วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

'ธีรยุทธ'ฉะ'แม้ว'ไม่รู้จักอิ่มทำปท.แตกแยก เมื่อ 18 มี.ค.56





'ธีรยุทธ'ฉะ'แม้ว'ไม่รู้จักอิ่มทำปท.แตกแยก

"ธีรยุทธ บุญมี" เปิดแถลงข่าววิเคราะห์การเมืองไทย สะท้อนมุมมองปชต.นักการเมือง"กูกินได้" ฉะ "ทักษิณ" ไม่รู้จักอิ่มเป็นเหตุประเทศแตกแยก เป็นเพียงผู้นำทางการตลาดมากกว่าผู้นำปชต.

             ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 18 มี.ค.  นายธีรยุทธ บุญมี ผอ.สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวการวิเคราะห์การเมืองไทยถึงแนวโน้มของวิกฤติปัจจุบันว่า วิกฤติการเมืองไทยรุนแรงเพราะการไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของอีกฝ่าย เพราะมองว่าไม่ใช่ของจริง ไม่ต้องสนใจจริงจัง เช่น ฝ่ายอนุรักษ์มองเสื้อแดงว่าไม่มีตัวตนเพราะถูกจ้างมา ไร้การศึกษา ขณะที่ฝั่งรากหญ้ามองว่านโยบายสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาทิ นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค กองทุนโครงการต่างๆ นโยบายการปราบปรามยาเสพติด ได้ช่วยคนจน เป็นการช่วยเหลือทางวัตถุโดยตรงและจริงจังแก่ชาวบ้าน


ชี้รากเหง้าปัญหาเกิดสองมาตรฐานคนเมือง-ชนบท

             นายธีรยุทธ วิเคราะห์ถึงรากเหง้าวิกฤติของปัญหาประเทศว่า 1.เกิดจากการรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป กล่าวคือรัฐเชิดชูความเป็นส่วนกลาง และกดเหยียดความเป็นอยู่เดิมทำให้เกิดความไม่เหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ความน้อยเนื้อต่ำใจในหลายๆด้านยังฝังลึก ทุกอย่างรวมศูนย์ที่รัฐ ทั้งอำนาจและทรัพยากร กระทั่งชนชั้นนำที่เข้ามามีอำนาจการเมืองล้วนหยิบฉวยใช้ประโยชน์จากรัฐทั้งสิ้น ขณะที่ชาวบ้านเกือบไม่เคยได้อะไรจากรัฐ ทั้งนี้ความไม่ชอบธรรมเนื่องจากการรวมศูนย์มากเกินไป ส่งผลในทุกมิติ อาทิ ความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้ คุณภาพชีวิต อำนาจในการใช้ทรัพยากรพื้นฐาน สุขอนามัย ประวัติศาสตร์ความภาคภูมิใจ ภาษาขนบธรรมเนียมท้องถิ่นหายไป 2.ความต่างในค่านิยม ความคิดพื้นฐานระหว่างรากหญ้ากับชนชั้นนำ ที่แตกต่างกัน ตอกย้ำความไม่เข้าใจกันเพิ่มมากขึ้น


มองเสื้อแดงหวังต้องการทรัพยากรคืน


             นายธีรยุทธ กล่าวด้วยว่า จะเข้าใจปรากฎการณ์คนเสื้อแดงได้ดีขึ้น เริ่มจากการมองทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยให้ลึกระดับโครงสร้าง โดยมองเห็นวงจรการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจการเมืองที่ซ้อนทับอยู่ คือชนบทเป็นแหล่งที่มาของทรัพยากร แรงงานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นแหล่งที่มาที่ชอบธรรมให้กับประชาธิปไตย ส่วนเมืองเป็นแหล่งผลิตทรัพยากร และเป็นผู้ใช้อำนาจประชาธิปไตย และเพื่อให้วงจรนี้ดำรงต่อไปก็มีการครอบงำชาวบ้าน โดยวาทกรรมความสำคัญของศูนย์กลาง ของประชาธิปไตยคนดี และมาตรการสุดท้ายคือการรัฐประหาร อย่างไรก็ตามชาวบ้านรู้ดีว่าอำนาจต่อรองทำให้เกิดผลประโยชน์ได้ เมื่อคนเมืองต้องการให้พวกเขาเลือกตั้ง เกิดการซื้อ-ขายเสียงอย่างเป็นระบบ การของบโครงการเข้าหมู่บ้านจึงเริ่มขึ้น ตั้งแต่ปี2521 และขยายตัวเรื่อยมา และในมุมของชาวบ้านนี่คือการแบ่งปัน ขอคืน ทรัพยากรของชาวชนบท ทั้งนี้การเกิดขึ้นของการเมืองรากหญ้าจึงเสมือนเป็นกระบวนการย้อนกลับที่จะดึงเอาอำนาจ ความมั่งคั่ง ศักดิ์ศรี ความภูมิใจ กลับคืนสู่ชนบท


อนุรักษ์นิยม-รากหญ้าครองอำนาจคนละอย่าง


              นายธีรยุทธ กล่าวว่า การเมืองไทยกำลังก่อรูปเป็น 2 ศูนย์อำนาจ คือศูนย์อำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับศูนย์อำนาจรากหญ้า ซึ่งเป็นภาวะที่น่าสนใจและน่าเป็นห่วง เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ผ่านมา เพราะภาวะ 2 ศูนย์อำนาจจะแบ่งประเทศเป็น 2 ส่วน และแต่ละส่วนมีฐานที่มั่น ที่มาความชอบธรรม การควบคุมอำนาจที่แตกต่างกัน อาทิ กลุ่มอนุรักษ์นิยมจะควบคุมสังคมในด้านความชอบธรรมจากจารีตประเพณี คุมชนชั้นกลาง ตุลาการ จิตวิญญาณ ชนชั้นกลาง ชั้นสูง ชาวบ้านที่มีความคิดแนวอนุรักษ์นิยม นามธรรมความดี ส่วนกลุ่มรากหญ้าควบคุมได้ในเชิงการบริหาร งบประมาณ การออกกฎหมาย การเลือกตั้ง ได้รับความนิยมจากชาวบ้าน รากหญ้า ชนบท นักธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น ทั้งนี้เป็นที่มาของความต่างระหว่างประชาธิปไตยกินได้ของชาวบ้านกับประชาธิปไตยดูได้ของชนชั้นสูง อย่างไรก็ตามมองว่ากลุ่มรากหญ้านับวันยิ่งขยายตัวเร็วขึ้น ขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมอยู่กับที่และยิ่งเสื่อมถอยลง


แนะทางออกระยะสั้น “ทักษิณ”อย่าเร่งเปิดเกมใช้มวลชนเผชิญหน้า

             ในส่วนของทางออกนั้น นายธีรยุทธ กล่าวว่า 1.คงไม่มีทางออกระยะใกล้ แต่ต้องมีทางออกระยะยาว เพราะความขัดแย้งลงลึกมานาน กลายเป็นปัญหาโครงสร้างทางวัฒนธรรม ประเพณี เป็นอุดมการณ์พื้นฐานของแต่ละฝ่าย 2.การขยายตัวของขั้วทักษิณ-รากหญ้า มีโอกาสทำให้เกิดการแตกร้าวในระดับโครงสร้างและสถาบันมากขึ้น อย่างไรก็ตามบ้านเมืองจะผ่านความรุนแรงไปได้อย่างน้อยช่วงหนึ่งถ้าพ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยมองเห็นว่า เวลาอยู่กับฝ่ายตน ไม่จำเป็นต้องกดดันให้มีการเผชิญหน้าของมวลชน และใช้เวลาดังกล่าวแก้ไขความไม่ถูกต้อง ซึ่งมีมาช้านานให้ดีขึ้น แต่ควรมุ่งเชิงโครงสร้างและค่านิยมที่ควรมากกว่า 3.ต้องมีการปรับกระบวนทัศน์หรือแม่บทความคิดใหม่ว่าประเทศไทยควรเป็นอย่างไร ทั้งในด้านการเมือง การปกครอง การปฏิรูปสถาบัน องค์กรสำคัญต่างๆ ทั้งหมด อาทิ รูปแบบการปกครองควรเป็นอย่างไร ควรกระจายอำนาจการตัดสินใจในทางเศรษฐกิจ การศึกษาในระดับภูมิภาค การพัฒนาทิ้งถิ่นเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไร

             “ปัญหาฝังลึกมานาน ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าถูกเอาเปรียบ ไม่มีปากเสียงมานาน ขณะที่อีกฝ่ายศรัทธาในสถาบันที่อยู่คู่บ้านเมืองมานาน ต่างฝ่ายระแวงว่าอีกฝ่ายจะล้มล้างหรือซ้ำเติมฝ่ายตน ขณะที่การขยายตัวของขั้วระบอบทักษิณ และรากหญ้า ก็มีโอกาสทำให้เกิดการแตกร้าวระดับโครงสร้างและสถาบันมากขึ้น และจะขัดแย้งรุนแรงหากขยายไปสู่สถาบันกองทัพ และศาล อย่างไรก็ตาม บ้านเมืองอาจจะผ่านความรุนแรงไปได้ หาก พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ไม่พยายามกดดันให้เกิดการเผชิญหน้าของมวลชน และใช้เวลาในการแก้ไขความไม่ถูกต้อง โดยมุ่งในเชิงโครงสร้างและค่านิยม” นายธีรยุทธ กล่าว


ไม่เห็นด้วยย้อนยุคการเมืองกษัตริย์นิยม

             นายธีรยุทธ กล่าวว่า เป็นที่ประจักษ์ชัดจากความขัดแย้งปัจจุบันว่า ได้ลุกลามไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ นักวิชาการรวมทั้งนักคิด ที่ใกล้ชิดราชสำนัก เช่น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล นพ.ประเวศ วะสี นายอานันท์ ปันยารชุน ควรสร้างการศึกษา สร้างความรู้ที่ถูกต้องว่า สถาบันกษัตริย์ควรจะดำรงอยู่ในระบบเสรีประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์อย่างไร โดยตนไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการอนุรักษ์นิยมบางส่วน ที่พยายามจะหวนกลับมายกย่องให้พระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ มีพระราชอำนาจทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการย้อนยุค โดยสถาบันพระมหากษัตริย์จะดำรงอยู่ในสังคมเสรีประชาธิปไตยและโลกยุคข่าวสารได้ยั่งยืนก็ต้องมีสถาบันที่มีสถานะเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งนอกจากจะมีหน้าที่ ภารกิจตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยแล้ว ยังมีภารกิจขนบประเพณี ทางศาสนา วัฒนธรรม และที่สังคมคาดหวัง เช่นเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นแหล่งที่มาของเกียรติยศ จริยธรรม คุณธรรม พิธีการต่างๆเป็นต้น


ปลุกร่วมประณามนโยบายประชานิยม-ไม่เชื่อ หยัน“ทักษิณ”เป็นแค่ผู้นำการตลาด

             นายธีรยุทธ กล่าวว่า นักเศรษฐศาสตร์สำคัญทั่วโลกสรุปว่านโยบายประชานิยมแม้จะมีส่วนดีในหลายด้านแต่ก็ล้มเหลวในที่สุดในทุกประเทศที่เคยใช้มา เพราะเกิดปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินเฟ้อที่รุนแรง ดังนั้นสังคมต้องช่วยกันกดดัน วิพากษ์วิจารณ์ทักษิณและพรรคเพื่อไทยที่จะพัฒนาเปลี่ยนรูปแบบนโยบายนี้ให้ไปใช้ในทิศทางที่ถูกต้อง นอกจากนี้ผู้ที่ร่วมคิดและผลักดันควรจะเป็นนักวิชาการ บุคคลทั่วไป ภาคธุรกิจ กลุ่มทุนใหญ่ ที่ไม่ยึดแนวสุดขั้วจนปฏิเสธอีกฝ่ายหนึ่ง

             นายธีรยุทธ กล่าวว่า  ที่ประเทศไทยเกิดความแตกแยกเกิดจากการซุกหุ้น การหนีภาษีและการไม่รู้จักอิ่มของพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งความจริงแล้วพ.ต.ท.ทักษิณเป็นเพียงผู้นำทางการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย  โดยไม่ได้เชื่อมั่นการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้าจริงๆ โดยจะเห็นได้จากการปราศรัยกับชาวบ้าน ที่ไม่ได้เห็นประเด็นที่เป็นโครงสร้างยั่งยืน นอกจากอ้อนขอกลับประเทศ โดยพ.ต.ท.ทักษิณมีลักษณะเป็นผู้นำการตลาดมากว่าประชาธิปไตย ที่มุ่งหวังรากหญ้าให้ซื้อสินค้าของตนเองเป็นประจำ มากกว่าสร้างรากหญ้าเป็นฐานที่มั่นของระบบเศรษฐกิจไทย

             ผู้สื่อข่าวถามกระบวนการเรียกร้องให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในขณะนี้ที่อาจส่งผลต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และการเมืองไทย แต่ยังไม่มีในการรายงานผลการวิจัยตามที่แถลงในครั้งนี้ นายธีรยุทธ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าในอนาคตจะมีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรงมากขึ้น ดังนั้นสังคมไทยต้องเปิดพื้นที่เสรีภาพในการร่วมกันรับผิดชอบประเทศในทุกมิติทุกปัญหา ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่เสรีภาพดังกล่าวที่ต้องมีการพูดถึง โดยตนจะสนับสนุนให้มีการพูดหรือวิเคราะห์ปัญหาในทางกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบเสรีประชาธิปไตย และในโลกาภิวัฒน์ เพื่อเสนอแนะหนทาง ส่วนเรื่องมาตรา 112 นั้น หากพูดในเชิงหลักการ เบื้องต้นอยากให้นักคิดนักวิชาการที่มีความรู้ในเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องสถาบันและการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ มาถกเถียงกันถึงสถานะ บทบาทหน้าที่อำนาจภารกิจให้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ตนจะออกมาพูดในเรื่องนี้โดยเฉพาะอีกครั้งในเร็วๆนี้

             “ถ้าเรื่องมาตรา 112 โดยตรงนั้น โดยส่วนตัวผมรู้สึกเป็นปลายทางของการถกเถียง ต้องให้มีการถกในหลักการใหญ่ๆให้ได้ก่อน และปัญหาเหล่านี้จะได้คำตอบ ก่อนอื่นนักกฎหมายต้องช่วยกันนิยามคำว่าพระบรมเดชานุภาพคืออะไร เพราะตอนนี้พูดกันคนละทางทั้งตำรวจ ศาล นักวิชาการ และชาวบ้าน หากไม่รู้ความหมายจะตกลงกันไม่ได้ ดังนั้นการหมิ่นที่ไม่เข้าใจชัดเจนจะถูกตีความหลากหลาย ผมมองเห็นทางหากมองภารกิจหน้าที่ของสถาบันจะรู้ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นอย่างไร และจะไม่ถูกใช้มั่วๆ หรือ ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง” นายธีรยุทธ กล่าว

             เมื่อถามต่ออีกว่า การวิเคราะห์ว่ามีหากฝ่ายการเมืองใช้หลักการตลาดในทางการเมือง ดังนั้นหากมีการใช้การตลาดในช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศไทยดั่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ สถานการณ์การเมืองจะเป็นไปอย่างไร นายธีรยุทธ กล่าวว่า ต้องถือว่าน่าผิดหวัง กล่าวคือ หากรากหญ้าสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ที่มีอำนาจเชิงงบประมาณ หากใช้เพื่อการตื่นตัวในทางอำนาจ การบริหารทรัพยากรท้องถิ่น แต่หากใช้เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ จะเกิดผลเสียที่นักเศรษฐศาสตร์วิจารณ์เรื่องประชานิยม ทำเกิดเงินเฟ้อ และเสียหายต่ออัตราแลกเปลี่ยน


มองแก้รัฐธรรมนูญเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของประเทศ

             ส่วนบรรยากาศการเมืองในปัจจุบันจะนำไปสู่การนองเลือดหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อ เกิดปัญหาเป็นระลอกๆ อย่างในช่วงปลายปีนี้ ยิ่งหากสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็เชื่อว่าจะมีฝ่ายที่ไม่ยอมร่วมลงประชามติด้วย และจะมีการรวมตัวรณรงค์เพื่อให้เกิดการยอมรับ ซึ่งถึงตอนนั้นรัฐจะไม่สามารถควบคุมได้ สุดท้ายจะมีมวลชนออกมาผลักดันในสิ่งที่ตนสนับสนุน อย่างไรก็ตามไม่คิดว่าจะมีมวลชนออกมาทั้งสองฝ่าย เพราะเชื่อว่าคนเบื่อและอ่อนล้าแล้ว ดังนั้นทุกฝ่ายต้องไม่พยายามผลักดัน ควรให้เวลาช่วยเสาะหาหนทาง เพราะเมื่อเกิดความรุนแรงย่อยๆ สถานการณ์จะไม่หยุด จนหากมีรัฐประหารอีกครั้งประเทศไทยเราจะพังอย่างเด็ดขาด ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องอย่าคิดทำ


นิรโทษกรรมคดีคตส.ไม่ง่าย เหตุบางคดีผ่านความชอบธรรม

             เมื่อถามต่อว่า เหตุใดจึงมองว่าไม่สามารถเกิดการปรองดองรอมชอมได้ในระยะเวลาอันสั้น นายธีรยุทธ กล่าวว่า หากเป็นความปรองดองที่ระบุว่าให้เขียนนิรโทษกรรมคดีความทั้งหมดที่เกิดจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)หรือให้ผ่านรัฐธรรมนูญด้วยการลงประชามติ เชื่อว่าการคัดค้านจะมีพลังพอสมควร เพราะมีปัจจัยที่สะเทือนไปถึงระบบยุติธรรม จากที่หลายคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว หากทำก็เหมือนไปล้มล้างคำพิพากษาของศาล เป็นเรื่องที่มีน้ำหนักความรุนแรงของปัญหา ประการต่อมา หากล้มล้างคดีความได้ ก็ต้องถือว่าเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษ์ที่ใช้ในการแก้ปัญหา คือ รัฐประหาร 19 ก.ย.49 เป็นเครื่องมือสุดท้าย และพลังอนุรักษ์นิยมไม่สามารถนำมาใช้ ดังนั้นฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะไม่ยอมในเรื่องนี้แน่นอน


สวมบทหมอดูทำนาย“ยิ่งลักษณ์”จะรางวัลผู้นำปท.แต่งตัวดีของโลกปีนี้

             ผู้สื่อข่าวให้ประเมินถึงการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน นายธีรยุทธ กล่าวว่า มองว่าหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยี่ยมคนต่างจังหวัดบ่อยๆ จะเป็นผลดีต่อคะแนนนิยม เพราะต้องยอมรับว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นคนที่แต่งตัวสวย ชาวบ้านเห็นแล้วชอบ เช่นเดียวกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทั้งคู่เป็นคนที่เป็นคนหนุ่มคนสาว มีการศึกษาดี

             “ผมขอเป็นหมอดูทำนายว่า คุณยิ่งลักษณ์จะติดอันดับ 1 ในผู้นำที่แต่งตัวดีที่สุดในโลกในปลายปีนี้ และจะได้คะแนนนิยมเยอะมาก เพราะคนสวยแต่งตัวดียิ้มแย้ม ชาวบ้านจะรักมาก เรียกได้ว่าเป็นยิ่งลักษณ์โฟโต้จีนิกคือ ถ่ายรูปขึ้น ผมให้กำลังใจและสนับสนุนให้ไปเยี่ยมชาวบ้านบ่อยๆจะเป็นผล เพราะคน กทม.ไม่ชอบนายกฯเท่าไร ต้องไปหาฐานที่ต่างจังหวัด ส่วนคุณอภิสิทธิ์ เคยคิดจะตั้งฉายาว่า มาร์คเมาอู้ ที่พูดจนคนเมา จึงอยากแนะนำให้คุณอภิสิทธิ์ปรับแนวทางมาเจาะประเด็นลึกๆมากกว่า และควรที่จะเขียนบทความมากกว่าให้สัมภาษณ์ในประเด็นปลีกย่อยของอีกฝ่าย” นายธีรยุทธ ระบุ


แถมบ่นคิดถึงเพื่อนเก่าควรกลับบ้านเกิดได้แล้ว 

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเริ่มเข้าเนื้อหาในการแถลงข่าวในหัวข้อ “การวิเคราะห์การเมืองไทย แนวโน้มของวิกฤตปัจจุบัน” นั้น นายธีรยุทธ กล่าวตอนหนึ่งว่า แม้ พ.ต.ท.ทักษิณหลบหนีคดีอยู่นอกประเทศ แต่ว่า 4 - 5 ปีที่ผ่านมา แต่พรรคการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชนะเลือกตั้งตลอด และขยายฐานรากหญ้าคนเสื้อแดง รวมพลไปเลือกตั้งหรือชุมนุมประท้วงได้กว้างขวาง ดังนั้นต้องถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนักการเมืองที่มีบารมีในช่วงหลังปี 2500 ร่วมกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณจะช่วยให้การเมืองไทยดีขึ้น หรือประเทศล่มจมเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันอีกพอสมควร

    “ส่วนตัวผมอยากให้คุณทักษิณกลับเมืองไทย เพราะคิดถึงเพื่อนเก่า ขาประจำซึ่งกันและกัน คุณทักษิณเคยท้าพนันผมผ่านสื่อเมื่อราวปี 2546 ว่าแกจะหลุดออกจากอำนาจ หรือเสื้อกั๊กของผมจะขาดก่อนกัน แต่ตอนนี้แกก็ออกไปจากประทเศเกือบ 6 ปีแล้ว แต่เสื้อกั๊กผมก็ขาดแล้วเหมือนกัน ถือว่าเจ๊ากัน ผมคิดว่าถ้าคุณทักษิณกลับมารับโทษ หาทางสู้คดีอย่างลูกผู้ชาย ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่เห็นใจอยากให้มีนิรโทษกรรม ผมจะช่วยถ้าหากคุณทักษิณกลับมายอมรับติดคุก เพื่อเป็นการรักษาระบบยุติธรรมของบ้านเรา” นายธีรยุทธ กล่าว
 62.8%ชี้นักการเมืองเห็นผลประโยชน์แต่ตัวเองพวกพ้อง 
 

             สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อนักการเมือง กับภารกิจเฉียบพลันที่ชาวบ้านอยากให้นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ทำเพื่อประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน  17 จังหวัดของประเทศ

             ดร.นพดล  กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ  เรื่อง เสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อนักการเมือง กับภารกิจเฉียบพลันที่ชาวบ้านอยากให้นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ทำเพื่อประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร  ตราด สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น พังงา ปัตตานีและสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,153 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 - 17 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

             ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.8 มองว่านักการเมืองมุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ในขณะที่ร้อยละ 37.2 มองว่านักการเมืองมุ่งทำงานแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน และที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามว่า กลุ่มบุคคลใดที่จริงใจช่วยแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างแท้จริงมากที่สุด (ตอบได้เพียงข้อเดียว) พบว่า ร้อยละ 45.7 ระบุไม่มีใครเลย ในขณะที่ร้อยละ 32.8 ระบุเป็นนักการเมือง ร้อยละ 19.5 ระบุเป็นข้าราชการประจำ และเพียงร้อยละ 2.0 เท่านั้นที่ระบุเป็นกลุ่มนายทุน

             อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.1 ยังคงเชื่อมั่นต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย ถึงแม้ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขัดแย้ง แตกแยกต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.7 ยังคงต้องการนักการเมืองอยู่ เพราะมองว่าสามารถช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน เป็นตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน เป็นต้น

             นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.6 ระบุถึงเวลาแล้วที่ต้องมีนักการเมืองอัศวิน หรือฮีโร่ นารีขี่ม้าขาวมาช่วยกอบกู้ความเชื่อมั่นศรัทธาของคนไทยต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย ในขณะที่ร้อยละ 19.4 มองว่า สายเกินไปแล้ว ขอให้คนไทยทำใจยอมรับสภาพให้เป็นไปตามธรรมชาติของสังคมประชาธิปไตย

             ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.2 เลยทีเดียวที่มองว่า ทั้งศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ยังคงเป็นสถาบันหลักที่จำเป็นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

             นอกจากนี้ ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกต่อนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ที่ลงพื้นที่แบบเฉียบพลัน โดยไม่แจ้งให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่รัฐของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้า พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.4 ชอบ เพราะ จะได้เห็นการทำงานที่แท้จริง ทำให้ข้าราชการตื่นตัวในการทำงาน ไม่ทำงานแบบผักชีโรยหน้า และช่วยประกอบการตัดสินใจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและรวมถึงการปรับคณะรัฐมนตรีได้ด้วย เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 32.6 ไม่ชอบ เพราะถึงไม่แจ้งก็รู้กันอยู่แล้ว เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองดูดี เป็นต้น

             เมื่อถามถึงเรื่องที่อยากให้นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่แบบเฉียบพลันไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า พบว่า ร้อยละ 77.7 ระบุอยากให้ลงพื้นที่ชุมชนที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรง ช่วยเหลือชาวบ้านให้พ้นทุกข์จากปัญหายาเสพติดจริงๆ ไม่ใช่แค่หน้าจอทีวีหรือมีผลงานในสื่อมวลชนอย่างเดียว รองลงมาคือ ร้อยละ 76.5 อยากให้นายกรัฐมนตรีตรวจราชการเจ้าหน้าที่รัฐที่บริการประชาชนรากหญ้าจำนวนมาก เช่น รถเมล์ สถานีขนส่ง โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาล กทม. สถานีตำรวจ เป็นต้น ร้อยละ 74.3 อยากให้เดินตลาดสด เดินห้าง ร้านค้าชุมชน ตรวจสอบราคาสินค้า ร้อยละ 67.3 อยากให้ตรวจสอบการทำงานป้องกันน้ำท่วม การใช้เงินเยียวยาผู้ประสบภัยของท้องถิ่นต่างๆ ร้อยละ 60.2 อยากให้ตรวจคุณภาพการศึกษาโรงเรียนต่างๆ ร้อยละ 49.5 อยากให้ลงพื้นที่ตรวจสภาพปัญหาการจราจร และที่เหลืออยากให้ลงพื้นที่ชุมชนแออัด แหล่งสลัม เข้าถึงชาวบ้าน เข้าถึงวิถีชีวิตชาวบ้าน เป็นต้น

             ในสถานการณ์การเมืองและสังคมไทยเวลานี้ ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ชาวบ้านจะยี้กับพฤติกรรมของนักการเมืองที่มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง แต่ก็ยังคงเห็นความสำคัญที่ต้องมีนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเพื่อเป็นตัวแทนช่วยบรรเทาเยียวยาพวกเขาในยามเดือดร้อน และอยากให้คนไทยลองพิจารณาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติของสังคมขนาดใหญ่ทุกประเทศทั่วโลกที่ต้องมีความขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่าง แต่มีบางประเทศที่ความขัดแย้งนั้นอาจลุกลามบานปลายไปถึงขั้นความแตกแยกรุนแรงเพราะไม่มีสถาบันที่เป็นศูนย์รวมความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชาติและไม่มีสถาบันที่เป็นหลักในระบอบประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีแนวคิดกระแสข่าวว่าจะยุบศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น

             ดร.นพดล เป็นห่วงว่า ถ้าไม่มีศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ อาจทำให้ความขัดแย้งของคนในชาติกลายเป็น “สงครามกลางเมือง” และคนไทยจะฆ่ากันเพื่อตัดสินกันเองในเรื่องความขัดแย้งทางการปกครองมากขึ้น แต่สถาบันทั้งสองเหล่านี้ต้องเป็นที่ไว้วางใจได้ของสาธารณชน และเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในเป้าหมายเพื่อลดความขัดแย้ง ผ่อนหนักผ่อนเบา และปรองดองกันบนพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมที่มักจะมีช่องทางให้เกิดสันติภาพขึ้นในสังคม จึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะกล่าวว่า “ใครที่คิดว่าตนเองไม่เคยผิดพลาด หรือไม่เคยกระทำความผิดใดๆ ก็ให้ก้าวเดินออกมาเป็นคนแรกที่จะลงโทษลงทัณฑ์นักการเมืองและผู้หลงผิดกลุ่มต่างๆ เสีย แต่ถ้าให้โอกาสพวกเขาแก้ไขปรับปรุงตัวแล้วยังทำผิดซ้ำซากหรือเป็นอันตรายต่อความสงบสุขของบ้านเมือง ก็สมควรแก่การลงโทษทัณฑ์ตามที่พวกเขาจะได้รับในกระบวนการยุติธรรม” ผลวิจัยในบางประเทศพบว่า เมื่อไม่มีสถาบันให้เป็นที่พึ่งได้ พวกเขาจะใช้กองกำลังและอาวุธเข้ามาแทนการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งในทางการเมืองและสังคม

             ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ในท่ามกลางความทุกข์ของชาวบ้านรากหญ้าของสังคมไทยเวลานี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังต้องการนักการเมืองผู้ที่เป็นอัศวินหรือฮีโร่ นารีขี่ม้าขาวมาช่วยพวกเขา แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมา กลยุทธเดิมช่วงหาเสียงเลือกตั้ง คิดใหม่ทำใหม่ ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ และการโจมตีคู่แข่งทางการเมืองว่า “ดีแต่พูด” กำลังถูกท้าทายว่า ไม่แตกต่าง ไม่มีอะไรใหม่ และจะทำให้แตกต่างไปจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ได้อย่างไร (Make Difference ?) เพราะกลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองและหน่วยงานของรัฐตั้งแต่ยอดพีระมิดจนถึงระดับหน่วยงานรัฐใกล้ชิดประชาชนยังต้องวิ่งเต้นเข้าหาศูนย์รวมอำนาจทั้งในประเทศและต่างประเทศ แทนการมุ่งมั่นทำงานหนักให้กับสาธารณชน น่าจะเอาผลงานขวัญใจมหาชนเป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าและความสำเร็จ

             ดร.นพดล ชี้ให้เห็นด้วยว่า ชาวบ้านจำนวนมากที่ยังพึ่งพาตนเองไม่ได้ในหลายเรื่องจึงได้สะท้อนออกมาในผลสำรวจถึงความต้องการให้นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ลงพื้นที่ตรวจราชการแบบเฉียบพลันไม่ต้องบอกใครล่วงหน้า เพื่อเข้าถึงความเป็นจริงในภาคปฏิบัติที่แปลงนโยบายของรัฐบาลไปสู่วิถีชีวิตของประชาชน นายกรัฐมนตรีจะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะปรับหรือแต่งตั้งใครเป็นรัฐมนตรี เพื่อรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงจะได้ไปเฟ้นหาเจ้าหน้าที่รัฐที่ “ทั้งเก่งทั้งดี” มาทำงานเสียสละช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ภาพลวงตา 

             “หรืออาจลองพิจารณา หักมุมเปลี่ยนแนวลงพื้นที่พบปะกลุ่มคนสามวัย คือ เด็กเยาวชน คนวัยทำงาน และผู้สูงอายุ ไปลองเล่นดนตรี ร้องเพลงและร่วมทำกิจกรรมแบบ คอลเลคทีฟ แอคชั่น (collective action) กับพวกเขาในบรรยากาศเบาๆ ตาม คอมมูนนิตี้มอลล์ (Community Mall) ที่ไม่มีเหล้า บุหรี่และสิ่งเสพติดร่วมกับ หน่วยงานด้านสุขภาวะ เช่น สสส. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอาจช่วยลดกระแสตึงเครียดทางสังคมและการเมืองได้บ้างในเวลานี้ เหตุเพราะเรื่องบันเทิงรื่นเริงกับวิถีของคนไทยเป็นของคู่กันมาช้านาน เพราะเมื่อคนไทยได้เห็นภาพที่ผ่อนคลายอาจช่วยทำให้คิดหาทางออกที่ดีได้กับสังคม” ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว

             จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 49.7 เป็นชาย ร้อยละ 50.3 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.9 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 40-49 ปี และ ร้อยละ 35.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 58.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 41.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 32.9 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.1 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.6 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.0 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.3 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 9.8 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น