วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

เริ่ม‘ไร้รอยต่อ’ ปูตีกลับรถเมล์ เอ็นจีวี3พันคัน ข่าวหน้า 19 March 2556




เริ่ม‘ไร้รอยต่อ’ ปูตีกลับรถเมล์ เอ็นจีวี3พันคัน

 "ปู" เปิดงาน "Thailand 2020" ทุ่ม 2 ล้านล้านดันไทยศูนย์กลางขนส่งภูมิภาค รมว.คมนาคมชี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายประเทศ เพิ่มจีดีพีและการจ้างงาน เมล์เอ็นจีวีส่อล้ม! นายกฯ ตีกลับสั่งคมนาคมถกพลังงาน มอบ "โต้ง" หารือ กก.ลั่นกรอง ทำแผนใช้แก๊สหรือน้ำมันให้ชัดใน 2 สัปดาห์ "ชัชชาติ" โวยเปลี่ยนสเปกใช้อีดี 95 ไม่ง่าย "มอแกน สแตนลีย์" มั่นใจ ศก.ไทยแกร่งโตต่อเนื่อง
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 มีนาคม เวลา 09.00 น. นายรูเชียร์ ชาร์มา ผู้บริหารของมอร์แกน สแตนลีย์ บริษัทจัดการลงทุนชั้นนำของโลก เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทย ณ ห้องม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า
    นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า มอร์แกน สแตนลีย์มั่นใจในแนวทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาล และด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง นอกจากนี้ นายชาร์มาได้แสดงความความคิดเห็นว่า การบริหารงานของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาได้สร้างความมีเสถียรภาพมากขึ้นและมีพลังใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง ภายหลังจากการชะงักงันทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา และนโยบายที่ให้ความสำคัญแก่ประชาชนยากจนในชนบท เป็นทิศทางที่ถูกต้องในการสร้างพลังและการมีส่วนร่วมให้กับประชาชน ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
    โอกาสนี้ นายกฯ ได้ย้ำถึงแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน และความได้เปรียบของประเทศไทยในการเป็นประตูสู่ประชาคมอาเซียน พร้อมทั้งเชิญชวนให้บริษัทมอร์แกน สแตนลีย์ ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของสหรัฐอเมริกาเข้ามาลงทุนในไทย
    ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวระหว่างเป็นประธานงานเลี้ยงรับรองในพิธีเปิดนิทรรศการ “THAILAND 2020 ก้าวใหม่เชื่อมไทยสู่โลก” เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนและนักลงทุนเกี่ยวกับรายละเอียดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ตามร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ว่า รัฐบาลมีนโยบายลงทุน 2 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นศูนย์กลางของระบบการขนส่งของภูมิภาค เป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ลดต้นทุนด้านโลจิสติก ส์ ลดการเสียเชื้อเพลิง ประชาชนสามารถเดินทางไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น 
    "นี่เป็นการลงทุนครั้งใหญ่และสำคัญ จึงจัดงานนี้ เพื่อให้ประชาชนรับทราบเจตนารมณ์มาลงทุนของประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ให้เกิดอนาคตที่มั่นคงของลูกหลานต่อไป จึงขอเชิญชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชน รัฐ เอกชน แสดงความคิดเห็นทุกช่องทาง โดยรัฐบาลจะนำทุกข้อเสนอแนะมาประกอบการวางแผนของเรา” นายกฯ ระบุ
ยันลงทุน 2 ล้านล.คุ้มเพิ่มจีดีพี
    นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการลงทุนส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นของกระทรวงคมนาคม และยืนยันว่าโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทจะเป็นส่วนดีช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของประเทศลงมาได้ภายในระยะเวลา 7 ปี ประมาณ 2% ต่อจีดีพี และภายใน 10 ปี จะสามารถคืนทุน และจะมีส่วนช่วยเพิ่มสัดส่วนจีดีพี 1% ต่อจีดีพี และมีการจ้างงานเพิ่ม 5 แสนคนต่อปี
         รมว.คมนาคมกล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโครงการลงทุนพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท ห้ามยกเว้นขั้นตอนใดๆ ทั้งสิ้น และให้ทำตามปกติ ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องเป็นไปตามระเบียบอย่างเข้มข้น โดยได้เชิญองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นเข้ามาตรวจสอบ สังเกตการณ์ถึงความโปร่งใส รวมทั้งอยากให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนช่วยกันดูแลในโครงการดังกล่าวอีกด้วย
    อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะเน้นในการลดต้นทุนการขนส่ง เพราะปัจจุบันประเทศไทยใช้ถนนเป็นหลัก แต่การลงทุนครั้งนี้จะลงทุนในระบบรางให้มากถึง 80% ถนน 15% น้ำเพียง 1-2% ซึ่งจะใช้สร้างท่าเรือ ส่วนอากาศจะลงทุนของท่าอากาศยานเป็นหลัก และการบินไทย วิทยุการบิน ซึ่งเป็นบริษัทที่สามารถดูแลตัวเองได้ โดยโครงการที่สามารถทำได้ทันที จะมีทั้งรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ รถไฟรางคู่ และการขยายถนนเพิ่มเป็น 4 เลน
    นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวว่า หลังจากที่ไทยประสบกับปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจและการเงินในปี 40 เศรษฐกิจไทยได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปี 52 และเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 54 แต่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันสถานะเศรษฐกิจไทยพร้อมลงทุน ทั้งในส่วนของระบบคมนาคมขนส่งและระบบการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงของผลกระทบจากปัจจัยภายนอก และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
    นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลออกพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง นอกจากจะส่งผลดีให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลกับภาพรวมเศรษฐกิจทำให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นปีละ 1% ในช่วง 7-8 ปีข้างหน้า โดยบางปีเศรษฐกิจจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นถึงปีละ 1.3-1.5%
    ทั้งนี้ การลงทุนอาจจะส่งผลกระทบภาพลบบ้าง เช่น การทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นปีละ 0.16% แต่ยังเป็นอัตราที่ต่ำ ไม่กระทบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันจะทำให้มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากมีการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรมาลงทุน ซึ่งเป็นถือเป็นปัจจัยลบที่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจ
    น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไม่เกิน 50% จีดีพีจากปัจจุบันหนี้สาธารณะเดือน ม.ค.56 อยู่ที่ 45% ของจีดีพี เพราะเป็นการทยอยกู้ภายใน 7 ปี โดยการกู้เงินจะมีทั้งการออกพันธบัตรรัฐบาล และการออกพันธบัตรออมทรัพย์ระดมทุนจากประชาชนทั่วไปด้วย
    นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจริงๆ ของกระทรวงคมนาคมต้องใช้เงินสูงถึง 4 ล้านล้านบาท ซึ่งใช้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือต้องใช้เงินจากเงินงบประมาณ เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และการให้เอกชนร่วมลงทุน ซึ่งในส่วนนี้ สคร. ได้ผลักดันกฎหมายร่วมทุนรัฐและเอกชนฉบับใหม่ หรือพีพีพี เป็นที่เรียบร้อย อยู่รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนคล่องตัวมากขึ้นและไม่เป็นหนี้สาธารณะเพิ่ม
    นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการลงทุนขนาดใหญ่เอื้อต่อการทุจริตคอรัปชั่นสูง ดังนั้นการดำเนินการประมูลรัฐบาลต้องมีความโปร่งใส และควรเปิดให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้ว่าใครเป็นผู้ประมูลได้ ราคาเท่าไร มีการดำเนินการไปถึงไหน ซึ่งรัฐบาลควรนำโครงการทั้งหมดขึ้นเว็บไซต์ให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบรายละเอียดได้ตลอดเวลา
"ปู" สั่งรื้อสเปกเมล์ NGV ใหม่
    วันเดียวกัน นายชัชชาติเปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถเมล์เอ็นจีวีกว่า 3,000 คัน ที่รัฐบาลกำลังจัดซื้อ หลังจากนายกิตติรัตน์ระบุจะเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์อี 85 ว่า ได้หารือกับนายกิตติรัตน์แล้ว ซึ่งระบบที่พูดถึงนี้คือน้ำมันเอทานอลบัส หรืออีดี 95 เป็นเชื้อเพลิงแบบใหม่ มีส่วนผสมของเอทานอลร้อยละ 95 ที่เหลือร้อยละ 5 เป็นสารปรุงแต่ง
    "สืบเนื่องมาจากการที่นายกิตติรัตน์เดินทางไปดูงานที่ประเทศสวีเดน ทั้งมีข้อวิตกว่ารถเมล์ที่ใช้แก๊สธรรมชาติเอ็นจีวีอาจมีปัญหา หากปริมาณก๊าซไม่เพียงพอรองรับ อย่างไรก็ตามการจะเปลี่ยนสเปกรถเมล์เอ็นจีวีไปใช้น้ำมันอีดี 95 นั้น ต้องศึกษาวิจัยอีกมาก ทั้งปริมาณเชื้อเพลิงจะเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากไทยไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันดังกล่าว รวมถึงกรณีที่จะต้องปรับเปลี่ยนสเปกเครื่องยนต์ด้วย" รมว.คมนาคมระบุ
    ด้านนายกิตติรัตน์ยอมรับว่า จะมีการเปรียบเทียบดู แต่ในขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป และยังไม่นำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป
    ในช่วงบ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เรียกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ จากนั้นนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทุกวันศุกร์นายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาวาระที่จะเข้าสู่การประชุม โดยสัปดาห์นี้ นายชัชชาติได้เสนอโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 3,000 คัน ดังนั้นนายกฯ จึงเชิญนายชัชชาติ, นายกิตติรัตน์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ ซึ่งทั้งหมดในหลักการไม่มีปัญหา
    อย่างไรก็ตาม การที่จะจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีมาจะมีเรื่องของแก๊สที่จะใช้ โดยสรุปคือจะเอาพลังงานอะไรมาเป็นตัวขับเคลื่อนรถเมล์เหล่านี้ จึงให้กระทรวงคมนาคมไปคุยกับกระทรวงพลังงาน และนายกิตติรัตน์ต้องนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มีแผนรองรับในเรื่องของพลังงานให้ชัดเจน เพราะเรื่องของพลังงานที่จะนำมาขับเคลื่อนเกี่ยวโยงกับเรื่องของต้นทุน หากแก๊สลดลงต้นทุนจะแพงขึ้น ผลกระทบจะไปตกอยู่ที่ผู้บริโภค ในที่สุดจะกระทบต่อราคาค่ารถเมล์  
    "นายกฯ สั่งให้ทำแผนรองรับให้ชัด แต่ในหลักการที่จะเพิ่มจำนวนรถเมล์ไม่มีปัญหา เพราะทุกวันนี้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ประสบภาวะขาดทุนสะสม   ขณะเดียวกันนายชัชชาติต้องการที่จะเสนอแผนเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนารถเมล์ร้อนและรถเมล์ปรับอากาศ โดยทั้งหมดต้องมีการจัดระบบ และเสนอให้อยู่ในแผนเดียวกัน จึงสั่งให้นำกลับไปทำแผน โดยให้ระยะเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งนายกิตติรัตน์ก็รับไป" นายสุรนันทน์กล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น