วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

มติชนวิเคราะห์ ...ชัยชนะของปชป. ในศึกผู้ว่าฯกทม. วันที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 15:00:01 น.




มติชนวิเคราะห์ ...ชัยชนะของปชป. ในศึกผู้ว่าฯกทม.

วันที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 15:00:01 น.
  

(ที่มา:มติชนรายวัน 4 มีนาคม 2556)

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครออกมาแล้ว

ผลที่ออกมาตรงกันข้ามกับผลโพล ทั้งโพลก่อนหน้านี้ และเอ็กซิตโพล

ผลที่ออกมาจึงทำให้กองเชียร์ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย...ช็อก!

แม้ว่าคะแนนที่ พล.ต.อ.พงศพัศ จะได้มากกว่าทุกครั้งที่พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครชิงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกับผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2552 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 934,602 คะแนน ชนะ นายยุรนันท์ ภมรมนตรี จากพรรคเพื่อไทย ที่ได้ 611,669 คะแนน

ได้คะแนนมากกว่า 300,000 คะแนน

เช่นเดียวกับชัยชนะเมื่อปี 2547 ที่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 911,441 คะแนน ชนะ นางปวีณา หงสกุล ผู้สมัครอิสระ แต่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคไทยรักไทย ที่ได้ 619,039 คะแนน

ได้คะแนนมากกว่า 300,000 คะแนน

ขณะที่ครั้งนี้ ปี 2556 ผลคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ กับ พล.ต.อ.พงศพัศ มีช่องว่างแคบลง

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้ 1.2 ล้านคะแนน พล.ต.อ.พงศพัศได้ 1.07 ล้านคะแนน ชนะไปประมาณแสนกว่าคะแนน

แต่แคบหรือกว้าง เมื่อได้คะแนนมากกว่าก็ได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เมื่อกองเชียร์ของพรรคเพื่อไทยผิดหวัง กองเชียร์ของพรรคประชาธิปัตย์ย่อมครึกครื้น

ครึกครื้นที่คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่จาก 63 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้ออกมาโอบอุ้ม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และพรรคประชาธิปัตย์ตามคำเรียกร้องของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง

อย่าลืมว่า ในช่วงเปิดตัวนั้น เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง พล.ต.อ.พงศพัศ กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ แล้ว พล.ต.อ.พงศพัศ ได้ขายความสด

อย่าลืมว่า ในช่วงเปิดตัว พรรคเพื่อไทยในฐานะต้นสังกัดของ พล.ต.อ.พงศพัศได้ชูยุทธศาสตร์ "ไร้รอยต่อ" รับประกันความสำเร็จในนโยบายที่ประกาศออกไป

ชูจุดขาย "การบริหาร"

ดังนั้น ตั้งแต่โค้งแรกจนถึงโค้งสุดท้าย พรรคเพื่อไทยและ พล.ต.อ.พงศพัศ จึงนำเสนอให้คนกรุงเทพฯ...เปลี่ยน

แต่สุดท้ายคนกรุงเทพฯได้แสดงประชามติออกมาอีกทาง

ประชามติที่คนกรุงเทพฯส่งสัญญาณออกมา เป็นการตอกย้ำว่า เห็นด้วยกับปัญหา "การเมือง" ที่พรรคประชาธิปัตย์ชูขึ้นมาต่อต้านพรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

การเมืองที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ที่ออกมาตอกย้ำเรื่องการเผาบ้านเผาเมือง เรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทยจะกลืนกินผืนแผ่นดินไทย เรื่องการสูญเสียฐานที่มั่นให้แก่คนเสื้อแดง

รวมถึงถ้อยแถลงที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เปิดใจ และหลั่งน้ำตาในช่วงปลายการหาเสียง

นี่ย่อมตอกย้ำว่า คนกรุงเทพฯยังไม่ไว้วางใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ไว้วางใจพรรคเพื่อไทย จึงไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.พงศพัศ

แม้คะแนนความไว้วางใจจะเพิ่มขึ้น คือ ระยะห่างระหว่างคะแนนของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กับ พล.ต.อ.พงศพัศ น้อยกว่าผลคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2552 และปี 2547

แต่ก็ยังถือว่า คนกรุงเทพฯยังไม่ไว้วางใจ

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องตระหนัก เนื่องจากชัยชนะที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เกิดจากการที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องระดมสรรพกำลังทั้งมวลออกมาช่วยเหลือ

ทั้งตัวฐานคะแนน ตัวบุคคล นโยบาย เครดิตพรรค และสุดท้ายคือดึงเอา "การเมืองระดับชาติ" หาเสียงให้ "การเมืองระดับท้องถิ่น"

ผลการทุ่มสรรพกำลังยังทำให้พรรคประชาธิปัตย์รักษาแชมป์เอาไว้ได้

แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นชัยชนะที่เขย่าความเชื่อมั่นของพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างมากเช่นกัน

ดังนั้น คะแนนที่ออกมาจึงมิได้ส่งสัญญาณไปยังพรรคเพื่อไทยเท่านั้น หากแต่ยังส่งสัญญาณไปยังพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่านับแต่นี้ต่อไป ทั้งสองพรรคต่างต้องทำการบ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานครอีกมาก... ก่อนที่การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะอุบัติขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น