วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อาจารย์นิติ มธ. มั่นใจศาลโลกตัดสินว่ากัมพูชาไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อ ๔ ก.พ.๕๖



 
อาจารย์นิติ มธ. มั่นใจศาลโลกตัดสินว่ากัมพูชาไม่มีอำนาจฟ้อง
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 3 ก.พ. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการสัมมนาทางวิชาการ “50 ปีคดีปราสาทพระวิหาร ไขปริศนาคดีตีความ” โดย นายพิชยพันธุ์ ชาญภูมิดล รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานโยบายประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเน้นสร้างความมั่งคั่งไว้เนื้อเชื่อใจ พัฒนาเศรษฐกิจและเจริญไปด้วยกัน ความเชื่อมโยงทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การใช้การทูตเชิงวัฒนธรรมและสร้างความสำคัญระดับประชาชน ผูกพันผลประโยชน์ให้สอดคล้องกัน และแสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง ทั้งนี้ได้แยกประเด็นปัญหาออกจากความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดี

“19 ก.พ.2493 ไทยสถาปนาความสัมพันธ์อันดีกับกัมพูชา แต่ปี 2501-2504 กัมพูชา ได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 2 ครั้ง สาเหตุจากข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร ปี 2549 เริ่มมีปัญหาจากการที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อยูเนสโกฝ่ายเดียว ปี 2550 ไทยได้คัดค้านเป็นผลสำเร็จ มีการเลื่อนการพิจารณาไปในปี 2551 ที่ประเทศแคนาดา แต่กัมพูชาประสบความสำเร็จขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียวและขึ้นได้เฉพาะตัวประสาทพระวิหารไม่รวมชะง่อนเขาบริเวณนั้น ปี 2553 มีการประชุมที่สเปนไทยคัดค้านพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร และได้มีการเลื่อนไปอีก ในที่สุดปี 2555 นายสุวิทย์ คุณกิตติ อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯได้ไปประชุมที่ประเทศฝรั่งเศส ไทยได้ประท้วงและขอเลิกการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกมีการวอล์คเอาท์ออกจากที่ประชุม แต่ยังไม่เป็นผลเพราะยังไม่ได้บอกเลิกอย่างเป็นทางการ ดังนั้นจึงยังเป็นภาคีมรดกโลกอยู่” นายพิชยพันธุ์ กล่าว

นายพิชยพันธุ์ กล่าวต่อว่า ปี 2554 เกิดความผกผันมากเพราะช่วงต้นปีมีการปะทะกันที่ จ.ศรีสะเกษ บริเวณพื้นที่ภูมะเขือ มีการอพยพคนประมาณ 1.5 หมื่นคน จนนำไปสู่การประชุมคณะมนตรีความมั่นคง หลังจากนั้นมีการประชุมรมว.ต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการขอให้ไทยและกัมพูชาหารือทวีภาคีกัน หลังจากนั้นมีการปะทะกันรุนแรงระหว่าง 2 เม.ย.-3 พ.ค.2554 บริเวณปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาควาย นำไปสู่การยื่นขอตีความคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหารในวันที่ 28 เม.ย.2554
นายพิชยพันธุ์ กล่าวด้วยว่า แม้จะมีปัญหาระหว่างกันแต่การค้าชายแดนมูลค่าไม่ได้ลดลง เพิ่มขึ้นตลอด ปีที่ผ่านมาไทยได้เปรียบดุลการค้า 4 หมื่นกว่าล้านบาท โดยปี 2555 ไทยลงทุนในกัมพูชาเป็นอันดับ 6 นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปกัมพูชาเพิ่มขึ้น ส่วนความสัมพันธ์ด้านการเมืองนั้นดีมาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไปเยือนกัมพูชาถึง 5ครั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25-26 ธ.ค.2555 ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่า ด้วยความรวมมือทวีภาคี (เจซี) ที่กรุงเทพฯ มีความร่วมมือหลายด้านตามมา ดังนั้น คิดว่าความสัมพันธ์ไทยและกัมพูชาต้องเดินหน้าสร้างสันสิภาพความสงบสุขอย่างถาวร ขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างความร่วมมือเศรษฐกิจการพัฒนาพื้นที่รวมกันและมีความสัมพันธ์เหมือนพี่น้องกัน มีความใกล้ชิดและรักษาความสัมพันธ์ไว้ตลอดไป

ด้าน นายวรเดช วีระเวคิน อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กล่าวถึงกระบวนการต่อสู้คดีว่า ไม่คิดว่าคดีปราสาทพระวิหารจะกลับมาอีกทั้งที่ผ่านมา 50 ปี เหตุผลที่คดีนี้กลับมา เพราะทางกัมพูชาพยายามขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จนมีการยื่นฟ้องต่อศาลโลก ขอให้ตีความคำพิพากษาในปี 2505 เพราะไม่ได้ระบุชัดเจนว่า บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารครอบคลุมพื้นที่แค่ไหน ในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้ตั้งคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหาร ในการต่อสู้คดีได้จ้างผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ 3 คน จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบันตัวแทนสู้คดียังเป็น เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก และทีมทนายยังเป็นชุดเดิม

นายวรเดช กล่าวต่อว่า การต่อสู้ทางเอกสารของทั้ง 2 ฝ่ายต่อศาลโลกได้สิ้นสุดแล้ว ในวันที่ 15-19 เม.ย.นี้ จะเปิดโอกาสให้ 2 ฝ่ายแถลงด้วยวาจา และคาดว่าหลังจากนั้นอีก 6 เดือนศาลโลกคงใช้เวลาทำคำตัดสินก่อนตัดสินในปลายปี 2556 ดังนั้นระหว่างนี้จนถึงเดือน เม.ย.ต้องเตรียมการแถลงด้วยวาจาในเดือน เม.ย. ซึ่งในวันที่ 5-7 ก.พ.นี้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯและรมว.ศึกษาธิการ จะนำคณะไปหารือกับทีมทนายเพื่อจัดเตรียมถ้อยแถลงฝ่ายไทยและเสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป

ขณะที่ ดร.วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ หัวหน้าทีมทนายความ กล่าวว่า การตีความคำพิพากษาปี 2505 ไม่มีที่สิ้นสุด แต่จำกัดว่าต้องอยู่ในกรอบคดีเดิม และจะมีผลผูกพันเฉพาะสิ่งที่ได้รับการตัดสิน คดีนี้เชื่อว่าจะเป็นบรรทัดฐานให้มีการศึกษาในอนาคต ดีใจที่ได้รับเกียรติเพราะคดีอาจจบโดยแพ้หรือชนะแต่ก็จะทำอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า หากศาลโลกไม่รับคำฟ้องของกัมพูชา พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรจะเป็นของใคร ดร.วีรชัย กล่าวว่า พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เป็นของใหม่เกิดตอน พ.ศ.2550 จนทำให้เกิดเป็นข้อพิพาท 6 ปีมานี้ไม่ใช่ 50 ปี และหากศาลไม่รับปัญหานี้ก็ยังมีอยู่ 2 ประเทศจะต้องเจรจาตามพันธะสัญญาที่มีอยู่
ทางด้าน รศ.ประสิทธิ์ ปีวาวัฒนพานิช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อมุมมองนักวิชาการเกี่ยวกับคดีตีความฯ”ว่า กัมพูชามีสิทธิขอให้ศาลโลกตีความ แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกของประเทศไทยหมดอายุไปแล้ว ศาลโลกยังจะมีอำนาจอีกหรือ สรุปคือศาลโลกมีอำนาจตีความตามธรรมนูญข้อ 60 หลังศาลโลกตัดสินขึ้นอยู่กับว่า คู่ความต้องปฏิบัติตามพิพากษาหรือไม่ ถ้าขั้นตอนไม่เป็นผลอาจนำไปสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคง แต่คณะมนตรีความมั่นคงอาจไม่พิจารณาก็ได้
รศ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า คิดว่าศาลโลกไม่น่ารับคำฟ้องของกัมพูชา ที่ประเมินอย่างนี้ เพราะตอนออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ความเห็นแย้งของผู้พิพากษาชาวอเมริกันระบุว่า ไม่ใช่เรื่องเขตแดน ไม่ใช่เรื่องแผนที่ และรุกล้ำอธิปไตยของ 2 ประเทศ ดังนั้น คิดว่าคำขอของฝ่ายกัมพูชาไม่น่าจะรับ อย่างไรก็ตาม หวังว่าคำพิพากษาที่จะออกมาปลายปีนี้คงจะสอดคล้องกับภาษาลาตินที่จารึกที่หน้าพีช พาเลซ ว่า หน้าที่ในการส่งเสริมสันติภาพเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษา
ศ.ดร.จตุรนต์ ถิระวัฒน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เราพูดเรื่องการแพ้ชนะ เจ๊งกับเจ๊า ทุกคนไม่สบายใจและไม่อยากให้มีผลกระทบอีก 50 ปีข้างหน้า ผลประโยชน์อยู่ตรงไหนอยากให้ดูหลายมิติ จริง ๆ แล้ว ไม่จำเป็นที่จะคาดการณ์ในทางลบเกินไป เชื่อว่าศาลคงคำนึงถึงสภาพการณ์ในภูมิภาค เรื่องศักดิ์ศรีประเทศ เพราะเรากำลังมีมติใหม่ในการทำงานในภูมิภาค มีแผนจะก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน ถ้าศาลจะทำให้เราติดหล่ม ศาลคงตระหนักและชั่งน้ำหนัก.

.....เดลินิวส์ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น