วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความแตกแยกในเสื้อแดง ความแตกต่าง 3 จังหวัดชายแดนใต้ บทบรรณาธิการ 14 February 2556


ความแตกแยกในเสื้อแดง ความแตกต่าง 3 จังหวัดชายแดนใต้



ประเทศไทยมีปัญหาให้แก้ไขมากมาย แต่รัฐบาลงมโข่งอยู่กับการช่วยเหลือนักโทษหนีคุกให้พ้นผิด เมื่อเงยหน้าขึ้นมาอีกที ก็พบว่า ปัญหาด้านความมั่นคง โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเด็นร้อน ธนาคารอิสลาม มีหนี้เสียนับหมื่นล้าน ปัญหาสังคม การฉ้อโกง การก่ออาชญากรรมบนท้องถนนที่เกิดขึ้นทุกวัน คือปัญหาที่รัฐบาลแทบไม่ได้แก้ไขอะไรเลย
    แต่ละปัญหาดำเนินอยู่  และจะขยายความรุนแรงของปัญหาไปเรื่อยๆ นี้ สถานะของรัฐบาลมิได้อยู่แม้ในสถานะตั้งรับ เพราะรับมืออะไรไม่ได้เลย นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่มองเห็นแล้วว่าจะตามมาแน่นอน คือ การปะทุของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะรุนแรงขึ้น จากการปะทะกันจนผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิตไป 16 คน ปัญหาหนี้เสียจากนโยบายรถคันแรก ฯลฯ
    ขณะที่การระดมความคิดความเห็นของคนในรัฐบาล รวมถึงผู้มีอิทธิพลต่อรัฐบาล ล้วนหมดไปกับการเร่งเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อลบล้างความผิดที่เกิดจากเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง มีการช่วงชิงการนำกันเองของหมู่มวลคนเสื้อแดง ตามประสาคนกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองอยู่ในมือเพื่อผลประโยชน์เฉพาะตนหรือกลุ่มตน โดยมิได้มองว่า ปัญหาใหญ่ที่ประเทศกำลังประสบอยู่นั้นคือปัญหาอะไร 
    แน่นอนว่าความขัดแย้งในสังคมเป็นปัญหาที่เกาะกินสังคมไทยมาร่วม 10 ปี แต่ผู้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาเสียเวลาไปกับการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ หนำซ้ำยังเขี่ยปัญหาใหญ่อื่นๆ ไปอยู่นอกวง จนทำให้รู้สึกเหมือนเรื่องไกลตัว ทั้งๆ ที่ประสบพบเจอทุกวัน 
    การง่วนอยู่กับการให้ตัวเองได้พ้นความผิดนั้น จะเห็นได้ว่าบรรดาแกนนำคนเสื้อแดง ทั้งที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ผู้นำมวลชนผู้ทรงอิทธิพล ล้วนแต่พูดเรื่องตัวเอง ไม่เคยชี้แนะวิธีการแก้ไขปัญหาของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใดก็ตาม กระทั่งว่าเกิดความขัดแย้งกันเองภายใน เพราะเริ่มจะมีบางรายเอาตัวรอด จนเห็นชัดเจนว่าแท้จริงแล้วอุดมการณ์บนเวทีปราศรัยนั้น เป็นเรื่องหลอกลวง การสร้างความฮึกเหิมให้คนเสื้อแเดงก่อความรุนแรงนั้น เป็นเรื่องต้มตุ๋น หาความจริงแทบไม่ได้ 
    กองกำลังติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับกองกำลังแยกดินแดนที่ต่อต้านรัฐไทย เหมือนกันแค่การแต่งตัว แต่ต่างกันในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องอุดมการณ์ ฉะนั้น ปัญหาใหญ่ของประเทศที่มองกันว่า คือการแบ่งฝ่ายของประชาชน ที่จริงแล้วเทียบอะไรกับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เลย แต่กลับกลายเป็นว่าปัญหาใหญ่ เป็นปัญหาที่รัฐบาลไม่สนใจ ไม่แม้กระทั่งมีรัฐมนตรีอาสาเข้าไปแก้ไขปัญหา 
    3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เต็มไปด้วยความแตกต่างของผู้คน ทั้งเชื้อชาติ และศาสนา และเป็นปัญหาที่สะสมเรื้อรังมาอย่างยาวนาน หากมองในแง่ประวัติศาสตร์นั้น มันยาวนานกว่าการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของประชาชนจนเกิดความขัดแย้งทางการเมืองมากนัก รากเหง้าของปัญหาก็ซับซ้อนยิ่งกว่า 
    ทุกครั้งที่พูดถึงการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าต้องทำอย่างไร คำตอบนั้นกว้างขวาง เพราะเกี่ยวพันกันหลายส่วน ต่างจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดจากความมักใหญ่ใฝ่สูงของคนเพียงคนเดียวแล้วบานปลายเป็นขบวนการ เพราะมีการเกาะเกี่ยวกันของกลุ่มคนที่ไม่พอใจสถานะของตัวเอง โดยใช้ประชาธิปไตยบังหน้า  
    ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศตัวว่า วางมือทุกอย่าง ขออยู่อย่างเงียบๆ อย่างเช่นที่ นายปรีดี พนมยงค์ เคยสละเพื่อชาติ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แม้จะไม่จบลงทันที แต่จะค่อยๆ จบลงไปในไม่ช้า เพราะบรรดาลิ่วล้อที่พากันห้อยโหนจะแตกกระสานซ่านเซ็น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็บริหารประเทศด้วยตัวเองไป ฝ่ายค้านก็มีหน้าที่ตรวจสอบตามระบบ กลุ่มล้มเจ้าที่ไม่มีที่พิงหลังก็จะค่อยๆ ลดบทบาทไป ภาคประชาชนก็กลับเข้าสู่ที่ตั้ง แต่ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังต้องทำความเข้าใจกับปัญหาต่อไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น