วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2556

กล้องติดบ่า-เครื่องนับ ไฮเทค-ส่องโกง 3 มี.ค. วันที่ 03 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 11:00:26 น.




กล้องติดบ่า-เครื่องนับ ไฮเทค-ส่องโกง 3 มี.ค.

วันที่ 03 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 11:00:26 น.
  

(ที่มา:มติชนรายวัน 3 มี.ค.2556)




การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในวันที่ 3 มีนาคมนี้ ถือเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ดุเดือดที่สุดสนามหนึ่ง เพราะ 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย ฐานะผู้ท้าชิง ที่ส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ และพรรคประชาธิปัตย์ที่ส่งแชมป์เก่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รวมถึงผู้สมัครอิสระที่น่าจับตามองอีกหลายคน

นอกจากจะเป็นการกำหนดนโยบายและทิศทางของคนกรุงเทพฯในอีก 4 ปีข้างหน้าแล้ว ถือเป็นการพิสูจน์ว่าคนกรุงเทพฯยังเลือกประชาธิปัตย์ที่มีฐานเสียงในกรุงเทพฯมากที่สุด หรือจะเลือกคนหน้าใหม่อย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ ที่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทยหนุนหลังเต็มที่

สำหรับผู้สมัครอิสระรายอื่นๆ หลายคนมีแนวคิดที่หลากหลาย สร้างสรรค์ และชูนโยบายที่เป็น "ทางเลือกใหม่" อย่างน่าสนใจ

ภาวะการแข่งขันสู้ถึงขั้นแพ้ไม่ได้ ย่อมทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้อาจใช้วิธีการชกใต้เข็มขัด เล่นสกปรก และโกงการเลือกตั้ง สารพัดวิธี

ล่าสุด พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ศรส.ลต.น.) พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูต รอง ผบช.น. ดูแลความมั่นคง ในฐานะรอง ผอ.ศรส.ลต.น. พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา รอง ผบช.น. ดูแลงานสืบสวนสอบสวน และ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น.และโฆษก บช.น. ได้ร่วมประชุมและเปิดตัว "กล้องติดบ่า" สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 10 ตัว รถติดกล้องจำนวน 5 ตัว และเครื่องนับจำนวนคน 10,000 เครื่อง ที่สั่งนำเข้าจากประเทศจีน

ทาง "บช.น." นำมาใช้เพื่อหวังสกัดการโกงสารพัดวิธี และทุจริตสารพัดชนิดที่ถูกใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้

พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. และโฆษก บช.น.ได้มาอธิบายถึงที่มาที่ไปว่า สำหรับกล้อง 10 ตัว ใช้ระบบ ซีวีพีเอ็น 3G เราเตอร์ โดยได้ติดตั้งและเชื่อมต่อสัญญาณโดยใช้สัญญาณโทรศัพท์มือถือและจะรายงานทั้งภาพและเสียง ส่งมาสดๆ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ศรส.ลต.น.) โดยสามารถเก็บบันทึกภาพและเสียงได้ในระยะเวลา 30 วัน เมื่อส่งมาก็จะเก็บเข้าไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของ บช.น.ที่จะตั้งไว้

สำหรับกล้องติดรถมี 5 ตัว เป็นกล้องที่มีคุณภาพสูงสามารถซูมเข้า-ออกได้ ติดกับรถขนผู้ต้องขัง ภายในจะดัดแปลงเป็นห้องประชุมย่อยๆ เรียกว่ารถ "ทกยว" หรือทำการยุทธวิธี ความจริงมีมานานแล้ว แต่จะใช้ในภารกิจเรื่องม็อบและเป็นความลับ แต่ครั้งนี้นำมาใช้ในภารกิจเลือกตั้งจึงเปิดเผยได้ เพราะนำมาใช้เพื่อประชาสัมพันธ์ความพร้อมและการทำงานของตำรวจ

พล.ต.ต.อดุลย์ อธิบายต่อว่า "สำหรับกล้องติดคน 10 ตัว กำหนดให้แต่ละ บก. นำไปใช้ บก.ละ 1 ตัว ถือเป็นชุดจู่โจม เพื่อไปตรวจสอบจุดเสี่ยงที่อาจมีการทำผิดกฎหมาย หรือหน่วยที่มีคนเลือกตั้งจำนวนมาก เช่นเดียวกับกล้องติดรถ 5 ตัว ที่จะตระเวนไปจุดเสี่ยงต่างๆ กล้องทั้งหมดรวม 15 ตัวนั้น สามารถส่งข้อมูลสดๆ มาที่ ศรส.ลต.น.ได้ทันที หาก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. หรือ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ มาตรวจสอบ และมีเหตุผิดปกติที่จุดใดก็สามารถดูสดๆ ผ่านกล้องได้ทันที"

หลายคนสงสัยว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้จะสกัดการโกงได้หรือไม่ พล.ต.ต.อดุลย์ชี้แจงว่า เชื่อว่าการใช้กล้องทั้งคนและรถในครั้งนี้จะสามารถเก็บบันทึกภาพเหตุการณ์สำคัญได้ทั้งหมด และสามารถนำมาเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้อย่างแน่นอน

สำหรับ "เครื่องตรวจนับจำนวนคน" ปกติทุกปีไม่เคยมีการตรวจสอบ ไม่เคยมีการนับ เลยไม่รู้ว่าจำนวนที่แท้จริงนั้นเป็นเช่นไร บางครั้งมีการหย่อนบัตร 1,000 ใบ แต่ตอนนับเกินมา 1,500 ใบ แบบนี้ทุจริตแน่นอน เครื่องที่แจก พล.ต.ต.ฉันทวิทย์กำชับว่าต้องกดนับผู้ที่มาลงคะแนน และตอนนับคะแนนเสียง ทั้ง 2 ครั้งต้องตรงกัน เชื่อว่าเครื่องมือที่ตำรวจนำมาใช้จะทำให้ผู้จะทำผิด ส่อทุจริตเกิดความกลัวและไม่กล้าลงมือได้แน่นอน

"ผบช.น.ให้นโยบายว่าหากตำรวจจับการโกงเลือกตั้งได้พร้อมแจกทันที 1 แสนบาท เพื่อให้เข้มแข็งมากขึ้น เช่นเดียวกับ พล.ต.ต.รัษฎากร ยิ่งยง ผบก.น.8 ก็ประกาศจะให้เช่นกัน หากตำรวจพื้นที่ บก.น.8 จับกุมคนโกงได้ ขณะนี้ตำรวจพร้อม อีกทั้งคืนหมาหอนก่อนเลือกตั้ง ได้สั่งการให้ฝ่ายสืบสวนลงพื้นที่หาข่าวแล้ว หากพบซื้อสิทธิขายเสียงจะจับกุมทันที" พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวทิ้งท้าย

ถือเป็นอีก "ตัวช่วย" ที่จะทำให้กรุงเทพฯได้ "พ่อเมือง" ที่ผ่านการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น