วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

วันนี้รัฐเข้าถูกซอย...จุดอ่อนขององค์กรลับคือ "เสียลับ" เมื่อ 4 มี.ค.56



วันนี้รัฐเข้าถูกซอย...จุดอ่อนขององค์กรลับคือ "เสียลับ"



"ผมเคยบอกก่อนหน้านี้ว่าการดึงมาเลย์เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาภาคใต้ เท่ากับเราไปถึงวงเวียนแล้ว แต่จะเข้าถูกซอยหรือเปล่าต้องรอดูต่อไป วันนี้เมื่อรัฐบาลไปทำข้อตกลงพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็น ต้องบอกว่าเราเข้าถูกซอยแล้ว เพียงแต่ยังมีซอยย่อยอีกหลายซอยที่เราต้องเข้าไปอีก"
samrej
          เป็นคำกล่าวของ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้ที่เปิดประเด็นผ่านงานวิจัยของตนเองเมื่อหลายปีก่อนว่า กลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต คือผู้อยู่เบื้องหลังสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในทศวรรษปัจจุบัน
          เมื่อครั้งที่งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ใหม่ๆ พล.อ.สำเร็จ ถูกวิพากษ์วิจารณ์และท้าทายทฤษฎีของเขาอย่างหนักหน่วง แต่เขาก็ยังเดินหน้าต่อไป กระทั่งจัดทำแผนผังโครงสร้างของกลุ่มปฏิบัติการความรุนแรงที่ชายแดนใต้ และพูดคุยกับบุคคลต่างๆ ที่อยู่ในโครงสร้างมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3,000 คน!
          เมื่อรัฐบาลตัดสินใจลงนามในข้อตกลงริเริ่มการพูดคุยสันติภาพ พล.อ.สำเร็จ จึงบอกว่า รู้สึกดีใจและหายเหนื่อยกับสิ่งที่ได้ทุ่มเททำมานานถึง 7-8 ปี
          เขาให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ฮัสซัน ตอยิบ ที่ร่วมลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งบางฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าเป็นอดีตแกนนำพูโลสายเก่า ไม่ใช่บีอาร์เอ็น จึงไม่น่ามีอิทธิพลกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ปลายด้ามขวาน...
          "ไปเอามาจากไหนว่าเขาเป็นพูโล ฮัสซันเป็นบีอาร์เอ็นแน่นอน และอยู่ในระดับสูงด้วย เขาเป็นรุ่นแรกๆ ที่ถูกส่งไปศึกษาในต่างประเทศเพื่อกลับมาร่วมก่อการตามแผนปฏิวัติมลายูปัตตานี ฮัสซันเป็นประธานเปอมิบตี หรือประธานนักศึกษาปัตตานีประจำประเทศอินโดนีเซียคนสำคัญ"
          เมื่อถามว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพกับแกนนำนอกประเทศจะทำให้กลุ่มแนวร่วมรุ่นใหม่ซึ่งเป็นเยาวชนและชายฉกรรจ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หยุดก่อเหตุรุนแรงได้อย่างไร พล.อ.สำเร็จ ไขข้อข้องใจว่า จุดอ่อนขององค์กรลับก็คือการ "เสียลับ"
          "ต้องเข้าใจก่อนว่าขบวนการปฏิวัติมลายูปัตตานีเป็น 'องค์กรลับ' ซึ่งมีจุดแข็งมากมาย และทำให้ฝ่ายรัฐต่อสู้ด้วยยากมาก แต่จุดอ่อนขององค์กรลับก็มี ที่สำคัญที่สุดคือการ 'เสียลับ' ฉะนั้นเมื่อผู้นำองค์กรถูกเปิดตัว ขบวนการในพื้นที่จะรวนเรทันที เมื่อก่อนที่ยังไม่รู้ก็สู้กันไป แต่พอรู้แล้วจะเกิดคำถามว่าเราสู้เพื่อคนเหล่านี้หรือ สุดท้ายขบวนการก็จะอ่อนแอลง"
          พล.อ.สำเร็จ บอกว่า บุคคลสำคัญของขบวนการถ้าแยกเป็นจังหวัดจะมีอยู่ 3 คน คือ ฮัสซัน ตอยิบ เป็นผู้นำทางความคิดของนราธิวาส สะแปอิง บาซอ (อดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยา) คือผู้นำของยะลา และ อับดุลเลาะ แวมะนอ (อดีตครูใหญ่โรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือปอเนาะญิฮาด ที่เพิ่งถูก ปปง.อายัดที่ดิน) คือผู้นำของปัตตานี
          "ถ้าเราเอา 3 คนนี้มาลงนามสันติภาพกับรัฐได้ ทุกอย่างก็จะดีขึ้น" เขากล่าว 
          สอดคล้องกับแหล่งข่าวระดับสูงใน สมช.ที่บอกว่า ยุทธศาสตร์การพูดคุยสันติภาพโดยให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้น ก็คือการปิดล้อมขบวนการที่ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ให้โดดเดี่ยว เมื่อมาเลเซียไม่ให้ความช่วยเหลือกลุ่มขบวนการ และไทยเดินหน้าการพูดคุยด้วยสันติวิธี ก็จะบล็อคบทบาทของโอไอซี หรือ องค์กรความร่วมมืออิสลามได้ เมื่อถึงจุดนั้นขบวนการในพื้นที่ก็จะไม่มีแรงสนับสนุนอีกต่อไป
          "จะเห็นได้ว่าฝ่ายรัฐได้ดำเนินการมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน การดึงกลุ่มวาดะห์เข้ามาเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) ก็จะช่วยในแง่สถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง และยังใช้คอนเนคชั่นของวาดะห์บางคนประสานงานพูดคุยกับแกนนำเก่าๆ ได้อีก ทุกอย่างจึงเชื่อมโยงกันหมด"
          "ฉะนั้นเมื่อมาเลย์ประกาศไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง ไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน และไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มาเลเซียในการหลบหนีพักพิง กลุ่มขบวนการในพื้นที่ก็เหมือนถูกบีบให้เคลื่อนไหวได้แคบลง ขณะที่มาเลย์ก็จะเป็นหนึ่งเสียงสำคัญในการช่วยไทยในโอไอซี รวมทั้งอินโดนีเซียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านอาเซียนด้วยกัน เมื่อเราบล็อคโอไอซีได้ บล็อคยูเอ็นได้ (องค์การสหประชาชาติ) ก็จะเหลือเพียงขบวนการที่เป็นเด็กหนุ่มในพื้นที่เท่านั้น"
          แหล่งข่าวจาก สมช.กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มที่ต้องการวางปืน รัฐก็จะมีมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) รองรับให้ ส่วนกลุ่มที่ยังเลือกใช้ความรุนแรง ก็ต้องสู้กับกองกำลังประจำถิ่น ทั้งทหารพราน และกองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร.15) ซึ่งบรรจุกำลังพลเอาไว้เต็มอัตราเรียบร้อยแล้ว แผนถอนทหารจากกองทัพภาคที่ 1-2-3 ก็จะเดินหน้าต่อไป
          นี่คือสาเหตุของความเชื่อมั่นที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงกับเคยลั่นวาจาเอาไว้ที่ค่ายสิรินธร ระหว่างการประชุมลับของกองอำนวยการรักษความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ปัญหาใต้น่าจะจบภายในปีนี้!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น