วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

มติชนวิเคราะห์ : ล้านเสียง "ชายหมู-จูดี้" วันที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 12:43:09 น


มติชนวิเคราะห์ : ล้านเสียง "ชายหมู-จูดี้"

วันที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 12:43:09 น


การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานครครั้งนี้ น่าสนใจตรงคะแนนเสียงที่คนกรุงเทพฯออกมาโหวต

จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4.2 ล้านคน ออกมาใช้สิทธิ 2.7 ล้านคน

ในจำนวนนี้โหวตให้กับ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัคร เบอร์ 16 จากพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 1.2 ล้านเสียง และโหวตให้กับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัคร เบอร์ 9 จากพรรคเพื่อไทย จำนวน 1.07 ล้านเสียง

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้คะแนนเป็นที่ 1 เอาชนะ เข้าวินเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสมัยสอง

แต่ใช่ว่า คะแนนอีก 1.07 ล้านแต้มที่ พล.ต.อ.พงศพัศจะมลายหายไปเลย

เพราะในทางการเมืองสามารถชี้ให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯสนับสนุนแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งสนับสนุนแนวทางของพรรคเพื่อไทย

ดังนั้น แม้พรรคประชาธิปัตย์ จะยินดีที่รักษาแชมป์ได้ แต่พรรคเพื่อไทยก็ได้บทสรุปว่า พอใจ

พอใจ เพราะเกือบทุกอย่างเดินไปตามเป้าหมาย...ยกเว้นอย่างเดียวที่พลาดเป้า คือ ชนะการเลือกตั้ง

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่จะเกิดความแคลงใจว่า หากฝนไม่เทลงมาอย่างหนักเป็นระยะ และผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิมากกว่า 63.98 เปอร์เซ็นต์...อะไรจะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังพบว่า 

ผลคะแนนจากหลายหน่วยเลือกตั้งที่ปรากฏออกมานั้น บางหน่วยอาจเกิดอาการเบี้ยวจากคนภายใน ซึ่งต่อไปคงการเช็กบิลกันตามมา

อย่างไรก็ตาม จากผลคะแนนที่ปรากฏ สามารถมองเห็นความสำเร็จของพรรคประชาธิปัตย์ที่สามารถดึงคนกรุงเทพฯออกมาช่วยได้เยอะ ส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุที่พร้อมใจกันออกมา

กลุ่มที่น่าสนใจคือ "พวกที่เกลียด" กับ "พวกที่กลัว" ได้ออกมาใช้สิทธิมาก

"พวกที่เกลียด" คือกลุ่มคนที่ไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ชอบพรรค

เพื่อไทย ไม่ชอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึงไม่ชอบกลุ่มคนเสื้อแดง

คนกลุ่มนี้ถูกชักจูงด้วยมุขเผาบ้านเผาเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์ประโคมในช่วงโค้งสุดท้าย

ส่วน "พวกที่กลัว" คือกลุ่มคนที่เชื่อว่า หากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นคนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่ เมืองไทยจะโดนยึด จึงจำเป็นต้องช่วยกันออกมาเลือกคนที่จะไปถ่วงดุล

คนกลุ่มนี้ถูกชักจูงด้วยมุขกินรวบที่พรรคประชาธิปัตย์ประโคมมาตั้งแต่ช่วงต้นโค้ง และมีเร่งเร้าตอนท้ายอีกครั้ง

ผนวกรวมกับความสงสารที่แลเห็นน้ำตาของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และฐานคะแนนดั้งเดิมที่มีอยู่

จึงส่งผลให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้คะแนนพุ่งขึ้นระดับล้าน 

ขณะที่ พรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นผลการสำรวจของโพลที่ระบุว่า ชนะขาด ทำให้พรรคเพื่อไทยนอนใจ ไม่ตอบโต้ข้อกล่าวหาจากพรรคประชาธิปัตย์แม้แต่น้อย

การตัดสินใจนิ่งเฉย อาจเป็นกลยุทธ์ที่พลาดพลั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เป็นได้

แม้ในที่สุด พล.ต.อ.พงศพัศจะแพ้ แต่คะแนนที่โหวตให้ พล.ต.อ.พงศพัศ ก็สูงโด่ง 

สูงเกินกว่าล้านเหมือนกัน 

คะแนนเกินล้านที่ พล.ต.อ.พงศพัศได้รับ ชี้ให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯอีกครึ่งหนึ่งต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในการบริหารงานกรุงเทพมหานคร 

คนกรุงเทพฯกลุ่มนี้เห็นด้วยกับนโยบายที่ พล.ต.อ.พงศพัศและพรรคเพื่อไทยนำเสนอ

จำนวนล้านที่อยากเปลี่ยนแปลงนี้ มองเห็นศักยภาพในตัวของ พล.ต.อ.พงศพัศ และเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์แบบไร้รอยต่อของพรรคเพื่อไทย

ดังนั้น จำนวนตัวเลขผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2.7 ล้านคน ครั้งนี้จึงเป็นตัวเลขที่มิอาจมองข้าม

มิอาจมองข้ามชัยชนะของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ 

มิอาจมองข้ามความปราชัยของ พล.ต.อ.พงศพัศ 

เพราะคะแนนเสียงที่ทั้งสองคนได้รับ คนละ 1 ล้านเสียงขึ้นไปนั้น เป็นคะแนนเสียงที่มีนัยยะ

ประชาธิปัตย์ได้ 1.2 ล้านเสียง เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปี 2552 ที่ได้ 9 แสนคะแนน จำนวน 3 แสนคะแนน

พรรคเพื่อไทยได้ 1.07 ล้านเสียง เพิ่มขึ้นจากเลือกตั้งผู้ว่าฯ ปี 2552 ที่ได้ 6 แสนคะแนน จำนวน 4 แสนคะแนน

ระยะห่างระหว่างคะแนนที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับกับคะแนนที่พรรคเพื่อไทยได้รับแคบลง

จากเดิมห่างกัน 3 แสนคะแนน เหลือห่างกัน 1.8 แสนคะแนน

คะแนนที่ปรากฏจึงแสดงนัยยะให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯมีทิศทางสู่การเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป

หน้า 13,มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 5 มีนาคม 2556 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น