วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทำไมต้องเผา-ไม่เผา บทบรรณาธิการ 21 February 2556


เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทำไมต้องเผา-ไม่เผา



เหลือเวลาอีกสัปดาห์เศษจะถึงวันที่ 3 มีนาคม วันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากการสำรวจของโพลสำนักต่างๆ ทั้งที่เชื่อได้ และไม่น่าเชื่อ ต่างให้พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ได้รับความนิยมจากคนกรุงเทพมหานคร มากกว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ด้วยความห่างที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะสรุปได้ว่า ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ต้องไม่ใช่คนเดิมแน่นอน 
    เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ไม่ได้มีจุดประสงค์หลักที่ผู้ว่าฯ กทม.  ในครั้งนี้ คือสงครามระหว่างระบอบทักษิณกับฝ่ายตรงข้าม อย่างที่เคยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาตั้งแต่ก่อนจะมีการสมัครรับเลือกตั้งว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ความรัก และภาวะจำยอม ปะปนกันไป 
    ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยและฐานมวลชน กำลังอิ่มเอิบอยู่กับผล
โพลสารพัดสำนัก ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังคิดหาทางแก้เกมเพื่อตีตื้นในโค้งสุดท้าย แต่ไม่ว่าใครจะได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่คือ ความเกลียดในฝ่ายตรงข้าม ความรักในกลุ่มตัวเอง และอาจเป็นรักแบบไม่ลืมหูลืมตา สุดท้ายคือความจำใจต้องเลือก เพราะไม่อยากให้ฝ่ายตรงข้ามได้ยึดครอง กทม.
    แต่หลายคนมองข้ามประเด็นที่ว่า คนที่ตนเองเลือกมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.นั้น สามารถทำงานภายใต้ความซับซ้อนในโครงสร้างอำนาจการปกครองที่เป็นอยู่ได้หรือไม่ เพราะมันจะส่งผลไปถึงความเป็นอยู่ในระดับพื้นฐานของคนกรุงเทพฯ 
    หาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. การบริหารงานก็จะเกิดการประสานงากับรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหมือนที่เคยเกิดมาแล้วช่วงน้ำท่วมใหญ่เมืองกรุงเมื่อปลายปี 2554 แต่หากพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. อาจจะบริหารไร้รอยต่อกับรัฐบาลจริง แต่ในสภากรุงเทพมหานครจะเต็มไปด้วยตะเข็บ 
    แน่นอนว่า ผู้ว่าฯ กทม.มาจากคนละพรรคกับเสียงส่วนใหญ่ใน กทม. การทำงานก็จะไม่ราบรื่น เพราะจะต้องถูกตรวจสอบอย่างหนัก แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นที่พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ทำงานไม่ได้เลย เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยต้องหาทางออกเรื่องนี้เอาไว้แล้ว 
    แต่ความรัก ความเกลียด ในสังคมของคน กทม. ยังไม่มีใครมาจัดการ ความปรองดองยังไม่เกิด และปัญหานี้อาจถูกขยายความมากยิ่งขึ้นหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไป เพราะการแพ้ หรือชนะ ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยนั้น ได้ผูกติดกับการต่อต้านคนโกงอย่างแยกไม่ออกแล้ว  
    ความนิยมในตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่วูบลงไป โดยโพลระบุว่า สืบเนื่องจากการใช้แคมเปญเผาเมืองในการหาเสียง รวมทั้งใช้คำพูดมึง-กู ในการปราศรัย ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง นั่นคือสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน 
    ขณะที่พรรคเพื่อไทยพยายามหลีกเลี่ยงในการนำกรณีเผาเมืองมาหาเสียง นั่นเพราะการเผาเมืองเกิดระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงนั่นเอง แม้พรรคเพื่อไทยไม่เคยยอมรับว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้เผา แต่การไม่นำเหตุการณ์ดังกล่าวมาใช้หาเสียง ก็แสดงให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทยไม่ต้องการพูดเรื่องดังกล่าว และไม่คิดว่าการกล่าวหาว่าทหารเป็นผู้เผา จะทำให้คะแนนของพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ดีขึ้น
    อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่า กรณีนำเหตุการณ์เผาเมืองมาหาเสียง ทำให้ความนิยมในตัวม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ตกลงไปจริงหรือ ถ้าจริงก็คงสรุปได้ว่า คนกรุงเทพฯ อยากลืมเรื่องดังกล่าว หรือไม่อยากให้นำมาใช้เป็นประโยชน์ทางการเมือง  
    ในทางกลับกัน เหตุการณ์เผาเมืองเป็นผลจากการชิงอำนาจโดยการทำร้ายกรุงเทพมหานคร ไม่น่าที่คนกรุงเทพฯ จะลืมได้ง่ายๆ และยังเกี่ยวพันไปถึงชัยชนะของกลุ่มคนที่ได้อำนาจจากการเผาเมือง ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ก็แสดงให้เห็นว่าคนกรุงเทพส่วนใหญ่มองว่า การเผาเมืองเป็นแค่อดีตที่ไม่มีอะไรน่าจดจำ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น