วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

โพลสั่งได้หน้าแหก! ผลคะแนนสวนทาง ข่าวหน้า 14 March 2556




โพลสั่งได้หน้าแหก! ผลคะแนนสวนทาง

 โพลหน้าแหก! สำนักโพล 5 แห่ง ทั้งโพลก่อนเลือกตั้งและเอ็กซิตโพล "สวนดุสิต-เอแบค-กรุงเทพ-สวนสุนันทา-บ้านสมเด็จ" ฟันธง "พงศพัศ" ชนะ "สุขุมพันธุ์" แต่นิด้าโพลสวนกระแสให้สุขุมพันธุ์ชนะ ผอ.เอแบคโพลแจงคนเปลี่ยนใจโค้งสุดท้ายทำให้คลาดเคลื่อน "คุณชายหมู" ได้ทีจี้เลิกทำเอ็กซิตโพล ร้อง กกต.ตรวจสอบ
         หลังการปิดหีบเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม สำนักโพลส่วนใหญ่ต่างฟันธงว่าพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครเบอร์ 9 จากพรรคเพื่อไทย  มีคะแนนนำ  ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครเบอร์ 16 จากพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อปรากฏผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการกลับตรงกันข้าม
    โดยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยผล Entry Poll หรือ "โพลก่อนการเลือกตั้ง" สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 7,080 คน ระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม 2556(ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง) พบว่า คะแนนนิยมของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อันดับ 1 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ 49.01%, อันดับ 2 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร 39.65%, อันดับ 3 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส 7.03%, อันดับ 4 นายสุหฤท สยามวาลา 1.34% และอันดับ 5 นายโฆสิต สุวินิจจิต 0.88%
    ทั้งนี้ พล.ต.อ.พงศพัศจะชนะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ 33 เขต สูสี 10 เขต แพ้ 7 เขต
    ส่วนเหตุผลที่คนกรุงเทพฯ เลือกอันดับ 1 พล.ต.อ.พงศพัศ ชอบตัวผู้สมัคร 27.38% อยากเปลี่ยน 22.07% เชื่อมั่นการทำงาน 15.28%, อันดับ 2 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อยากให้โอกาส 23.78% ชอบตัวผู้สมัคร 23.56% ชอบพรรค 16.49%, อันดับ 3 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อิสระไม่สังกัดพรรค 26.50% ชอบตัวผู้สมัคร 22.22% เชื่อมั่นการทำงาน 10.26%, อันดับ 4 นายสุหฤท นโยบายดี 22.99% อิสระไม่สังกัดพรรค 21.84% ชอบตัวผู้สมัคร 14.94%, อันดับ 5 นายโฆสิต อิสระไม่สังกัดพรรค 28.33% นโยบายดี 21.67% ชอบตัวผู้สมัคร 16.67%
    ด้านนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพล เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง โพลก่อนวันเลือกตั้ง (Pre-Election Poll) ผู้ว่าฯ กทม. 2556 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จำนวน 5,713 ตัวอย่าง คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.0011 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 2 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ที่ตั้งใจจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งอยู่ระหว่างร้อยละ 61.4 ถึงร้อยละ 71.4 โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 45.9 ระบุจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จะได้เกินกว่า 1 ล้านคะแนน คืออยู่ในช่วง 1,176,781-1,464,503 คะแนน ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 34.1 ระบุจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จะได้คะแนนอยู่ในช่วง 837,270-1,124,992 คะแนน
    "ปัจจัยสำคัญที่ผลสำรวจพบ พล.ต.อ.พงศพัศ ได้รับคะแนนสูงสุดคือ ความต้องการของประชาชนคนกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และเบื่อความขัดแย้ง ส่วนใหญ่ต้องการทำมาหากิน ต้องการได้แนวทางแก้ไขปัญหา ลดความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างแท้จริง" นายนพดลระบุ
    ขณะที่ผลการสำรวจเอ็กซิตโพล (EXIT POLL) หรือ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งลงคะแนนหลังจากที่ออกจากคูหามาแล้ว ของ 3 สำนัก ได้แก่ กรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, สวนสุนันทาโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และบ้านสมเด็จโพล ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งได้มีการเผยแพร่ภายหลังการปิดหีบเลือกตั้งพบว่ามีผลตรงกันว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ชนะการเลือกตั้ง ขณะที่อันดับสองได้แก่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร
    โดยกรุงเทพโพล พบว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ มีคะแนนนำ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ร้อยละ 44.14 ต่อ 41.07 ส่วน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส  ได้ร้อยละ 6.94, นายสุหฤท สยามวาลา ได้ร้อยละ 2.81 และนายโฆสิต สุวินิจจิต  ได้ร้อยละ 2.43 ส่วนเบอร์อื่นๆ ร้อยละ 2.81
    สวนสุนันทาโพล ให้ พล.ต.อ.พงศพัศ ชนะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ 43.88% ต่อ 39.57%
    เช่นเดียวกับ บ้านสมเด็จโพล พบว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ มีคะแนนนำ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร  ร้อยละ 40.02 ต่อ 38.54 ส่วน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ได้ร้อยละ 7.14
    แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ทำนายผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2556” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26-28 ก.พ. และ 1 มี.ค.2556 พบว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีคะแนนนำ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ร้อยละ 43.16 ต่อ 41.45 ส่วน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ได้ร้อยละ 8.72, นายสุหฤท สยามวาลา ได้ร้อยละ 2.92 และนายโฆสิต สุวินิจจิต ได้ร้อยละ 1.21 ส่วนเบอร์อื่นๆ ร้อยละ 0.32 และระบุว่าไม่ลงคะแนนเสียง ไม่เลือกใคร ร้อยละ 2.23
    นายสิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพล กล่าวถึงคะแนนเลือกตั้งจริงที่ออกมาต่างจากการทำเอ็กซิตโพลว่า สาเหตุมี 2 อย่าง 1.ความคลาดเคลื่อนของโพลจะอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ ผลจริงที่ออกมาคะแนนของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ห่างกันเพียง 1.5% เกิดความคลาดเคลื่อนได้อยู่แล้วตามหลักสถิติ 2.การเก็บข้อมูลของเอ็กซิตโพล จะเก็บข้อมูลตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงเวลาบ่ายโมงครึ่ง แต่บ่ายโมงครึ่งจนถึงบ่าย 3 โมงคนมาใช้สิทธิ์ช่วงนั้นเยอะ ผลคะแนนจึงมีความเปลี่ยนแปลง
    นายสิงห์กล่าวถึงวิธีการทำเอ็กซิตโพลว่า ใช้คนเก็บข้อมูลทั้งสิ้น 500 คน 1 เขต ลงไป 10 คน 1 คนเก็บข้อมูล 40 ตัวอย่าง และแต่ละเขตมีการกระจายคนลงไปครบทุกแขวง อย่างเช่นเขตที่มี 5 แขวง ก็กระจายคนลงไปแขวงละ 2 คน และในการเก็บข้อมูลยังกระจายด้วยว่า ช่วงอายุเท่าไหร่ เก็บข้อมูลเท่าไหร่ อาชีพอะไร เก็บข้อมูลเท่าไหร่ ซึ่งการเก็บข้อมูลในครั้งนี้ใช้ทั้งหมด 20,000 ตัวอย่าง
          ส่วนกรณีที่ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ถูกผู้ออกมาลงคะแนนหลอก นายสิงห์กล่าวว่า ตนใช้แบบสำรวจที่เป็นความลับ ดังนั้นผู้ที่ลงคะแนนน่าจะบอกความจริง
    ขณะที่นายนพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพล ให้สัมภาษณ์ว่า เราไม่ได้ทำเอ็กซิตโพล เราทำโพลก่อนการเลือกตั้งช่วงสัปดาห์สุดท้าย สำรวจ 5,000 ตัวอย่าง จากคนกว่า 4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ  0.001 เป็นธรรมดาที่จะคลาดเคลื่อนได้ และในความเป็นจริงไม่ได้ทำใกล้วันเลือกตั้ง  ทำในสัปดาห์สุดท้ายไม่ใช่วันเลือกตั้ง ยังมีกลุ่มคนที่อาจเปลี่ยนใจได้ ซึ่งกลุ่มเปลี่ยนใจได้ในโค้งสุดท้ายสามารถทำให้พลิกได้ ถ้าทุกคนได้อ่านผลสำรวจอย่างต่อเนื่องจะเข้าใจการทำงานของนักทำโพลได้ ซึ่งความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน
      นายสุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงกรณีที่เอ็กซิตโพลคลาดเคลื่อนว่า เพราะถูกคน กทม.หลอก จะมาอ้างว่าเก็บข้อมูลได้แค่บ่ายโมงครึ่ง แล้วมีคนมาลงคะแนนกันมากหลังบ่ายโมงครึ่งไปแล้วไม่ได้ เพราะจากการนับคะแนนตั้งแต่เช้า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มีคะแนนนำโดยตลอด เป็นสัดส่วนที่คงที่
     ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการทำเอ็กซิตโพลของแต่ละสำนักว่า ตั้งแต่ลงสมัครรับเลือกตั้งมาไม่เคยเห็นว่าเอ็กซิตโพลของสำนักใดมีความแม่นยำ ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมของคนไทยในการตอบคำถาม เอ็กซิตโพลจะแตกต่างจากคนอังกฤษ คือคนไทยเมื่อรักชอบใครมักจะไม่พูดออกมาตรงๆ ดังนั้นผลโพลที่ออกมาจึงอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้นจึงฝากไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักโพลต่างๆ ให้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการทำ เอ็กซิตโพลสำหรับการเลือกตั้งในครั้งต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น