วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สรุปข่าวสำคัญ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556

“คำนูณ” เฉ่งบัวแก้ว นิยาม “สันปันน้ำ” เพี้ยน ส่อทำไทยเสียดินแดนให้เขมร
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์7 กุมภาพันธ์ 2556 15:24 น


“คำนูณ” ฉะ “บัวแก้ว” นิยาม “สันปันน้ำ” เพี้ยน ทำไทยเสียเปรียบ จี้ยุติเผยแพร่เอกสาร “50 ปี 50 ประเด็นฯ” ทันที หวั่นกระทบเส้นเขตแดนตลอดแนว “ช่องบก-ช่องสะงำ” ระบุจะเป็นปัญหายิ่งใหญ่กว่าคดีเขาพระวิหาร พร้อมติงกระทรวงการต่างประเทศให้ข้อมูลคนไทยไม่รอบด้าน แถมแบไต๋เตรียมรับอำนาจศาลโลกแบบไม่มีข้อแม้
       
       ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร วันนี้ (7 ก.พ.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างร่วมสัมมนาวิชาการเรื่อง “ข้อพิพาทพรมแดนไทย-กัมพูชาในเขตอำนาจศาลโลก : ก้าวสำคัญของไทยกับจุดยืน จุดเปลี่ยน และจุดจบ” ว่า ขณะนี้จุดยืนของประเทศไทยแตกต่างจากในอดีตมาก แม้ในอดีตประเทศไทยจะเป็นฝ่ายแพ้ แต่ก็มีจุดยืนที่มีความเฉลียวฉลาด มีภูมิปัญญาในการต่อสู้ และยืนหยัดความเป็นจริงมาโดยตลอด แต่หลังจากนั้นน่าเสียดายว่ามีจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของทุกรัฐบาลที่เข้ามา โดยเฉพาะช่วง 15 ปีให้หลังมานี้ ทั้งนี้ มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่จุดจบซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย คือ เอกสาร 50 ปี 50 ประเด็น ถาม-ตอบปราสาทพระวิหาร ที่กระทรวงการต่างประเทศที่เผยแพร่ในเวบไซต์ไปเมื่อปลายเดือน ม.ค. 56 และกำลังจะพิมพ์แจกประชาชนทั่วประเทศในเร็วๆนี้
       
       “เอกสาร 50 ปี 50 ประเด็นฯ เป็นจุดเปลี่ยนที่พลิกจุดยืนของประเทศไทยเมื่อปี 2505 แบบชนิดเอาหัวยืนแทนเท้า เอาเท้าขึ้นมาชูแทนหัว ทำให้สามารถคาดหมายได้ว่าจุดจบของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งผมได้พยายามวิงวอนให้รัฐบาลยุติการเผยแพร่เอกสารชิ้นนี้มาโดยตลอด”
       
       นายคำนูณยังได้กล่าวอีกว่า ในเอกสาร 50 ปี 50 ประเด็นฯ มีหลายประเด็นที่จะนำพาประเทศไทยถลำลึกในหลุมดำแห่งความเสียเปรียบในการเจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชาในอนาคต โดยเฉพาะคำนิยามศัพท์ “สันปันน้ำ” ขึ้นมาใหม่ ซึ่งต่างจากจุดยืนในอดีตถึง 3 ข้อใหญ่ๆ คือ 1. บอกว่าสันปันน้ำอาจไม่ใช่สันเขาหรือขอบหน้าผาก็ได้ 2. บอกว่าปกติต้องใช้เครื่องมือทางเทคนิคในการพิสูจน์หาสันปันน้ำ และ 3. ไปบอกด้วยว่าบริเวณปราสาทพระวิหารจนถึงบัดนี้ยังไม่มีการสำรวจสันปันน้ำในภูมิประเทศจริง ทั้งที่เมื่อครั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ฝ่ายไทยยืนยันเรื่องหลักเขตแดนโดยอ้างอิงสันปันน้ำซึ่งอยู่ที่หน้าผาไว้อย่างชัดเจน อีกทั้งเมื่อ 100-200 ปีก่อนก็ไม่มีเครื่องมือใดๆ แต่ใช้วิธีการเดินสำรวจ
       
       “ไม่ทราบว่ากระทรวงการต่างประเทศจะไปนิยามศัพท์คำว่าสันปันน้ำใหม่เพื่ออะไร เพราะผลที่ตามมาจะทำให้เส้นเขตแดนที่ไทยเคยยืนยันหายไป เหลือเพียงเส้นเขตแดนที่กัมพูชายืนยัน เพราะเราไปกลับคำของประเทศไทยเมื่อ 50 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง และไปยอมรับว่าไม่เคยมีการสำรวจ ไม่เคยใช้เครื่องมือ และสันปันน้ำอาจจะไม่ใช่หน้าผาก็ได้ ประเด็นนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง และเรื่องนี้อาจใหญ่กว่าคคีที่กำลังพิจาณาอยู่ในศาลโลกด้วยซ้ำ เพราะจะมีผลต่อการเจรจาเขตแดนไทยตลอดแนวช่องบก-ช่องสะงำ ระยะทาง 195 กม. ที่ไม่เคยมีการปักปันเขตแดนมาก่อน”
       
       นายคำนูณยังได้กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศกลับไม่เคยให้ข้อมูลแก่คนไทยอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการที่ประเทศประเทศหนึ่งจะรับเขตอำนาจศาลโลกต้องมีเงื่อนไขอย่างไร และไม่ได้บอกว่าไทยไม่จำเป็นต้องรับเขตอำนาจศาลโลกโดยอัตโนมัติ อีกทั้งไทยไม่ได้ต่ออายุปฏิญญารับเขตอำนาจศาลโลกมาแล้วกว่า 50 ปีเศษ ซึ่งอาจจะอ้างว่าไทยจำเป็นต้องรับผลผูกพันของศาลโลก เนื่องจากกัมพูชายื่นให้ศาลตีความในคำพิพากษาเดิมตามแต่ในธรรมนูญศาลโลกมาตรา 60 (2) แต่ก็ไม่เคยมาบอกกับคนไทยอีกว่าที่ผ่านมามีเพียง 4 กรณีที่ยื่นต่อศาลโลกตามมาตรา 60 (2) และระยะเวลานานที่สุดที่ยื่นขอตีความคือ 4 ปีเท่านั้น แต่คดีปราสาทพระวิหารผ่านมาแล้วถึง 50 ปี ซึ่งเป็นจุดที่กระทรวงการต่างประเทศไม่นำไปต่อสู้ แถมยังไประบุไว้ในเอกสาร 50 ปี 50 ประเด็นฯ อีกว่า หากศาลโลกมีคำพิพากษาออกมา ประเทศไทยและกัมพูชาในฐานะสมาชิกสหประชาชาติมีพันธกรณีในการปฎิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกอย่างไม่มีข้อแม้

รองนายกฯ ไม่พอใจ รมว.กลาโหม ค้านประกาศเคอร์ฟิวใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เหน็บแค่ทหารอากาศคิด-ฟิตเกินไป-เป็นหนึ่งใน กปต.หรือไม่ เก่งจริงไปขอนายกฯ มาเป็นแทน จะกราบงามๆ 3 ที อีกด้านบอกดัน “ตู่” นั่ง รมต.เป็นอำนาจ “ปู” ใครกดดันไม่ได้ ปัดตอบ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
       



วันนี้ (7 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.40 น. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ออกมาระบุว่าทหารไม่เห็นด้วยกับการประกาศเคอร์ฟิวในบางพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ยังไม่ได้ปรึกษากัน ซึ่งว่าจะปรึกษาอยู่ แต่ตนได้บอกแล้วว่าเป็นแนวคิดที่จะขอคำปรึกษาหารือกัน เพราะหากเราจะปล่อยไปอย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้ตลอด ทำไมเราไม่คิดวิวัฒนาการบ้าง
       
       ทั้งนี้ พวกที่ออกมาพูดก็ยังไม่รู้ข้อเท็จจริง ตนสอบถามตำรวจแล้วว่าเฉพาะพื้นที่ไหนที่เกิดเหตุซ้ำซาก ซ้ำซ้อน ต้องดูว่าบริเวณนั้นมีการเดินทางของพี่น้องประชาชนมากหรือไม่ ต้องดูหลายส่วนประกอบกัน ไม่ใช่เอะอะก็ไม่เห็นด้วย ตนมีหน้าที่และเป็นคนชอบคิด หากสมมติว่าบริเวณดังกล่าวมีพี่น้องประชาชนจะละหมาดตอนเช้าเราก็ต้องดูเวลาว่าควรเคอร์ฟิวเวลาใดถึงเวลาใด หากกรีดยางเราต้องดูว่าจุดนั้นมีมากหรือไม่ เรื่องนี้คิดได้ อย่าเพิ่งมาบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกันเลย ปรึกษาหารือกันก่อน และเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ตนก็ได้ฝากให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบกช่วยคิด ไม่เห็นว่าท่านจะพูดอะไรเลย
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.อ.สุกำพลระบุว่ามาตรการที่มีอยู่บางอันก็ยังใช้ไม่ครบถ้วน ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า เช่นอะไรบ้าง ตนไม่ทราบ แต่กำลังคิดว่าสำหรับพื้นที่สีเขียวให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ตรงไหนยังอันตรายอยู่ให้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และหากอันตรายมากให้ใช้เคอร์ฟิว และตนไม่ทราบว่า พล.อ.อ.สุกำพลได้เป็นคณะกรรมการ กปต.หรือไม่ แต่ตนเป็นผู้อำนวยการ ศปก.กปต. ซึ่งหากแต่งตั้งมาแล้วไม่ให้ตนคิดแล้วจะทำอย่างไร การประกาศเคอร์ฟิวไม่ได้ประกาศทั้งวันทั้งคืน โดยเราอาจจะกำหนดเป็นช่วงเวลา
       
       “หากคณะทำงานเขาเห็นด้วยถึงจะเอา แต่เรายังไม่ได้ประชุม ผมก็ยังไม่ได้บอกว่าจะประกาศหรือไม่ ทีนี้ พล.อ.อ.สุกำพลฟิตเกินไปไง ซึ่งผมบอกรองผู้บัญชาการทหารบกก็รับฟัง ก็หัวเราะ ไม่ได้ว่าอะไร แล้ว พล.อ.อ.สุกำพลไปประชุมเมื่อไหร่ถึงบอกทหารไม่เห็นด้วย หรือทหารอากาศคิด” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
       
       เมื่อถามว่า แนวทางนี้จะไม่มีการถอยหลังใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ไม่ แต่หากที่ประชุม ศปก.กปต.ในวันที่ 15 ก.พ.ไม่เห็นด้วยก็ไม่ได้ว่าและไม่ได้โกรธ แล้วทำไม พล.อ.อ.สุกำพลไม่โทรศัพท์หาตน เรื่องนี้ไม่ได้แตกแยก แต่ตนเชิญประชุมแล้ว พล.อ.อ.สุกำพลได้เป็นคณะกรรมการ กปต.หรือไม่ ตนไม่ทราบ เมื่อถามว่า ประเมินผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการประกาศเคอร์ฟิวไว้อย่างไร ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ขณะนี้ทำเดิมๆ ก็เป็นแบบนี้ เดี๋ยว 2 ศพ 3 ศพ และ 4 ศพ ตนไม่ได้อยากเด่นอยากดัง ใครๆ ก็รู้จักตนหมดทั้งประเทศ แต่ในเมื่อนายกฯ มอบหมายให้มาดูจะไม่ให้คิดบ้างหรือ แล้วตนไม่ใช่ว่าไม่รู้เรื่องกฎหมายเพราะเรียนกฎหมายโดยตรงมา ต้องดูตรงนี้สถิติเป็นอย่างไร อันตรายตลอดเราจะทำอย่างไร ส่วนที่นักวิชาการออกมาพูดก็นั่งกันแต่ในห้องแอร์
       
       เมื่อถามว่าพื้นที่สีแดงที่อันตรายมากมีเยอะหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ไม่มาก มีน้อย อย่าง อ.กรงปินัง จ.ยะลา และ จ.ปัตตานีมีพื้นที่อยู่ เราจึงต้องหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ทหาร และตำรวจ ดูว่าการประกาศเคอร์ฟิวเวลาใดทำได้ หากทำแล้วคนเดือดร้อนหรือไม่ ต้องคิด ไม่ใช่ไม่คิด เมื่อถามว่าจะลงพื้นที่ไปคุยกับคนในพื้นที่เมื่อใด ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ไม่ต้อง ตนรู้หมดแล้ว เพราะเป็นคนเดียวที่มาทำงาน ซึ่งก่อนเข้าพบนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่ผ่านมาตนเคยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้แสดงความคิดเห็นมาแล้วว่าหากเป็นตนจะทำอย่างไร ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 6 ก.พ.ตนได้ให้ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ติดต่อกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อถามว่าหากเป็นรองนายกฯ แก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร
       
       เมื่อถามว่า การประกาศเคอร์ฟิวจะประกาศในลักษณะอำเภอ หรือตำบล รองนายกฯ กล่าวว่า พื้นที่ที่อันตรายที่สุด เกิดเหตุบ่อยที่สุด และดูแลไม่ได้จะเสียหายตรงไหนหากประกาศ ตนได้มอบหมายให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ช่วยคิดว่าจะทำอย่างไร ส่วนช่วงเวลาประกาศนั้นคงต้องถามเจ้าหน้าที่ แต่สมมติเริ่มมีเหตุประมาณช่วงเวลา 01.00-05.00 น. เราก็ประกาศช่วงเวลานั้น เพราะคนดีไม่ไปอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว เป็นช่วงเวลาหลับนอน อยากถามว่ากรีดยางกันทั้งคืนหรือ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 15 ก.พ.นี้จะมีความชัดเจน เมื่อถามถึงกรณีที่นักวิชาการออกมาระบุว่าเป็นการลิดรอนสิทธิประชาชนในพื้นที่ รองนายกฯ กล่าวว่า ถึงได้เสียชีวิตกันอยู่อย่างนี้ ตนไม่เชิญและไม่ฟังนักวิชาการเหล่านี้ด้วย เพราะเรื่องนี้ได้ตนฟัง สมช. ตำรวจ คนในพื้นที่ และหลายๆ คน ไม่ใช่คิดเอง
       
       เมื่อถามว่า มั่นใจว่าการประกาศเคอร์ฟิวจะช่วยลดสถิติการเสียชีวิตในพื้นที่ได้ รองนายกฯ กล่าวว่า “ลองดู หากไม่ลดก็ยกเลิกจะยากอะไร ไม่ใช่สงครามอิรักที่จะเลิกไม่ได้ และฝากบอก รมว.กลาโหมด้วย ถ้าเก่งจริงก็ไปขอนายกฯ มาทำหน้าที่แทนผม จะกราบงามๆ 3 ที” เมื่อถามว่า พูดในลักษณะนี้แปลว่าโกรธ พล.อ.อ.สุกำพลที่คัดค้านใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า “ผมไม่ได้โกรธ แต่เรื่องแบบนี้ต้องมาคุยกัน เพราะผมมีหน้าที่แต่คุณไม่มีหน้าที่ คุณก็มาของานไป” เมื่อถามว่าจะมีเคลียร์ใจกับ พล.อ.อ.สุกำพลหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า “ไม่มี ผมไม่ได้ใส่ใจจะไปเคลียร์ทำไม อยู่พรรคเดียวกัน พูดอย่างนี้เดี๋ยวก็ได้ยินแล้ว” เมื่อถามว่า ที่ออกมาตอบโต้ พล.อ.อ.สุกำพล เป็นเพราะไม่พอใจกันหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า “ไม่ใช่ ชอบกัน” เมื่อถามว่า เรื่องการประกาศเคอร์ฟิวจะบานปลายหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า จะบานปลายอย่างไร เพราะไม่ได้ประกาศทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหากทำแล้วไม่ดี 15 วันก็ค่อยเลิก
       
       ร.ต.อ.เฉลิมยังกล่าวถึงกระแสข่าวกลุ่มคนเสื้อแดงกดดันนายกรัฐมนตรีให้มีการผลักดันนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นรัฐมนตรีในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ต้องถามนายกฯ เมื่อถามว่ามองว่านายจตุพรเหมาะสมหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนบอกนานแล้วว่าไอ้เสมาคนดี แต่อำนาจไม่ได้อยู่ที่ตน
       
       เมื่อถามว่า หากนายจตุพรมาเป็นรัฐมนตรีจริง คิดว่าจะลดแรงเสียดทานระหว่างรัฐบาลกับคนเสื้อแดงในการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมได้หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ไม่มีแรงเสียดทาน นายกฯ ใครไปกดดันท่านไม่ได้ ไม่มีทาง ไปวิเคราะห์นั่งเขียนกันเอาเอง และไม่ใช่อำนาจตนที่จะให้ไปพูดว่าถึงเวลาเหมาะสมแล้วหรือยังที่นายจตุพรจะมาเป็นรัฐมนตรี
       
       นอกจากนี้ ร.ต.อ.เฉลิมยังกล่าวถึงกรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ที่นายกรัฐมนตรีส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษาแล้วว่า ขอไม่แสดงความเห็นเรื่องเหล่านี้ ผู้สื่อข่าวถามว่าจะให้ผ่าน 3 วาระรวดในสภาหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมยังคงปฏิเสธให้ความเห็น
       
       


กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา เชิญ “ราตรี” แจงกรณีพระราชทานอภัยโทษ เจ้าตัวโอด “รัฐบาลอภิสิทธิ์” ไม่ช่วย ต้องสู้โดยลำพัง แถมรับรองคนไทยหาเรื่องเข้าไปเอง เชื่อเหตุได้รับปล่อยตัวเอี่ยวการเมือง กังขาทำไมไม่ปล่อย “วีระ” พร้อมกัน วอน กมธ.เชิญ ตร.โคกสูง-ตชด.-ทหาร กกล.บูรพาที่เจรจาแจงด้วย เผยมีทหารโทรศัพท์ขู่ผ่านเพื่อนห้ามฟ้องรัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่งั้นอันตราย ถูก “นันทเดช” ซ้ำเติมให้ดูว่าจริงไหม กระทั่งถามกลับทั้งน้ำตา “จะให้ถูกทำร้ายก่อนหรืออย่างไร”
       

       วันนี้ (7 ก.พ.) ที่รัฐสภา ในการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มี พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา เป็นประธาน กมธ. มีการพิจารณากรณีการพระราชทานอภัยโทษ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ซึ่งถูกจับโดยทหารกัมพูชา ในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และโจรกรรมข้อมูล เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ต่อมาถูกศาลประเทศกัมพูชาตัดสินจำคุกในเรือนจำเปรยซอร์ ประเทศกัมพูชา โดย กมธ. เชิญ น.ส.ราตรี, ร.ต.แซมดิน เลิศบุษย์ และนายตามแน่ มุ่งมาจน มาชี้แจงและให้ข้อมูล
       
       ทั้งนี้ กมธ. ได้สอบถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ในเรือนจำของ น.ส.ราตรี ว่ามีการละเมิดสิทธิผู้ต้องขังหรือไม่ เพื่อจะนำข้อมูลเหล่านี้หารือกับประเทศกัมพูชาถึงหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่ง น.ส.ราตรี ชี้แจงว่า ความเป็นอยู่ในเรือนจำคงให้สบายเหมือนกับอยู่ที่บ้านคงไม่ได้ แต่ตนผ่านการฝึกใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายมาก่อน จึงปรับตัวได้ แต่สภาพจิตใจไม่ค่อยดี สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ นายวีระที่ไม่ได้รับอนุญาตให้สื่อสารกับใครเลย ไม่อนุญาตให้รับข่าวสาร อ่านหนังสือ เพราะรัฐบาลกัมพูชาเห็นว่านายวีระเป็นนักเคลื่อนไหวตัวจริง และกลัวจะสร้างปัญหา ทั้งยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพ
       
       น.ส.ราตรี กล่าวยืนยันว่า พื้นที่บ้านหนองจาน กิ่ง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว เป็นดินแดนของไทย เพราะเป็นไปไม่ได้ที่พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ของกัมพูชา เนื่องจากมีการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินให้กับคนไทย มีโฉนดชัดเจน อยากฝากให้ กมธ.ช่วยตรวจสอบข้อมูลว่าพื้นที่พิพาทดังกล่าวตามแนวเส้นแบ่งเขตหลักเขตที่46-47 เป็นของไทยหรือกัมพูชากันแน่
       
       “รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ช่วย และปล่อยให้สู้โดยลำพัง ทั้งยังรับรองให้ทางการกัมพูชาในการบอกว่าคนไทยหาเรื่องเข้าไปในพื้นที่เอง” น.ส.ราตรี กล่าว
       
       น.ส.ราตรี กล่าวต่อว่า การพระราชทานอภัยโทษให้ตนคงเป็นเหตุผลทางการเมือง แต่เรื่องการต่อรองไม่ทราบ เขาบอกจะปล่อยก็ปล่อย แต่น่าจะมีสาเหตุจากการสานสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับรัฐบาลกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีการอภัยโทษ ตนและนายวีระได้เตรียมการเรื่องโอนย้ายกลับประเทศไทยไว้แล้ว ซึ่งทางประเทศไทยก็รับทราบที่จะประสานกับทางการกัมพูชา เพราะถูกคุมขังเป็นเวลา 2 ปีแล้ว สามารถใช้สิทธิโอนย้ายได้ นายวีระก็เช่นกัน ที่สำคัญหากรัฐบาลมีความจริงใจที่จะช่วยเหลือนายวีระก็ควรดำเนินการอย่างเร่งรีบ ซึ่งนายวีระมีความต้องการให้มีการโอนย้ายตัวมาโทษที่ประเทศไทยมากกว่าการพระราชทานอภัยโทษ
       
       “เรื่องนี้เป็นเรื่องทางการเมืองอยู่แล้ว กรณีดิฉันอาจเป็นอุบัติเหตุที่ติดเข้าไปด้วยแล้วมาปล่อยทีหลัง ทั้งที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลกัมพูชา เหตุใดคุณวีระจึงไม่ได้ถูกปล่อยตัวมาพร้อมกัน ถ้ากัมพูชาต้องการปกป้องอาณาเขตตัวเอง ไม่มีนัยยะแอบแฝงก็ควรให้สิทธิ์คุณวีระในการโอนย้ายกลับมาที่ประเทศไทย” น.ส.ราตรี กล่าว
       
       น.ส.ราตรี กล่าวว่า ภายหลังจากที่ตนและคณะถูกจับมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เข้ามาช่วยเจรจากับเจ้าหน้าที่ทางกัมพูชา ซึ่งครั้งแรกได้รับการยืนยันปล่อยตัว จากนั้นตนและคณะจึงยื่นความต้องการขอเข้าไปดูหลักเขตที่ 46 ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยไปเจรจา และเดินกลับออกมาระบุว่า หมดหน้าที่ของทหารแล้ว ต่อไปเป็นหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศ จากนั้นตนและคณะก็ถูกควบคุมตัวไปยังกรุงพนมเปญ ซึ่งตามหลักการหากถูกจับในพื้นที่ใดก็ต้องนำตัวขึ้นศาลนั้น ผิดกับครั้งนี้ที่ถูกนำตัวไปขึ้นศาลที่กรุงพนมเปญ ดังนั้น ตนจึงอยากให้ทาง กมธ.ช่วยเชิญตำรวจ ทหาร ที่ช่วยเจรจาในวันดังกล่าวมาชี้แจงด้วย โดยตนจำได้ว่ามีผู้กำกับการ สภ.โคกสูง ยศ พ.ต.อ. ตำรวจตระเวนชายแดนยศ พ.ต.ท. และทหารจากกองกำลังบูรพา 2 นาย
       
       นอกจากนี้ น.ส.ราตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่ตนและคณะถูกควบคุมตัว ก็ได้ประกันตัวออกมาพำนักอยู่ที่สถานเอกอัครทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ก็ได้มีนายการุณ ใสงาม คณะทำงานที่ปรึกษากฎหมาย และ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ทีมที่ปรึกษากฎหมายเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ติดต่อเข้ามาเพื่อให้ตนและคณะได้ลงนามในหนังสือขอให้มีการพิจารณาคดีให้เร็วขึ้น และจะนำหนังสือฉบับเดียวกันให้นายวีระได้ลงนามด้วย แต่ท้ายที่สุด นายวีระไม่ยอมลงนาม โดยให้เหตุผลว่าเป็นหนังสือยินยอมรับความผิด ตรงจุดนี้จึงอยากทราบว่า เหตุผลที่แท้จริงคืออะไร และนายวีระเข้าใจว่าเป็นหนังสือยินยอมรับความผิดได้อย่างไร
       
       ด้านนายตายแน่ กล่าวว่า ครั้งเมื่อตนถูกคุมขัง นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในสมัยนั้นดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้หยิบยังแผนที่หลักเขตที่ 46-47 ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนกันแผนที่ที่คณะของตนศึกษา โดยพบว่า แผนที่ของนายศิริโชคระบุว่า ตนและคณะได้รุกล้ำเขตกัมพูชา แต่สำหรับแผนที่ของตนนั้น ถือว่ายังไม่รุกล้ำ โดยตนได้ยึดเกณฑ์จากการตั้งศูนย์อพยพของยูเอ็นเอชซีอาร์ที่บ้านหนองจาน ซึ่งมีหลักว่าการขุดสระน้ำต้องตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่มีสงครามหรือประเทศที่มีความสันติภาพ นั่นหมายความว่าสระน้ำต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ของประเทศไทย แต่ในแผนที่ของนายศิริโชคระบุว่าสระน้ำดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่ของประเทศกัมพูชา
       
       อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของการประชุม น.ส.ราตรี ระบุว่า เพื่อนในกลุ่มของตนได้รับโทรศัพท์จากทหารนายหนึ่ง โทรศัพท์มาเตือนว่า หากตนคิดจะฟ้องร้องรัฐบาลเพื่อเรียกค่าเสียหาย ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ อาจจะได้ไม่คุ้มเสียและได้รับอันตราย ด้าน พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำ กมธ. กล่าวว่า ประเด็นที่ น.ส.ราตรี ถูกข่มขู่ทางโทรศัพท์ผ่านเพื่อน ให้พิจารณาความจริงให้ชัดเจน เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับหลายฝ่าย ก่อนไปแจ้งความไว้ ซึ่งทันทีที่ พล.ท.นันทเดชพูดจบ น.ส.ราตรี กล่าวโต้ตอบด้วยเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอว่า หรือจะรอให้ตนถูกลอบทำร้ายก่อนหรืออย่างไร หรือต้องรอให้ยิงพลาดก่อนใช่หรือไม่ จึงจะเชื่อว่ามีมูลความจริง จากนั้น พล.อ.อ.วีรวิท ในฐานะประธาน กมธ.ก็ได้รับปากที่จะดูแลเรื่องดังกล่าวให้
       
       




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น