วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2556

แก้ม.68 สู่การแก้ไขรธน.ทั้งฉบับ เมื่อ 21 มี.ค.56




แก้ม.68 สู่การแก้ไขรธน.ทั้งฉบับ


เราจะมาถอดรหัสการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราของกลุ่มส.ว.บางส่วนและส.ส.พรรคเพื่อไทยซึ่งถ้าหากได้พิจารณาอย่างถ่องแท้ก็จะเกิดความเข้าใจว่า เป็นเพียงการเปลี่ยนรูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่เป้าหมายยังคงอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอยู่ดี
ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมีอยู่ด้วยกัน 3 ร่าง คือ
1.ร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 68 เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ การเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และยกเลิกการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง และยกเลิกวรรค 2 ของมาตรา 237 โดยยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง ในกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.
        
2.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมารา 190 เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญา กับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
และ 3.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111, 112, 115, 117, 118, 120 และ มาตรา 241 และยกเลิกมาตรา 113 และ 114 โดยกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งและแก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของ สว.
วันนี้เราจะมาชำแหละการแก้ไขมาตรา 68 ซึ่งเป็นสาระสำคัญเพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ด้วยวิธีการที่ไม่ได้ยากเกินกว่าการทำความเข้าใจดังต่อไปนี้
หากพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลพรคเพื่อไทย ก็คือการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การ
กระบวนการดังกล่าวถูกอ่านเกมว่าเป็นการแก้ไขเพื่อให้อำนาจส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงไม่ต่างไปจากการแก้ไขทั้งฉบับ ทำให้นักวิชาการ ส.ส.และส.ว.5กลุ่มได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามาตรา 68 ที่ระบุว่า
มาตรา 68 บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจใน การปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้สาเหตุที่เกิดความเป็นกังวลว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ก็เป็นเพราะว่า หากเกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ จะไม่มีใครรับประกันได้ว่าส.ส.ร.จะยกร่างรัฐธรรมนูญที่ยังคงไว้ซึ่งระบบการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
ซึ่งในขณะนั้นได้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าจะต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อนที่จะไปถึงศาล หรือสามารถยื่นควบคู่กันไปที่ศาลได้โดยตรง
มาตรา 68 วรรค 2 ระบุว่าในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
แต่ทว่าในส่วนของอัยการสูงสุดกลับพิจารณาว่า การที่คณะรัฐมนตรี และสส. เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ทุกประการ และไม่ปรากฎว่า มีเนื้อหาว่าเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงยังฟังไม่ได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เข้าข่ายตามมาตรา 68 จึงเห็นสมควรไม่ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
แม้ว่าอัยการสูงสุดจะตัดสินใจไม่ส่งเรื่องไปที่ศาล แต่ก็เป็นศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยรัฐธรรมนูญแล้วพบว่าสามารถพิจารณาคำร้องได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด
วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2555 ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวใน 4 ประเด็นคือ
1. ศาลมีอำนาจรับคำร้องโดยตรงหรือไม่ ซึ่งคำวินิจฉัยระบุว่า ศาลมีอำนาจรับคำร้องโดยตรงตามมาตรา 68 ได้โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด เพราะอำนาจวินิจฉัยการกระทำผิด พิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งมีอำนาจวินิจฉัยคำร้อง เพื่อสั่งการมิให้กระทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เพราะหากปล่อยไปจะพ้นวิสัยไม่สามารถแก้ไขได้
สำหรับประเด็นที่ 2 เรื่องการแก้ไขรธน.ทั้งฉบับทำได้หรือไม่ ศาลฯ เห็นว่า รธน.ฉบับ 50 ได้ผ่านการลงประชามติจากประชาชน ควรให้ประชาชนลงมติก่อนจะแก้หรือแก้รายมาตรา ไม่ใช้การแก้ทั้งฉบับ
โดยประเด็นที่ 3 การแก้ไขมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 เป็นไปเพื่อให้มีวิธีการแก้ไขเป็นรายมาตราและปรับปรุงโครงสร้างการเมืองใหม่ให้มีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาบกพร่องในตัวรัฐธรรมนูญเอง หากพิจารณาจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้มาจากการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังที่ผ่านวาระ 2 และเตรียมลงมติในวาระ 3 ของรัฐสภา จะเห็นได้ว่ากระบวนการดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริงที่จะล้มล้างการปกครอง อีกทั้งยังไม่มีรูปธรรมเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าของผู้ร้อง
หากพิจารณาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1)วรรค 2 บัญญัติว่า ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291/11 วรรค 5 ก็ยังได้บัญญัติคุ้มกันไม่ให้กระทบสาระสำคัญของรัฐอีกชั้น อย่างไรก็ตาม หาก ส.ส.ร.ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งประธานรัฐสภาและรัฐสภาก็มีอำนาจยับยั้งให้รัฐธรรมนูญตกไปได้ และผู้ทราบการกระทำดังกล่าวยังสามารถให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามมาตรา 68 ได้
จากการพิจารณาแล้วเห็นว่า ยังไม่เพียงพอ วินิจฉัยได้ว่า เป็นการกระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ข้ออ้างทั้งหมดของผู้ร้องเป็นการคาดการณ์และความห่วงใยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังห่างไกลจะเกิดเหตุขึ้นตามที่กล่าวอ้าง จึงไม่พอฟังได้ว่า เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้
และประเด็นที่ 4 เป็นเหตุให้ยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อไม่ได้กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฯ จึงไม่มีเหตุให้ต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้ ยกคำร้อง
จากคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นว่า รัฐสภาจะเดินหน้าลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ได้หรือไม่ แล้ว 2 ตัวเลือกที่ศาลระบุว่าควรให้ประชาชนลงมติก่อนจะแก้หรือแก้รายมาตรา นั้นเป็นเพียงคำแนะนำหรือคำสั่งเท่านั้น
ทั้งนี้การจะตัดสินใจใดๆไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในวรรคที่ 3 และ 4ของมาตรา 68 ระบุถึงโทษสำหรับผู้ที่กระทำความผิด ด้วยการเดิมพันอนาคตของส.ส.และพรรคการเมืองเลยทีเดียว
มาตรา 68 วรรค 3 ระบุว่า ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้
และวรรค 4 ระบุว่า ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิด ตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว
คุณผู้ชมคงจำกันได้ว่า จากคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาล ก่อให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างฝ่ายคนเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทยโดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือคำประกาศกร้าวของนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช.บนเวทีชุมนุมคนเสื้อแดง โบนันซ่าเขาใหญ่ ให้รัฐบาลเดินหน้าโหวตวาระ 3  แต่เพียงไม่กี่อึดใจหลังจากนั้น ก็เป็นพ.ต.ท.ทักษิณ ที่วีดีโอลิงค์เข้ามาหักหน้านายจตุพร อย่างจังว่าโหวตไปก็จะถูกยื่นตีความและบรรดาส.ส. ส.ว.ในสภาก็จะมือหดเพราะไม่มีใครกล้า
ในตอนนั้นพ.ต.ท.ทักษิณ ดูจะมั่นใจว่าแนวทางการทำประชามติคือทางออกสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงขนาดบอกว่าเป็นเรื่องหมูๆ แต่ท้ายที่สุดก็เงียบหายไป เพราะเงื่อนไขผู้ออกมาใช้สิทธิกว่า24 ล้านเสียงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จนกระทั่งในวันนี้ จึงเปลี่ยนมาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยล็อกเป้าไปที่มาตรา 68 เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดิมคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
โดยก่อนหน้าที่ส.ส.และส.ว.บางส่วนจะลงชื่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา พ.ต.ท.ทักษิณได้ส่งสัญญาณมายังการประชุมพรรคเพื่อไทย 2 สัปดาห์ติดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 3 ขอให้ค้างอยู่ในวาระ 3 ไปก่อน โดยระหว่างนี้สามารถแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราไปก่อนได้ โดยให้ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยให้แก้ไขมาตรา 190 มาตรา 68 และมาตรา 237 ผลักดันเข้าสู่สภาไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น