วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เล็งเลิก พ.ร.ก.5อำเภอ รัฐเพิ่มพื้นที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เปิดช่องมอบตัววันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ 2013 เวลา 08:58 น. เขียนโดย ทีมข่าวอิศรา

เล็งเลิก พ.ร.ก.5อำเภอ รัฐเพิ่มพื้นที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เปิดช่องมอบตัว

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ 2013 เวลา 08:58 น. เขียนโดย ทีมข่าวอิศรา

นายกฯ เรียกถกด่วนหน่วยงานความมั่นคงหลังเจอป่วนหนักที่ปัตตานี เลขาฯสมช.แย้มเตรียมเพิ่มน้ำหนักการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เปิดช่องใช้มาตรา 21 ให้ผู้เห็นต่างจากรัฐมอบตัว เผยเลือกพื้นที่สอดคล้องกับแผนถอนทหาร ส่งกำลังตำรวจเข้าไปแทน ดีเดย์ พ.ค.ล็อตแรก 10 อำเภอ เลิก พ.ร.ก.เพิ่ม 5 อำเภอ กระจายทั้ง 3 จังหวัด "อังคณา" จี้อัยการรื้อคดีตากใบ "เฉลิม" เชิญกลุ่มวาดะห์ที่ปรึกษาดับไฟใต้ แม่ลานป่วนยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ยะหริ่งรัวกระสุนถล่มปิคอัพครูหวิดดับอีกราย
map colour

          นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นการด่วน เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 18 ก.พ.2556 ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหญ่ที่ จ.ปัตตานี ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าเป็นการก่อเหตุเพื่อตอบโต้กรณีที่ทหารวิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อความไม่สงบ 16 รายขณะเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการของนาวิกโยธินที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 13 ก.พ.
          ภายหลังการประชุม พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า เป็นการประชุมเพื่อเตรียมการกรณีที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปประเทศมาเลเซียในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ซึ่งเขารับผิดชอบในส่วนของความมั่นคงในประเด็นบุคคลสองสัญชาติและการผ่านแดนที่จะต้องข้ามมายังประเทศไทย รวมถึงกระบวนการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
          ส่วนสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16-17 ก.พ.ที่ จ.ปัตตานีนั้น ก็ได้มีการหารือกัน โดยผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ยืนยันว่ายังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทั้งนี้ จะมีการเพิ่มน้ำหนักการใช้มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ให้มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีก็มีความเห็นสอดคล้องกัน เพราะเป็นไปตามนโยบายและเป็นแนวทางที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาโดยกระบวนการสันติวิธี โดยการเปิดเวทีพูดคุยให้ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐหรือมีคดีความมั่นคงเข้าสู่ศาล และจะได้หาทางออกร่วมกันได้
เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯแทน
          ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เพื่อใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทนหรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ถูกต้อง เพราะตอนนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศไว้ครอบคลุม แต่รัฐบาลต้องการลดโทน เนื่องจากเดิมได้ประกาศพื้นที่ความมั่นคงไว้ 4 พื้นที่ (4 อำเภอของ จ.สงขลา และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี)
          "ถ้าดูลึกลงไปในรายละเอียด เหตุการณ์ที่ จ.ปัตตานีที่ผ่านมา เป็นลักษณะการใช้ระเบิดเพลิง ประกอบกับเราได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากขึ้น ทำให้ฝ่ายผู้ก่อเหตุความรุนแรงเน้นข่มขู่พี่น้องประชาชนเพื่อไม่ให้ร่วมมือกับรัฐ ฉะนั้นการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จึงถือว่าเหมาะสม" พล.ท.ภราดร กล่าว
ตำรวจชงถอนทหารล็อตแรก 10 อำเภอ
          เลขาธิการ สมช. ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ต้องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯก่อน เพราะกฎหมายห้ามประกาศในพื้นที่ทับซ้อนกัน อย่างไรก็ดี การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะพิจารณาเป็นรายพื้นที่ ไม่ใช่ยกเลิกพร้อมกันทั้งหมด โดยจะสอดรับกับการเตรียมส่งกำลังตำรวจ และอาสารักษาดินแดน (อส.) เข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทนทหารซึ่งจะเริ่มในเดือน พ.ค.นี้ด้วย
          จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า การเตรียมส่งกำลังตำรวจเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทนทหาร ซึ่งจะเริ่มในเดือน พ.ค.นี้นั้น ขั้นตอนคือกำลังทหารจากกองทัพภาค 1-2-3 ซึ่งเป็นกองกำลังจากนอกพื้นที่จะถูกทยอยถอนออกไป แล้วทดแทนด้วยตำรวจ 1,690 นาย (ในห้วงแรก) ที่เปิดรับจากอดีตทหารเกณฑ์ ขณะนี้ทำการฝึกอยู่ที่ศูนย์การทหารราบ เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็น "หน่วยปฏิบัติการพิเศษเคลื่อนที่เร็ว" (นปพ.) จำนวน 38 หมวด เข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัว (รับผิดชอบพื้นที่ระดับอำเภอ) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
          สำหรับพื้นที่ที่จะส่งกำลังตำรวจจะเข้าไปทดแทนและเสริมการปฏิบัติของทหารในห้วงแรกนั้น ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต) กำหนดแผนเอาไว้ 10 อำเภอซึ่งมีสถิติการก่อเหตุรุนแรงค่อนข้างเบาบาง ได้แก่ อ.เบตง กับ อ.กาบัง จ.ยะลา, อ.ไม้แก่น กับ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี, อ.แว้ง กับ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี
          ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาพื้นที่ 10 อำเภอดังกล่าว เป็นอำเภอที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ อยู่แล้ว 5 อำเภอ คือ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี กับกลุ่ม 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ฉะนั้นอีก 5 อำเภอที่เหลือ ซึ่งเป็นอำเภอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น จึงอยู่ในกลุ่มที่รัฐบาลเตรียมยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในลำดับต่อไป
"เฉลิม"จ่อเชิญ"วาดะห์"ร่วมดับไฟใต้
          ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) กล่าวว่า แนวคิดการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯนั้น เน้นที่มาตรา 21 เนื่องจากในพื้นที่มีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจำนวนมาก จนผู้ถูกกล่าวหาเกรงกลัวกฎหมาย เกรงกลัวเจ้าหน้าที่ แสดงว่าขาดการพูดคุย ซึ่งถ้าใช้มาตรา 21 จะเป็นการลดขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมลงได้
"พ.ร.บ.ความมั่นคงฯเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาหรือตั้งข้อสงสัยมามอบตัว กระบวนการมันไม่เข้มข้น มันสามารถผ่อนปรนได้ เช่น รับไว้ ปล่อยตัวไว้ เอาไปอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมระยะหนึ่ง มีการทำความเข้าใจ สุดท้ายทางอัยการเขาจะมีอำนาจ (สั่งไม่ฟ้อง)" รองนายกฯ กล่าว
          ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวด้วยว่า จะหาหนทางเชิญกลุ่มวาดะห์ (กลุ่ม ส.ส.มุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยสังกัดพรรคความหวังใหม่และไทยรักไทย) ทั้งหมด 9 คนมาร่วมเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศปก.กปต.แต่ยังไม่ขอพูดในรายละเอียด
"อังคณา"จี้อัยการรื้อคดีตากใบ
          นางอังคณา นีละไพจิตร  ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีการใช้ความรุนแรงตอบโต้กรณีวิสามัญฆาตกรรม 16 ศพว่า จากการลงพื้นที่พบปะกับญาติผู้สูญเสียที่ อ.บาเจาะ พบว่าเหตุการณ์ตากใบเป็นบาดแผลสำคัญที่ผลักดันให้คนเหล่านั้นลุกขึ้นมาต่อสู้ แม้จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐไปแล้ว แต่สิ่งที่เป็นปัญหาและกลายเป็นความโกรธแค้นของคนในพื้นที่คือ คดีนี้ไม่ได้มีการต่อสู้ในชั้นศาล เนื่องจากอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง
          "ขอเรียกร้องให้อัยการซึ่งมีหน้าที่ดำเนินคดีแทนประชาชนทบทวนความเห็นดังกล่าว โดยเสนอให้ศาลเป็นผู้พิจารณาว่ากรณีตากใบใครผิดใครถูก หากชาวบ้านเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผิดก็ให้เอาหลักฐานมาต่อสู้ แล้วให้ศาลตัดสิน อย่างน้อยแค่ให้เรื่องขึ้นสู่ศาลก็จะบรรเทาความขัดแย้งลงได้" นางอังคณา กล่าว
ยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่แม่ลาน – ครูหวิดดับที่ยะหริ่ง
          ด้านสถานการณ์ในพื้นที่ยังคงมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ้างประปราย โดยเมื่อเวลา 13.20 น. คนร้าย 2 คนมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนพกขนาด 9 มม.ยิง นายอับดุลเล๊าะ สาและ อายุ 27 ปี ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ (ผรส.) อยู่บ้านเลขที่ 115 หมู่ 7 ต.แม่ลาน อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เหตุเกิดบริเวณหน้าบ้านของนายอับดุลเล๊าะเอง ขณะที่กำลังขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้าน ทำให้เจ้าตัวได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยหลังก่อเหตุคนร้ายได้ชิงอาวุธปืนลูกซองของนายอับดุลเล๊าะหลบหนีไปด้วย เบื้องต้นตำรวจยังไม่สรุปสาเหตุการลอบยิง
          เวลาประมาณ 22.00 น. คนร้ายไม่ทราบจำนวนมีรถกระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่นไทรทัน สีดำ ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนเป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนสงครามยิงถล่มรถกระบะยี่ห้ออีซูซุ แบบตอนครึ่ง สีฟ้า ไม่ทราบหมายเลขทะเบียน ขณะขับอยู่บนถนนในหมู่บ้านเปาะพูแม หมู่ 2 ต.ตะโล๊ะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ทำให้ นายสมาน อีซอ อายุ 55 ปี คนขับรถคันดังกล่าวได้รับบาดเจ็บสาหัส
          ตรวจสอบประวัติของนายสมาน ทราบว่าเป็นข้าราชการครูโรงเรียนบ้านตูปะ ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 95 บ้านสะมูหลง หมู่ 5 ต.ตะโล๊ะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี อย่างไรก็ดี ตำรวจสงสัยว่าอาจเป็นการยิงผิดตัว เพราะรถที่นายสมานขับเป็นของ นายมะซอรี อาแว กำนัน ต.ตะโล๊ะ ซึ่งเป็นหลานของนายสมาน และนายสมานพักอาศัยอยู่กับ นายมะกะตา อาแว นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตะโล๊ะ ซึ่งเป็นพี่ชายของกำนันมะซอรี จึงยืมรถกระบะขับไปดื่มน้ำชาที่บ้านปุลากง หมู่ 1 ต.ปุลากง อ.ยะหริ่ง และถูกยิงระหว่างทางดังกล่าว
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น