วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

บี้ประชามติ2ล้านล. ซัดผิดกฎหมายอื้อ/ปูนัดแจงลูกหาบ เมื่อ 25 มี.ค.56


บี้ประชามติ2ล้านล. ซัดผิดกฎหมายอื้อ/ปูนัดแจงลูกหาบ



 “ยิ่งลักษณ์” ขึ้นโพเดียมสาธยายสรรพคุณกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทให้ลูกหาบเพื่อไทยเข้าใจวันประชุมใหญ่ “หมวดเจี๊ยบ” ชี้มีเอกสารประกอบอีกกว่า 200 หน้าแจงยิบ 100 โครงการ “ฝ่ายค้าน-ส.ว.” ซัดหมกเม็ดตีเช็คเปล่ากินรวบ  แนะทำประชามติเพราะสร้างภาระยาว 50 ปี “กรณ์” อัดผิดกฎหมายอื้อ ซ้ำร้ายล้าง พ.ร.บ.บริหารหนี้ยุคพี่เหลี่ยม อรรถวิชช์ชี้ “ชัชชาติ” เนื้อหอมถูกรุมตอมขอแบ่งเค้กแน่ 
เมื่อวันอาทิตย์ ยังคงมีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28-29 มีนาคมนี้ โดยนายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล ระบุว่า ได้กำหนดเวลาให้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านคร่าวๆ ฝ่ายละ 12 ชั่วโมง 30 นาที รวมเวลาประท้วง และเท่าที่ดูเนื้อหายืนยันว่าใช้เวลาเพียง 2 วันก็น่าจะเพียงพอ เพราะมีเพียง 19 มาตรา อีกทั้งในส่วน ส.ส.รัฐบาลคงอภิปรายไม่มาก แต่จะเน้นให้เวลากับรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงมากกว่า
        นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันถึงความพร้อมในการชี้แจงร่าง พ.ร.บ.กู้เงินว่า ไม่กังวลใจ เพราะรัฐบาลได้จัดนิทรรศการเพื่อชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ และได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ซึ่งประชาชนจำนวนมากให้การสนับสนุน เพราะโครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเริ่มคิด มีมาหลายยุคหลายสมัย แต่ไม่มีคนทำจริงจัง ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้ หากใช้งบปกติก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หรือมีงบประมาณเหลือค่อยทำและไม่แน่นอน แต่เมื่อออกเป็น พ.ร.บ.แล้วถือเป็นกฎหมายที่รัฐบาลต้องดำเนินการ
    ร้อยโทหญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงเอกสารร่าง พ.ร.บ.กู้เงินที่มีเพียง 4-5 หน้าว่า เป็นไปตามขั้นตอนการเสนอกฎหมายต่อสภาผู้แทนฯ และใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีทุกอย่าง โดยได้เตรียมบัญชีแนบท้ายโครงการ มีรายละเอียด 268 หน้าเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ 100 โครงการ โดยเบื้องต้นรัฐบาลได้ส่งมอบบัญชีแนบท้ายเป็นแผ่นซีดีให้สภาฯ ไปแล้ว และอยู่ระหว่างตีพิมพ์เป็นรูปเล่มเพื่อแจกจ่ายให้สมาชิกได้อ่านก่อนการพิจารณาในวาระที่ 1 และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ในชั้นกรรมาธิการ ก็สามารถซักถามหรือขอดูเอกสารลึกลงไปในแต่ละโครงการได้
         “การจัดซื้อจัดจ้างจะเป็นไปตามระเบียบพัสดุของสำนักนายกฯ เหมือน พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี และจะเพิ่มความโปร่งใสด้วยการประกาศราคากลางก่อนเปิดประมูล และภายหลังจัดซื้อจัดจ้าง ทุกหน่วยงานต้องประเมินผลแล้วทำรายงานส่งกระทรวงการคลัง และต้องจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อสภาฯ ให้ทราบความคืบหน้าของโครงการทุกสิ้นปีอีกด้วย” ร.ท.หญิงสุณิสาตอบข้อครหาที่ว่า รัฐบาลตีเช็คเปล่าเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ 
ปูแจงกล่อมลูกหาบ
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวเช่นกันว่า ในวันที่ 26 มี.ค.นี้ พรรคจะประชุมใหญ่สามัญประจำปี ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะบรรยายเรื่องวาระการพัฒนาทิศทางของประเทศไทย โดยเน้นพูดคุยกับสมาชิกให้เข้าใจถึงความจำเป็นในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านว่ามีผลดีอย่างไรกับประเทศ เป็นการสร้างอนาคตอย่างไร และจะกำชับเรื่องการประชุมสภาฯ ในวันที่ 28-29 มี.ค.ด้วย
นายพร้อมพงศ์ยังแก้ต่างกรณีถูกวิจารณ์ว่า การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเป็นการลักไก่ที่ตีเช็คเปล่าว่า ไม่จริง เพราะ พ.ร.บ.มีการพิจารณาโดยสมาชิกสภาฯ  เรียกได้ว่ามีการตรวจสอบทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ต่างจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์คงกังวล หากรัฐบาลทำโครงการนี้สำเร็จจะเกิดความเชื่อมั่นกับประชาชน ส่วนที่สงสัยเรื่องทุจริตคอรัปชั่นก็สามารถตรวจสอบได้ ยืนยันว่าไม่มีการเลหลังประเทศอย่างที่กล่าวหา  
“พรรคประชาธิปัตย์เตรียม ส.ส. 50 คนอภิปราย ก็ขอให้เน้นเสนอข้อมูลอย่างสร้างสรรค์ อย่าโจมตีจนลืมผลประโยชน์ของชาติและประชาชน อย่าให้ถึงกับที่มีสมาชิกประชาธิปัตย์มาพูดให้ฟังว่า หากโครงการสำเร็จประชาธิปัตย์จะเป็นฝ่ายค้านยาว อย่าไปกังวล ขอให้มองประโยชน์ของบ้านเมืองมากกว่าประโยชน์ทางการเมือง”
    ด้านพรรคประชาธิปัตย์ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี โฆษก ครม.เงาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคเห็นด้วยกับโครงการลงทุนปรับโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล แต่ในร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท พบว่ามีลักษณะลักไก่ยัดไส้ไม่ชัดเจน ทั้งที่เป็นการกู้เงินมากกว่าสมัยกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ของรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ถึง 4 เท่า เพราะมีระยะเวลาชำระหนี้นานถึง 50 ปี แต่กลับอ้างว่าหนี้สาธารณะจะไม่เกิน 50% ของจีดีพี โดยการกู้  2 ล้านล้านบาทจะเป็นการกู้เงินลงทุนก้อนสุดท้าย และไทยไม่สามารถกู้เงินได้อีก 
“รัฐบาลระบุจะทำให้งบสมดุลภายในปี 2560 ซึ่งพรรคกำลังพิจารณาว่าจะเสนอร่างประกบหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่กฎหมายกู้เงิน แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการหารือกับทีมกฎหมายอีกครั้ง” นายอรรถวิชช์กล่าว
           นายอรรถวิชช์ยังชี้ว่า เอกสารกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทมีเพียงแค่ 5 หน้า และ 2 หน้าหลังเป็นบัญชีแนบท้าย ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าโครงการใดจะสร้างที่ไหน เวลาใด ความยาวเท่าไหร่ เป็นการลักไก่ก่อให้เกิดการโยกงบมหาศาล โดยมีเพียงการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้อย่างกว้างๆ เท่านั้น และมีเป็นเอกสารประกอบอีกกว่า 200 หน้าให้ ส.ส.ได้พิจารณาในวันที่ 27 มี.ค. ทำให้สภาฯ ไม่มีโอกาสตรวจสอบ เพราะเมื่อกฎหมายผ่านความเห็นชอบแล้ว ก็จะไม่มีการกลับเข้าสู่สภาฯ อีก แตกต่างจากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่จะมีการตรวจสอบทุกปีว่างบที่ถูกตั้งไว้ใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แต่แรกหรือไม่ จึงเปรียบเสมือนการตีเช็คเปล่าเป็นตั๋วเดินทางเที่ยวเดียว ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตราย
เชื่อ ส.ส.รุมตอมชัชชาติ
“หากพิจารณารายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน จะมีการทำถนนแบบเส้นเลือดฝอย ใช้งบกว่า 5 แสนล้านบาท เชื่อว่านายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม จะถูก ส.ส.พรรคเพื่อไทยรุมทึ้งงบประมาณส่วนนี้แน่นอน ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะสร้างได้ทุกเส้นทางตามที่อ้าง เพราะสามารถปรับเปลี่ยนโครงการได้ตลอดเวลา” นายอรรถวิชช์กล่าวและว่า ทราบมาว่าข้าราชการกระทรวงการคลังได้นำเสนอให้แนบเอกสารประกอบ ที่ระบุรายละเอียดโครงการไว้ในบัญชีแนบท้าย แต่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.การคลัง ให้ตัดออกไปเป็นเอกสารประกอบ โดยอ้างว่าเพื่อความคล่องตัว แต่คิดว่าน่าจะทำเพื่อความคล่องคอมากกว่า
        นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษก ปชป.กล่าวถึงเงิน 2 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลจะกู้ ว่าเป็นเงินจำนวนมหาศาล หากเอาแบงก์พันมาเย็บต่อกันจะพันในจุดศูนย์กลางไปรอบโลกได้ 8 รอบ
นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ปชป. และอดีต รมว.การคลังเขียนในเฟซบุ๊กหัวข้อ วิชามารในคราบพระราชบัญญัติกู้ 2 ล้านล้านบาท ว่า 1.เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169, 170 2.ขัดการจ่ายเงินแผ่นดินตามกฎหมาย 4 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย, กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ, กฎหมายว่าด้วยการโอนงบประมาณ และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และ 3.แย่ที่สุดเข้าข่ายล้มล้าง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะที่ออกในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 
“ย้ำว่าโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนต่างๆ ประเทศไทยจำเป็นต้องมี แต่ต้องไม่ใช่ด้วยวิธีออกกฎหมายวิชามารแบบนี้ ที่เป็นการก่อหนี้นอกระบบ มาซุกไว้ยาวนาน 50 ปี ใช้เงินแค่ 7 ปี จ่ายต้นปีที่ 11 และภาระดอกเบี้ยเป็นกว่าเท่าตัวของเงินต้น” นายกรณ์ระบุและว่า ฝ่ายนักวิชาการ ฝ่ายค้าน ภาคประชาชน เตรียมเรื่องยื่นให้องค์กรอิสระตรวจสอบด้วย
นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการวางตัวผู้ร่วมอภิปราย พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทว่า วันที่ 25 มี.ค.พรรคจะประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดประเด็นอภิปราย ซึ่งพรรคได้เวลา 2 ชั่วโมง เบื้องต้นมีตนเองและนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมาอภิปราย และคาดว่าจะมีอีก 7-8 คน
แนะทำประชามติกู้
นายบุญจงกล่าวว่า รัฐบาลนี้กู้มากมายมหาศาลตั้งแต่มีประเทศไทยมา  โดยผู้กู้คือรัฐบาล ผู้ใช้คือกระทรวงคมนาคม และหากทั้งผู้กู้และผู้ใช้ตาย หนี้ก็ยังใช้ไม่หมด ตกเป็นภาระแก่ลูกหลาน ซึ่งการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ก็ไม่เคยบอกประชาชนว่าจะกู้มากขนาดนี้ ดังนั้น ควรกลับไปถามประชาชนโดยทำประชามติก่อนดีกว่า
 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.ยืนยันว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 169 อย่างชัดเจน เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณ และไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้น หากรัฐบาลเสนอกฎหมายดังกล่าวได้ จะทำให้มาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญหมดสภาพไป และหากกฎหมายผ่านความเห็นชอบ จะมี ส.ส.และ ส.ว.นำเรื่องร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่นอน
ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน มองว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทส่อเจตนาไม่บริสุทธิ์ หมกเม็ด เอาเรื่องการลงทุนและพัฒนาประเทศมาเป็นข้ออ้าง ทั้งที่เงินกู้เป็นภาระผูกพันกับคนไทยทั้งประเทศ 64 ล้านคน ต้องแบกรับหนี้สินไป 50 ปี รัฐบาลจึงควรทำเรื่องนี้ให้โปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น อาจจัดประชาพิจารณ์หรือรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง เพราะนักการเมืองมาแล้วก็ไป แต่ประชาชนต้องแบกรับผลไปตลอดชีวิต
    “เงินก้อนมหึมาไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องออกเป็นกฎหมายพิเศษ  หรือไปรื้อทิ้งและฉีกกระบวนการจัดการงบประมาณประจำปีที่มีระบบถ่วงดุลตรวจสอบ ถือเป็นการรัฐประหารทางการเงิน ที่สำคัญการลงทุนระบบโลจิสติกส์ที่รัฐบาลยกมาอ้างนั้น ก็ต้องศึกษาความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า คุ้มทุน และผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญอยู่ดี ไม่ใช่ดำเนินการก่อสร้างได้ง่ายๆ ฉะนั้นข้ออ้างจำเป็นเร่งด่วนจึงฟังไม่ขึ้น เหมือนกับโครงการบริหารจัดการน้ำภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 350,000 ล้านบาท” นายสุริยะใสกล่าว
ผู้ประสานงานกลุ่มกรีนมองว่า อาการรวบรัดจะเอาให้ได้ของรัฐบาล น่าจะมาจากใบสั่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าต้องการให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านสภาฯ โดยเร็ว แล้วประกาศยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ โดยชูนโยบายขอกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งเพื่อคุมเงิน 2 ล้านล้านบาท เพราะจุดขายหรือนโยบายเดิมส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องหาจุดขายใหม่ รวมทั้งยังไม่มีความแน่นอนเรื่องเก้าอี้นายกฯ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในเรื่องเงินกู้ 30 ล้านบาทที่อาจยากจะเป็นกรณีบกพร่องโดยสุจริต เหมือนกรณีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก่อนหน้านี้
ดันทุรังเจอคุกแน่
“หากรัฐบาลดันทุรังคงถูกนำขึ้นไปวินิจฉัยในศาลรัฐธรรมนูญ และ ครม.อาจถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะรู้ดีว่าการอนุมัติร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ขัดรัฐธรรมนูญ และเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งถือเป็นความผิดสำเร็จที่ ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกัน” นายสุริยะใสระบุ
    นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าข้อกฎหมายก็มีปัญหาอยู่เยอะ เช่นเดียวกับตัวโครงการต่างๆ ก็ค่อนข้างมีปัญหา ไม่มีความชัดเจน และจะเป็นการผลักภาระให้รัฐบาลต่อไปในอนาคต รัฐบาลต่อไปจะไม่สามารถทำโครงการอื่นๆ ได้ในเวลา 7 ปี ขณะเดียวกันหนี้สาธารณะจะขึ้นไปแตะที่ 50-55% ของจีดีพี ซึ่งยังไม่นับรวมหนี้นอกงบประมาณที่ยังไม่แน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าใด และหากในอนาคตเกิดปัญหาอื่นๆ เข้ามาก็จะทำให้หนี้สาธารณะสูงเพิ่มขึ้นอีก 
“รัฐบาลควรปรับปรุงเรื่องการทำโครงการต่างๆ โดยกู้เงินให้น้อยกว่านี้ จากที่กำหนดให้ใช้งบประมาณจากรัฐบาลถึง 50% ต้องลดให้เหลือเพียง 30% แล้วเปลี่ยนเป็นการร่วมทุนกันระหว่างรัฐและเอกชน ในสัดส่วนรัฐบาล 30% และเอกชน 20% รวมเป็น 50% เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงให้มีความยืดหยุ่น”นายตีรณกล่าว
    วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,580 คนในเรื่องดังกล่าว พบว่า 38.49% มองว่าเป็นเงินมหาศาลที่รัฐบาลนำมาใช้พัฒนาประเทศชาติและเพื่อประโยชน์ประชาชน ซึ่งต้องใช้เงินอย่างคุ้มค่าและทำได้จริง 33.89% มองว่ารัฐบาลต้องพิจารณาผลดี-ผลเสียอย่างรอบคอบ จัดสรรงบอย่างเหมาะสม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และ 27.62% เชื่อว่าจะทำให้ประเทศและประชาชนต้องแบกรับภาระเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น
    เมื่อถามถึงเหตุผลการใช้เงินกู้ไปปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานยกระดับประเทศนั้น 54.19% มองว่าสมเหตุสมผล และอีก 45.81% มองว่าไม่สมเหตุสมผล ส่วนสิ่งที่ห่วงกับการกู้เงินนั้น 58.42% มองถึงเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น 26.80% มองเรื่องความคุ้มค่าและความสำเร็จของโครงการ และ 14.78% ห่วงเรื่องหนี้ที่เพิ่มขึ้น และเมื่อถามถึงความมั่นใจในความโปร่งใสของโครงการ พบว่า 44.76% ไม่มั่นใจ 36.32% ไม่ค่อยมั่นใจ 11.51% ค่อนข้างมั่นใจ และมีเพียง 7.41% มั่นใจ
“เมื่อถามว่าโครงการจะดำเนินการได้สำเร็จหรือไม่ 48.72% บอกไม่แน่ใจ 31.03% บอกสำเร็จ และ 20.25% บอกไม่สำเร็จ และเมื่อถามถึงผลสรุปว่าเห็นด้วยกับการกู้เงินหรือไม่ พบว่า 52.07% เห็นด้วย 47.93% ไม่เห็นด้วย” ผลสำรวจระบุ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น