วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

นิรโทษกรรมสับขาหลอกแดง หรือเดินหน้าภารกิจช่วย "ทักษิณ" เมื่อ 15 มี.ค.56




นิรโทษกรรมสับขาหลอกแดง หรือเดินหน้าภารกิจช่วย "ทักษิณ"
เริ่มต้นสัปดาห์นี้ด้วยสถานการณ์ร้อนทางการเมืองว่าด้วยเรื่องของการนิรโทษกรรม ซึ่งถูกเปิดเกมส์ด้วยส.ส.เสื้อแดง ที่เสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณาของสภา
ในขณะนี้ภารกิจประสานฝ่ายต่างๆของรองประธานสภาผู้แทนราษฎร์คนที่หนึ่ง แทบจะเรียกว่าเป็นการคว้าน้ำเหลว เพราะมีเพียงตัวแทนจาก 4 กลุ่มที่เข้าร่วม จากที่ตั้งเอาไว้ถึง 11 กลุ่ม
ส่วนเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมานายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ได้เชิญตัวแทนคู่ขัดแย้งทางการเมืองเข้าหารือแนวทางออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยมีตัวแทนเข้าหารือเพียง 4 ฝ่ายเท่านั้น คือตัวแทนกลุ่ม นปช. นายก่อแก้ว พิกุลทอง ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย นายอุดมเดช รัตนเสถียร และนายสามารถ แก้วมีชัย ตัวแทนจากกระทรวงกลาโหม พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก พลเอก หม่อมหลวง ประสบชัย เกษมสันต์ รองปลัดกระทรวงกลาโหมคนที่ 2 และพันตำรวจเอก เสรี ไขรัศมี ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการค้ารัฐวิสาหกิจย่านราชประสงค์ รวมถึงนายเรืองศักดิ์ งามสมภาค ส.ส.พรรคภูมิใจไทย กลุ่มมัชฌิมา ซึ่งมาในนามส่วนตัว ไม่ใช่มติของพรรค
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย กลุ่มพันธมิตรฯ องค์การพิทักษ์สยาม กลุ่มเสื้อหลากสีและนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาพันเอกร่มเกล้า ธุวธรรม ไม่ได้เข้าร่วมการหารือตามคาด
ทั้งนี้นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตร ได้ทำหนังสือชี้แจงย้ำท่าทีที่ไม่เข้าร่วมหารือ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดทางอาญาและคดีทุจริตในทุกคดี
นายเจริญ แถลงข่าวหลังการประชุมว่า ที่ประชุมทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน เป็นข้อสรุปเบื้องต้น 4 ข้อ ดังนี้
1. ต้องการความปรองดอง ลดความขัดแย้ง โดยให้ทุกฝ่าย ได้เสนอข้อคิดเห็นเพื่อหารือเป็นทางออกร่วมกัน
2.ให้อภัย มีความสำนึกและแสดงความรับผิดชอบ ส่วนวิธี รายละเอียด เงื่อนไข ทุกฝ่ายต้องมาออกแบบร่วมกัน โดยผู้ที่มาร่วมประชุมได้ถามว่าจะทำอย่างไรที่จะให้พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรฯเข้าร่วมหารือด้วย ซึ่งก็จะพยายามเจรจากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มพันธมิตรฯ ให้ลดความหวาดระแวง เพื่อหันหน้ามาคุยกัน
3.การบรรเทาความขัดแย้งให้เกิดทัศนคติที่ดีในการรออกกฎหมายนิรโทษกรรม อยากให้ปล่อยตัวชั่วคราวสำหรับนักโทษการเมือง ที่ยังถูกคุมขังอยู่ เพื่อให้มีอิสระและเสรีภาพในการต่อสู้คดี ตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่นักโทษพึงจะมี
4.การวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อและพรรคการเมือง ขอให้ยึดประชาชนเป็นหลักไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง
อย่างไรก็ตามเมื่อประเมินความคิดเห็นของหลายฝ่าย แม้กระทั่งฝ่ายของรัฐบาลด้วยกันเอง ก็ยังคงไร้ซึ่งเอกภาพ โดยเฉพาะกรณีที่จะมีการดันให้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นวาระเร่งด่วน สำหรับการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร์
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายเจริญ เรียกประชุมฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการ นิรโทษกรรม ว่า การที่กลุ่มผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ร่วมประชุมในวันนี้ จะเป็นอุปสรรค ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการที่จะทำให้กลุ่มที่เหลือกลับมาพูดคุยกันให้ได้
ขณะที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และส.ส.จำนวน 42 คน ยื่นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อสภาว่า โดยอ้างว่ายังไม่ได้อ่านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว
นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ และรมว.กล่าวว่าเรื่องนี้มีความเห็นที่หลากหลายเพราะฉะนั้น ต้องค่อย ๆ ฟังว่า ควรจะมีการนิรโทษกรรมหรือไม่ หรือถ้ามี จะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มคนที่ทำอะไรผิด เพราะฉะนั้นต้องใจเย็น ๆ
และที่สวนทางกับท่าทีของนายวรชัยอย่างเห็นได้ชัดก็คือมติที่ประชุมวิปรัฐบาลวันนี้ โดยได้ยืนยันว่าจะไม่สนับสนุนให้มีการนำเอาร่างนิรโทษกรรมมาเป็นวาระพิจารณาเร่งด่วน
นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลว่า การประชุมวิปรัฐบาลวันนี้เป็นการพิจารณาระเบียบวาระการประชุมสภาในวันที่ 13 และ 14 มี.ค. โดยไม่มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของนายวรชัย ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่มีมติที่จะต้องเลื่อนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากยังมีกฎหมายที่ค้างการพิจารณาในสภาอยู่หลายฉบับ โดยในสัปดาห์นี้จะเป็นการพิจารณาระเบียบวาระปกติ และไม่มีระเบียบวาระการประชุมเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรม อยู่ในวาระการพิจารณา เพราะต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน โดยพ.ร.บ.ดังกล่าวเพิ่งยื่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และอยู่ในขั้นตอนของประธานสภารับไว้เท่านั้น ซึ่งประธานสภาจะต้องรอบรรจุระเบียบวาระเสียก่อน และเมื่อบรรจุแล้วหากต้องการเลื่อนขึ้นมาก็ต้องมีการพิจารณาในสภาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายวรชัย จะใช้เอกสิทธิส.ส.เสนอขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน นายอำนวย กล่าวว่า สามารถใช้เอกสิทธิ์เสนอได้แต่จะต้องใช้ผู้รับรองถึง 250 เสียงขึ้นไป ซึ่งหากนายวรชัย เสนอขึ้นมาให้พิจารณาเป็นวาระด่วนก็จะต้องพิจารณากันในสภาว่าสมควรจะนำขึ้นพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนหรือไม่ โดยการโหวตถือเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส.แต่ละคนว่าจะเห็นว่าควรจะนำมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนหรือไม่      
เมื่อถามว่า เหตุใดไม่นำมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน นายอำนวย กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาหลายๆฝ่ายอย่างที่นายเจริญ ดำเนินการอยู่ คือ เชิญทุกหน่วยงานมาร่วมประชุมกันให้ตกผลึกก่อน และตั้งกรรมาธิการวิสามัญมาพิจารณา เพื่อให้ออกมาเป็นพ.ร.บ. และไม่รู้ว่าจะสรุปออกมาอย่างไร
ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ยืนยันว่าจะไม่มีการนำพ.ร.บ.ปรองดอง 4 ฉบับที่ค้างอยู่ในสภามาพิจารณา เพราะถ้าไม่มีใครหยิบขึ้นมาพิจารณาก็อยู่อย่างนั้น เพราะในสภาทุกคนรู้เท่าเทียมกันหมดต้องเอาสิ่งที่มีเหตุมีผลเข้ามาคุยกัน ส่วนใครจะเสนอกฎหมายอะไรก็เสนอได้ ขณะที่การพูดคุยก็ดำเนินต่อไป ดังนั้นอย่าไปคาดการณ์อะไรให้เกินขอบเขต
นายพีรพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายวรชัย ประกาศเดินหน้าผลักดันเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า แม้นายวรชัยยืนยันจะเดินหน้าเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว โดยพร้อมใช้เอกสิทธิส.ส.เสนอให้ดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาก่อนกฎหมายฉบับอื่นๆ  
อย่างไรก็ตามเชื่อว่า เสียงข้างมากในพรรคคงไม่เอาด้วย เพราะแม้จะเห็นด้วยในหลักการ แต่ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม คงต้องใช้เวลามากกว่านี้ให้ทุกอย่างลงตัว หากยังดึงดันเสนอเข้าไปตอนนี้ คงยากที่จะประสบความสำเร็จ และจะทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมาอีกรอบได้ เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยคงต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับนายวรชัยในเรื่องนี้อีกครั้ง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คิดว่าคงจะยังไม่มีการบรรจุ ร่างพรบ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภา แต่ก็ขึ้นอยู่กับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาว่าจะบรรจุวาระเพิ่มเติมหรือไม่ แต่ไม่ควรจะทำเพราะไม่มีเหตุผลว่าเหตุใดต้องบรรจุเป็นวาระเพิ่มเติม
ส่วนการลงคะแนนในสภาเป็นอย่างไรต้องถามจุดยืนนายกฯและพรรคเพื่อไทยว่าอยากให้บ้านเมืองเข้าสู่ความขัดแย้งใช่หรือไม่ ตนเห็นว่านายกฯต้องชัดเจนว่าต้องการทำอะไร เพราะพรรคยืนยันมาตลอดว่าถ้าทำกระบวนการปรองดองที่ถูกต้อง พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วย แต่ถ้าเอาปรองดองมาบังหน้าเพื่อล้างผิดพรรคพวกและคนโกง สังคมจะมีแต่ความขัดแย้งมากขึ้น ดูจากเสียงสะท้อนของหลายฝ่ายผ่านหลายช่องทางก็เป็นไปในแนวทางนี้ทั้งสิ้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการหารือของนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ในการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น คิดว่า คงไม่ส่งผลอะไร เพราะสมาชิกของรัฐบาลต่างคนก็ต่างเดิน
ขณะที่ประชาชนในโลกสังคมออนไลน์ต่างแสดงความคิดเห็นหน้าแฟนเพจรัฐสภาไทย หลังมีการสำรวจออนไลน์ที่ทีมงานของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรตั้งขึ้น เพื่อถามประเด็นที่ว่า "ท่านเห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่" ซึ่งผลปรากฏว่ามีผู้แสดงความไม่เห็นด้วยการการออกกฎหมายนิโทษกรรมกว่า 8 พันคน ขณะคำตอบที่เห็นด้วยมีแค่เพียง 2 พันคน
จึงทำให้ในเวลาต่อมามีการลบการตั้งคำถามดังกล่าวออกจากเพจรัฐสภาไทย       
ผู้ดูแลเวปเพจได้โพสต์ข้อความชี้แจงต่อประชาชนว่า "การสำรวจโพลบนเฟซบุ๊ก เป็นการทำวิจัยแบบโซเชียลมีเดีย ซึ่งฝังคำถามไว้มากกว่า 30 แห่ง ในโลกออนไลน์ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึก ดังนั้น ผลที่ทุกคนเห็นต้องรวบรวมจากทุกจุดและนำมาวิเคราะห์ ซึ่งจะเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 7-10 มีนาคมนี้ และแยกตามกลุ่มอายุ อาชีพ การศึกษา และภูมิศาสตร์ ลงชื่อทีมงานวิจัยเชิงลึก" ทั้งนี้
ซึ่งจากข้อความดังกล่าว ทำให้ประชาชนในสังคมออนไลน์ต่างแสดงความไม่พอใจ และไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นจำนวนมาก พร้อมเรียกร้องให้เวปเพจเปิดเผยผลโพล พร้อมระบุว่า จะเชื่อถือได้อย่างไรกับรัฐสภาไทยในวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น