วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สรุปข่าวสำคัญ วันที่ ๕ ก.พ.๕๖



คอ.นธ.เตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้นายกฯ-ครม.ดำเนินการ ระบุนักการเมือง-แกนนำ ต้องลงชื่อแสดงเจตจำนงไม่ขอรับนิรโทษกรรม
         
นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) แถลงถึงร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันท่ 19 ก.ย. 2549 ถึงวันที่ 10 พ.ค.2554 พ.ศ. ... (พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ) ที่คอ.นธ.เตรียมเสนอต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ในวันนี้(5 ก.พ.) ว่า สำหรับ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ จะประกอบด้วย 6 มาตรา ซึ่งเนื้อหาโดยสรุป จะเน้นในการนิรโทษกรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองและเป็นผู้ที่มีความสุจริตทางการเมือง
         
โดยแสดงออกตามสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะประชาชน โดยไม่รวมถึงแกนนำ ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง พร้อมกันนี้ยังไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามทางคอ.นธ.จึงขอเรียกร้องให้นักการเมืองหรือบรรดาแกนนำในการชุมนุมทุกฝ่าย ควรแสดงความบริสุทธิ์ใจ ด้วยการลงชื่อแสดงเจตจำนงในการไม่ขอรับประโยชน์และไม่ประสงค์จะรับการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ด้วย พร้อมยินยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติต่อไป เพื่อลดข้อครหาว่าการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯครั้งนี้เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองหรือแกนนำอีกด้วย
          "
การเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ในวันนี้นั้น เพื่อให้เป็นเจ้าภาพในการนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการของรัฐสภา โดยถือเป็นวาระเร่งด่วน แล้วพิจารณา 3 วาระในคราวเดียวกัน โดยจะเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ ทั้งรัฐสภา เผื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า ในกระบวนการแปรญัตติ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ก่อนที่จะส่งไปยังวุฒิสภาพิจารณาต่อไปภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะลงมติในวาระ 3 ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะใช้เวลาทั้งสิ้น 30-45 วัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศใช้พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวได้ภายในวันที่ 14-15 เม.ย.ทันที ก่อนถึงกำหนดปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติในวันที่ 19 เม.ย.นี้ เชื่อว่าแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะลดความขัดแย้งของประเทศได้"นายอุกฤษกล่าว
         
นายอุกฤษ กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ ที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง นั้น ส่วนตัวเห็นว่า สามารถทำได้ แต่กระบวนการดำเนินการจะล่าช้ามาก มีหลายขั้นตอนกว่ารัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ เพราะดูได้จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่วาระ 3 ยังค้างอยู่ในสภาฯ อยู่เลย ซึ่งหากมาทำในส่วนของนิรโทษกรรมอีก เชื่อว่าคงไปไม่รอด ส่วนของเสนอของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่าต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เสนอร่างพ.ร.ก.นิรโทษกรรมฯ นั้น ตนมองว่า ควรเสนอเป็นร่างพ.ร.บ. จะรวดเร็วกว่า เพราะรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ทันที แต่หากออกเป็นร่างพ.ร.ก.นั้น จะต้องผ่านขั้นตอนการลงพระปรมาภิไธยซึ่งจะใช้เวลานาน อีกทั้งหากออกเป็นพ.ร.ก. จะมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งถ้าหากนำเข้าสู่สภาฯ แล้วมีผู้ไม่เห็นด้วย อาจยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยตามมาตรา 184 ของรัฐธรรมนูญได้ โดยอ้างเหตุผลว่าการออกพ.ร.ก.ดังกล่าว ไม่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่จะทำในช่วงสมัยประชุมประชุมสามัญนิติบัญญัติได้ และหากเป็นเช่นนั้นกลุ่มคนที่ได้นิรโทษกรรมไปแล้ว ตามพ.ร.ก.ดังกล่าว ก็ต้องได้รับผลกระทบกลับเข้าคุกเช่นเดิม ดังนั้นเห็นว่าทางกลุ่ม นปช.ควรต้องกลับไปทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ตามเชื่อว่ากลุ่มนปช. จะเห็นด้วยกับแนวทางที่ตนและคอ.นธ.เสนออย่างแน่นอน
"ปึ้ง"ยันหมดสิทธิ์เสนอเขมรถอนเรื่องศาลโลก


         
ที่รัฐสภา นายเหวง โตจิราการส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยในฐานะรองประธานคณะกรรมมาธิการความมั่นคง พร้อมนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงข้อคิดเห็นกรณีการยื่นคำร้องของประเทศกัมพูชาเพื่อขอตีความคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505
         
น.พ.เหวง กล่าวว่า ไม่ว่าผลคำพิพากษาของศาลโลกจะออกมาเป็นประโยชน์ต่อประเทศใดก็ตาม ย่อมเกิดผลผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนทั้งสองประเทศ ดังนั้น จึงขอให้ นายสุรพงษ์ เสนอให้กัมพูชาถอนคำร้องที่ยื่นต่อศาลโลกตีความออกจากสาระบบ เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ เพราะไม่ต้องการใช้นโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าวแบบรัฐบาลสมัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ นอกจากนี้ ขอให้นายสุรพงษ์นำข้อเสนอนี้รายงานต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีด้วย
         
ด้านนายสุรพงษ์ กล่าวว่า จะนำหนังสื่อนี้ไปยื่นให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สำหรับตนเองนั้นก็จะเอาข้อกังวลและห่วงใยของ กมธ.ความมั่งคง ไปหารือกับนายฮอ นัมฮง รมว.ต่างประเทศกัมพูชา เพราะตอนที่นายกฯเข้าพบสมเด็จฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้มีการพูดคุยคือเรื่องตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อบริการพัฒนาพื้นที่ชายแดน ตลอดจนการเชื่อมโยงเปิดด่านต่างๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและการเกษตร
          "
ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ได้มีบัญชา และเล่าให้คณะรัฐมนตรีฟังว่ากระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหัวหน้าทีม โดยมีกระทรวงมหาดไทย ,กระทรวงเกษตรฯ ,กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะนัดประชุมทีมงานร่วมกับทางกัมพูชาเพื่อพัฒนาเรื่องดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับการพบกับสมเด็จฮุน เซน และชี้แนะว่าคณะทำงานควรจะเริ่มจากกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าทีมของทั้งสองฝ่าย เพื่อจะนำเรื่องนี้ไปพูดคุยกัน ผมให้ทางทูต และปลัดกระทรงการต่างประเทศของไทย ประสานไปยังนายฮอนัมฮงแล้วว่าเราจะเริ่มการประชุมได้เมื่อไหร่ และจะทำหนังสือเป็นทางการให้เจ้ากระทรวงแต่ละกระทรวงรับทราบแล้วเพื่อจะได้มีการหารือกัน"
         
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีความประสงค์ที่จะพัฒนาความสงบพื้นที่บริเวณชายแดนปราสาทพระวิหารตั้งแต่เริ่มเป็นรัฐบาลแรกๆ แล้ว โดยทุกครั้งที่เดินทางเยือนกัมพูชาก็พยายามเจรจาเพื่อที่จะให้สองประเทศสามารถอยู่ได้อย่างสงบ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนอยากจะให้เกิดความสันติ และพัฒนาร่วมกันค้าขายระหว่างกัน ซึ่งตัวเลขก็ชัดเจนว่าเราได้ดุลการค้าตลอดแนวชายแดนค่อนข้างมาก และก็คิดว่าเรื่องนี้ต้องรีบดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
         
รมว.ต่างประเทศกล่าวด้วยว่า ไม่อยากให้มีปัญหาเกิดขึ้นหากศาลตัดสินออกมาอีกทางหนึ่ง ก็อาจจะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันได้และไม่อยากให้เกิดขึ้น ซึ่งผู้นำทั้งสองประเทศก็เคยคุยกันหลายครั้งว่าอย่ากอยู่กันอย่างสงบ ประกอบกับเรากำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ก็อยากให้สังคมโลกเห็นว่า อาเซียนของเราอยู่กันอย่างสงบสันติไม่มีการกระทบกระทั่งหรือข้อพิพาทระหงว่างกันกับอาเซียนกันเอง
         
ส่วนความเป็นไปได้ในการที่จะให้กัมพูชาถอนคดีออกจากศาลโลกนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ได้พูดคุยกันแต่ทางสมเด็จฮุน เซ็นก็แสดงความจำนงว่าอยากให้คดีนี้จบและอยากให้ศาลตัดสินจะได้ไม่มีข้อกังขา เพราะถ้าผลคดีออกมาอย่างไรกัมพูชาก็ยอมรับ
         
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเป็นไปได้ในการถอนคดีจากศาลโลกคงยาก เพราะสมเด็จฮุน เซนต้องการความชัดเจน นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จะไม่ละความพยายาม ถ้ามีโอกาสเราก็ต้องพูดคุยกัน อย่างไรก็ตามเห็นว่าต่อไปถ้าเหตุการณ์ต่างๆพัฒนาดีขึ้น มีคณะทำงานร่วมกันโดยประโยชน์เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย เชื่อว่ากัมพูชาอาจเปลี่ยนใจก็ได้ในอนาคต ซึ่งก็จะไม่ละความพยายามทุกอย่าง
         
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ในการต่อสู้คดีนั้นยืนยันว่าทำเต็มที่ ซึ่งในวันที่ 6 ก.พ.นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ จะไปหารือกับที่ปรึกษากฎหมายการต่อคดีเขาพระวิหารที่ประเทศอังกฤษโดย จะมีอัยการ กฤษฎีกา ทีมทนาย และก็คนที่เข้าใจเรื่องแผนที่จากฝ่ายทหารร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อจะได้ไปเอาข้อมูลครั้งสุดท้ายที่จะรวบรวมประเด็นต่างๆ
          “
ขอยืนยันว่าข้อห่วงใยที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงผ่านสื่อมา เรารวบรวมไว้หมดแล้ว เละที่มีหลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะไม่นำประเด็นเหล่านี้ไปต่อสู้นั้น ขอบอกว่าเรามีข้อมูลครอบคลุมทุกประเด็น พอเราไปต่อสู้ที่ศาลโลกในวันที่ 15-19 เม.ษา 56 ท่านก็จะรู้เองว่าเราเอาประเด็นใดไปต่อสู้บ้าง ขอบคุณทุกท่านที่ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ขอยืนยันอีกครั้งว่ากระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาล ทีมทนาย ได้รวบรวมข้อมูลไว้หมดแล้ว ก็ขอให้พี่น้องชาวไทยสบายใจว่าเราทำเต็มที่จริงๆ"
          ที่มา: http://www.naewna.com

นายกฯ เตรียมหารือปมชายแดนกัมพูชา หลักถกฮุนเซน


         
มีรายงานว่าวันนี้ (5 ก.พ.) ตัวแทนของกองทัพบกเตรียมนัดหารือข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ ภายหลังน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก ได้เข้าพบหารือข้อราชการกับสมเด็จ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กรณีข้อพิพาทตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา
         
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า หลังจากร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พระวรราชบิดาแห่งกัมพูชา ที่ประเทศกัมพูชา นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้รับข้อเสนอที่ทั้งสองประเทศจะเชื่อมโยงการทำงานในพื้นที่แนวชายแดนร่วมกัน ให้มีการประสานงานกันระหว่างสองประเทศให้มากขึ้น เพื่อลดความขัดแย้งในพื้นที่บริเวณชายแดน และหลีกเลี่ยงประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับ MOU 2543
         
นอกจากนี้ยังระบุว่า รัฐบาลไทยได้แสดงความขอบคุณที่กษัตริย์กัมพูชาพระราชทานอภัยโทษและลดโทษให้กับคนไทยที่ถูกคุมขัง ทั้งกรณีของน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ และนายวีระ สมความคิด ขณะเดียวกันได้ฝากให้รัฐบาลกัมพูชาพิจารณาโอนตัวนักโทษคนไทยทั้งหมดกลับมารับโทษในไทยด้วย
         
ผู้สื่อข่าว : ทีมข่าวการเมือง                              ข่าวจริง สปริงนิวส์ ทันเหตุการณ์ เห็นอนาคต
          บรรยายใต้ภาพ: ตัวแทนกองทัพและกระทรวงการต่างประเทศเตรียมหารือร่วมกัน หลังคณะของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และผู้บัญชาการทหารบกเข้าพูดคุยเรื่องข้อพิพาทตามแนวชายไทยกัมพูชา กับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
          ที่มา: http://www.springnewstv.tv
 กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--ไอ.เอ็น.เอ็น
          คอ.นธ. เชื่อมั่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สามารถทำได้โดยเร็ว เมื่อทุกฝ่ายยอมรับและเห็นด้วยกับเนื้อหา คาด ใช้เวลา30 - 45 วัน
         
ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในการชุมนุมทางการเมือง ของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ หรือ คอ.นธ. ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันนี้ โดย ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธานนั้น ได้ครอบคลุมไปถึงผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2549 -4 พฤษภาคม 2554 ตามมาตรา 1 ของพระราชบัญญัติ โดยระบุในมาตรา 3 ให้บรรดาผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองนั้น พ้นจากการกระทำความผิด และความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง แต่ไม่รวมถึงการกระทำของผู้มีอำนาจ ในการสั่งการในการเคลื่อนไหว ในห้วงเวลาดังกล่าว และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อำนาจตามกฎหมาย ในการรักษาความสงบ
         
โดย ศ.ดร.อุกฤษ กล่าวเชื่อมั่นว่า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนี้ จะสามารถกระทำได้โดยเร็ว เมื่อทุกฝ่ายยอมรับ และเห็นด้วยกับเนื้อหาแล้ว การนำเข้าพิจารณาในวาระ 2 ทั้งของสภาผู้แทนราษฎรแ ละของสมาชิกวุฒิสภานั้น อาจทำได้โดยคณะกรรมาธิการเต็มสภา หรือให้พิจารณา 3 วาระรวด โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 30 -45 วัน และจะนำมาออกประกาศใช้ทันในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ในช่วงเดือนเมษายนนี้--จบ--
ผบ.นรด. เด้งรับแนวคิด ประยุทธ์จบรด.เกณฑ์ทหาร
วันนี้ (ก.พ.) พล.ท.วิชิต ศรีประเสริฐ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.นรด.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่จะให้ผู้ที่จบหลักสูตรนักศึกษาวิชาการทหารต้องเข้ามาเกณฑ์ทหารว่า แนวคิดดังกล่าวถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี และกองทัพก็มีแนวคิดในเรื่องนี้มานานแล้วว่าทุกคนที่เรียนจบหลักสูตรฯ ควรเข้ามารับการฝึกประมาณ 3-6 เดือน เพื่อเพิ่มพูนจิตวิญญาณการรักชาติ ซึ่งเป็นเพียงการขยายแนวความคิดเท่านั้น คงต้องไปศึกษากันในรายละเอียดว่า จะทำกันอย่างไรต่อไป ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ การเพิ่มยอดของนศ.วิชาทหาร เพราะขณะนี้ผู้ที่เข้ารับการฝึก คือ ผู้ที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนต่าง ๆ จึงเกิดคำถามว่า หากมีการตรวจเลือกทหาร ผู้ที่ไม่ได้เข้าเรียนตามสถานศึกษาต่าง ๆ ก็จะต้องเข้ามาเป็นทหาร และ คนส่วนใหญ่ที่จะถูกเกณฑ์เข้ามาจะเป็นคนที่ไม่รู้หนังสือหรือเป็นพวกที่มีการศึกษาน้อย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาความแตกต่างทางสังคมชัดเจน
ทาง นรด. จึงต้องจำกัดยอด นศ.วิชาทหารไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำจนเกินไป โดยขณะนี้อัตราส่วนของชายไทยที่เข้ารับการตรวจเลือกแล้วต้องเป็นทหารเกณฑ์ลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้มีอัตราส่วนอยู่ที่ 2.3 คน ต่อการเป็นทหารเกณฑ์ 1 คน ดังนั้นหากเราเพิ่มยอด นศ.วิชาทหารมากเท่าไรจะทำให้อัตราส่วนลดลงไปอีก ตรงนี้เป็นสัดส่วนสำคัญที่ทางกองทัพมีการพูดคุยกันมาก ที่สำคัญจะทำให้เกิดความรู้สึกต่อคนในระดับรากหญ้า ดังนั้นทางกองทัพกำลังมองถึงความยุติธรรม คือ ทุกคนรักชาติต้องรับใช้ชาติ แต่ในเรื่องการเกณฑ์ทหารต้องมีความยุติธรรมเหมือนกัน ไม่ใช่กลายเป็นว่า คนจนต้องเป็นทหาร ถ้าเป็นอย่างนั้นจะดูไม่ดี เพราะคนจนยังจำเป็นต้องทำงาน เพื่อครอบครัว แต่มีโอกาสที่จะได้จับใบดำใบแดงมาก ดังนั้นคนที่อยู่ในสังคมชั้นกลางและสังคมชั้นสูงควรจะมีโอกาสเป็นทหารด้วยเหมือนกัน เพื่อให้มีความเท่าเทียมกันผบ.นรด.กล่าว
พล.ท.วิชิต กล่าวว่า ขณะนี้ตนพยายามจำกัดอายุของผู้ที่เข้ารับการเรียนหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหารให้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เพราะหากนำเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีมาฝึกจะเป็นการเพิ่มความรับผิดชอบของกองทัพอย่างมาก อย่างไรก็ตามทาง นรด.ไม่สามารถฝึกนศ.วิชาทหารได้อย่าง 100 %อยู่แล้ว เพราะทาง นรด.ต้องรับผิดชอบ นศ.ทั้งหมดว่า ห้ามบาดเจ็บ ห้ามเสียชีวิต
รายงานข่าวจากนรด.แจ้งว่า ปัจจุบันมีนศ.วิชาทหารที่ศึกษาระหว่างชั้นปีที่ 1-5 รวมทั่วประเทศจำนวน 3 แสนคน โดยในชั้นปีที่ 4-5 จะมีนศ.วิชาทหารหญิงด้วย ทั้งนี้นรด.ได้กำหนดจำนวนผู้เข้ารับการเรียนหลักสูตรไม่เกินปีละ 1 แสนคน ซึ่งจากการหารือในรายละเอียด คาดว่า ต่อไปนศ.วิชาทหารอาจจะต้องเข้ารับการตรวจเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการ แต่จะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนระยะเวลาในการรับราชการทหารแทน โดยอาจจะต้องเข้ามารับการฝึกประมาณ 3-6 เดือน.
คอลัมน์: สังคมการเมือง: แผนรบ'ปชป.-พท.''บิ๊กตู่'เปิดค่ายทหาร


          การไปเยือนกัมพูชาของ นายกฯ ปู เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นอกจากร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ยังถือโอกาสพบ นายกฯ ฮุนเซน ขอบคุณรัฐบาลกัมพูชาที่ปล่อยตัวและลดโทษให้ 2 คนไทย
          ผลจากสัมพันธ์ดี 2 ประเทศ
          บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศชัดค่ายทหารเป็นกลางโดยแท้ พร้อมเปิดให้ผู้สมัครทุกคนทั้งมีสังกัดและอิสระเข้าไปหาเสียงโดยเท่าเทียม เพียงแต่ขอให้เข้ามาติดต่อตามระเบียบ จะจัดสถานที่และครอบครัวทหารไปนั่งฟัง
          แจ่มแจ้งชัดเจน
          สนามชิงผู้ว่าฯ กรุงผ่านโค้ง 2 แบบมันหยด ผู้ท้าชิง พงศพัศ เรตติ้งดีวันดีคืนจนทิ้งห่างแชมป์เก่า คุณชายหมู ถึง 10 จุดตามผลสำรวจเอแบคโพลล์ ล่าสุดพท.กางแผนยึดเมืองหลวง ให้ นายกฯ ควง จูดี้ หาเสียงเขตกทม.ชั้นในช่วง โค้งท้าย
          พื้นที่ไข่แดงปชป.เชียวแหละ
          พท.คิดไกลไปถึงแผนหาเสียงโค้งท้าย เป้าหมายแปรพลังเงียบเข้าคูหากาเบอร์ 9 อุดมเดช รัตนเสถียร ทีมยุทธศาสตร์พรรค แพลมว่าเวลาอีกเกือบเดือนจะใช้จุดเด่นของ จูดี้ พิชิตใจกลุ่มคนบ้านจัดสรร-ตึกแถวที่ไม่ฝักใฝ่การเมือง
          แผนเผด็จศึกคะแนนจัดตั้ง
          ราคาคุยของ สิงห์เหลิม ไม่รู้ช่วยพวกเดียวกันหรือเทคะแนนให้คู่ต่อสู้มากกว่า ยิ่งกรณีออกมาวิเคราะห์แทบทุกโค้งว่า พงศพัศ นำโด่งชนะชัวร์ มั่นใจถึงขนาดประกาศงดจ้อ 7 วันหากทายผิด ดีไม่ดีจะกลายเป็นรังแกคนกันเองมากกว่า
          งดจ้อก่อนเลือกตั้งอาจชนะ
          หนุ่มมาร์ค รับลูกเป็นทอดๆ จากเพื่อนเลิฟพันธมิตร เกี่ยวกับผลโพลบาดใจที่จะทำกี่ครั้ง คนของพรรคก็เป็นฝ่ายตาม เลยชูแขนสนับสนุนให้สำนักโพลไปเจาะลึกนโยบายและความพร้อมผู้สมัคร คุยว่าแนวทางนี้คะแนนฝั่งปชป.จะมาแน่นอน
          เตรียมหาวิธีอื่นไว้ด้วยก็ดี
          องอาจ คล้ามไพบูลย์ ผอ.เลือกตั้ง ปชป. เดินเกมรุกอีกขั้น เปิดนโยบายล็อตใหม่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิต 7 ด้าน หวังช่วยตีตื้นคะแนนขึ้นมา อีกทางก็ระดมแกนนำเดินสายปราศรัยย่อยทุกตรอกซอกซอย ตั้งเป้า 300 แห่งทั่วกรุง
          ขึ้นแซงได้รึเปล่า โปรดติดตาม
          ฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. ออกมาตรการเชิงรุกคุมเข้มอุบัติภัยช่วงเทศกาลตรุษจีน เริ่มจากให้ท้องถิ่นจัดทำแผนรับมือ สำรวจความพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือระงับเหตุ ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนอัคคีภัย และจัดชุดเผชิญเหตุในพื้น ที่เสี่ยง
          ให้พี่น้องฉลองตรุษจีนราบรื่น
ดิเรก ชี้ บรรยากาศขณะนี้เหมาะพิจาณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม


          ดิเรก ชี้ บรรยากาศบ้านเมืองขณะนี้ เหมาะพิจาณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ค้านออกเป็น พ.ร.ก. เกรงจะมีปัญหาตามมาภายหลัง
          นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือ วิปวุฒิสภา เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า บรรยากาศทางเมืองในประเทศขณะนี้ ถือว่ามีความเหมาะสมที่จะมีการพิจารณาเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผู้นำฝ่ายค้าน ก็แสดงความเห็นด้วยกับการปรองดอง เพราะเป็นหนทางเดียว ที่จะทำให้บ้านเมืองกลับมาสงบเรียบร้อย แต่จะต้องมีการพูดคุยกัยให้ตกผลึกว่าจะมีกรอบการดำเนินการอย่างไร
          ส่วนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ หรือ คอ.นธ. โดยเท่าที่ฟังในรัฐสภา หลายคนก็แสดงความเห็นด้วย แต่ก็ยังมีความไม่อยากให้รัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติม เพราะจะทำให้เกิดการได้ประโยชน์เสียประโยชน์
          อย่างไรก็ต าม หากมีการนำเข้าสู่สภาวิปทั้ง 3 ฝ่าย จะต้องมีการพูดคุยกัน ก็จะได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย ทั้งนี้ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการออกเป็น พ.ร.ก. เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง--จบ--
คอลัมน์: บทบรรณาธิการ: นิรโทษฯจบง่ายถ้าก้าวข้ามทักษิณ


          ที่ผ่านมา มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนักโทษหนีโทษจำคุกในคดีทุจริตตาม คำพิพากษาของศาล ในการผลักดันให้มีการออกกฎหมาย หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการนิรโทษกรรมแก่ ผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง ตั้งแต่ช่วงการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มาจนถึงหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายเผาบ้านทำลายเมืองเมื่อปี 2553
          แต่การผลักดันกฎหมายหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการนิรโทษกรรมกลับอำพรางเป้าหมายแอบแฝง ที่แท้จริงมุ่งที่จะลบล้างโทษความผิดทั้งหมดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ และทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ทรัพย์สิน 46,000 ล้านบาท ที่ถูกศาลพิพากษายึดตกเป็นของแผ่นดินคืน เป็นเหตุให้การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกต่อต้านจากกระแสมหาชนจำนวนไม่น้อย ที่เห็นว่าเป็นการทำลายหลักนิติรัฐและความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันศาลสถิตยุติธรรม
          รัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นน้องสาวของพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ และเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่แปลกที่นับตั้งแต่รัฐบาลหุ่นเชิดชุดนี้ เข้ามาบริหารประเทศจะทุ่มเททำทุกวิถีทางเพื่อผลักดันกฎหมายตลอดจนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีเป้าหมายแอบแฝงที่สำคัญคือ ลบล้างโทษความผิดทั้งหมดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อที่จะสามารถเดินทางกลับประเทศไทย โดยไม่ต้องรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล เช่น นักโทษทั่วไป
          ล่าสุดคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ที่มีดร.อุกฤษ มงคลนาวิน อดีตประธานรัฐสภา เป็นประธาน และเป็นคณะกรรมการ ซึ่งรัฐบาลตั้งขึ้นได้สรุปแนวทางการศึกษา เพื่อสร้างความปรองดองด้วยการเสนอให้ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมความผิดทางการเมืองแก่ผู้ต้องหาทางการเมืองตั้งแต่การรัฐประหาร เมื่อ วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2554 ยกเว้นผู้ที่สั่งการหรือเป็นแกนนำในการชุมนุมทางการเมืองจนเกิดความสูญเสียต่อประเทศ
          อย่างไรก็ตาม แม้เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษของ คอ.นธ.ในภาพรวมจะมุ่งนิรโทษกรรมแก่ประชาชนทุกสีทุกกลุ่ม ซึ่งก็น่าจะเป็นการดีที่จะนำไปสู่การสร้างความปรองดอง แต่รายละเอียดในร่างกฎหมายกลับถูกตั้งข้อสังเกตว่าแฝงไว้ด้วยเลศนัยมุ่งที่จะลบล้างโทษความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ และเหล่าแกนนำคน เสื้อแดง ที่เป็นผู้ต้องหาก่อการร้ายเผาบ้านทำลายเมืองเมื่อปี 2553
          นอกจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแล้ว กลุ่มคน เสื้อแดงอีก 2 กลุ่ม ก็พยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเช่นกัน โดยกลุ่มคนเสื้อแดงภายใต้การนำของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มคนเสื้อแดง เรียกร้องให้รัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นิรโทษกรรมแก่ประชาชนทุกสีทุกกลุ่ม ยกเว้นผู้สั่งการหรือแกนนำที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง
          ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงที่ใช้ชื่อว่าแนวร่วม 29 มกราฯปลดปล่อยนักโทษการเมือง หรือกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วกำหนดให้มีการนิรโทษกรรมผู้ได้รับโทษทางการเมืองทุกสี ทุกกลุ่ม ซึ่งรวมทั้งผู้ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา
          ล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงจุดยืนชัดเจน พร้อมที่จะสนับสนุนการนิรโทษกรรมเพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดองในชาติ โดยมีเงื่อนไขว่า การนิรโทษกรรมจะต้องไม่มุ่งเพื่อลบล้างโทษความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้ที่มีความผิดทางอาญาร้ายแรง
          เพราะฉะนั้นหากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีความจริงใจในการผลักดันกฎหมาย หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อ นิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองทุกสีทุกกลุ่ม อันจะนำไปสู่การสร้างความปรองดองอย่างแท้จริงก็จะต้องทบทวนจุดยืนตัวเองโดยต้องไม่มีวาระซ่อนเร้นมุ่งทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งหากทำได้ก็เชื่อว่าการนิรโทษกรรมจะจบลงด้วยดีราบรื่น และสันติสุขความปรองดอง ก็จะกลับคืน
เกิดกระแสกระทบ ภาวะผู้นำ อีกกระทอก เริ่มจากสื่อต่างประเทศนำเสนอประเด็น กดปุ่มรีโมตการเมืองไทย โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ สไกป์ผ่านรัฐบาล นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็นรัฐบาล 2 นายกฯ วันต่อมา ก็มีรูปของ นายกฯปู โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก นั่งทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นเชิงสัญลักษณ์ว่านี่คือนายกฯเมืองไทยตัวจริงเสียงจริง ไม่มีนายกฯคนที่สอง
         
เถียงกันไม่จบ
         
ฝ่ายที่รอ ชะยันโต อยู่แล้ว ตีปี๊บ กันใหญ่ ทำลายภาวะผู้นำ และประจานให้ทั่วโลกรู้ว่า การบริหารประเทศภายใต้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบไทยๆเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้มีอิทธิพลตัวจริงในการบริหารบ้านเมืองและมีอิทธิพลทางการเมืองดึงดูดให้อยู่ในขั้วอำนาจ
         
ภาพของ นายกฯยิ่งลักษณ์ พยายามจะทำให้ความเป็นผู้นำชัดเจนขึ้น โดยมีข่าว ขัดใจพี่ ออกสื่อบ่อยๆ เช่นการปรับ ครม. การโหวตแก้รัฐธรรมนูญ การจะตั้งเสื้อแดงเป็น รมต. เพื่อให้นายกฯยิ่งลักษณ์สลัดหลุดจากภาพของหุ่นเชิดการเมือง และบ่วงวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา
         
คนที่เคยทำงานกับพี่ น้องก็ไม่ค่อยปลื้ม คนที่ทำงานอยู่กับน้อง พี่ก็ไม่ค่อยปลื้ม ภาพความชัดเจนทางการเมืองก็เลยอึมครึม ไม่ค่อยจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งๆที่ จะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ต้องเป็นปลาอยู่ในข้องเดียวกัน ถึงบางครั้งจะแปลงสภาพเป็นไก่ในเข่งเดียวกันก็เถอะ
         
ความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหน ต่างประเทศหรือในประเทศ ความเป็นพี่เป็นน้องต้องมีเยื่อใย ความเป็นเลือดย่อมข้นกว่าน้ำ แต่ก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้เช่นกันว่า ในประวัติศาสตร์การแย่งชิงอำนาจก็เกิดขึ้นในหมู่เครือญาติ วงศ์ตระกูลเดียวกัน เมื่อถึงคราวอำนาจไม่เข้าใครออกใคร
         
และต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า ศูนย์รวมอำนาจยังอยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ หากขาด พ.ต.ท.ทักษิณ นายกฯก็อยู่ลำบาก เสื้อแดงก็อยู่ยาก คนที่มีอำนาจวาสนาอยู่ตอนนี้ก็คงหมดวาสนา
         
ดาวฤกษ์ย่อมมีอิทธิพลเหนือดาวเคราะห์เสมอ
         
และลึกๆถ้าสังคมไม่ดัดจริต ความรู้ความสามารถ มันสมองของ พ.ต.ท.ทักษิณในการบริหารพัฒนาประเทศไปข้างหน้า เป็นที่ยอมรับ คนยังอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามาบริหารประเทศ เพียงอย่างเดียว แต่ไม่อยากให้มีอำนาจ
         
เพราะฉะนั้นถ้าจะใช้สมองของ พ.ต.ท.ทักษิณในการชี้แนะด้านการบริหารบ้าง ก็น่าจะเป็นผลดีด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่า คนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในนี้ต้องมี ความชัดเจนและโปร่งใส ตำราด้านบริหารที่ฝรั่งตาน้ำข้าวเขียนเอาไว้เราก็เอามาใช้อย่างไม่ขัดเขินกลับภูมิใจยกย่องเสียด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นจะมีนายกฯสองคนหรือสามคนไม่ใช่สาระ
         
ให้ประเทศได้ประโยชน์ดีกว่าพวกมาเอาผลประโยชน์จากประเทศ.
         
หมัดเหล็ก
          ที่มา: http://www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น