วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

แถนิรโทษไม่ทัน18 เม.ย.5616 March 2556




แถนิรโทษไม่ทัน18 เม.ย.5616 March 2556

"ขุนค้อน" บรรจุร่างนิรโทษกรรมฉบับ 42 ส.ส.แดง คาดไม่ทันสมัยประชุมนี้ ปธ.วิปรัฐบาลปัดเลื่อนถกสัปดาห์หน้า เผย "วรชัย" ขอเวลาหาเสียงหนุนก่อน ปชป.ยันต้านแน่ หวั่นวุ่นในสภาและสังคม บี้ "ปู" ถอดบทน้องสาวทำหน้าที่นายกฯ ระงับขัดแย้ง ศาลนัดฟังคำสั่งคดีช่างภาพอิตาลีถูกยิง 29 พ.ค.
    ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการบรรจุวาระการประชุมร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... ที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และ ส.ส.เพื่อไทย รวม 42 คนว่า ได้บรรจุเรียบร้อยแล้ว จะเป็นเรื่องที่เสนอให้พิจารณาใหม่ และอยู่ถัดจากเรื่องที่เสนอให้พิจารณาใหม่ลำดับสุดท้ายคือร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ส่วนการจะขอให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาหรือไม่ เป็นเรื่องของสมาชิกที่ต้องพิจารณา สำหรับตนไม่มีอำนาจที่จะสั่งการ ซึ่งหากไม่มีสมาชิกคนใดขอเสนอหรือเห็นด้วย เรื่องก็ยังคาไว้ โดยขณะนี้ใกล้ปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติในวันที่ 18 เม.ย.นี้ อาจจะไม่ทันพิจารณาในสมัยประชุมนี้
    ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสภาพิจารณากฎหมายนี้จะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 122 หรือไม่ ที่ห้าม ส.ส.กระทำการโดยมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ นายสมศักดิ์กล่าวว่า การเสนอกฎหมายในฐานะสมาชิกสามารถทำได้อยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญมาตรา 142 และที่สำคัญมาตรา 3 วรรคสอง ที่ระบุว่าการนิรโทษกรรมจะไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง แสดงว่านายวรชัยไม่ได้เสนอกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง 
    เมื่อถามย้ำว่า ประเด็นแกนนำยังไม่ได้ระบุว่าหมายถึงใครบ้าง และอาจต้องมีการตีความ ประธานสภาฯ กล่าวว่า ทุกคนเขารู้ว่านายวรชัยเป็นแกนนำ เพราะได้ขึ้นเป็นแกนนำบนเวที เป็นสิ่งที่ชัดเจน 
    นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ได้สอบถามนายวรชัยในเรื่องนี้แล้ว โดยนายวรชัยจะขอไปพูดคุยและชี้แจงกับเพื่อน ส.ส.ในพรรคเป็นการส่วนตัวก่อน เพราะกลัวว่าเมื่อมีการเลื่อนวาระดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาแล้ว ส.ส.จะไม่เอาด้วย ซึ่งจะค่อยๆ คุยกันไป ดังนั้นการประชุมสภาในสัปดาห์หน้าจึงจะเป็นการพิจารณากฎหมายต่างๆ ตามวาระปกติ ยังไม่ได้มีการเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณา แต่หากที่สุดแล้ว ส.ส.ส่วนใหญ่สนับสนุนนายวรชัยที่จะใช้เอกสิทธิ์เลื่อนมาพิจารณา วิปรัฐบาลเองไม่ได้ขัดข้องอะไร
    ทั้งนี้ นอกจากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของนายวรชัยที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังมีร่างของนายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อีกฉบับที่ได้ยื่นเข้ามาด้วย
     นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา กล่าวว่า สนับสนุนในแนวทางที่วิปรัฐบาลยับยั้งยังไม่ให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณา เพราะอาจจะนำไปสู่ความไม่ปรองดองได้ อีกทั้งร่างกฎหมายของนายวรชัยยังไม่ตอบโจทย์การนำไปสู่ความปรองดองได้ ซึ่งสังคมมองว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นจุดสร้างความขัดแย้งมากกว่า และถึงแม้นายวรชัยมีสิทธิ์เสนอได้ แต่ในขั้นตอนการพิจารณาอาจไม่เหมาะสม เพราะนายวรชัยเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้นในแนวทางสร้างความปรองดองควรเป็นการออกกฎหมายที่รับฟังความเห็นทุกฝ่าย 
ปชป.ยันต้านเลื่อนถกนิรโทษฯ
    ทางด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์คัดค้านแน่หากเลื่อนวาระดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา เพราะไม่เพียงทำให้สภาเกิดความวุ่นวายเท่านั้น ยังจะเป็นความวุ่นวายในสังคม ซึ่งคนจำนวนมากไม่ยอมรับแนวคิดที่จะเป็นอันตรายต่อระบบนิติรัฐ เพราะไม่ต้องการให้อนาคตเป็นเรื่องของคนที่มีอำนาจสามารถทำผิดให้เป็นถูกได้ ไม่อยากให้สังคมต้องเดินไปสู่จุดที่มีมวลชน 2 กลุ่มที่เห็นไม่ตรงกันออกมาเคลื่อนไหว จึงอยากให้รัฐบาลทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบที่ต้องดูแลบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย โดยการพูดกับผู้สนับสนุนตัวเองว่าอะไรที่สมควรทำ 
    "ขอเรียกร้องไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องระงับความขัดแย้งทั้งหมด นายกฯ ต้องทำโดยอย่าไปฟังเสียงคนที่แนะนำเพื่อหวังผลทางการเมืองอย่างเดียว ขอให้คิดถึงบ้านเมือง ขอให้วางความเป็นน้องสาว แล้วทำหน้าที่นายกฯ ของประเทศ รัฐบาลจะต้องแสดงบทบาทลดความขัดแย้ง แต่ถ้าสุดท้ายมีการเลื่อนกฎหมายนี้โดยใช้เสียงข้างมาก รัฐบาลก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะเป็นการขยับตามแนวทางของพ.ต.ท.ทักษิณ บางส่วนของพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง" นายอภิสิทธิ์ระบุ
    นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเลื่อนวาระร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาพิจารณาจะทำให้เกิดความขัดแย้ง และเป็นเงื่อนไขที่สร้างความรุนแรงขึ้นในสังคมอีกครั้ง ซึ่งคนที่เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติควรมีการไตร่ตรองพิจารณาว่าเรื่องใดเป็นเรื่องเร่งด่วนของสังคม และเรื่องใดที่จะสร้างความขัดแย้ง ซึ่งนโยบายการสร้างความปรองดองที่นายกฯ พูดอยู่ทุกวันจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากพฤติกรรมของนายกฯ และรัฐบาลตรงข้ามกับข้อเท็จจริง 
    ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ชันสูตรการเสียชีวิตของนายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารในการสลายผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่บริเวณสี่แยกศาลาแดงไปจนถึงแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหนเมื่อใด ถึงเหตุ และพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
    โดยในวันนี้พนักงานอัยการนำตัวนายมิเชล มาร์ค อายุ 58 ปี ผู้สื่อข่าววิทยุและโทรทัศน์ NOS เรดิโอแอนเทเลวิช ประจำกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เข้าเบิกความผ่านล่ามแปลภาษา สรุปว่า ได้เข้ามาทำข่าวการชุมนุมของกลุ่ม นปช. โดยในวันเกิดเหตุได้ไปดูเหตุการณ์รวมกลุ่มอยู่กับผู้สื่อข่าวต่างประเทศและผู้ชุมนุมที่บริเวณสวนลุมพินีใกล้โรงแรมรีเจนท์ ห่างจากแยกศาลาแดงประมาณ 400-500 เมตร เมื่อหันไปมองทางแยกศาลาแดงเห็นทหารในชุดเครื่องแบบพร้อมอาวุธปืนเอ็ม 16 กำลังเคลื่อนพลเข้ามา โดยในวันดังกล่าวพยานแต่งกายปกติ ไม่มีเครื่องหมายนักข่าว ไม่ได้พกกล้องวิดีโอหรือกล้องถ่ายรูป มีเพียงเครื่องบันทึกเสียงขนาดเล็กและไมโครโฟน 
    โดยขณะที่พยานยืนอยู่และทหารเคลื่อนพลเข้ามา ได้ยินเสียงปืนเป็นระยะ เห็นคนถูกยิงได้รับบาดเจ็บ พยานจึงเข้าไปหลบในที่กำบัง เห็นกระสุนปืนมาจากฝั่งเดียวกันคือมาจากฝั่งทหาร และเหตุการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น พยานไม่เห็นเหตุการณ์ขณะที่นายฟาบิโอถูกยิง เพราะพยานวิ่งหนีไปที่แยกราชประสงค์ และถูกยิงกระสุนเข้าที่ด้านหลัง มีพลเมืองดีพาไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ จึงทราบว่านายฟาบิโอถูกยิงเสียชีวิต จากนั้นถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสมิติเวช และได้ส่งกระสุนปืนที่ถูกยิงให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นกระสุนปืนเอ็ม 16 ทั้งนี้ในวันเกิดเหตุไม่เห็นชายชุดดำ
    ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนเพียงพอต่อการทำคำสั่งแล้ว จึงให้งดการไต่สวนพยานที่เหลือ และนัดฟังคำสั่งในวันที่ 29 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.
    นายคารม พลพรกลาง ทนายความญาตินายฟาบิโอ กล่าวว่า หลังจากนี้จะพานายเจฟฟี ซี จาร์บลอนสกี้ นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันที่อยู่ในเหตุการณ์ และได้ถ่ายภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้มากมาย และสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ ใช้นำไปทำเป็นสารคดี เข้าให้การกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอไว้เป็นหลักฐานเพื่อเป็นประโยชน์ในคดีนี้และคดีอื่นๆ ต่อไป
สภาบี้ปู-ครม.มาตอบกระทู้
    วันเดียวกัน นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เปิดเผยว่า ได้การหารือร่วมกับนายจารุพงศ์ เพื่อขอความร่วมมือให้คณะรัฐมนตรีมาร่วมในการประชุมสภาในวันพุธและวันพฤหัสบดี โดยเฉพาะการให้นายกฯ และรัฐมนตรี มาตอบกระทู้ถามสดของ ส.ส.ในการประชุมสภาทุกวันพฤหัสบดีแล้ว ซึ่งนายจารุพงศ์จะนำเรื่องนี้ไปชี้แจงในที่ประชุม ครม.วันที่ 19 มี.ค.นี้ ซึ่งขอความร่วมมือแค่วันพฤหัสบดีให้มาตอบกระทู้ ถ้าไม่จำเป็นอย่าได้มีภารกิจใดๆ ยกเว้นการรับแขกต่างประเทศ ไปราชการต่างประเทศ หรือติดภารกิจเข้าเฝ้าฯ ซึ่งจะติดตามผลการหารือของรัฐบาลในวันที่ 19 มี.ค.นี้ด้วย 
    เมื่อถามว่า หากนายกฯ ยังไม่ยอมมาตอบกระทู้ จะมีมาตรการดำเนินการอย่างไร นายเจริญกล่าวว่า ตามข้อบังคับเราบังคับอะไรไม่ได้ แต่ขอให้รู้บทบาทหน้าที่ เพราะตามระบอบประชาธิปไตยต้องมีการตรวจสอบกันและกัน อีกทั้งเป็นหน้าที่ของฝ่ายสภา ซึ่งขอแค่วันพฤหัสบดีเพียง 1วันเท่านั้น
    ส่วนความเคลื่อนไหวการปรับ ครม.ยิ่งลักษณ์ 4 นั้น นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นอำนาจของนายกฯ แต่เพียงผู้เดียว การพิจารณาคงต้องดูตามจังหวะเวลา ตามความเหมาะสมที่นายกรัฐมนตรีเห็นควร อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะพรรคมีคนที่มีความสามารถมากมาย 
    นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคชาติพัฒนา กล่าวถึงการปรับ ครม.ว่า เหมือนฟุตบอลที่มีการเปลี่ยนผู้เล่นกันบ้างเป็นเรื่องปกติ และการปรับ ครม.น่าจะนำไปสู่ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาล แต่รายละเอียดจะปรับอย่างไร เป็นดุลยพินิจของหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งจะรู้ว่าจุดอ่อนจุดแข็งของรัฐบาลอยู่ที่ไหน สำหรับตนยังไม่ได้รับเชิญเข้าร่วม ครม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น