วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2556

บทการเมือง ปี 2556




การเมือง

ฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม
เริ่มปี 2555 ช่วงต้นปี โฟกัสยังอยู่ที่การฟื้นฟูประเทศจากภัยธรรมชาติ รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบภัย และในขณะเดียวกันก็เริ่มวางแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการบริหารจัดการน้ำ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ขึ้นมาเป็นองค์กรกลางด้านการบริหารจัดการน้ำในประเทศ
การแก้รัฐธรรมนูญ
เมื่อปัญหาน้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย การเมืองกลับมาสนใจประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยมีภาคส่วนต่างๆ ของสังคมร่วมออกความเห็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญกันอย่างคับคั่ง กลุ่มที่แสดงออกโดดเด่นที่สุดคงเป็น คณะนิติราษฎร์ กลุ่มอาจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกัน ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้รับเสียงคัดค้านจากหน้าเก่าอย่างกลุ่มพันธมิตรฯ และหน้าใหม่ สยามประชาภิวัฒน์ รวมถึงเหตุการณ์ประท้วงในสภาถึงขั้นปาแฟ้มและยกเก้าอี้ประธานสภาจากพรรคประชาธิปัตย์ และการยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ จนสุดท้ายรัฐบาลเพื่อไทยต้องแตะเบรก หยุดพักการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ชั่วคราว
การกลับมาของบ้านเลขที่ 111
ปี 2555 ยังเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในฝั่งพรรคเพื่อไทย หลังจากกลุ่มสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ที่ถูกโทษแบนทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2550 พ้นโทษกลับเข้าสู่วงการการเมือง ผลที่เกิดขึ้นคือมีสมาชิกบางส่วนกลับเข้ามาร่วมคณะรัฐมนตรี แต่ในภาพรวมก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในพรรคเพื่อไทยมากนัก เนื่องจากอำนาจภายในพรรคยังรวมศูนย์อยู่ที่ขั้ว ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ อยู่เช่นเดิม (อ่านบทวิเคราะห์ SIU การกลับมาของบ้านเลขที่ 111 ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงที่ “หลังฉาก” และระบอบนายกรัฐมนตรีคู่ – ยิ่งลักษณ์ออกหน้า ทักษิณคุมหลัง)
กระแสต่อต้าน: ม็อบ เสธ.อ้าย
กระแสต่อต้านรัฐบาลยังมีให้เห็น นอกจากการคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญในช่วงกลางปีแล้ว ยังเกิด ม็อบ เสธ.อ้าย หรือกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ช่วงปลายปี ถึงแม้จะมีความรุนแรงเกิดขึ้นบ้างในช่วงต้น แต่ความเสียหายไม่มากนัก และสุดท้ายม็อบ เสธ.อ้าย ก็ยอมรับว่า “จุดไม่ติด” ยกเลิกการชุมนุมไปเอง ในภาพรวมแล้วถือว่ากระแสคัดค้านรัฐบาลลดลงมากเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในปี 2551-2552-2553 ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะขั้วขัดแย้งทั้งสองฝ่ายบอบช้ำและอ่อนแรง บวกกับอารมณ์ของคนทั่วไปในสังคมไทยที่เบื่อความขัดแย้งบนท้องถนน (บทวิเคราะห์ SIU บทเรียนจาก “ม็อบ เสธ.อ้าย” อุปสรรคทางการเมืองครั้งแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์)
ค้นหา “ความจริง” สลายการชุมนุม คอป. และ ศปช.
ความเคลื่อนไหวที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2553 หลังเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงจนมีผู้เสียชีวิต 90 กว่าราย ก็เริ่มปรากฏผลในปี 2555 นี้ หลังจาก คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ชุดของนายคณิต ณ นคร ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ ทำงานมาครบ 2 ปี และเผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์ในเดือนกันยายน 2555 ในอีกด้านหนึ่งก็มีคณะกรรมการอิสระที่เกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการด้านสังคมและกลุ่มเอ็นจีโอในชื่อ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายกาารชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 53 หรือ ศปช. ออกรายงานสืบสวนความจริงฉบับคู่ขนานขึ้นมาคานข้อมูล (อ่านบทวิเคราะห์ คอป. และ ศปช. กับการสถาปนา “ความจริง” ของเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53)
คดีความเรื่องการเสียชีวิตของคนเสื้อแดงในปี 2553 ก็เริ่มเห็นความคืบหน้า เมื่อศาลเริ่มตัดสินคดีหลายคดีและผลออกมาว่าการเสียชีวิตเกิดจากกระสุนของเจ้าหน้าที่รัฐ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ก็แจ้งข้อหาแก่นายอภิสิทธิ์-นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายกและรองนายกในช่วงนั้น ด้วยข้อหา “สั่งฆ่า” กลุ่มคนเสื้อแดง
ประชาธิปัตย์ยังตั้งตัวไม่ติด
หลังความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2554 ก็เกิดเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปการทำงานของพรรคทั้งจากคนนอกและคนใน (กษิต ภิรมย์พิชัย รัตตกุล) ถึงแม้เราจะเห็นความพยายามหลายๆ อย่าง เช่น การเปิดสถานี BlueSky หรือการจัดเวที “ผ่าความจริง” แต่ในภาพรวมแล้ว การปรับตัวของพรรคประชาธิปัตย์ในแง่การทำงานยังเกิดขึ้นน้อยมาก และย่อมสร้างปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขันกับพรรคเพื่อไทยในระยะยาว (อ่านบทวิเคราะห์ ครบ 1 ปี ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม?)
ฐานที่มั่นสุดท้ายของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังครองอำนาจรัฐเอาไว้ได้คือ เก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะหมดวาระและเลือกตั้งใหม่ในช่วงต้นปี 2556 และพรรคเพื่อไทยก็หมายมั่นปั้นมือจะยึดพื้นที่เมืองหลวงมาจากพรรคประชาธิปัตย์ให้จงได้ ในขณะที่ในพรรคประชาธิปัตย์เองกลับยังมีความขัดแย้งระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าคนปัจจุบัน กับขั้วอำนาจอื่นๆ ภายในพรรค จนสร้างภาวะยืดเยื้อในการประกาศตัวผู้สมัครผู้ว่ามายาวนาน

เศรษฐกิจ

ปี 2555 ที่การเมืองเริ่มนิ่ง และประเทศเริ่มเอาตัวรอดจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 เราจึงเห็นนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อไทยถูกนำมาใช้งานในทางปฏิบัติตลอดปีนี้
ธีมหลักของนโยบายเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยคือ “การกระตุ้นภาวะบริโภคในประเทศ” เพื่อชดเชยกับรายได้จากภาคการส่งออกที่ลดลงเพราะปัญหาเศรษฐกิจโลก ผนวกกับวิธีคิดตาม “ระบอบทักษิณ” ที่เน้นการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจเพื่อสร้างสภาพคล่อง และเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษี
หัวหอกของนโยบายเศรษฐกิจในรัฐบาลเพื่อไทยคือ “คู่หูเพิ่มรายได้” ได้แก่ นโยบายค่าแรง 300 บาท/เงินเดือน 15,000 บาท และ นโยบายจำนำข้าวเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร ทั้งสองนโยบายได้รับทั้งเสียงตอบรับและเสียงคัดค้านอย่างมาก โดยเฉพาะนโยบายจำนำข้าวที่ก่อให้เกิดวิวาทะครั้งสำคัญของนโยบายสาธารณะในประเทศไทย (อ่านบทวิเคราะห์ โครงการจำนำข้าว v.s. โครงการประกันรายได้ นโยบายใดที่ชาวนาได้รับประโยชน์มากที่สุด?) นโยบายทั้งหมดถือเป็นนโยบายที่ต้องรอติดตามผลในระยะกลาง (1-3 ปี)
นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่เน้นการสร้างรายได้ หรือเพิ่มสภาพคล่อง เช่น กองทุนสตรี กองทุนตั้งตัวได้ และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น รถคันแรก-บ้านหลังแรก (อ่านบทวิเคราะห์ คำเตือน! นโยบายรถคันแรกอาจกลายเป็นวิกฤตซับไพรม์ไทยในอนาคต) และรัฐบาลเองยังเตรียมแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น คมนาคม พลังงาน การจัดการน้ำ ซึ่งจะเป็นโครงการต่อเนื่องที่เริ่มเห็นผลชัดเจนในปี 2556

ต่างประเทศ

ความสัมพันธ์ที่ดีของรัฐบาลเพื่อไทยกับประเทศกัมพูชา ทำให้ความขัดแย้งเรื่องพรมแดนและปราสาทพระวิหารในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์บรรเทาลงไปในรัฐบาลนี้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าปัญหาถูกแก้ไขไปเสียทั้งหมด และความขัดแย้งย่อมกลับมาใหม่ได้เสมอ
โฟกัสด้านการต่างประเทศในปี 2555 ย้ายไปอยู่ที่เพื่อนบ้านทางฝั่งตะวันตกของไทยคือพม่า ซึ่งกำลังเปิดประเทศด้วยอัตราเร่งสูง การเยือนประเทศไทยของนางอองซานซูจี กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญของภูมิภาค และการเยือนพม่าของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญของวงการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับนานาชาติ
ในปี 2555 ประเทศไทยมีโอกาสต้อนรับผู้นำระดับโลกทั้งสหรัฐและจีน (อ่านบทวิเคราะห์ บารัค โอบามา ท้าทายอำนาจพญามังกร ชิงบทนำบนยุทธศาสตร์แห่งอาเซียน) ด้านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เองก็มีคิวเยือนมิตรประเทศอย่างถี่ยิบตลอดทั้งปี ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ของไทยกับนานาประเทศบนเวทีโลก ในภาพรวมแล้วงานด้านต่างประเทศของไทยเริ่มกลับมาคึกคัก ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับสู่ความเป็นผู้นำด้านความร่วมมือระดับเอเชียในอนาคตอันใกล้

แลหน้า การเมืองไทยปี 2556

โฟกัสของการเมืองไทยในปี 2556 น่าจะกลับไปอยู่ที่การแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง โดยรัฐบาลเพื่อไทยแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการทำประชามติเพื่อรับเสียงสนับสนุนจากประชาชน เป็นฉันทามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (อธิบายเงื่อนไขของ ‘การลงประชามติ’ ตามรัฐธรรมนูญไทย) ดังนั้นถ้าแผนการทำประชามติได้รับการผลักดันจากรัฐบาล ก็น่าจะเป็นเหตุการณ์สำคัญของวงการการเมืองไทยในปีหน้า
เสถียรภาพทางการเมืองไทยในปี 2556 น่าจะใกล้เคียงกับระดับของปี 2555 คือในภาพรวมมีเสถียรภาพดี แต่ก็มีเสียงคัดค้านและต่อต้านรัฐบาลอยู่บ้างประปราย เว้นเสียแต่ว่ามีปมความขัดแย้งสำคัญปะทุขึ้นมา เช่น การนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ หรือการกลับประเทศไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งในเบื้องต้น SIU ประเมินว่ายังมีความเป็นไปได้ในระดับต่ำ
ส่วนแนวโน้มการเมืองไทยในระยะสั้น ช่วงต้นปีคือการเลือกตั้งครั้งใหญ่ประจำปีอย่างศึกชิงชัยเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งจะเป็นการชิงชัยระหว่างผู้สมัครจากสองพรรคใหญ่ โดยมีผู้สมัครอิสระรายอื่นๆ เป็นการสร้างสีสันเท่านั้น (อ่านโครงการนโยบายเมืองหลวง Agenda Bangkok ประกอบ)
ในระยะยาวแล้ว SIU ยังเห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยถึงแม้จะบรรเทาลง แต่ปมหลักของความขัดแย้งยังไม่คลี่คลายไป
ความขัดแย้งทางการเมืองไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเพียงแค่การเมืองในระบบ หรือการเมืองบนท้องถนน แต่ยังเป็นภาวะทับถมมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาไปทีละเปลาะ และในระยะยาวแล้วมันจะเป็นการปรับตัวของสังคมไทยทั้งหมดไปสู่จุดยืนใหม่ (new normal) ดังที่เราเสนอมาแล้วในโครงการใหญ่ทั้งสองโครงการ คือ Transform Thailand (การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ) และRedefine Thailand (การปรับตัวทางสังคม-วัฒนธรรม)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น