วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อุกฤษ'เตรียมชงร่างนิรโทษให้ ครม.ดำเนินการ เมื่อ 5 ก.พ.56




คอ.นธ.เตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้นายกฯ-ครม.ดำเนินการ ระบุนักการเมือง-แกนนำ ต้องลงชื่อแสดงเจตจำนงไม่ขอรับนิรโทษกรรม
นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) แถลงถึงร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันท่ 19 ก.ย. 2549 ถึงวันที่ 10 พ.ค.2554 พ.ศ. ... (พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ) ที่คอ.นธ.เตรียมเสนอต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ในวันนี้(5 ก.พ.) ว่า สำหรับ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ จะประกอบด้วย 6 มาตรา ซึ่งเนื้อหาโดยสรุป จะเน้นในการนิรโทษกรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง และเป็นผู้ที่มีความสุจริตทางการเมือง
โดยแสดงออกตามสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะประชาชน โดยไม่รวมถึงแกนนำ ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง พร้อมกันนี้ยังไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามทางคอ.นธ.จึงขอเรียกร้องให้นักการเมืองหรือบรรดาแกนนำในการชุมนุมทุกฝ่าย ควรแสดงความบริสุทธิ์ใจ ด้วยการลงชื่อแสดงเจตจำนงในการไม่ขอรับประโยชน์และไม่ประสงค์จะรับการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ด้วย พร้อมยินยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติต่อไป เพื่อลดข้อครหาว่าการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯครั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองหรือแกนนำอีกด้วย
"การเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ในวันนี้นั้น เพื่อให้เป็นเจ้าภาพในการนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการของรัฐสภา โดยถือเป็นวาระเร่งด่วน แล้วพิจารณา 3 วาระในคราวเดียวกัน โดยจะเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ ทั้งรัฐสภา เผื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า ในกระบวนการแปรญัตติ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ก่อนที่จะส่งไปยังวุฒิสภาพิจารณาต่อไปภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะลงมติในวาระ 3 ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะใช้เวลาทั้งสิ้น 30-45 วัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศใช้พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวได้ภายในวันที่ 14-15 เม.ย.ทันที ก่อนถึงกำหนดปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติในวันที่ 19 เม.ย.นี้ เชื่อว่าแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะลดความขัดแย้งของประเทศได้" นายอุกฤษ กล่าว
นายอุกฤษ กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ ที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง นั้น ส่วนตัวเห็นว่า สามารถทำได้ แต่กระบวนการดำเนินการจะล่าช้ามาก มีหลายขั้นตอนกว่ารัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ เพราะดูได้จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่วาระ 3 ยังค้างอยู่ในสภาฯ อยู่เลย ซึ่งหากมาทำในส่วนของนิรโทษกรรมอีก เชื่อว่าคงไปไม่รอด ส่วนของเสนอของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่าต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เสนอร่างพ.ร.ก.นิรโทษกรรมฯ นั้น ตนมองว่า ควรเสนอเป็นร่างพ.ร.บ. จะรวดเร็วกว่า เพราะรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ทันที แต่หากออกเป็นร่างพ.ร.ก.นั้น จะต้องผ่านขั้นตอนการลงพระปรมาภิไธยซึ่งจะใช้เวลานาน อีกทั้งหากออกเป็นพ.ร.ก. จะมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งถ้าหากนำเข้าสู่สภาฯ แล้วมีผู้ไม่เห็นด้วย อาจยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยตามมาตรา 184 ของรัฐธรรมนูญได้ โดยอ้างเหตุผลว่าการออกพ.ร.ก.ดังกล่าว ไม่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่จะทำในช่วงสมัยประชุมประชุมสามัญนิติบัญญัติได้ และหากเป็นเช่นนั้นกลุ่มคนที่ได้นิรโทษกรรมไปแล้ว ตามพ.ร.ก.ดังกล่าว ก็ต้องได้รับผลกระทบกลับเข้าคุกเช่นเดิม ดังนั้นเห็นว่าทางกลุ่ม นปช.ควรต้องกลับไปทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ตามเชื่อว่ากลุ่มนปช. จะเห็นด้วยกับแนวทางที่ตนและคอ.นธ.เสนออย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น