วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เวทีถกปม"มะรอโซ"ที่รามฯ ชี้อยุติธรรมจุดไฟใต้ ปัตตานีจัดอีกวง-ดึง ผบ.นย.ร่วม วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013 เวลา 16:15 น.


เวทีถกปม"มะรอโซ"ที่รามฯ ชี้อยุติธรรมจุดไฟใต้ ปัตตานีจัดอีกวง-ดึง ผบ.นย.ร่วม

วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013 เวลา 16:15 น.



กรณีเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรมกองกำลังติดอาวุธ 16 ราย นำโดย นายมะรอโซ จันทรวดี ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงหลายคดี ขณะเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยปืนเล็กที่ 2 บ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น.ของวันพุธที่ 13 ก.พ.2556 นั้น แม้เหตุการณ์จะผ่านไปนานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว แต่การวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ ก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
seminar maroso
          โดยเฉพาะประเด็นที่เปิดเผยกันว่าสาเหตุที่ทำให้บุคคลเหล่านี้ต้องจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐ เพราะคับแค้นจากเหตุการณ์ตากใบ กระแสพูดคุยแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวยังคงร้อนแรงถึงขั้นมีการจัดเวทีเสวนาที่กรุงเทพมหานคร
          ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 ก.พ.2556 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ร่วมกับมูลนิธิศักยภาพชุมชน จัดงานเสวนาหัวข้อ "มะรอโซ จันทรวดี (และพรรคพวก) กบฏรัฐสยามหรือวีรบุรุษปาตานี" โดยมี นายอาเต๊ฟ โซ๊ะโก ผู้ประสานงานสถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา หรือวายดีเอ อดีตเลขาธิการ สนนท. นายวัฒนะ วรรณ ตัวแทนจากองค์กรเลี้ยวซ้าย และ นางชลิดา หาเจริญศักดิ์ ตัวแทนจากมูลนิธิศักยภาพชุมชน ร่วมกันเป็นวิทยากร
ขบวนการปลดแอกเป็นฝ่ายชนะ
          นายอาเต๊ฟ กล่าวว่า ไม่ได้รู้จักนายมะรอโซเป็นการส่วนตัว เพียงแต่เคยได้ยินชื่อมาบ้าง เพราะเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ฝ่ายความมั่นคงมักบอกว่านายมะรอโซเป็นผู้ปฏิบัติการแทบทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ถือว่ากลุ่มขบวนการติดอาวุธสูญเสียนักรบไปมากที่สุด ในทางกลับกันก็เป็นครั้งแรกที่รัฐไทยจะปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไปว่าคนที่จับอาวุธต่อสู้เป็นขบวนการที่ต้องการปลดแอกรัฐปาตานีออกจากรัฐไทย
          อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีหลายคนคิดว่าทำไมกลุ่มติดอาวุธจึงปฏิบัติการผิดพลาด ขณะที่ในพื้นที่มีกระแสข่าวลือว่าทั้ง 16 คนเสียชีวิตโดยไม่มีการต่อสู้ ทำให้ปรากฏการณ์ก่อนหน้านี้ที่เจ้าหน้าที่ถูกลอบทำร้ายจนเสียชีวิตไม่มีใครคล้อยตาม
          "ถึงการต่อสู้ในครั้งนี้กลุ่มติดอาวุธจะพ่ายแพ้ก็จริง แต่ในทางกระบวนการทางการเมือง ขบวนการปลดแอกปาตานีเป็นฝ่ายชนะ เพราะงานการเมืองถูกปฏิบัติโดยฝ่ายขบวนการโดยไม่ได้ตั้งใจ"
ชาวบ้านกลัวทั้งทหารและขบวนการฯ
          นายอาเต๊ฟ กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ที่ผ่านมา แม้รัฐจะใช้ปฏิบัติการทางทหาร ใช้กฎอัยการศึกซึ่งเป็นกฎหมายทหาร และใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) รวมทั้งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) เป็นเวลายาวนาน แต่กลับไม่ค่อยได้ข้อมูลจากคนในพื้นที่เท่าที่ควร
          "ถ้าทหารไปถามคนพื้นที่ว่าต้องการอะไร เขาก็จะตอบว่าต้องการความปลอดภัยจากรัฐไทย ถ้ากลุ่มขบวนการฯไปถามชาวบ้านว่าต้องการอะไร เขาจะตอบว่าต้องการเอกราช ที่เขาตอบออกมาใน 2 ลักษณะนี้เนื่องจากเขามีความรู้สึกหวาดกลัว และไม่กล้าตอบความจริง"
คนพื้นที่ไม่ได้เชิดชู 16 ศพเป็นวีรบุรุษ
          นายอาเต๊ฟ ยังกล่าวด้วยว่า กรณีของนายมะรอโซและพวกที่เสียชีวิต 16 ศพเป็นกบฏหรือวีรบุรุษ ถึงคนในพื้นที่จะไม่ตอบคำถาม แต่การแสดงออกของชาวบ้านเป็นคำตอบที่ชัดเจน เพราะ 16 ศพเป็นคนทำผิดกฎหมายของรัฐไทย
          "ครั้งแรกเราได้ไปคุยกับญาติของผู้เสียชีวิต 16 ศพว่าจะนำศพไปฝังที่กุโบร์มัสยิด 300 ปี (อ.บาเจาะ) แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ยอมให้ฝัง เพราะกุโบร์ของพวกเขายังไม่มีที่ฝังสำหรับวีรบุรษ และยังไม่มีคนที่เป็นวีรบุรุษเสียชีวิต การแสดงออกพวกเขาได้ตอบคำถามที่ชัดเจนแล้วว่าเขาไม่ต้องการแยกออกจากรัฐไทย แต่นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักสิทธิมนุษยชนที่ลงไปในพื้นที่แล้วไม่ค่อยมีประสบการณ์ไม่สามารถตีโจทย์ได้  แต่ถ้าเปิดใจสักนิด การแก้ปัญหาก็ไม่ได้ยากเกินไป"
ติงมาตรา 21 ตัดโอกาสคนไม่ผิดพิสูจน์ตัวเอง
          ส่วนการที่รัฐบาลประกาศจะเพิ่มน้ำหนักการใช้มาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อดึงคนที่เห็นต่างจากรัฐมามอบตัวนั้น นายอาเต๊ฟ กล่าวว่า เนื้อหาของมาตรา 21 มีลักษณะคล้ายกับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ที่ให้คอมมิวนิสต์ยอมวางปืนแล้วออกมาร่วมพัฒนาชาติไทย แต่มาตรา 21 ระบุว่าผู้ที่จะเข้ากระบวนการต้องยอมรับว่าสิ่งที่ตนเองทำไปนั้นเป็นความผิดหรือหลงผิด แล้วจึงขอเข้าอบรมกับเจ้าหน้าที่รัฐ
          "เรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหา เพราะกรณีสามจังหวัดใต้ ผู้ต้องสงสัยบางคนเขาคิดว่าไม่ได้ทำผิด เขาต้องการพิสูจน์ต่อศาลเพื่อให้หลุดพ้นข้อกล่าวหา การให้คนเหล่านี้เข้ามาตรา 21 เป็นการตัดโอกาสคนที่ต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง แต่สำหรับคนที่ผิดจริงๆ มาตรานี้ถือว่าช่วยได้ และเป็นเรื่องของการเปิดโอกาสให้กลับตัว เท่าที่ทราบมามีการประกาศใช้บางพื้นที่ แล้วหน่วยงานความมั่นคงไปบังคับให้คนที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยยอมรับผิดเพื่อให้เข้ากระบวนการตามมาตรา 21"
seminar maroso2
ต้นตอปัญหาใต้-รัฐไทยไม่เคารพคนพื้นที่
          ด้าน นายวัฒนะ กล่าวว่า การที่มีคนตายในพื้นที่สงครามในประเทศไทย หากใครได้ศึกษาประวัติศาสตร์จะพบว่า การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คนที่ต้องการปลดแอกจากระบบทุนนิยมก็ตายเช่นกัน และ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เหมือนขบวนการกบฏชาวนาที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน
          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ เกิดจากรัฐไทยไม่เคยเคารพคนในพื้นที่ ในอดีตรัฐไทยเคยบังคับให้คนพื้นที่ต้องไหว้พระทั้งที่นับถือศาสนาอิสลาม ปัญหาที่เกิดขึ้นวันนี้จึงเป็นปัญหาที่รัฐไทยก่อไว้ในอดีต
          นอกจากนี้ สื่อกระแสหลักมักจะนำเสนอข่าวว่าโจรใต้ฆ่าคน โจรโหดเหี้ยม ซึ่งมีการฆ่ากันก็จริง แต่ประเด็นในลักษณะนี้ไม่ควรนำเสนอ เพราะจะทำให้หลายคนมองว่าต้องให้ทหารไปฆ่าโจรใต้ให้หมด และก็จะมีการฆ่ากันไปเรื่อยๆ อีก 100 ปีก็ไม่มีวันจบ ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องมองปัญหาภาคใต้ในบริบทที่ไกลกว่าการฆ่ากัน
ถูกรัฐข่มเหงทำให้ต้องจับอาวุธสู้
          ขณะที่ นางชลิดา กล่าวว่า คำว่า "กบฏรัฐสยาม" หมายถึงผู้ที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐ ส่วน "วีรบุรุษปาตานี" ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็ต้องถามว่า หะยีสุหลง (อดีตผู้นำศาสนาที่เรียกร้องขอสิทธิในการปกครองตนเองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ บิดานายเด่น โต๊ะมีนา อดีต ส.ส.และ ส.ว.ปัตตานี) เป็นกบฏหรือไม่ ถ้าได้ดูข้อเสนอ 7 ข้อของหะยีสุหลงที่เคยยื่นเสนอต่อรัฐสยาม จะพบว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่ข้อเสนอที่เรียกร้องจนกลายเป็นกบฏ และหะยีสุหลงเป็นผู้นำจิตวิญญาณที่อ่อนน้อมถ่อมตนมาก พยายามเสนอให้รักษาอัตลักษณ์ความเป็นมลายูของคนในพื้นที่ เพราะรัฐสยามได้คุกคามชาวมลายูมากเหลือเกิน
          "สุดท้ายหะยีสุหลงถูกยัดเยียดให้เป็นกบฏ และถูกทำให้สูญหาย นายสมชาย นีละไพจิตร (อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม สามีของ นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ) ก็ถูกบังคับให้สูญหาย แต่ไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ"
          นางชลิดา กล่าวอีกว่า คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ มักถูกข่มเหงรังแกด้วยทัศนคติและด้วยวิธีคิดแบบรัฐ บางคนไม่มีทางเลือกจึงต้องจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเองและประชาชน
          "เมื่อเขาถูกกระทำเรื่อยๆ และรัฐเองไม่เคยรับฟังปัญหาว่าเขาต้องการอะไร ยิ่งข่มเหงมากก็จะมีการต่อสู้อย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เขาจะต้องเชิดชูนักรบของเขาว่าเป็นวีรชน และวาทกรรมโจรใต้ก็ยิ่งทำให้เกิดวีรชนประชาชนที่จะคู่ขนานกับคำว่าโจรใต้ แต่ความจริงแล้วเขาเป็นโจรหรือไม่"
    
ฉะสื่อฉาบฉวย-อาศัยสถานการณ์ขายข่าว
          ตัวแทนจากมูลนิธิศักยภาพชุมชน ยังชี้ด้วยว่า คนพื้นที่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับเหตุการณ์ต่างๆ แต่คนนอกพื้นที่ไม่เข้าใจ เพราะสื่อกระแสหลักทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน เสนอข่าวฉาบฉวย ใช้สถานการณ์ความรุนแรงเพื่อขายข่าว ฉะนั้นสื่อจะต้องเสนอถึงต้นเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
          "สันติภาพจะไม่เกิดขึ้นถ้าคนปาตานีไม่เห็นด้วย รัฐไม่สามารถชนะด้วยการนำกองกำลังลงไปแก้ปัญหา ไม่สามารถชนะด้วยกำลังอาวุธ ไม่สามารถชนะพี่น้องปาตานีที่เขาต้องการความสงบอย่างแท้จริง ซึ่งความสงบแบบที่อยู่ในใจประชาชนนั้นเขาไม่กล้าพูดออกมา เพราะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีกองกำลังทหารหลายหมื่นนายค้ำหัวเขาอยู่ ฉะนั้นมันจึงไม่มีความยุติธรรมที่แท้จริงในพื้นที่"
          "กรณีตากใบ ศาลให้เหตุผลกรณีผู้ชุมนุมเสียชีวิต (ในคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ) ว่าเพราะขาดอากาศหายใจ ซึ่งเป็นคำที่ทำให้รู้สึกว่ามันหน่อมแน้มมาก ไม่มีคำอธิบายว่าเหตุใดที่ทำให้ผู้เสียชีวิตขาดอากาศหายใจ ญาติของคนเหล่านั้นเขายังไม่ได้รับความเป็นธรรม มันจึงมีเหตุการณ์บุกฐานนาวิกโยธินขึ้น เพราะหลายคนที่อยู่ในกลุ่ม 16 ศพ ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ"
          "ดังนั้นทางออกก็คือทำอย่างไรจึงจะนำคนผิดมาลงโทษให้ได้ และต้องทำให้เห็นว่าสิ่งที่รัฐทำลงไปเป็นสิ่งที่ผิดพลาด ไม่ถูกต้อง เพราะจนถึงบัดนี้ยังไม่เห็นมีคนผิดขึ้นศาลสักคน และยังไม่ทราบว่าจะมีรัฐบาลชุดใดที่กล้ารับผิดชอบในส่วนนี้"
วอนขบวนการฯพักรบ-หันใช้สันติวิธี
          อย่างไรก็ดี ในตอนท้าย นางชลิดา กล่าวว่า อยากให้ขบวนการฯพักรบ แล้วมาร่วมสร้างสันติภาพกับภาคประชาสังคมด้วยสันติวิธี และอยากให้ขบวนการฯให้โอกาสภาคสังคมได้ถ่ายทอดการศึกษาให้กับประชาชนในพื้นที่ให้เข้าใจกระบวนการสร้างสันติภาพ สิ่งสำคัญต้องให้ประชาชนมีความรู้ว่าสันติภาพคืออะไร
          "ถ้ารัฐทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในพื้นที่อย่างแท้จริง เชื่อเหตุการณ์ความรุนแรงจะจบลงทันที และรัฐเองต้องเป็นผู้เริ่มการเจรจาอย่างสันติวิธีก่อน จะให้ฝ่ายขบวนการฯมาเจรจาสันติวิธีก่อนคงไม่ได้ ที่ผ่านมารัฐพยายามบอกว่าไม่รู้จะเจรจากับใคร เพราะไม่รู้ว่าขบวนการฯคือใคร แต่ความจริงแล้วรัฐยังไม่มีเจตจำนงชัดเจนว่าจะเจรจาเลย ไม่เคยให้หลักประกันว่าคนที่วางอาวุธจะได้รับการดูแลอย่างไร ฉะนั้นถ้าผู้นำประเทศยอมประกาศเจรจา และให้หลักประกันกับพวกเขา เชื่อว่าเขาจะเปิดตัวเดินออกมาเจรจาแน่นอน"
seminar maroso1
ปัตตานีจัดอีกวง-เชิญ ผบ.นย.ร่วมเวที
          เวทีเสวนาในประเด็นคล้ายคลึงกันนี้ ยังมีจัดอีกเวทีหนึ่งที่หอประชุมใหญ่ สำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ในวันเสาร์ที่ 23 ก.พ.2556 โดย "ปาตานี ฟอรั่ม" องค์กรคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเชิงองค์ความรู้ในพื้นที่ชายแดนใต้ ร่วมกับองค์กรเครือข่ายรวม 14 องค์กร
          หัวข้อของการเสวนาคือ "ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี" ประเด็นนำในการเสวนา เช่น ขบวนการมีจริงหรือไม่ สงครามของใคร เราจะจัดการตัวเองอย่างไร เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร มีทางเลือกทางต่อสู้อื่นหรือไม่ เป็นต้น
สำหรับผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ นายศิโรจน์ แวปาโอะ ตัวแทนชาว อ.บาเจาะ และประธานเครือข่ายที่ดินบูโด นายสิทธิพงศ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม นายปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ตัวแทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตัวแทนจากฝ่ายความมั่นคง โดยมีการยืนยันจากผู้จัดงานว่า น.อ.สมเกียรติ ผลประยูร ผู้บังคับหน่วยนาวิกโยธินภาคใต้ กองทัพเรือ (ผบ.นย.ภาคใต้ ทร.) ซึ่งเป็นหน่วยต้นสังกัดของฐานปฏิบัติการกองร้อยปืนเล็กที่ 2 ที่เกิดการวิสามัญฆาตกรรม 16 ศพ ยืนยันจะเข้าร่วมเวทีด้วย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น