วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

กลุ่ม 40 สว.ขวางแก้ รธน.รายมาตรา เมื่อ 20 มี.ค. 56




สมาชิกกลุ่ม 40 สว. ขัดขวางแก้ รธน.รายมาตรา โดยเสนอยื่นศาล รธน.ส่อที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 122  หรือไม่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวหลังจากนี้ภายใน 7 วัน จะบรรจุร่างแก้ไข รธน.ในระเบียบวาระต่อไป ส่วนจะถูกนำมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ขึ้นอยู่กับสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้พิจารณา
               20 มี.ค. 56 นายไพบูลย์ นิติตะวัน สว.สรรหา หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม 40 สว. เปิดเผยว่าหลังจากการยื่นเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราของกลุ่ม สว. และ สส.พรรครัฐบาลแล้ว ทางกลุ่มได้นัดประชุมที่โรงแรมรอยัลปริ้นเซส หลานหลวง เวลา 18.00 น. เพื่อปรึกษาหารือถึงประเด็นดังกล่าว ส่วนตัวมองว่าการยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวส่อที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ว่าด้วยการทำหน้าที่ที่ต้องปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยเฉพาะ มาตรา 68 ที่แก้ไขเพื่อเปิดช่องให้มีการเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เข้ามายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ โดยการลดอำนาจเต็มของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมาพิจารณา และ มาตราที่เกี่ยวข้องกับ สว. ที่จะแก้ไขให้มีเฉพาะ สว.เลือกตั้งเท่านั้น ตามที่ทราบการเลือกตั้งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ของ สส.พรรครัฐบาล ดังนั้นเมื่อให้สว.มาจากการเลือกตั้ง จะทำให้กลายเป็น สว.ของพรรครัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อเป็นเช่นนั้น จะเท่ากับเป็นการเปิดทางให้มีการพิจารณาถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ที่ขณะนี้ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลรัฐบาล ดังนั้นเมื่อพิจารณาทั้ง 2 มาตราดังกล่าวเท่ากับเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับฝ่ายรัฐบาล ส่วนจะมีการดำเนินการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเมื่อใดนั้น จะแถลงให้ทราบอีกครั้ง
                ขณะที่ เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา นายดิเรก ถึงฝั่ง สว.นนทบุรี, นายประสิทธิ โพธสุธน สว.สุพรรณบุรี พร้อมด้วยนายอุดมเดช รัตนเสถียร สส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ได้นำสว. และ สส. พรรคร่วมรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา รวม 3 ประเด็น คือ การยุบพรรคการเมือง, ที่มาของสว. และการลงนามข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาล ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา
               นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่าหลังจากนี้ภายใน 7 วัน ตามข้อบังคับหลังตรวจสอบความถูกต้องของการลงลายมือชื่อ และมีการพิจารณาบรรจุในระเบียบวาระต่อไป ส่วนจะถูกนำมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ขึ้นอยู่กับสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้พิจารณา อย่างไรก็ตามการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทั้ง 3 ประเด็นที่เสนอเข้ามาใหม่โดยที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ยังคาอยู่ในระเบียบวาระนั้น ถือว่าทำได้ โดยไม่มีปัญหาข้อขัดแย้งทางกฎหมาย ส่วนการพิจารณาบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเป็นไปตามหน้าที่ประธานรัฐสภาที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด โดยตนไม่ทราบว่าเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ สไกป์มายังที่ประชุมพรรคเพื่อไทย
               “ส่วนตัวผมมองว่าการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราขณะนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะมีไม่กี่มาตราเท่านั้น อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขทุกเวลาอยู่แล้ว ถ้ามีคนเสนอและถูกต้องตามรัฐธรรมนูญผมก็ต้องดำเนินการ ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราไม่เหมาะสม และมีประโยชน์ต่างตอบแทน เป็นเพียงการมองต่างมุมเท่านั้นนายสมศักดิ์ กล่าว
               นายอุดมเดช กล่าวว่า มี สส.พรรคร่วมรัฐบาลร่วมลงชื่อสนับสนุนการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 248 คน ส่วนจำนวนของ สว.ที่ร่วมลงชื่อนั้น ทราบว่ามีจำนวนไม่เท่ากัน กล่าวคือ มาตรา 190 มีผู้ลงชื่อ 62 คน, มาตรา 237 มีผู้ลงชื่อ 60 คน ส่วนมาตราที่แก้ไขเกี่ยวกับ สว. ให้มีที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 200 คน มี สว.ลงชื่อ 50 คน เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเด็นที่อาจจะถูกมองว่าทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง ส่วนปฏิทินการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่า ภายในต้นเดือนเมษายน จะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา จากนั้นจะเป็นการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยประเด็นดังกล่าวจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพียงคณะเดียว หรือแยกเป็น 3 คณะตามประเด็นที่เสนอให้แก้ไข
               นายอุดมเดช กล่าวต่อว่า การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการร่วมฯ จะทำในสมัยปิดประชุม ส่วนจะนำกลับมาพิจารณาวาระ 2 เมื่อใดนั้น ขึ้นอยู่กับการทำงานของกรรมาธิการฯ เบื้องต้นหากพิจารณาแล้วเสร็จเร็วอาจจะนำกลับมาพิจารณาและลงมติในคราวที่มีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ที่ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2557 ส่วนระยะเวลาที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จตอบไม่ได้ แต่อาจจะราวๆ เดือนธันวาคมนี้ จากนั้นจะมีการเสนอร่าง พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ที่ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราได้แล้วรัฐบาลไม่จำเป็นต้องยุบสภา ตามที่อาจจะมีเสียงนกเสียงกาเรียกร้อง เพราะอย่างสมัยที่ นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ยังไม่ยุบสภาเมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 ประกาศใช้
               นายอุดมเดช ยังกล่าวถึงประเด็นที่กลุ่ม 40 สว.เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ มาตราที่เกี่ยวกับ สว. เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามมาตรา 122 หรือไม่ว่า เป็นเรื่องคนที่คิดจะขัดขวางก็คิดหาช่องทางขัดขวาง เบื้องต้นนั้นผู้ที่ดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้ศึกษาข้อกฎหมายมาพอสมควรแล้ว หากจะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาอีกพวกตนคงไม่ไปโต้แย้งอะไร ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าแก้ไขมาตรา 68 เพื่อทอนอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ตนอยากถามว่าคราวที่ผ่านมาทำไมไม่มองว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจเกินบ้าง
               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการยื่นเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว นายอุดมเดช ได้เข้าหารือกับนายดิเรก ที่ห้องทำงานของคณะกรรมาธิการปกครอง วุฒิสภา อาคารรัฐสภา 2 เป็นเวลา 5 นาที จากนั้นได้พานายดิเรก และนายประภัตร เข้าพบนายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลก่อนที่จะออกมาร่วมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา โดยการยื่นร่างดังกล่าวเป็นที่น่าสังเกตว่า ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับที่มาของ สว. ได้ให้นายอุดมเดช เป็นผู้ยื่นเสนอ
               ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสาระสำคัญร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอดังกล่าว ได้แยกยื่นเป็น 3 ฉบับ โดยได้แยกประเด็นและมาตราที่เสนอแก้ไข ซึ่งฉบับแรก ประเด็นการยุบพรรคการเมืองและการวินิจฉัยอำนาจรับเรื่องตรวจสอบกรณีบุคคลหรือพรรคการเมืองกระทำความผิดเพื่อล้มล้างการปกครอง โดยมีทั้งหมด 5 มาตรา ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ เสนอแก้ไขมาตรา 68 โดยได้มีการแก้ไข ห้ามไม่ให้บุคคลใช้สิทธิเสรีภาพตามหมวด 3 ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำความผิดดังกล่าว และมีผู้ทราบการกระทำดังกล่าวมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่ออัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่ามีกระทำดังกล่าวจริง ให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำ โดยไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำผิด และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกการกระทำที่ทำผิด ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้
               ส่วนมาตรา 237 ได้มีการแก้ไขโดยให้ตัดวรรคสอง ที่ว่าด้วยการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง เป็นเวลา 5 ปีออกทั้งหมด นอกจากนั้นแล้วร่างแก้ไขฉบับดังกล่าวได้ระบุคืนสิทธิ์ทางการเมืองให้กับผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีที่ผ่านมาด้วย
               ฉบับที่ 2 เป็นการแก้ไข มาตรา 190 โดยได้ตัดประเด็นการนำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคม รวมถึงที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ ออกจากการนำเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ นอกจากนั้นได้กำหนดให้มีการออกกฎหมายตามมาตรา 190 ภายใน 1 ปี
               ฉบับที่ 3 ว่าด้วยที่มาของ สว. ได้มีการแก้ไขให้ สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จำนวน 200 คน โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และอนุญาตให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว. สามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และ สว. และมีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี อนึ่งในร่างแก้ไขดังกล่าวได้ให้สิทธิ์ สว.สรรหาที่ยังคงเหลือวาระดำรงตำแหน่งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไปจนกว่าครบวาระตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม 

เปิดตารางเวลาแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา
              ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่สมาชิกรัฐสภา 303 คน ได้ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยื่นเสนอญัตติเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาแล้ว ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553ว่าด้วยการเสนอและการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดไว้ว่า ให้ประธานรัฐสภาตรวจสอบความถูกต้องของผู้ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนั้นให้บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาภายใน 15 วันนับตั้งแต่ได้รับญัตติโดยต้องทำภายในสมัยประชุมที่มีผู้ยื่นเสนอ
              ทั้งนี้นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่าจะใช้เวลาตรวจสอบและจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเพื่อพิจารณาภายใน 7 วัน เบื้องต้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า จะนำญัตติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราดังกล่าว พิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภาช่วงวันที่ 1- 2 เดือนเมษายนนี้ และจะมีการเปิดอภิปรายโดยมีการถ่ายทอดสด จากนั้นเมื่อที่ประชุมร่วมรัฐสภารับหลักการวาระหนึ่ง โดยใช้เกณฑ์เสียงรับหลักการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่
              จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาวาระที่สอง โดยตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาโดยมีจำนวนกรรมาธิการฯ ไม่เกิน 45 คน และให้สิทธิ์สมาชิกรัฐสภาที่เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเสนอคำแปรญัตติล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันรับหลักการวาระแรก โดยการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ จะเกิดขึ้นในช่วงของการปิดสมัยประชุมสภา หรือเกือบ 3 เดือน ทั้งนี้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดช่วงระยะเวลาการทำงาน ในประเด็นดังกล่าวนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ว่า การพิจารณาเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับเนื้อหาและมาตราที่พิจารณา อย่างไรก็ตามในวันที่ 28 พ.ค. นี้จะมีการเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระรราชบัญญัตติงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 โดยหากเวลาพิจารณาเหลือ ก็จะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตราที่ได้มีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการแล้วเสร็จ มาพิจารณาเป็นรายมาตราแล้วให้รอไว้ 15 วันก่อนลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในวาระสาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น