วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556

พันธกิจผู้ว่าฯกทม. : บทบรรณาธิการประจำวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2556




พันธกิจผู้ว่าฯกทม.

พันธกิจผู้ว่าฯกทม. : บทบรรณาธิการประจำวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2556

                การหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ตลอดเวลา 1 เดือนเศษ ที่ผ่านมา อาจเรียกได้ว่า ชาวกรุงเทพฯ แทบจะสำลักความฝันกันเลยทีเดียว เพราะผู้สมัครหลายราย โดยเฉพาะที่เป็นคู่แคนดิเดตที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นคู่ชิงชัยที่แท้จริง ได้นำเสนอแนวนโยบายใหม่กันรายละหลายสิบเรื่อง มีตั้งแต่ระดับที่สามารถลงมือทำได้ในระดับท้องถิ่นขึ้นไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ที่จะต้องแสวงหาความร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมทั้งต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาล ผู้สมัครบางคนไปหาเสียงในพื้นที่หนึ่งก็นำเสนอนโยบายเรื่องหนึ่ง พอไปอีกเขตก็มีความฝันแปลกใหม่ไปปลุกเร้าผู้คนอีกแบบหนึ่ง

                ดังกล่าวมา ถือเป็นการ "นำเสนอ" เหมือนกับการตีฆ้องร้องป่าวให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าของตน หรือในทางการสื่อสาร ก็ต้องเรียกว่า เป็นการสื่อสารทางเดียวจากบนลงล่าง โดยที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งไม่ได้มีสิทธิ์มีส่วนในการกำหนดแนวนโยบายเช่นว่านั้นแม้แต่น้อย หากแต่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองผู้ขันอาสาน่าจะสำรวจวิจัย และวิเคราะห์เอาจากข้อมูลพื้นฐาน และสภาพแวดล้อมอันควรจะเป็น ซึ่งก็ยังถือว่า เป็นการดำเนินการที่เป็นวิทยาศาสตร์ อันควรจะใกล้เคียงกันกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

                อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาเดือนเศษ ที่ผ่านมา มีกิจกรรมที่สื่อมวลชนได้จัดคู่ขนานไปกับการหาเสียงเลือกตั้ง ได้แก่ การจัดเวทีภาคประชาชนเพื่อสะท้อนความต้องการของชุมชนไปยังผู้อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหา ซึ่งก็หมายถึงผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่นั่นเอง อันจะเห็นได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันถึงปัญหาหลักๆของมหานครแห่งนี้ ประกอบไปด้วย ปัญหาจราจรที่กลายเป็นโรคร้ายแรงเรื้อรัง ปัญหามลภาวะทั้งขยะ เสียงและควันพิษ และปัญหายาเสพติดที่กำลังลุกลามเข้าไปแทบทุกตารางนิ้วของกรุงเทพ ฯลฯ นี่ต่างหากที่พูดได้เต็มปากว่า เป็นความต้องการเร่งด่วนที่สุดที่ประชาชนปรารถนาจะเห็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เข้ามาบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้พวกเขาอย่างแท้จริง ส่วนแนวนโยบายด้านอื่นดังที่ได้หาเสียงไว้นั้น ต้องถือเป็น "วาระแห่งอนาคต" ในอันที่จะสร้างเสริมความอยู่ดีมีสุขให้แก่ประชาชนมากขึ้น กล่าวคือ เมื่อได้ลงมือแก้ปัญหาแล้ว ก็ต้องปรับปรุงพัฒนาเมืองไปพร้อมกัน

                ข้อสังเกตอีกประการก็คือ การรณรงค์หาเสียงที่ผ่านมา แม้ในสนามจะมีผู้สมัครรับเลือกตั้งมากถึง 25 คน แต่เอาเข้าจริงกลับเป็นสนามการสัประยุทธ์ที่ดุเดือดระหว่าง 2 พรรคการเมืองที่ขับเคี่ยวกันอยู่ในเวทีระดับชาติ ซึ่งทำให้บรรยากาศการเลือกผู้นำท้องถิ่นมีกลิ่นอายของความขัดแย้งทางการเมืองเข้ามาเจือปนอยู่ด้วย เช่นนี้นี่เอง ที่นับจากนี้ภาคประชาชน ประชาคมเมืองในกรุงเทพมหานครทั้งหมดทั้งมวลจะต้องเร่งลงมือติดตาม ตรวจสอบ ทวงถาม เพื่อให้นโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังและยังประโยชน์แก่คนเมืองมากที่สุด ที่สำคัญก็คือ จะเป็นแรงผลักดันให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เป็นการเมืองที่สนองตอบความต้องการของคนเมืองอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น