระวิหาร และตลอด 50 ปีที่ผ่านมา กัมพูชาไม่เคยทักท้วงเลยว่าไทยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ไทยจะต้องยืนยันในความเห็นว่า การปฏิบัติของไทยเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำตัดสิน และไม่มีประเด็นใดที่ต้องตีความแล้ว
    "เพื่อให้เข้าใจว่าทำไมปัญหาเพิ่งจะเกิดทั้งที่ผ่านมา 50 ปีแล้ว เราขอยืนยันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาเพราะกัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว และได้กั้นพื้นที่อนุรักษ์และบริหารจัดการล้ำเข้ามาในดินแดนไทยจำนวนมาก ที่ทราบกันดีคือ พื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งไทยคัดค้านในการขึ้นทะเบียน ทั้งองค์การยูเนสโกก็ได้เลื่อนให้รับรองการขึ้นทะเบียนที่นครไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นเวลา 1 ปี จนกระทั่งจะมีการพิจารณาในครั้งถัดไปที่ประเทศแคนาดา จนได้ขึ้นทะเบียน แต่พื้นที่ที่ได้ขึ้นทะเบียนเล็กลง” รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกล่าว
ปรับล่ามแปลใหม่
    ขณะที่นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเผยแพร่ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการต่อสู้คดีพื้นที่เขาพระวิหาร ให้สัมภาษณ์ว่า หลังเสร็จสิ้นการรับฟังการชี้แจงทางวาจาของฝ่ายกัมพูชาในวันแรกแล้ว คณะทำงานฝ่ายไทยและทีมที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างชาติ ได้ประชุมหารือและประเมินว่า สิ่งที่ได้รับฟังส่วนใหญ่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้  และประเด็นหลักๆ ที่ฝ่ายกัมพูชาหยิบยกมาส่วนใหญ่อยู่ในข้อเขียน สิ่งที่ฝ่ายกัมพูชาขยายเพิ่มเติมและหาข้อมูลมาโต้แย้งคือ สิ่งที่ไทยเขียนไว้ในคำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร ที่ฝ่ายไทยยื่นต่อศาลครั้งที่ 2
        รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า เท่าที่ได้หารือกันจะปรับเนื้อหาในบางประเด็น เพื่อให้เข้ากับเนื้อหาที่ฝ่ายกัมพูชาพูด เพื่อให้มีน้ำหนักที่ดีกว่า ขณะนี้มี 1 หัวข้อที่เตรียมไว้ แต่จะลดเวลาพูดลงจาก 25 เป็น 5 นาที ส่วนเวลาที่เพิ่มมาก็จะกระจายไปพูดในส่วนอื่นที่กัมพูชาให้ความสำคัญมากขึ้น โดยแผนที่จะเป็นหนึ่งบทที่ไทยจะพูด และคงมีน้ำหนักพอสมควร ขณะนี้ไทยให้น้ำหนัก 3-4 ประเด็นเท่าๆ กัน ส่วนจะเน้นประเด็นใดๆ เพิ่มขึ้นจากเวลาที่ได้ตัดบางประเด็นออกไปนั้นจะหารือกันอีกครั้ง ทั้งนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับทุกประเด็น
        ทั้งนี้ นายณัฏฐวุฒิได้กล่าวขออภัยที่การแปลระหว่างถ่ายทอดสดบางส่วนอาจจะขลุกขลักไปบ้าง แต่ในวันที่ 17 เม.ย.นี้จะปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ล่ามสามารถทำหน้าที่คนกลางในการถ่ายทอดได้ดีขึ้น
    ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจังหวัดเชียงใหม่ว่า จากการที่ฟังของฝ่ายกัมพูชาแล้วก็เป็นไปตามที่เราคาดหมาย ขอให้พี่น้องประชาชนอดใจรอ เพราะวันที่ 17 เม.ย.จะเป็นถ้อยแถลงของฝ่ายไทย ซึ่งเราจะตอบโต้ทุกประเด็น
    ถามว่า ถ้อยแถลงที่ออกมาจะทำให้หลายๆ ฝ่ายเข้าใจหรือไม่ โดยเฉพาะบริเวณชายแดนที่มีการต่อต้าน นายกฯ ตอบว่า ในการทำงานทางที่ปรึกษาและทีมทนายความ ได้ทำในเรื่องของการตอบโต้ทุกประเด็นอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องของการปกป้องอธิปไตย ก็คงต้องขอความร่วมมือในการรับฟัง และเราเองก็ต้องว่ากันในส่วนของคดีความ แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องรักษาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้ด้วย อยากให้พี่น้องประชาชนรับฟังอย่างสงบ
    เธอบอกว่า ทีมงานฝ่ายกฎหมายก็ตอบโต้ทุกประเด็นอยู่แล้ว และจากถ้อยแถลงนั้นก็คงต้องนำประเด็นต่างๆ ไปดูเพิ่มเติม ต้องเรียนพี่น้องประชาชนว่า อยากให้เชื่อมั่นว่าทีมทนายความและคณะทำงาน ทำงานและต่อสู้อย่างเต็มที่ ขอถือโอกาสนี้ให้กำลังใจกับทีมงานที่จะให้การในวันที่ 17 เม.ย.ด้วย
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์รายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ว่า กัมพูชาพยายามใช้คำว่าไทยเป็นฝ่ายเข้าไปรุกราน อันนี้คือเนื้อหาสาระในเชิงของข้อต่อสู้ที่เขาหยิบขึ้นมา สิ่งหนึ่งซึ่งต้องยอมรับก็คือว่า เขาจะมีการนำเสนอเอกสารต่างๆ ที่แสดงออกถึงจุดยืนของเขา ในแง่ของการประท้วงหรือไม่เห็นด้วยกับการแสดงจุดยืนของไทยในช่วงที่ผ่านมา แล้วก็ที่พาดพิงมาถึงรัฐบาลที่แล้ว ก็จะมีเรื่องของการขัดขวาง เรื่องมรดกโลก แล้วก็เรื่องของว่ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ก็เลยทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติมากขึ้น นี่ก็เป็นเนื้อหาที่ต้องติดตามดู
ถามเขมรมาเซ็น MOU ทำไม
    นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่ทางกัมพูชาอ้างว่าฝ่ายไทยเป็นฝ่ายรุกรานกัมพูชานั้น กองทัพ ใครต่อใครก็ยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งอันนี้เราก็พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลได้แสดงจุดยืนในอันนี้ที่ผ่านมา ก็หวังว่าพอขึ้นศาล รัฐบาลจะพูดให้ชัดเรื่องนี้ เพราะว่าเราเคยพยายามที่จะกระตุ้นให้พูดเรื่องนี้ ก็แย้งเอาไว้ในฐานะรัฐบาลดูจะมีความลังเล อาจจะเรื่องภายในประเทศ พยายามที่จะมาเล่นการเมืองกันว่า รัฐบาลที่แล้วเกิดปัญหาความสัมพันธ์ไม่ดี ข้อเท็จจริงตนคิดว่าคนไทยทุกคนยืนยันได้ว่า ประเทศไทยไม่มีแนวคิดที่จะไปรุกรานใคร  แล้วก็พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาการปะทะกันมาโดยตลอด
    "อันแรกเลยอันนี้ต้องหักล้างให้เห็นเสียก่อนว่า ไม่ได้มีการไปรุกราน แล้วก็จริงๆ แล้วการปะทะที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณนี้ แล้วก็ต้องไปหยิบถ้อยแถลงของรัฐบาลในขณะนั้นมาตลอดว่า มันเป็นเรื่องที่กัมพูชานั้นเริ่มต้นโดยการยิงอาวุธเข้ามาก่อน แล้วก็ฝ่ายไทยก็เป็นเพียงแต่การป้องกันตนเอง แล้วก็ตอบโต้กลับไปเพื่อให้สถานการณ์หยุด"
    นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่กัมพูชาอ้างว่าปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ เข้าใจไม่ตรงกัน จุดหนึ่งที่ชี้ หักล้างได้เลย ก็คือว่าไม่จริง เพราะเรามี MOU ปี 2543 อยู่ ถ้ากัมพูชาบอกว่ามันไม่สามารถปฏิบัติได้ ไม่เข้าใจ ไม่ตรงกัน แล้วมาเซ็นตกลง MOU 43 กันทำไม 
    ถามว่า จากที่ฟังถ้อยแถลงนายฮอร์ นัมฮง หรือกัมพูชา ได้ข้อมูลอะไรไปจากประเทศไทย แล้วไปใช้แก้ต่างหรือกล่าวหาวานนี้บ้างหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอบว่า ความพยายามในการที่กัมพูชาอ้างอิงถึงการเมืองไทยภายในประเทศ ตรงนี้แหละวัดใจรัฐบาลว่า รัฐบาลจะเอาความจริงไปสู้ หรือรัฐบาลจะไปเล่นการเมืองกับเขา ใช่หรือไม่ ตรงนี้เป็นหัวใจที่ต้องดูกัน
    นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากจะถามถึงท่าทีของคุณยิ่งลักษณ์ว่า ท่าทีของรัฐบาลไทยต่อการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นอย่างไร ซึ่งจุดยืนของนายกฯ และรัฐบาลไทยจะเป็นประโยชน์ และแนวทางสำหรับการต่อสู้คดีของทีมทนายไทย ถ้านายกฯ ตอบคำถามโดยบอกว่า จะคัดค้านกรณีดังกล่าวอย่างจริงจัง ตนก็จะชื่นชม แต่ถ้านายกฯ ไม่คัดค้าน ก็ขอให้ทบทวนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำของไทยในการต่อสู้คดีหรือไม่
    นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่าประเด็นหลักที่เราต้องต่อสู้คือ 1.เรื่องแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน 2.เรื่องบทปฏิบัติการณ์ 3.เรื่องการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2005 ข้อแรกที่เราต้องหักล้างในสิ่งที่เขมรพูดให้ได้ว่า ศาลไม่มีอำนาจตีความ เพราะถ้าเราหักล้างข้อนี้ได้ ศาลก็จะพิจารณาคดีต่อไปอีกไม่ได้ 
    เขาบอกว่า ศาลโลกเมื่อปี 2005 นั้น ไม่ได้ตัดสินเรื่องแผนที่ตามคำร้องสองข้อนี้เลย แต่ศาลไปตัดสินตามคำร้องทั้งสามข้อให้เขมร ดังนั้น แสดงว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้วจนจบสิ้น แม้จะมีคำประท้วง แต่ว่าเป็นการจำยอมที่จะปฏิบัติตามรั้วลวดหนามของไทยอยู่ จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้ เขมรเพิ่งจะมาไม่ยอมรับรั้วลวดหนามเมื่อตอนที่มีการฟ้องคดีนี้เท่านั้นเอง
    "เขมรก็รู้ดีว่าจะฟ้องใหม่อีกไม่ได้ เพราะไทยไม่ได้ยอมรับอำนาจศาลโลกแล้ว ดังนั้น เขมรจึงใช้วิธีการให้ศาลตีความเพื่อหวังว่าจะเอาดินแดนโดยรอบปราสาท โดยอ้างบทปฏิบัติการของคำพิพากษาอีกครั้ง อย่างเมื่อวานนี้เขมรก็พูดมั่วไปมั่วมา คนแปลภาษาก็แปลมั่วฟังไม่รู้เรื่อง ทั้งที่เรื่องที่เป็นเรื่องระดับประเทศ และคนในประเทศไทยที่เก่งกว่า 3 คนนี้ก็มีเยอะแยะ ทำไมกระทรวงการต่างประเทศไม่หาคนที่เก่งกว่านี้มาแปล" นายเทพมนตรีกล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น