วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

ไฟเขียวย้าย"แกนนำพูโล"กลับเรือนจำบ้านเกิด "กิตติ อินทรสร" จ่อแม่ทัพ 4 วันอังคารที่ 05 มีนาคม 2013 เวลา 07:46 น.


ไฟเขียวย้าย"แกนนำพูโล"กลับเรือนจำบ้านเกิด "กิตติ อินทรสร" จ่อแม่ทัพ 4

วันอังคารที่ 05 มีนาคม 2013 เวลา 07:46 น.



ไฟเขียวย้าย 4 แกนนำพูโลที่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตและจำคุก 50 ปีกลับไปคุมขังยังเรือนจำบ้านเกิด เผยสอดรับความเคลื่อนไหวเจรจาสันติภาพ ขณะที่ ศอ.บต.แจงเป็นขั้นตอนตามระเบียบปกติ ด้าน สมช.เสนอต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชายแดนใต้ต่อไปอีก 3 เดือน ยอมรับเตรียมเลิก 5 อำเภอ แต่ขอใช้เป็นเงื่อนไขเจรจา "บีอาร์เอ็น" กลาโหมถกโผทหารกลางปี "พล.ต.กิตติ อินทสร" ตท.14 จ่อขึ้นแม่ทัพภาคใต้
rebel
          กรมราชทัณฑ์เตรียมย้ายนักโทษเด็ดขาดคดีกบฏแบ่งแยกราชอาณาจักร ประกอบด้วย นายดาโอ๊ะ ท่าน้ำ หรือ หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ อดีตหัวหน้าขบวนการพูโล นายบือโด หรือหะยีบือโด หรือ บาบอแม เบตง ประธานขบวนการพูโล นายอับดุลเราะห์มาน บิน อับดุลกาเดร์ สมาชิกขบวนการพูโล และ นายสะมะแอ ท่าน้ำ หรือ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ หรือ นายอิสมาแอล กัดดาฟี หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธขบวนการพูโล กลับไปคุมขังยังเรือนจำในภูมิลำเนาเดิมของแต่ละคน
          ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 4 คนนั้น ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วเมื่อปลายปี 2554 โดยให้จำคุกตลอดชีวิต นายดาโอ๊ะ ท่าน้ำ นายบือโด เบตง และ นายสะมะแอ ท่าน้ำ ส่วน นายอับดุลเราะห์มาน บิน อับดุลกาเดร์ ศาลพิพากษาจำคุก 50 ปี
          แหล่งข่าวจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันนักโทษทั้ง 4 คนถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางสงขลา ส่วนการย้ายกลับไปคุมขังต่อยังเรือนจำในภูมิลำเนานั้น เป็นความสมัครใจของนักโทษตามระเบียบการย้ายผู้ต้องขังหรือนักโทษคดีเด็ดขาดไปคุมขังยังเรือนจำตามภูมิลำเนาของนักโทษ ซึ่งล่าสุดทราบว่าทางกรมราชทัณฑ์ได้อนุมัติแล้ว โดยในส่วนของ นายดาโอ๊ะ ท่าน้ำ น่าจะไปคุมขังต่อที่เรือนจำจังหวัดปัตตานี ส่วน นายบือโด เบตง และนายสะมะแอ ท่าน้ำ น่าจะไปคุมขังต่อที่เรือนจำจังหวัดยะลา
          อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าการอนุญาตให้นักโทษทั้งหมดซึ่งเป็นอดีตแกนนำขบวนการพูโลที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนกลับไปคุมขังต่อยังเรือนจำบ้านเกิดนั้น เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กำลังริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน โดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.เพิ่งลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงการเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพกับ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการดำเนินการย้ายอดีตแกนนำพูโลกลับไปคุมขังยังเรือนจำบ้านเกิดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพูดคุยสันติภาพด้วยหรือไม่
          ที่ ศอ.บต. อ.เมือง จ.ยะลา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า หลังจากที่ สมช.ได้ลงนามริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนฝ่ายบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ที่ประเทศมาเลเซียนั้น ในส่วนของ ศอ.บต.มีบทบาทในการจัดสภาวะแวดล้อมให้กับผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐและภาคประชาสังคมได้มีพื้นที่ในการพูดคุย เพราะเชื่อมั่นว่าการพูดคุยจะนำไปสู่ความเข้าใจ ฉะนั้นหลังจากนี้ทั้ง ศอ.บต.และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะส่งเสริมให้มีพื้นที่สำหรับการรับฟังความคิดเห็น และเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อลดความขัดแย้ง
          ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เคยบอกแล้วว่าสถานการณ์ภาคใต้จะดีขึ้น ส่วนการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นถือเป็นช่องทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ทุกสมรภูมิและทุกการรบต้องมีการคุยกัน เพราะคู่ขัดแย้งต้องมีการพูดคุยกัน การลงนามในข้อตกลงพูดคุยสันติภาพถือเป็นกุญแจดอกแรก แต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย
          ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (ตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ว่า ที่ประชุมมีมติให้ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในทุกพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยกเว้น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี) ต่อไปอีก 3 เดือน โดยประกาศครั้งก่อนจะครบกำหนดในวันที่ 19 มี.ค.2556
          อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้แทน ศอ.บต.ได้เสนอพื้นที่ที่เห็นว่าควรจะยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้จำนวน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี อ.เบตง  กับ อ.กาบัง จ.ยะลา และ อ.แว้ง กับ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ซึ่งที่ประชุมได้เห็นพ้องต้องกัน เพียงแต่ต้องการให้มีการดำเนินการเป็นไปตามโรดแมป (แผนที่เดินทาง) ของ สมช.ที่ต้องนำเรื่องนี้ไปพูดคุยหารือกับทางกลุ่มบีอาร์เอ็นก่อน
          "ศอ.บต.รายงานมาว่าใน 5 อำเภอควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยยืนยันว่าพร้อมที่จะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทนได้ (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) ซึ่งคณะกรรมการฯก็เห็นด้วย เพียงแต่เราขอให้มีกระบวนการในการพูดคุยก่อน เพราะเมื่อมีการลงนามกับกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้ว ทางการไทยก็อยากดูความจริงใจของฝ่ายที่จะพูดคุยว่าเราจะสามารถดำเนินการควบคู่ไปได้อย่างไร ซึ่งคาดว่าจะนำผลการประชุมวันนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า" พล.ท.ภราดร กล่าว
kitti
ดัน "พล.ต.กิตติ อินทสร" ขึ้นแม่ทัพภาค 4
          เวลา 14.00 น.ของวันอังคารที่ 5 มี.ค.2556 พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลครั้งแรก ประจำปี 2556 เพื่อหารือเรื่องการจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารกลางปี โดยจะมี พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) และผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกเหล่าทัพเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ พล.อ.อ.สุกำพล มีนโยบายให้คณะกรรมการพิจารณาปรับย้ายฯ ส่งบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปยังกระทรวงกลาโหมภายในวันที่ 15 มี.ค.2556
          แหล่งข่าวจากกองทัพ เปิดเผยว่า บัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารระดับนายพลครั้งนี้มีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการปรับย้ายนายทหารที่ดำรงตำแหน่งหลักซึ่งกำลังจะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.2556 ให้ขึ้นครองอัตราพลเอก โดยเฉพาะตำแหน่งแม่ทัพภาคหรือเทียบเท่า ประกอบด้วย พล.ท.ชาญชัยณรงค์ ธนารุณ แม่ทัพภาคที่ 3 พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.ท.ศุภรัตน์ พัฒนาวิสุทธิ์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.)
          มีรายงานด้วยว่า ในส่วนของกองทัพภาคที่ 3 พล.ท.ชาญชัยณรงค์ เสนอชื่อ พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพน้อยที่ 3 นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 15 (ตท.15) น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 ส่วนกองทัพภาคที่ 4 พล.ท.อุดมชัย เสนอชื่อ พล.ต.กิตติ อินทสร รองแม่ทัพภาคที่ 4 (ตท.14) ขึ้นเป็นแม่ทัพแทน ขณะที่  พล.ท.ศุภรัตน์ เสนอชื่อ พล.ต.เฉลิมชัย สิทธิสาท รอง ผบ.นสศ. (ตท.15) ขึ้นเป็น ผบ.นสศ.
          สำหรับ พล.ต.กิตติ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 นั้น เป็นรองแม่ทัพอาวุโสอันดับ 1 ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มานาน และ เป็นนายทหาร ตท.14 รุ่นเดียวกับ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม รวมทั้ง พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล (ผบช.ส.) ซึ่งเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 14 และนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 30 โดยทั้งสามเป็นคณะทำงานที่จัดทำกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับแกนนำที่อ้างตัวว่าเป็นขบวนการบีอาร์เอ็น และได้ลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยที่มาเลเซีย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ก.พ.2556
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น